ชีวิตที่พอเพียง : ๔๙๔. เรียนรู้วิธีทำงานวิจัยเชื่อมศาสตร์


 

          วันที่ ๓ เม.ย. ๕๑ เป็นวันแห่งความสุขอีกวันหนึ่งของผม    เพราะช่วงเช้าก็ได้ชื่นใจกับการประชุมใหญ่ประจำปีของผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งปีนี้มีคนมาประชุมประมาณ ๓๐๐ คน มากกว่าปีที่แล้วมาก    และคำอภิปรายซักถามก็แสดงว่าผู้ถือหุ้นไว้วางใจคณะกรรมการธนาคาร    และแสดงความรักห่วงใยองค์กรอย่างชัดเจน


          ตอนบ่ายผมไปร่วมประชุม “มรดกความทรงจำแห่งพระนครศรีอยุธยา”   ของโครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สกว.  เรื่อง “กฎหมายตราสามดวง : ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก” นำโดย ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร   ได้ฟังแล้วเกิดความสุข    เพราะได้เห็นผลงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม    เป็นงานวิจัยเชื่อมศาสตร์ ระหว่างประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ GIS,  ICT, และศิลปะ   ที่สำคัญ มีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่เข้มข้นมาก   น่าชื่นใจ    และมีการนำเสนอผลงานวิจัยประวัติศาสตร์ออกมาเป็นศิลปะคือภาพวาด นับเป็นนวัตกรรม


          ผลงานที่แจกในวันนี้เป็นหนังสือ ๒ เล่ม ในชุด มรดกความทรงจำแห่งพระนครศรีอยุธยา (เล่ม ๑ และเล่ม ๒)   โดยเล่ม ๑ ชื่อ พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา    เล่ม ๒ ชื่อ มรดกความทรงจำแห่งพระนครศรีอยุธยา


          ดร. วินัย เป็นคนหลักแหลมลึกซึ้งและเสียดสี    ในการเสวนาเรื่อง “อนุสติกรุงแตก : ข้อคิดสำหรับสังคมไทยปัจจุบัน” ท่านชี้ให้เห็นสภาพสังคมที่อ่อนแอ ไม่ไว้วางใจกัน  พร้อมจะล่มสลายอยู่ทุกเมื่อ    พม่าไม่ได้มีฝีมือมากมายนัก สามารถปล้นสดมภ์อยู่ ๓ ปี กรุงก็แตกแบบคล้ายๆ มีคนไทยเอาไปยกให้พม่า    เพราะหมดศรัทธาในผู้นำไทย    ผมฟังแล้วนึกถึงสภาพปัจจุบัน


          อีกเสวนาหนึ่ง ชื่อ “กว่าจะเป็นภาพความทรงจำแห่งพระนครศรีอยุธยา” โดยนักวิจัยรุ่นหนุ่ม ๓ คน คือ อ. พิชญ์ แตงพันธ์, อ. เกรียงไกร เกิดศิริ, และ อ. ปรีดี พิศภูมิวิถี   ฟังนักวิจัยรุ่นใหม่ในทีมอภิปรายเล่าเรื่องราวการทำงานแล้ว    แม้ผมจะเป็นคนนอกสาขา ก็อดจะตื่นตาตื่นใจมิได้   เพราะจะได้ผลงานการตีความประวัติศาสตร์อยุธยาใหม่อย่างมากมาย   เป็นผลงานที่จะพลิกโฉมการเรียนประวัติศาสตร์   นักเรียนชั้นประถมมัธยมจะเรียนประวัติศาสตร์อยุธยาสนุกและเข้าใจง่ายขึ้นมาก    เพราะจะมีภาพชีวิตจริงของเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ ที่ศิลปินวาดขึ้นจากเรื่องราวของบันทึกในประวัติศาสตร์ ประกอบกับผลการวิจัยพื้นที่จาก GIS  ภาพถ่ายดาวเทียม และจากบันทึกประวัติศาสตร์


          ภาพวาดสีน้ำมันชิ้นเอก  (ขนาด ๑.๕ x ๑.๕ เมตร) ที่เป็นผลงานวิจัยชื่อ “อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤา” วาดโดยพิชญ์ แตงพันธ์   เป็นภาพเกาะอยุธยาในสมัยโบราณ ที่ใส่อาคาร วัด เจดีย์ แม่น้ำ เรือ และชีวิตจริงของผู้คนลง ไปด้วย   และยังมีภาพวาดสีเทียนแสดงชีวิตจริงของผู้คน ที่วาดแล้วแก้แล้วแก้อีก ตามข้อมูลที่ตีความจากบันทึกประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย   ทำให้เข้าใจความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ที่มีพลเมืองระหว่าง ๑๕๐,๐๐๐ – ๒๐๐,๐๐๐ คน   ใหญ่เท่าๆ กับลอนดอน และปารีส ในสมัยนั้น   และมีผู้คนขวักไขว่ เป็นเมืองหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม   เมืองท่า และศูนย์การค้า


          ที่ผมชื่นชมมาก ต่อการจัดพิธีเปิดการประชุม โดยมีพิธีกล่าวสดุดี และมอบดอกไม้เทียนธูปบูชา “เมธาจารย์เกียรติคุณ” (mentor) ๒ ท่าน คือ ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร  และ ศ. แสวง บุญเฉลิมวิภาส   เป็นภาพที่งดงาม เป็นการตอกย้ำภาพคนดีและความดีต่อสังคม   เป็นเสมือนฝนอัน ชุ่มใจในท่ามกลางทะเลทรายสังคมอันแห้งแล้งในขณะนี้ 

 
          ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ บอกผมว่าทุนวิจัยเมธีวิจัยอาวุโสของ ดร. วินัย กำลังจะจบรอบ ๒ และจะไม่มีรอบ ๓   ซึ่งน่าเสียดายมาก   เพราะพบวิธีทำงานในหน้าที่เมธีวิจัยอาวุโสที่ยอดเยี่ยมมาก   น่าจะต้องหาทางจัดทุนสนับสนุน
          ผลงานวิจัยประวัติศาสตร์ นำเสนอเป็นภาพวาด   เป็นนวัตกรรมของการวิจัยประวัติศาสตร์

 

วิจารณ์ พานิช
๓ เม.ย. ๕๑

 

 
           
        
                     
                    
                      
                    
                      
 

 

หมายเลขบันทึก: 175824เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากครับ ความจริงที่นี่มีคนเขียนประวัติศาสตร์น้อยจัง

เรียน ท่านอ.วิจารณ์ค่ะ

  • ลำพังงานวิจัยธรรมดาๆก็ยากแล้ว(สำหรับดิฉัน)...นี่วิจัยเชื่อมศาสตร์ ...แล้วนำเสนอเป็นภาพวาดอีกด้วย  เป็นความยากมากๆจริงๆสมเป็นนวัตกรรมค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท