BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ไปไหว้ลาบวช


ไปไหว้ลาบวช

เดือนสี่กำลังผ่านไปและเดือนห้ากำลังเริ่มต้น... ปักษ์ใต้บ้านเราสมัยก่อน พอเริ่มเดือนห้าก็เริ่มมีเจ้านาคเดินตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งคนในท้องถิ่นจะรู้กันว่า เจ้านาคจะมาไหว้เพื่อลาบวช ... โดยจะเริ่มต้นบวชเดือนหกเป็นต้นไปจนกระทั้งเข้าพรรษา (ส่วนเดือนห้าไม่นิยมพานาคเข้าวัดหรือบวช โดยอ้างว่า เดือนร้อน จะทำให้เจ้านาคบวชแล้วอยู่ไม่เป็นสุข)

การพาลูกหลานไปฝากวัดเพื่อจะเป็น เจ้านาค นั้น มักจะเริ่มต้นเดือนสี่ (ส่วนเดือนห้าอาจมีบ้าง แต่น้อย)... หลังจากฝากเป็นเจ้านาคเรียบร้อยแล้วก็จะให้เจ้านาคไปไหว้คนเฒ่าคนแก่ที่เคารพนับถือ ซึ่งการไปไหว้นี้ สมัยก่อนไหว้กันเป็นเดือนๆ เพราะไม่มีพาหนะและการสื่อสารทันสมัยดังเช่นในสมัยปัจจุบัน...

ตัวอย่างว่า พ่อบ้านเดิมอยู่ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด แล้วก็มาได้กับแม่ซึ่งอยู่ตำบลวัดจันทร์ อำเภอสทิงพระ และก็ตั้งครอบครัวมีลูกอยู่ที่นี้... เมื่อลูกชายจะบวช ก็ให้ลูกชายซึ่งตอนนี้เรียกว่าเจ้านาค เดินทางไปยังตะเครียะบ้านเดิมพ่อเพื่อไปไหว้ญาติผู้ใหญ่...

.............

พิธีกรรมในการไปไหว้ อย่างแรกต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นเจ้านาค โดยมากมักจะนุ่งผ้าพับ สวมเสื้อขาว คาดผ้าสะไบเฉียง พร้อมสวมมงคลที่ศรีษะ ... แต่การแต่งกายนี้ ไม่เป็นการเคร่งครัดนัก อาจนุ่งกางเกงยีนส์ สวมเสื้อยืดก็ได้... ที่สำคัญก็คือ ต้องมีผ้าสะไบคาดเฉียง และสวมมงคลเท่านั้น จึงจะรู้ว่าเป็นเจ้านาค (เพราะคนทั่วไปจะไม่แต่งอย่างนี้)... ส่วนผมบนศรีษะนั้น มักจะไม่โกน คงปล่อยไว้อย่างนั้น จะโกนในวันใกล้บวชจริงๆ... และอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องติดมือเจ้านาคไปก็คือพานใส่หมากพลู (ปักษ์ใต้เรียกว่า หย้อง)

เจ้านาคมักไม่นิยมไปคนเดียว จะมีญาติผู้ใหญ่ เช่น พ่อ แม่ ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือจะเป็นพี่ชายพี่สาว ก็ได้ ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านนั้น หรือรู้จักคนในหมู่บ้านนั้นเป็นอย่างดี เป็นผู้พาไป...  พอไปถึงบ้านที่จะไหว้  ญาติผู้ใหญ่ก็จะเรียกเจ้าของบ้านหรือทักทายเจ้าบ้านตามสมควรพลางบอกว่า พานาคมาไหว้... ฝ่ายเจ้าบ้านก็เชื้อเชิญขึ้นเรือนเพื่อจะได้คุยกัน...

การไหว้จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมาก... เมื่อเจ้าบ้านนั่งในที่สมควรแล้ว เจ้านาคก็กราบแล้วก็ยื่นพานหมากพลูให้แล้วก็กราบอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี...  ส่วนอย่างอื่นก็คุยกัน เช่น ลูกใคร ? ทำงานอะไร ? มีพี่น้องกิ่คน  ? อายุเท่าไหร่ ? บวชวัดไหน ? วันไหน ? ฯลฯ ทำนองไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ สร้างความคุ้นเคย... เวลาในการสนทนาเหล่านี้ ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับโอกาส บางครั้งไหว้เสร็จบอกงานเสร็จแล้วก็ลาเพื่อจะไปบ้านอื่นต่อ แต่บางครั้งก็อาจชวนกินข้าว อยู่คุยกันที่นั้น หรือถ้าค่ำแล้วก็อาจชวนนอนที่นั้น แล้วค่อยไปต่อพรุ่งนี้....

.............

ดังกล่าวแล้วว่า เพราะพาหนะและการสื่อสารยังไม่ทันสมัยดังเช่นปัจจุบัน ดังนั้น การไปไหว้ลาบวช จึงต้องใช้เวลาหลายวัน เช่น เจ้านาคอาจไปอยู่ที่ตะเครียะซึ่งเป็นถิ่นเดิมของพ่อเป็นเดือน... โดยปกติ ถ้ามิใช่ตอนไปไหว้ เจ้านาคก็พักอยู่บ้านปู่ย่าหรือบ้านญาติผู้ใหญ่อื่นๆ อยู่ช่วยงาน กินเมา เที่ยวเล่นอยู่แถวละแวกนั้น เมื่อจะไปไหว้นั่นแหละ จึงแต่งชุดเจ้านาคถือพานหมากพลูไปสักครั้งหนึ่ง...

การไปไหว้ลาบวชทำนองนี้ ถือเป็นการนับญาติพี่น้องไปในตัวนั้นเอง ซึ่งการนับญาตินี้ บางครั้งก็หาจุดสิ้นสุดยาก เช่น ปู่บอกว่า มีเพื่อนของท่านอยู่ที่นคร ต้องไปไหว้ด้วย เพราะตอนพ่อของเจ้านาคเป็นวัยรุ่นนั้น เคยหนีคดีไปอยู่กับเพื่อนของปู่คนนี้เกือบสองปี... เจ้านาคขัดญาติผู้ใหญ่ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเดินทางไปนครอีกทอดหนึ่ง...

เจ้านาคเกิดมาก็ไม่เคยเห็นเพื่อนของปู่ที่พ่อเคยไปอยู่ด้วยคนนี้ เมื่อไปครั้งแรกนั้น ก็จะมีญาติผู้ใหญ่เช่น ลุงเป็นผู้พาไป... แต่ลุงก็พาไปไหว้เพียงเพื่อนของปู่เท่านั้น แล้วก็ทิ้งเจ้านาคไว้ ส่วนลุงก็ขอตัวกลับบ้านก่อน เพื่อนของปู่จึงต้องรับภาระเพื่อให้เจ้านาคไปไหว้เพื่อนๆ ของพ่อในละแวกนั้นอีกหลายวัน...

เจ้านาคก็อาจอยู่นครบ้านเพื่อนของปู่ หรือต่อไปอีกเป็นบ้านเพื่อนของพ่ออีกหลายวันตามสมควร แล้วก็จะลากลับบ้าน หรือไปที่อื่นต่อ...

ตามที่เคยเห็นและได้ยินได้ฟังมา... การไปไหว้ลาบวชในสถานที่ไกลๆ อย่างนี้ บางครั้งเมื่อถึงวันบวช เพื่อนของปู่ หรือบรรดาเพื่อนของพ่อเหล่านั้น อาจมิได้มาในวันงาน แต่การไปไหว้ถึงบ้านเช่นนี้ จะยังความคิดถึงซึ่งกันและกันให้ยาวไกล ทำให้มิตรภาพยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ต่อไปในยามจำเป็น... ประมาณนี้

.............

การไปไหว้ลาบวชของเจ้านาคทำนองนี้ ก็อาจมีเรื่องราวอื่นๆ เชื่อมโยงไปด้วย เช่น สาวๆ ก็อาจคอยชำเลืองแล เจ้านาคที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้านแต่ละปี... ฝ่ายเจ้านาคก็เช่นกัน อาจชำเลืองแลสาวๆ ในหมู่บ้านนั้นๆ ว่าเป็นที่ถูกใจตนเองบ้างหรือไม่... ญาติผู้ใหญ่อาจเป็นเจ้ากี้เจ้าการเปิดโอกาสให้สาวๆ ได้พบปะกับเจ้านาคเพื่อดูใจกัน...

ถ้าเป็นไปทำนองนี้ อีกปีสองปีหลังจากเจ้านาคได้บวชแล้วลาสิกขา (สึก) ออกมา ก็อาจมีการสู่ขอแต่งงานอยู่กินกันตามประเพณี...

ส่วนที่ร้ายๆ ก็มี เช่น เจ้านาคบางตัว อุปนิสัยยังไม่ได้ปรับปรุงให้เหมะสม หรือมีเวรมีกรรมแต่ปางก่อน ไปไหว้บางหมู่บ้าน เที่ยวเกะกะเกเร จึงถูกหนุ่มๆ ในหมู่บ้านนั้นแทงตาย...

หรือบางครั้งเกิดสมัครใจชอบพอกับสาวในหมู่บ้านนั้น รอไม่ได้เพราะฝ่ายสาวกำลังจะมีหนุ่มอื่นมาสู่ขอ จึงจำเป็นต้องชวนหนีตามกันไป หรือฉุดลากพาไปตามแต่กรณี... ถ้าเป็นอย่างนี้ เจ้านาคก็จะไม่ได้บวช เรียกกันว่า สึกนาค

เรื่องราวทำนองนี้ ผู้เขียนเคยได้ยินในสมัยเด็กๆ... เพราะสังคมเปลี่ยนไป เรื่องราวทำนองนี้จึงค่อยๆ สลายไป กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีตเท่านั้น

............

เดียวนี้ เจ้านาคเดินไหว้ทำนองนี้ ผู้เขียนไม่เห็นหลายปีแล้ว (อาจยังมีอยู่บ้าง) ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีสาเหตุหลายประการ ประการสำคัญที่เคยได้ยินเสียงบ่นทำนองว่า...

  • เสียเวลาเที่ยวไปไหว้ ! ไหว้แล้วเค้าไม่มาเสียความรู้สึก ! โทรศัพท์ไปบอกเฉพาะญาติใกล้ๆ แค่นั้นก็พอ ! ญาติไกลอย่าไปรบกวนเค้าดีกว่า...
  • ภาพคนแก่เดินนำหน้าเจ้านาคเดินตัดทุ่งนา จึงเหลือแต่เพียงความทรงจำ

 

หมายเลขบันทึก: 174329เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2008 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

นมัสการพระอาจารย์ครับ ได้ความรู้มากๆครับ แถวนครสวรรค์ ส่วนมากเท่าที่สังเกตุก็แค่แห่นาคไปวัดเลยครับ

P

กวินทรากร

 

เมื่อสามสิบปีก่อน หลวงพี่จะเห็นเป็นปกติ...

แต่เดียวนี้ ตามที่เล่ามาไม่มักเห็นแล้ว... โดยมากการแต่งชุดเจ้านาคลาบวชทำนองนี้ จะมีอยู่บ้างก็ก่อนบวช ๑-๒ วัน เพื่อไปลาญาติผู้ใหญ่สูงอายุที่ไปวัดไม่ไหวแล้วซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้านเท่านั้น....

นอกจากนั้น ก็ลาเฉพาะผู้ไปร่วมงานบวชภายในวัดก่อนเข้าโบสถ์เท่านั้น... ซึ่งทำให้สัมพันธภาพขาดความแน่นแฟ้น (เมื่อเทียบกับการไปลาบวชด้วยการไปค้างอยู่บ้านญาติผู้ใหญ่เป็นสิบวันดังสมัยก่อน)

ประเพณีที่เปลี่ยนไป บ่งชี้ถึง สัมพันธภาพระหว่างบุคลหรือกลุ่มชนเปลี่ยนไป...

เจริญพร

กราบนมัสการค่ะ

แถวบ้านดิฉันยังมีให้เห็นอยู่บ้างประปราย แต่ต่อๆ ไปคงน้อยลง

ที่เหลือคงมีเพียงคุณพ่อคุณแม่ของว่าที่นาค จะมาบอกกล่าวแทนค่ะ

P

jaewjingjing

 

คุณโยมว่าถูกต้อง...

เดียวนี้ พ่อแม่มักจะจัดการอะไรแทนลูกเสมอ เพื่อความสบายใจของลูก...

  • 5 5 5 5 5...

เจริญพร

นมัสการหลวงพี่

     ผมขออนุญาตให้น้องเยาะได้ศึกษาเรื่องนี้จากหลวงพี่เพิ่มเติมด้วยนะครับ ในงานวิจัยที่ได้มอบหมายให้เขาดำเนินการอยู่ครับ

ต้องขอขอบคุณ BM.chaiwut มากนะคะนับว่าเป็นเรื่องราวที่จะต้องศึกษาอย่างมากเลยคะ เพราะตัวเองอยู่แต่สังคมของอิสลามจึงไม่เคยรู้เรื่องราววัฒนธรรมของชาวพุธทมาก่อน

เพิ่งมาอ่านครับท่านอาจารย์ บ้านของผมการไหว้ลาบวช นิยมนำผ้าไตรไปด้วยเพื่อให้ญาติ หรือผู้ที่เราลาบวชนั้น ยกผ้าไตรทูนหัวอนุโมทนากับเจ้านาคครับ

P pakorn

 

  • ก็เคยเห็นเหมือนกัน นำผ้าไตรไปด้วยนะ...

อันที่จริง เรื่องเก่าๆ มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ เก็บไม่หมด... เคยคิดว่าจะแต่งนิยายย้อนยุคสักเรื่อง แต่ยังไม่ได้ลองเขียนเลย (..........)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท