Blog technologies


            เพิ่งอ่าน case การบ้านมา  ลองหาข้อมูลอยู่สักพักนึงแล้ว ก็มาพบกับ blog technologies ที่        อ.จันทวรรณ  น้อยวัน ท่านได้เขียนไว้ในบล็อคแล้วซึ่งอ่านแล้วเข้าใจดีมากเกี่ยวกับเทคโนโลยีของบล็อคจึงอยากให้เพื่อนๆลองอ่านดูนะครับ โดยอาจารย์จะเริ่มเกริ่นนำให้เราทราบถึงความหมายของ RSS Feed ก่อนว่าคืออะไร ? มีเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่ควบคู่มากับบล็อค ซึ่งท่านที่อ่านและเขียนบล็อคควรจะต้องรู้จักกันไว้ คือ RSS ซึ่งย่อมาจาก Really Simple Syndication ซึ่งมีหลายเวอร์ชันด้วยกัน เช่น RSS 0.91, RSS 1.0, RSS 2.0, และ ATOM

RSS หรืออาจเรียกว่า Site feed หรือ Feed เฉยๆ ก็ได้ เป็นไฟล์ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับ HTML เรียกว่า XML ซึ่งรวบรวมเอาข้อมูลที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไว้เป็นชุดๆ และเป็นลิงค์ที่คลิ้กเข้าไปดูเนื้อหาเต็มๆ ที่อยู่บนเว็ปได้ ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ Feed เป็นเหมือนช่องสำนักข่าวโทรทัศน์หนึ่งช่อง (Channel) เช่น ช่อง 9, ช่อง 7, ช่อง 5, ช่อง 3, หรือ ITV เป็นต้น ช่องข่าวแต่ละช่องก็จะมีข่าวด่วนอัพเดตหลายๆ ข่าว (Items) ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อข่าวและข่าวที่สรุปๆ นำมาเสนอให้ผู้ชมได้ชมกันโดยทันทีและสั้นกระทัดรัดอีกด้วย

ข้อมูลที่บรรจุอยู่ใน Feed มีหน้าตาเป็นอย่างที่แสดงไว้ด้านล่างนี้ ซึ่ง Feed อันนี้จะเป็น RSS เวอร์ชัน 2.0

บล็อคเซิร์พเวอร์เกือบทุกที่จะสร้าง RSS ให้อัตโนมัติ และจะใส่ไว้ในหน้าเพจของบล็อคเป็นกราฟฟิกสีส้มเล็กๆ (เป็นส่วนใหญ่) มีตัวอักษรเขียนว่า XML หรือ RSS x.xx หรือ ATOM  แต่ถ้าไม่แสดงเป็นกราฟฟิกไว้ก็จะเป็นข้อความที่เป็นลิงค์เขียนว่า “Syndicate this site”

เทคโนโลยี RSS มีประโยชน์มากสำหรับทั้งผู้อ่านและเจ้าของเว็ปไซต์หรือเว็ปบล็อคต่างๆ ในแง่ของผู้อ่านนั้น แทนที่จะต้องเข้าไปทีละเว็ปไซต์หรือเว็ปบล็อคเพื่ออ่านข้อมูลข่าวสาร การสมัครรับ Feed จะช่วยประหยัดเวลาและสะดวกในอ่านโดยใช้โปรแกรมหรือเว็ปไซต์ที่กล่าวมาข้างต้น และปลอดภัยคลายกังวลจากจดหมายข่าวขยะต่างๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตู้จดหมายเต็มเป็นประจำและนำมาซึ่งไวรัสและหนอนคอมพิวเตอร์ เพราะด้วยการสมัครรับ Feed จากเว็ปไซต์หรือบล็อคที่ผู้อ่านสนใจ ผู้อ่านก็จะสามารถติดตามอ่านข่าวสารที่อัพเดตได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องให้อีเมล์แอดเดรสเพื่อจำใจสมัครรับจดหมายข่าวกับทางเว็ปไซต์ที่อาจจะดูไม่น่าไว้วางใจ

ส่วนประโยชน์ในแง่มุมของเจ้าของเว็ปซึ่งเป็นผู้นำเสนอข้อมูลแก่ผู้อ่านนั้นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนำเอา RSS มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการนำเสนอข้อมูลล่าสุดส่งถึง Desktop ของลูกค้าโดยความฉับไว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเพียงบทความหรือบันทึกที่อยู่บนบล็อคเท่านั้น ข้อมูลอื่นๆ เช่น ปฏิทินกิจกรรม ข่าวสารของบริษัท เอกสารแนะนำสินค้าใหม่ บทความที่น่าสนใจ เป็นต้น

นอกจากนี้ จากปรากฎการณ์อีเมล์ขยะ (Spam Email) หรือ (Junk Email) ที่มีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้บริษัทที่ให้บริการฟรีอีเมล์ หรือบริษัทที่มีอีเมล์เซิร์ฟเวอร์ของตนเองจำเป็นต้องใช้โปรแกรมในการสกัดกั้นอีเมล์ขยะเหล่านี้ ซึ่งเซิร์ฟเวอร์จะสกัดเองอัตโนมัติหรือไม่ก็ให้ผู้ใช้เป็นผู้กำหนดการสกัดเองด้วย ด้วยเหตุนี้ อีเมล์ที่ส่งมาที่ผู้ใช้บ่อยๆ อาจจะเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ เช่น จดหมายข่าว (โดยเฉพาะที่มีการแนบเอกสารมากับอีเมล์นั้นๆ ด้วย) มักจะถูกเซิร์ฟเวอร์มองว่าเป็นอีเมล์ขยะ หรือผู้ใช้เองมักจะเพิกเฉยไม่อ่านไปเลยและเกิดเป็นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ ซึ่งทำให้ผู้ใช้พลาดข่าวสารที่สำคัญของบริษัทผู้นำเสนอข้อมูลโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มการใช้ Feed แทนอีเมล์เพิ่มมากขึ้นและผู้อ่านมักจะอ่านข้อมูลบน Feed มากกว่าบนอีเมล์ เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้ RSS เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมมีประโยชน์แก่ผู้ให้บริการข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Podcast ในการส่งไฟล์เสียงไปยัง Desktop ของผู้ใช้ได้โดยง่าย แทนการแนบไฟล์ขนาดใหญ่ไปในอีเมล์ที่ส่งไปให้ผู้ใช้ ผู้ใช้เองก็เพียงแค่ทำการอัพเดต Feed นี้ที่สมัครไว้แล้วในโปรแกรม Feed reader แล้วก็รอให้โปรแกรมทำการดาวน์โหลดไฟล์มาให้

เห็นประโยชน์ในทั้งสองด้านอย่างนี้แล้ว หลายๆ ท่านที่มีบล็อคหรือมีเว็ปไซต์ที่ยังไม่มีไฟล์ RSS คงคิดอยากสร้างมันขึ้นมาบ้างแล้ว จะได้นำเสนอข้อมูลที่มีอัพเดตให้ถึงผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วและโอกาสที่ผู้อ่านจะอ่านข้อมูลเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้นด้วยเพราะไม่ต้องคอยกังวลว่าอาจจะเป็นอีเมล์ขยะ แต่อย่างไรก็ตาม การสร้าง Feed แบบโค้ดเองด้วยมือก็อาจจะยากไปสำหรับมือใหม่เพราะต้องทำความรู้จักกับ XML บ้างพอสมควร ซึ่งจากข้อความที่ได้อ่านมานี้ทำให้เห็นภาพได้มากขึ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านบล็อคซึ่งถ้ามีอะไรเพิ่มเติมมาอีกจะมานำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1753เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2005 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท