โครงการรักษาใจ ยามเจ็บป่วย (ศิริราช)


กายป่วย ใจไม่ป่วย การฝึกสติ–สมาธิทำให้เราไม่เครียด มีจิตใจที่สงบ พร้อมที่จะดำเนินชีวิตให้มีความสุขในยามเจ็บป่วย

 

          คนเราเมื่อป่วยไข้เป็นโรคที่ร้ายแรงและมีความเจ็บปวด ต้องทนทุกข์ทรมาน  มักจะหมดหวังในการดำเนินชีวิต เกิดความรู้สึกท้อแท้ หดหู่ใจ เศร้าโศกเสียใจ จะเห็นได้ว่ายามที่ร่างกายเจ็บป่วย ภาวะของจิตใจถูกกระทบอย่างมาก ก่อให้เกิดความกลัว วิตกกังวล เครียด  บางรายอยากหลีกหนีจากความเจ็บปวดจนถึงกับไม่อยากมีชีวิตอยู่  เมื่อจิตใจที่เป็นทุกข์ สับสน ว้าวุ่นจะยิ่งทำให้อาการทางกายเพิ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นความยากลำบากสำหรับผู้ป่วยในการปรับทั้งใจและกายในการที่จะยอมรับความเจ็บป่วย

          พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้ทำในใจ ตั้งใจไว้ว่า ถึงแม้ร่างกายเราป่วย แต่ใจจะไม่ป่วยไปด้วย  การตั้งใจอย่างนี้เรียกว่า มีสติ  ทำจิตใจให้ไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความแปรปรวนในทางร่างกาย  เมื่อมีสติอยู่จึงสามารถรักษาใจไว้ได้ (พระเทพเวที : รักษาใจยามป่วยไข้)  ภาวะจิตใจที่สบายและสงบน่าที่จะมีผลต่อดีต่อร่างกาย  จากการวิจัยทางการแพทย์มีการรับรองผลว่าการทำสมาธิกระตุ้นให้สมองหลั่งสารความสุข คือ เอ็นดอร์ฟิน (endorphin)  เป็นสารเคมีที่ทำให้สมองปลอดโปร่ง คลายความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ขณะเดียวกันการทำสมาธิทำให้สมองลดการหลั่งสารที่ที่เป็นพิษต่อร่างกายคือแอดรีนาลีน (adrenaline) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายมีความผิดปกติ

          โครงการรักษาใจ ยามเจ็บป่วย มี ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิง สุมาลี  นิมมานนิตย์ เป็นที่ปรึกษา  มีวัตถุประสงค์ให้ ผู้ป่วยสามารถปรับตัวเข้ากับภาวะความเจ็บป่วยได้

          มีการดำเนินการโครงการทุกวันจันทร์และวันพุธ เวลา 15.00-17.00 น. โดยมีการอบรมรวม 16 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน ในเรื่อง

          1. การฝึกสติ-สมาธิ (หลักสูตรคุณแม่สิริ กรินชัย)  โดยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ (พอง-ยุบ) กำหนดอิริยาบถ

          2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วย โดยกลุ่มสมาชิกแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน 16 ครั้ง ได้แก่

·       กาย-ใจ เกี่ยวกันอย่างไร

·       กาย-ใจ ยามเจ็บป่วย

·       อยู่กับความเจ็บป่วยอย่างไร

·       วิธีบรรเทาความเจ็บปวด

·       นอนไม่หลับทำอย่างไร

·       ทำอย่างไมจึงไม่วิตกกังวล

·       ตกใจ กลัว ทำอย่างไร

·       เมื่อโศกเศร้า แก้ไขอย่างไรดี

·       ทำอย่างไรเมื่อเครียด

·       อย่างไรคือรู้เท่าทัน

·       กายป่วย ใจไม่ป่วย

·       รู้เท่าทันชีวิต

·       ปล่อยวาง หรือ ปล่อยปละละเลย

·       สุขที่เกิดจากภายใน คือเช่นนี้เอง

·       เรื่องที่กลุ่มขอมา

·       เรื่องที่กลุ่มขอมา

 

ประโยชน์ที่ได้รับ (จากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการ)

1.      สามารถกลับไปดูแลตนเองได้ ดูแลจิตใจตนเองได้

2.      พอได้ปรับตัวดีขึ้นแบบนี้ก็ทำให้บางครั้งก็ลืมว่าตนเองป่วยเพราะเราก็ใช้ชีวิตปกติก็เลยขอบคุณโครงการนี้ที่ให้ชีวิตใหม่

3.      จิตที่ฝึกแล้วจะช่วยให้เราอยู่กับความเจ็บป่วยได้โดยไม่ทุกข์ทรมาน

4.      การฝึกสติสมาธิทำให้เราไม่เครียด มีจิตใจที่สงบ  พร้อมที่จะดำเนินชีวิตให้มีความสุขในยามเจ็บป่วย

5.      ตอนนี้รู้สึกขอบคุณตนเองที่ป่วยเป็นมะเร็ง แพ้ยา ทำให้ได้รู้จักการเตรียมตัวตายอย่างสง่างาม ตายด้วยความสงบและมองความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ

6.      ดิฉันยึดอาจารย์สุมาลีเป็นตัวอย่างในการที่จะอยู่กับโรคภัย โดยที่ใจไม่ป่วยตามไปด้วย  เพราะถึงท่านจะป่วยแต่ก็มาเป็นวิทยากรให้พวกเราไม่ขาด

 

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมโครงการ

ดูตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น

ผู้รับผิดชอบโครงการ ศรีอรุณ  ธนะรัชติการนนท์    

งานการพยาบาลปฐมภูมิ โรงพยาบาลศิริราช  โทรศัพท์ 02-419-7718-9

download เอกสารสรุปสาระสำคัญ

download เอกสารความรู้สึกของคนไข้ต่อโครงการ

หมายเลขบันทึก: 174326เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2008 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

-โครงการนี้มีประโยชน์มากค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่ง

-เมื่อป่วยแม้จะอาการมากหรือน้อย เมื่อจิตสงบช่วยบรรเทาทุกข์ได้มากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท