ต๋ำนานปี๋ใหม่เมืองล้านนาต๋อนการเล่นในเทศกาลปี๋ใหม่


การเล่นเอกลักษณ์ในปี๋ใหม่เมืองล้านนาเช่น บ่ะบ้า อี่โจ้ง เต้ะตะกร้อ

ในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองล้านนามีการเล่นหลายอย่างในขณะที่พวกเขาว่างจากการดำหัว และมีการพักผ่อนตั้งแต่วันปากปี๋ถึงวันปากเดือนหรือปากยาม ซึ่งสุดเสี้ยงเทศกาลแล้วต้องทำงานหาเลี้ยงชีพกันต่อไปเป็นปกติ

*การเล่นบ่ะบ้าหรือสะบ้า ผู้คนจะเก็บเอาหน่วย(ลูก)สะบ้าจากป่า หรือบางทีก็ไหลตามน้ำมาไว้ลูกสะบ้าสีแดงลักษณะแบนค่อนข้างกลมคล้ายขนมครก  การเล่นจะทำไม้แป้นทอย โดยการแต่งตัดแผ่นไม้ให้เป็นรูปครึ่งวงกลมประมาณสี่ห้าอันมาวางเรียแถวตามแนวกำหนด ผู้เล่นยืนห่างแนวแป้นทอยราว สี่ห้าวา แล้วนำลูกสะบ้าทอยให้ถูกแป้นล้มลงจนหมด ต่อไปนำลูกสะบ้าวางบนหลังเท้าเขย่งเข้าทอยแป้น จนหมดต่อไปใช้เท้าคีบลูกสะบ้าทอยแป้นจนหมด  ถือว่าชนะ  หรืออาจมีท่าอื่นๆอีกแล้วแต่จะกำหนดกันในแต่ละท้องถิ่น

*การเล่นต่อไปคือการเล่นอี่โจ้งหรือโยนหลุมโดยการใช้สตางค์แดงซึ่งเป็นเหรียญมีรูกลางมาควั่นพื้นดินให้เป็นรูขนาดสตางค์นั่นแหละ ผู้เล่นจะนำสตางค์มารวมกัน แล้วให้ผู้เล่นตกลงกันว่าใครจะโยนก่อนหลัง เมื่อเล่นจะถือสตางค์ทั้งหมดที่รวมกันมาโยนลงหลุม  หากสตางค์อันใดเข้าหลุมถือว่าเป็นของผู้โยน แต่หากไม่เข้าหลุมก็จะมีการบอกให้เอาสตางค์ของผู้โยนทำการโยนเข้าหาสตางค์ที่ถูกกำหนดหากโยนถูกก็ถือว่าผู้โยนได้สตางค์นั้นไป

*การเตะตะกร้อพวกหนุ่มๆจะนำไม้ไผ่เฮี้ย(ไผ่บาง)มาจักตอกสานตะกร้อเล่นในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองถือว่าเป็นการร่วมวงของพวกชายหนุ่มอาจมีเหล้าขาวแถมพกเตะไปดื่มไปม่วนแต๊ๆ  บางครั้งหากหมู่บ้านอยู่ริมน้ำพวกหนุ่มจะพากันไปเตะตะกร้อที่เกาะหรือหาดทรายกลางน้ำตอนเย็นๆเป็นที่สนุกสนาน  เล่นจนมืดค่ำก็ลงเล่นน้ำอาบน้ำกันในแม่น้ำใหญ่  ที่สำคัญขอจารึกไว้ในบันทึกนี้ว่า   บรรดาชาวน้ำที่หากินกับการเหิงแฮ่(ร่อนกรวด)ในแม่น้ำโดยใช้เรือโกลน  เมื่อถึงปี๋ใหม่เมือง บรรดาเจ้าของเรือจะนำเรือมาจอดโดยให้หัวเรือห่างกันและเรียงกันเป็นวงกลางแม่น้ำพอตกเย็นย่ำตะวันแลง บรรดานักเตะตะกร้อตัวยงและแม่นยำต่างก็มาร่วมวงเตะตะกร้อโดยแต่ละคนยืนอยู่บนหัวเรือแต่ละลำเริ่มโยนตะกร้อให้กันแล้วเตะโดยมิให้ตะกร้อตกน้ำ  หากใครเตะพลาดต้องลงน้ำไปเก็บให้ผู้เล่นยังเหลือเตะแข่งกันต่อและต้องออกจากวงไป จนเหลือสองคนเตะตะกร้อหัวเรือแข่งกันจนเหลือคนสุดท้าย  หากยังไม่มีใครเป็นผู้ชนะเย็นวันต่อไปก็จะมาแข่งขันกันอีก  กีฬาการเตะตะกร้อบนหัวเรือปีสุดท้ายที่ได้พบราวปี  พ.ศ.  2502  ในกลางแม่น้ำปิงที่บ้านป่ารวก  อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ยังไม่เห็นการเตะตะกร้อบนหัวเรืออีกเลย  ตามที่เล่าจึงเป็นตำนานการเล่นในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองล้านนา

การเตะตะกร้อบนหัวเรือนับเป็นสิ่งที่ท้าทายคนเตะเพราะต้องเก่งทั้งการเตะ  การทรงตัวบนหัวเรือที่โคลงเคลงไปมา  การออกแรงหนักเบาในการเตะลูกให้ถึงผู้เล่นที่อยู่บนหัวเรืออีกลำหนึ่งซึ่งห่างกันราวสองวาสามวา  นี่คือนักกีฬาพื้นบ้านที่คัดเลือกจากความสามารถของผู้เล่นอย่างแท้จริงโดยผะหญาปัญญาของชาวบ้านที่ใช้สิ่งแวดล้อมมาจัดกิจกรรมได้ดีแท้ๆ

หมายเลขบันทึก: 174263เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2008 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

พ่ออาจารย์ที่เคารพ

การละเล่นของคนล้านนาในวันปีใหม่ คล้ายคนไต เพียงแต่วิธีการเล่นแตกต่างกันเท่านั้นเอง ข้อแตกต่างอีก 2 ข้อ คือ การดำหัวญาติผู้ใหญ่ชาวไตดำหัวก่อนขึ้นวัด ชาวล้านนาดำหัวหลังขึ้นวัด ข้อที่สองก็คือ การก่อเจดีย์ทรายหรือการขนทรายเข้าวัด ชาวล้านนาจะขนทรายเข้าวัดในวันเนา เพื่อเตรียมบูชาเจดีย์ทรายในวันขึ้นวัด (วันพญาวัน) แต่ชาวไตจะขนทรายเข้าวัดในเดือนหก (เดือนแปดล้านนา)ทำกิจกรรมประเพณีเป็นกิจจะลักษณะเรียกว่า "ปอยจ่าตี่" (ปอย แปลว่างาน จ่าตี่ แปลว่าเจดีย์) รวมความแปลว่างานถวายเจดีย์ทราย ครับ

ขอบคุณพ่ออาจารย์มาก ผมได้เรียนรู้จากผญ๋าล้านนาคือ พ่ออาจารย์อย่างจุใจโดยไม่ต้องไปสืบค้นที่ไหนอีกแล้ว

ขอบพระคุณมากครับ

อาจารย์เก

อิอิ  ปี๋ใหม่ มาแล้ว  พ่อลุงระวังฮือดีเน้อ  ลูกหลานจะมาแอ่วหานาเกียมขนมข้าวหนักนักเน้อเจ้า

*สาอาจารย์เกและสวัสดีหลานเอ..เจ้า

-ขอบคุณอาจารย์เกที่เพิ่มเติมความรู้ทางไตให้ผม

-ขอบคุณหลานเอ...ที่บอกเอิ้นเกี่ยวกับปี๋ใหม่เมืองเฮา

*ขอมาแอ่วเต๊อะ หมู่เฮาตังหลาย บ่ว่าญิงจายลุงจักจื้นสู้ ได้ป้ะหน้ากั๋นได้เอ่ยได้อู้ กับหมู่เฮาเนอม่วนล้ำ...

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน......พรหมมา

สวัสดีค่ะ

* การเล่นบะบ้า และอี่โจ้ง...ตอนเด็ก ๆ ครูพรรณา เคยเล่น...แต่ไม่ได้เรียกชื่อนี้.....และบัดนี้จดจำกติกาไม่ได้แล้ว

*การเตะตะกร้อบนหัวเรือ...ไม่เคยเห็นและได้ยิน....ผู้เล่นสามารถมากค่ะ

* ชอบข้อความนี้มากค่ะ  การเตะตะกร้อบนหัวเรือนับเป็นสิ่งที่ท้าทายคนเตะเพราะต้องเก่งทั้งการเตะ  การทรงตัวบนหัวเรือที่โคลงเคลงไปมา  การออกแรงหนักเบาในการเตะลูกให้ถึงผู้เล่นที่อยู่บนหัวเรืออีกลำหนึ่งซึ่งห่างกันราวสองวาสามวา  นี่คือนักกีฬาพื้นบ้านที่คัดเลือกจากความสามารถของผู้เล่นอย่างแท้จริงโดยผะหญาปัญญาของชาวบ้านที่ใช้สิ่งแวดล้อมมาจัดกิจกรรมได้ดีแท้

* ขอบคุณค่ะที่นำความรู้และเรื่องราวในอดีตให้ได้รำลึก

ไหว้สาอาจารย์พรรณาที่เคารพ..

*ผมอาจตอบช้าหน่อยเพราะไปสร้างหอพระอุปคุต....

*ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียนครับ

 ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน..พรหมมา

วันนี้มีการรดนำดำหัวแก่ศึกษานิเทศก์อาวุโสสุด ซึ่งจะเกษียณอายุในปีนี้ ของกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยๆ ที่มีสมาชิก 30 คน

ท่านผู้อาวุโส ในวันนี้มีท่านพี่ครู นิคมของผมท่านนี้รวมอยู่ด้วย

นับเป็นกิจกรรมครั้งแรกหลังจาก 15 ปี ที่เห็นกิจกรรมนี้ดำเนินการโดยผู้ที่เป็นหัวหน้าที่ดำเนินพิธีการรดน้ำดำหัว แก่สมาชิกอาวุโส ที่อยู่ภายใต้การนำในการปฏิบติงานของตน

เห็นแล้ว ชื่นชมในความคิดริเริ่ม เกิดความคิดต่อยอดในทางสร้างสรรค์หลายแง่มุม

ผมอยากให้พี่ผู้อาวุโส นิคม ได้บอกเล่าถึงขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานการปฏิบัติตามประเพณีที่ถูกต้องสู่กันฟัง แล้วผมจะเข้ามาพูดคุยต่อไป ว่าความดีความงามที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

และเชื่อว่าประเพณีปี๋ใหม่เมือง ที่มีการรดน้ำดำหัวนี้ จะให้อะไรดีๆ แก่แฟนบลอกของท่านพี่นิคมแน่นอนครับ

ขอบคุณอาจารย์ชัดมากๆครับ...ที่แสดงความคิดเห็นในการดำหัว

ประเพณีล้านนามีแต่คำว่า"ดำหัว"  ไม่มีคำว่ารดน้ำ  ในวันที่พวกเราดำหัว  ศน.อาสุโสรวมทั้งผมด้วยนั้นสังเกตว่า ผมไม่ให้พวกเราเอาน้ำรดมือ  แต่ผมเอามือชุบน้ำส้มป่อยแล้วลูบศีรษะผมเอง เพราะปฏิบัติที่ว่าดำหัวเท่านั้น   ปี๋ใหม่เมืองปีหน้าก็ไม่มีพวกผมอยู่กันอีกแล้ว แต่ถ้าพวกเราจะทำขอให้ปฏิบัติดังนี้

1.เตรียมเครื่องสักการะ น้ำขมิ้นส้มป่อยอย่างที่พวกเราทำในปีนี้

2.เชิญผู้อาวุโสมานั่งตามลำดับ

3.หัวหน้าพิธีกล่าวนำขอพร ขออโหสิกรรมทั้งหลาย

4.ยกเครื่องสักการะพร้อมทั้งบริวารทั้งหมดให้ผู้อาวุโสรับ

5.ผู้อาวุโสปั๋นปอน(ให้พร)เสร็จแล้วเอามือตัวเองชุบน้ำขมิ้นส้มป่อยขึ้นลูบศีรษะตนเอง  อาจมีการนำก้านดอก ชุบน้ำขมิ้นส้มป่อยแผ้ด(ประพรม)ใหเก่ผู้ที่ขอพร  ก็เป็นเสร็จพิธี  ข้อห้ามอย่ารดน้ำที่มือเด็ดขาด เพราะคนล้านนาเชื่อว่าการรดน้ำที่มือคือการรดน้ำศพเท่านั้นครับ

ขอให้ประเพณีดีงามนี้สืบทอดต่อไป  แม้ว่าลุงหนานจะอำลาจากวงการศึกษานิเทศก์ไปแล้วก็ตาม ขอบคุณพวกเราทุกคนครับ

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน.....พรหมมา

 

ขอคุณครับ ท่านพี่นิคม

ผมฉลาดขึ้น ที่จะไม่ใช้คำว่ารดน้ำอีก

ขอเคลียร์คำว่า ดำหัวสักนิดครับ "ในวันที่เราดำหัว ศน.อาวุโส"

ดำหัว นี่ควรจะแปลว่าอะไรกันแน่ เพราะถ้าชัดเจนในคำว่าดำหัว ต่อไป ก็จะเข้าใจได้ถูกต้อง ดูคำในประโยคที่ยกมาแล้ว งงๆ จะแปลว่าอะไรดีคับพี่นิคม

การดำหัวผู้อาวุโสในวันสงกรานต์ล้านนา เป็นอะไรที่ดีงาม น่าประทับใจจริงๆ ที่พูดอย่างนี้เพราะผมมาสัมผัส เมื่อ15ปี ที่ผ่านมานี่เอง

ที่ต้องมานำคุยกันเรื่องนี้ ก็เพราะการดำหัวนี้ มีอะไรแฝงอยู่มากมาย

-ความกตัญญู

-ความสามัคคี

-การให้อภัยต่อกัน

-การแสดงความเคารพต่อกัน

-ความเป็นผู้นำผู้ตาม

ฯลฯ

ในเรื่องงาน โดยทั่วไป หัวหน้าองค์กรเป็นผู้นำ คนอื่น-ผู้อาวุโส , อ่อนอาวุโส เป็นผู้ตาม

ในเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ผู้อาวุโส เป็นได้ทั้งผู้นำผู้ตาม

การดำหัวผู้อาวุโส ทีมีกระบวนการที่พี่นิคมกล่าวมา ถ้าหัวหน้าองค์กร เป็นผู้นำให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้น ก็เท่ากับ เป็นมงคนแก่ตนเอง และทุกๆ คน เพราะเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์

ความกตัญญู ความสามัคคี การให้อภัยต่อกัน การแสดงความเคารพต่อกัน

กระบวนการนี้อาจนำไปใช้ หรือปรับใช้ ได้ทุกองค์กร รวมทั้งโรงเรียน

หรือ ท่านพี่นิคม และท่านอื่นๆ คิดอย่างไร

*ไหว้สาอาจารย์ชัดที่เคารพ

*เรื่องดำหัวขอให้ท่านคลิกไปอ่านเรื่องวันพญาวันที่ผมได้เสนอก่อนหน้านี้  จะเข้าใจดีขึ้นครับ

*การดำหัวสามารถปรับใช้ได้ทุกองค์กรครับเพียงแต่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประเพณีดั้งเดิมที่มีความหมายตามที่บรรพบุรุษได้ให้รูปแบบไว้ครับ

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน...พรหมมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท