ว่าด้วย"กลไก"ที่มาและการใช้อำนาจ


ทั้งสิทธิและหน้าที่ หากไม่มีการสมาทานก็คือการบังคับจำยอมด้วยความไม่รู้

กลับบ้านคราวนี้ผมมีเวลานั่งอ่านรัฐธรรมนูญเพื่อดูว่าเขาว่าไว้อย่างไร?
ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ประเด็นถกเถียงเรื่อง"คน"กับ "ระบบ"ที่ดีนั้น คงเป็นแกนของเรื่องราวในโลกนี้ไปอีกนาน

สาระของรัฐธรรมนูญฉบับ2550อ้างถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญปี2540ว่า ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว และการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเต็มที่ จึงเป็นที่มาของฉบับ2550 โดยดำเนินการใน4แนวทางด้วยกันคือ

1)การคุ้มครอง ส่งเสริมและขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
2)ลดการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
3)ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม
4)ทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

เขาวางและลำดับเรื่องราวในรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้
1)บททั่วไปว่าด้วยรัฐไทย (รัฐธรรมนูญ ประชาชนและพระมหากษัตริย์)
2)บทว่าด้วยพระมหากษัตริย์
3)สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย(บุคคล กลุ่มบุคคลและชุมชน)
4)หน้าที่ของชนชาวไทย(ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสิทธิ)

5)แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (แยกเป็น8กลุ่มเรื่อง)

ถัดมาคือโครงสร้าง3อำนาจรัฐตามระบอบประชาธิปไตย เริ่มจาก

6)รัฐสภา (นิติบัญญัติ)
7)การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน

8)การเงิน การคลังและงบประมาณ

9)คณะรัฐมนตรี (บริหาร)

10)ศาล
ถัดมาคือ กรรมการกลางและคุณลักษณะของผู้ใช้อำนาจรัฐ

11)องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

12)การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

13)จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
สุดท้ายคือการปกครองตนเองของท้องถิ่น

14)การปกครองส่วนท้องถิ่น

15)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลบริหารประเทศ

ลองหลับตาดูว่า เราได้สิ่งที่ต้องการจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่?
คนกลุ่มหนึ่งจะพึมพำบอกแล้วว่ามันอยู่ที่
คน

ความน่าสนใจของผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งไม่ต่างจากการเฝ้ามองปรากฏการณ์ธรรมชาติคือ การเรียนรู้และได้เข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นไป

ถ้าเงื่อนไขอยู่ที่ คน แต่ทำไมคนในระบบที่ต่างๆกันในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันในพฤติกรรมที่แสดงออกมา (แม้ว่าในขั้นลึกสุดจะมีความเหมือนในรัก โลภ โกรธ หลงด้วยกัน)  ถ้าไม่ใช่เพราะระบบที่ต่างกัน?

ระบบก็คือศีล  ทางศาสนาจะให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมแจ้งความจำนงเองว่าจะสมาทานศีลระดับใด

เพื่อให้เกิดสันติสุขในจิตใจและการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน

แต่ในรัฐธรรมนูญ บอกบทไว้เรียบร้อยว่า ประชาชนจะได้ สิทธิ และมี หน้าที่อย่างไรบ้าง? โดยกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้ ให้ประชาชนเลือกผู้แทนจากพรรคการเมืองเพื่อมาดำเนินการตามนโยบายพื้นฐานเหล่านั้น
ทั้งสิทธิและหน้าที่ หากไม่มีการสมาทานก็คือการบังคับจำยอมด้วยความไม่รู้ แล้วประชาชนจะเลือกใครมาดำเนินการตามนโยบายพื้นฐานที่ว่านั้น

 

หมายเลขบันทึก: 175828เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

ช่วงอาทิตย์ที่แล้วที่พวกเราไปลงพื้นที่โครงการวิจัยนำร่องสวัสดิการเชิงพื้นที่ที่จันทบุรี และได้มีโอกาสไปกราบนมัสการ พอจ.สุบิน ที่ตราดกันนั้น จำได้ว่า พวกเราได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุยกัน และพอจ.สุบินท่านได้เมตตาให้ความรู้ ข้อเสนอแนะ และได้บอกพวกเราว่า ในความคิดเห็นของท่านนั้น การพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ "คน" เพราะคนเป็นผู้ "สร้าง" ระบบ

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตัวเองได้มีโอกาสไปร่วมประชุมและนำเสนองานในหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องของ "Human Right and Security" ที่ UN.New York มา มีการอภิปรายถึง "สิทธิ" และ "หน้าที่" ของผู้คนในสังคมที่แตกต่างหลากหลายทั่วโลก รวมถึงการร่วมกันออกกฎ ระเบียบ กติกา ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และสังคมโลก ...ซึ่งก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติของการประชุมได้... ทราบมาว่า ปลายปีนี้ จะมีการประชุมว่าด้วยเรื่องราวเหล่านี้กันต่อที่ UN.Paris หากมีโอกาสไปร่วมประชุมอีก จะนำข้อมูลและสถานการณ์มาลปรร.กันต่อนะคะ ...ในความเป็น Human ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง ในจิตใจเหมือน ๆ กัน แต่ทำไมผู้คนในแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน ระบบเปลี่ยนคนได้แค่ไหน อย่างไร...

ว่าไปแล้ว จากการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติ ตัวเองก็พอมีคำตอบอยู่บ้างค่ะ แต่ว่าเรื่องนี้มีความคิดเห็นทั้งที่เป็น "pro" และ "con" ในหลายมิติค่ะ คงต้องมีเวลา "วิวาทะ" กันนานหน่อยค่ะ

ความรู้ในหลักพระพุทธศาสนามีคำตอบ เพียงแต่ว่า...เราจะมีศักยภาพในการ "ถอดรหัส" หลักธรรมคำสอนได้มากน้อยเพียงไร...และจะสามารถ "จัดการความรู้" ว่าด้วยเรื่องราวของชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้หรือไม่ อย่างไร

เห็นด้วย...ไม่เห็นด้วย...ลปรร.กันนะคะ

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะคะ

ประเด็นแรก

รัฐธรรมนูญ บอก "หน้าที่" ของการเป็น "พลเมือง" ที่พึงมีต่อ "รัฐ"และ "ชาติ" แต่ศาสนา บอก "หน้าที่" ของการเป็น "คน" หรือ "มนุษย์" ที่พึงมีต่อ "ตัวเอง"และ "เพื่อนมนุษย์"

หากรัฐธรรมนูญมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน รํฐธรรมนูญคงคล้ายข้อตกลงร่วมกัน เป็นการ "สมาทาน" ที่ไม่ใช่ต่างคนต่างสมาทาน แต่เป็นการสมาทานร่วมกัน คำถามคือ รัฐธรรมนูญมาจากไหนกันแน่...

ประเด็นที่สอง

"ระบบ" กับ "คน"

คิดว่าระบบมีอยู่สองแบบ แบบที่หนึ่งคือ ระบบที่เป็นกติกาให้ปฏิบัติ อีก แบบหนึ่งคือ ระบบที่หล่อหลอมผู้คน

คนจะดีได้ไม่ใช่ลอยมาจากฟ้า (ถ้าเป็นผลบุญผลกรรม อาจจะมีส่วนบ้างกระมังคะ แต่ตรงนี้ไม่ทราบจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร)

"คนดี" ต้องมีระบบการหล่อหลอมที่ดี หรือเรียกว่า มีสถาบันที่ดี ศาสนาก็เป็นระบบหรือสถาบันหนึ่ง ครอบครัวก็เป็นสถาบันหนึ่ง

เพราะฉะนั้นตัวเองคิดว่า ระบบที่มีความสำคัญ คือ ระบบที่หล่อหลอมผู้คนให้เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ มีสติ มีปัญญา ...

ป่วยการคิดว่าอะไรมาก่อน เพราะมันกลับไปกลับมา แก้ตรงไหนได้ก็แก้ ทำตรงไหนได้ก็ทำ ทำไปพร้อมๆกันทั้ง ระบบและคน นะคะ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ความเห็นข้างบนนั้น  นั่งเขียนตอนเขากำลังจะปิดห้องคอมพิวเตอร์ (ที่ทำงาน)  ก็เลยมาเขียนต่อตอนเช้าค่ะ (ที่บ้าน)

มีอีกประเด็นหนึ่งคือ

รัฐธรรมนูญ  บอกหน้าที่ของรัฐที่พึงปฏิบัติต่อประชาชนด้วย  แต่คำถามคือ "รัฐ" คือใคร   ... รัฐบาลเป็นเพียง "กลุ่มคน"  ที่ทำหน้าที่ดูแลรัฐเพียงแค่ไม่กี่ปี  กลุ่มคนที่เป็นรัฐบาลจะเห็น "พันธะ" ต่อรัฐและต่อประชาชนแค่ไหนกัน  นอกจากเห็น "อำนาจรัฐ" ที่เขามีโอกาสได้ครอบครองในช่วงเวลาสั้นๆเวลาหนึ่งและต้องรีบใช้ประโยชน์จากมัน    รัฐธรรมนูญไทยแต่ละฉบับอายุยาวกว่ารัฐบาลเล็กน้อยเท่านั้นจึงเป็นสถาบันที่อ่อนแอเกินกว่าที่จะเป็นฐานสำหรับการสร้างระบบกติกาสืบเนื่องอื่นๆ

ศาสนา บอกหน้าที่หรือสิ่งที่ "คน" หรือ "ปัจเจกบุคคล" ที่อยู่ในสถานะต่างๆ  รวมถึงผู้อยู่เหนือกว่าผู้อื่นพึ่งกระทำต่อผู้อื่นด้วย   บุคคลที่อยู่ในสถานะเหนือกว่าผู้อื่นนั้น ไม่ใช่สถานะชั่วครั้งชั่วคราว  หน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามหลักศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่องในระยะยาว  ศาสนาสอนให้คนมองยาว..

ระบบหนึ่งทำให้คนมองสั้นแต่อีกระบบหนึ่งทำให้คนมองยาว  มองสั้นกับมองยาวให้ผลต่อพฤติกรรมของคนต่างกัน

ระบบใดจะเข้มแข็งพอที่จะหล่อหลอมคนไทยได้  คนไทยผู้ใดจะสร้างระบบที่ดีได้  ..ไม่มี.. นอกจากจะเป็นเรื่องของกลุ่มคน  สังคม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบ 

ถ้าคนเรายังมีทุกข์ และปรารถนาจะพ้นทุกข์ พุทธศาสนาก็จะยังคงมีความสำคัญต่อไป เพราะเป็นระบบความรู้ที่บอกว่าทุกข์เกิดจากอะไร? และจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร? โดยบอกให้รู้ว่า ธรรมชาติของสรรพสิ่งเกิดขึ้นจากการอิงอาศัยกัน "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" และได้ลำดับกระบวนการของการเกิดทุกข์และการหลุดพ้นจากความทุกข์ไว้ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง เป็นใบไม้กำมือเดียว เรื่องทางโลก เรื่องของรัฐ ก็หนีไม่พ้นกฏธรรมชาติ "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" แต่จะอิงอาศัยกันอย่างไรเป็นรายละเอียดที่ต้องศึกษาในตัวละครที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ปราชญ์หลายท่านแสดงให้เห็นว่า ที่มาและการใช้อำนาจของสถาบันต่างๆ อยู่ในจิตสำนึกลึกๆของแต่ละคน จึงขอเติม "คนไทยผู้ใดจะสร้างระบบที่ดีได้? ไม่มีนอกจากเป็นเรื่องของกลุ่มคน สังคม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบ" รวมทั้งจิตสำนึกของคนไทยแต่ละคนด้วย ขอบคุณอาจารย์ทิพวัลย์และอาจารย์ปัทมาวดีที่เข้ามาแลกเปลี่ยนครับ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

"จิตสำนึก" เป็นคำที่น่าคิด ว่าเป็นจิตสำนึกต่ออะไร

ตะวันตกคงมีแนวคิดเรื่อง "จิตสำนึกต่อสังคม" รัฐธรรมนูญอังกฤษจึงใช้จารีตปฏิบัติเป็นรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

อเมริกาเป็นประเทศใหม่ การหล่อหลอมเพื่อสร้างชาติจึงถูกสร้างขึ้นด้วย "ภาษา" เป็นคำประกาศเจตนารมย์ ที่สะท้อนจิตสำนึก และบทบาทต่อสังคม

ประเทศไทยมีจารีตแบบหนึ่ง แต่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างสังคมแบบตะวันตก

"จิตสำนึกของคนไทย" คืออะไร ?

ดิฉันคิดว่า สิ่งที่ชัดที่สุดที่เป็นจิตสำนึก หรือจิตใต้สำนึกพื้นฐานของคนไทยนั้นไม่มีคำว่า "สังคม" อยู่ในระบบคิด แต่มีคำว่า "ความสัมพันธ์กับคน" แบบพุ่ทธ คือ พรหมวิหารสี่

เชื่อว่าจิตสำนึก หรือจิตใต้สำนึกที่คนไทยส่วนใหญ่มีอยู่ คือ ความเมตตากรุณา (ขี้สงสาร) แต่เราไปไม่ถึง มุทิตา (ทำให้ขี้อิจฉา) และอุเบกขา (ทำให้มีอคติ เล่นพรรคเล่นพวก)

สิ่งพึงปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติ (ธรรมและศีล) ก็ยังไปกันไม่ค่อยถึง..

โครงสร้างเชิงอำนาจที่เหลื่อมล้ำก็มีอยู่

เราจึงไม่สามารถใช้จิตสำนึกและค่านิยมแบบไทยๆที่มีอยู่เพื่อสร้างเป็นกติกาพันธะต่อสังคม หรือสร้างรัฐธรรมนูญแบบจารีตอย่างอังกฤษได้ เราจึงได้เขียนมันขึ้นมาใหม่ในแนวทางตะวันตก ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่า ..ล้มเหลว เช่นกัน..

เป็นสมมุติฐานจิตสำนึกของคนไทยที่เข้าท่ามากครับ จะสังเกตมากขึ้นว่าจริงอย่างที่อาจารย์ว่าไว้หรือเปล่า?

ขอท้วงว่า อาจารย์ใช้กรอบพรหมวิหาร4 แต่พอทาบกับคนไทยอาจาย์บอกว่าไปไม่ถึง แสดงว่า จริงๆแล้วจิตสำนึกของคนไทยเป็นอย่างไรยังบอกไม่ได้ อาจจะไม่ใช่พรหมวิหาร4ก็ได้ ต้องเอาที่เป็นจริงๆซีครับ แล้วค่อยสรุปว่าคืออะไร?หรือสอดคล้องกับกรอบอะไรมากที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท