BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ค้นหาความหมายของคำว่า ดี (อภิจริยศาสตร์) ๓


อภิจริยศาสตร์

ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย ซึ่งจำแนกแนวคิดออกไปได้อีก กล่าวคือ

  • ธรรมชาตินิยม (Naturalism) แนวคิดที่เชื่อว่า คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง...
  • อธรรมชาตินิยม (Nonnaturalism) แนวคิดที่คัดค้านธรรมชาตินิยม กล่าวคือ คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) ไม่อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง... แต่อาจรับรู้ความหมายโดยคุณสมบัติที่ไม่เป็นธรรมชาติ...

คำว่า ธรรมชาติ ในที่นี้  หมายถึง ข้อมูลที่เรารับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ข้อเท็จจริง (fact)... ส่วน อธรรมชาติ ก็หมายถึงสิ่งที่มิใช่ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเช่นนั้น

ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงก็คือ คุณค่า (value) ซึ่งได้มาจากการประเมินค่าหรือเข้าไปกำหนดคุณค่าของข้อเท็จจริงอีกครั้ง เช่น กรุงเทพเป็นเมืองน่าอาศัยอยูู่่ .... คำว่า น่าอาศัยอยู่ จัดเป็น คุณค่า เพราะเราประเมินค่า ข้อเท็จจริง (กรุงเทพฯเป็นเมือง)

 

คำศัพท์ทางจริยะทั้งหมดจัดเป็นคุณค่า มิใช่่ข้อเท็จจริง เช่น

  • ท่านนายกเป็นคนดี
  • ท่านประธานเป็นคนเลว
  • ท่านหัวหน้าเป็นคนชั่ว

ข้อความว่า ท่านนายกเป็นคน ท่านประธานเป็นคน และ ท่านหัวหน้าเป็นคน .... เรียกว่า ข้อเท็จจริง ...ส่วนคำศัพท์ว่า ดี เลว และ ชั่ว ... เรียกว่า คุณค่า

 

แนวคิดธรรมชาตินิยมถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ คือ ดี เลว ชั่ว ซึ่งเป็นคุณค่าเหล่านี้ อาจระบุ ให้ความหมาย หรืออาจรับรู้ได้ด้วย คำศัพท์หรือข้อความที่เป็นข้อเท็จจริงอื่นๆ

 

(อนึ่ง อภิจริยศาสตร์ เรียกอีกชื่อว่า จริยศาสตร์วิเคราะห์ ซึ่งจัดเป็นปรัชญาวิเคราะห์แขนงหนึ่ง มีความละเอียดถี่ยิบด้วยหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนจะค่อยๆ เล่าตามที่พอจะคาดเดาได้เท่านั้น)

...........

ยกตัวอย่างว่า นส.โสรยาสอบวิชาภาษาไทยได้เกรด D ในภาคการศึกษาที่แล้ว... ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คุณแม่ไม่ปลื้ม จึงมีข้อต่อรองกับลูกสาวว่า  ภาคการศึกษานี้ ถ้าหากว่าได้เกรด ต่ำกว่า B ก็จะยึดโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่... นี้คือปัญหาของน้องโสรยา

โสรยาวิตกกังวลเรื่องนี้มาก จึงคิดที่จะลอกวิชาภาษาไทย เพื่อจะได้เกรด B ไม่ต้องถูกยึดโทรศัพท์มือถือตามที่คุณแม่คาดคั้น... เธอกำลังคิดเรื่องนี้อยู่

  • โสรยาต้องการลอกข้อสอบภาษาไทย... จัดเป็น ข้อเท็จจริง
  • โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทยหรือไม่... จัดเป็น คุณค่า

 

ซึ่งจากข้อความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและคุณค่าข้างต้น อาจมาจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า

  • โสรยามีความจำเป็นต้องได้เกรดภาษาไทย B                .... (1)
  • โสรยาสามารถได้เกรดภาษาไทย B ด้วยการลอกข้อสอบ  .... (2)
  • ดังนั้น โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทย                  ..... (3)

 

เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1) จัดเป็น ข้อเท็จจริง .... ขณะที่ (3) จัดเป็น คุณค่า

.........

โสรยาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษานายเท่งศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนชาย เขาแนะนำว่า ไม่ควรลอกข้อสอบ เพราะการลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ... ซึ่งอาจจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า

  • เท่งศักดิ์ต้องการให้โสรยาอดกลั้นต่อการลอกข้อสอบภาษาไทย... (1ท)
  • การลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ........ (2ท)
  • ดังนั้น โสรยาไม่ควรลอกข้อสอบภาษาไทย............................. (3ท)

 

เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1ท) จัดเป็น ข้อเท็จจริง... ขณะที่ (3ท) จัดเป็น คุณค่า

............
ธรรมชาตินิยม ถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ ซึ่งเป็นคุณค่า เช่น ดี ชั่ว เลว ฯลฯ อาจกำหนดรู้ได้ด้วยข้อเท็จจริง

และจากตัวอย่างที่ยกมา ประเด็นของการค้นหาความหมายของคำว่า ดี เริ่มต้นที่ความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับคุณค่า ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป

หมายเลขบันทึก: 175818เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • กราบนมัสการ พระคุณเจ้า
  • มาอ่าน  คำปรัชญาทางพุทธศาสนา การบอกเล่า การให้เรียนรู้
  • ได้ความรู้ดีค่ะ
  • แต่ต้องอ่านไป ตีความไป เพราะศัพท์ ปรัชญา มากๆๆ
  • อิอิ
  • ขอบพระคุณค่ะ

P

บัวปริ่มน้ำ

 

  • อนุโมทนา...

อันที่จริงปรัชญาวิเคราะห์สนุก นอกจากชวนให้คิดลับสมองแล้ว ยังนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน... แต่เพราะ่ศัพท์แสงเยอะเกินไป อีกทั้งตำราภาษาไทยก็ชอบบัญญัติศัพท์ยากๆ... จึงกลายเป็นว่า วิชานี้อยู่บนหอคอยงาช้าง ที่ได้มาจากป่าดงดิบ...

เจริญพร

กราบนมัสการ

มาเพิ่มเติมความรู้ครับ

กราบนมัสการครับ

ตรรกะประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ

ดี หรือ ไม่ดี ขึ้นอยู่กลับว่า ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียผลประโยขน์

โจร กับ ปล้น เป็นของคู่กัน การปล้น ในมุมมองของโจร ถือว่าดี คนโดนปล้นถือว่า ไม่ดี

P

aonjung

 

  • ดี หรือ ไม่ดี ขึ้นอยู่กลับว่า ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียผลประโยขน์
  • โจร กับ ปล้น เป็นของคู่กัน การปล้น ในมุมมองของโจร ถือว่าดี คนโดนปล้นถือว่า ไม่ดี

ความเห็นของคุณโยมสองข้อความนี้ เมื่อพิจารณาในแง่อภิจริยศาสตร์ก็จัดอยู่ในกลุ่มธรรมชาตินิยม.. ส่วนประเด็นคัดค้าน อาตมาค่อยนำมาเล่าต่อไป...

อนึ่ง เมื่อพิจารณาในแง่ของ เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม (หรือจริยศาสตร์เชิงปทัฎฐาน) ก็อาจรวมอยู่ในกลุ่ม ผลลัพธ์นิยม (Consequentialism) ซึ่งยึดถือว่า ดี (ถูก) หรือ ชั่ว (ผิด) ขึ้นอยู่กับผลที่พึงจะได้รับมา โดยจำแนกเป็น ผลลัพธ์ส่วนตัว และ ผลลัพธ์ส่วนรวม...

คุณโยมสนใจก็ลองเข้าดู คลิกเลยConsequentialism

เจริญพร

·     วันสงกรานต์ ชวนให้ สำราญจิต

·     ชวนลิขิต ให้มวลมิตร คิดสร้างสรรค์

·     สงกรานต์นี้ ชวนทำดี  ดีทุกวัน

·     ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมกันสร้าง พลังใจ

·     สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ

P

หมอเจ๊

 

  • สงกรานต์ สงกรานต์ สงกรานต์
  • สำราญ สำราญ สำราญ
  • ใจ ใจ ใจ
  • สงกรานต์ สำราญ ใจ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท