เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ


ในช่วงหนึ่งของการนั่งคุยกับ ดร.พิพัฒน์  ยอดพฤติการ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง กับ CSR  เราบอกว่า จุดต่างสำคัญคือ เศรษฐกิจพอเพียงนั้นให้ความสำคัญกับการระเบิดจากภายในซึ่งหมายถึงการเปลี่ยน "วิธีคิด"  ไม่ใช่เพียง "วิธีการ"

การเปลี่ยนวิธีการ (ที่เศรษฐศาสตร์เรียกว่า พฤติกรรม) นั้น มาจากการเปลี่ยนเป้าหมายและเปลี่ยนเงื่อนไข  เศรษฐศาสตร์เน้นหาวิธีเปลี่ยน "วิธีการ" ด้วยการเปลียนเงื่อนไข  เงื่อนไขนั้นเป็น "แรงจูงใจ"  เช่น  ราคา  ภาษี  ค่าปรับ  ค่าธรรมเนียม  รางวัล  เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จึงเป็ํนเครื่องมือที่เปลี่ยนแรงจูงใจ

สิ่งสำคัญที่เศรษฐศาสตร์ไม่พูดถึง คือ การเปลี่ยนเป้าหมาย หรือ "วิธีคิดหรือความคิด"  ซึ่งน่าจะหมายถึงการระเบิดจากภายใน

เราคิดว่า การเปลียนวิธีคิด  อย่างน้อย น่าจะมาจากสามส่วน 

หนึ่งคือ การสั่งสม "ประสบการณ์" ของตนเอง

สองคือ "ชุดของข้อมูลที่สร้างความเชื่อ" โดยภายนอกใส่เข้ามา  เด็กๆยังไม่มีประสบการณ์มากแต่จะถูกใส่ข้อมูลที่เรียกว่า "ความรู้" ผ่านการเรียนการฝึกซ้ำๆ  การศึกษาจึงมีผลต่อความคิดคน   การสั่งสอนทุกรูปแบบ และค่านิยมในสังคม  น่าจะอยู่ในปัจจัยชุดนี้

สามคือ "แรงบันดาลใจ"  บางครั้งเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ก็เกิดเป็นจุด "คลิก" สร้าง "แรงบันดาลใจ"  ให้เราเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมไปเลย   คำว่า "แรงบันดาลใจ" นี้ ต่างจาก "แรงจูงใจ"  แรงจูงใจนั้นไม่ยั่งยืน  เมื่อไม่มีแรงจูงใจก็ไม่ทำ

 

 

หมายเลขบันทึก: 174185เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2008 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี

ก่อนการเปลี่ยน "วิธีการ" น่าจะมาจากการเปลี่ยน "วิธีคิด" ก่อนได้ไหมคะอาจารย์

ถ้าไม่คิด จะเปลี่ยนได้อย่างไร

แต่ถ้าเปลี่ยนแบบไม่มีเหตุผล ก็จะแสดงออกผ่านวิธีการที่ไม่เกิดผลใดๆ หรือเกิดผลเสีย

ขออนุญาติแลกเปลี่ยนนะคะ

ด้วยความเคารพ

---^.^---

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

การเปลี่ยนวิธีการ (พฤติกรรม) อาจจะมาจากการเปลี่ยนแรงจูงใจ (เงื่อนไข) หรือ เปลี่ยนวิธีคิด (เป้าหมาย)

มีตัวอย่างมากมายที่ เราเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิธีการโดยไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิด

บริษัทอาจจะยังแสวงหากำไรสูงสุด มุ่งหวังการเป็นหนึ่งในธุรกิจ แต่เพราะเงื่อนไขเปลี่ยนคือ ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม บริษัทก็ปรับกลยุทธ์หันมาส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สมมติว่า ต่อมา เศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องราคามากกว่า คือ เอาของถูกไว้ก่อน ผู้ผลิตก็หาวิธีลดต้นทุนเพื่อให้ราคาต่ำ เช่น ย้ายฐานไปต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมลง ปล่อยของเสียลงสู่ธรรมชาติเพราะประเทศนั้นมีกติกาไม่เข้มงวดเท่าไทย เป็นต้น เรียกว่า เปลี่ยนพฤติกรรม(วิธีปฏิบัติ)ตามเงื่อนไข โดยที่วิธีคิด (หมายถึงเป้าหมาย ระบบคุณค่า ความเชื่อพื้นฐาน)หรือไม่ได้เปลี่ยน

คนชอบเที่ยวกลางคืน แต่พอน้ำมันแพงขึ้นจำเป็นต้องประหยัด ก็เลิกเที่ยวกลางคืน แต่เมื่อเศรษฐกิจดี น้ำมันถูกลง ก็กลับไปเที่ยวตามเดิม

การเปลี่ยนวิธีการหรือพฤิตกรรมเพราะเปลี่ยนวิธีคิด (เช่น หันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม หรือเปลี่ยนจากคนฟุ่มเฟือยมาเป็นคนสมถะ)นั้น จริงๆแล้วเจอน้อย หรือ "ยาก" ค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนนะคะ

ดูเหมือนทั้งสองท่าน จะพยายามเข้าสมการกันนะครับ เหมือนว่า ถ้าเปลี่ยนวิธิคิด แล้วจะตามด้วยการเปลี่ยนวิธีการ จาก 1 แล้วไป 2 จึงจะเกิด 3ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ ซึ่งผมอาจจะคิดผิดก็ได้นะครับ.......

ผมคิดว่าในความเป็นจริง มันน่าจะยืดหยุ่นกว่านั้นมาก เพราะคนเราซับซ้อน เช่น บางคน ต้องอาศัยการเปลี่ยนวิธีการซ้ำแล้วเซ่าเล่า นานเข้าก็เลยเปลี่ยนวิธีคิด แต่บางคน ต้องตรงไปที่การเปลี่ยนวิธีคิดเลย จึงจะยอมเปลี่ยนพฤติกรรมถาวร บางคนอาจต้องใช้วิธีผสมผสาน บางคนวิธีคิดเปลี่ยนไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการหรือเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพราะมีเงื่อนไขพันธนาการเกินกว่าจะปล่อยวางได้ทันที.......

ยังไงก็ตาม ผมเห็นด้วยกับเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องการ "การระเบิดจากภายใน" ครับ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ขอบคุณคุณยอดดอยนะคะ เป็นความเห็นที่ดีมากค่ะ

สงสัยว่าตัวเองจะคิดแบบสมการจริงๆด้วย (แม้ว่าจริงๆแล้ว ไม่ได้คิดแบบสมการเส้นตรง... ที่จริงมันมี "ระบบสมการ" คือสมการหลายรูปซ้อนๆกันอยู่)

แต่คิดไปคิดมา มันก็จะเป็นความสัมพันธ์กันสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ วิธีคิด เงื่อนไข และวิธีการ จะสัมพันธ์กันกลับไปกลับมา หรือ ทำซ้ำๆ ก็คงมีได้อีกหลายกรณีปลีกย่อย

แต่เรื่องของเรื่องคือ เวลาเราพูดถึง "การสร้างการเปลี่ยนแปลง" เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับไหนกันแน่ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะเกิดประโยชน์อะไร กับใคร และจะทำให้เปลี่ยนได้อย่างไร

บางคนอยากให้แก้ "ระบบ" (คือสร้างเงื่อนไข กติกาที่เหมาะสม) แต่บางคนอยากให้แก้ที่ "คน" (คือ ความคิด ค่านิยม) ถึงที่สุด ทั้งหมดก็สัมพันธ์กัน คิดว่าเปลียนจุดไหนได้ง่ายกว่า ก็ทำตรงนั้นก่อน หากผลมันออกมาคล้ายๆกัน คือ "เปลี่ยนวิธีการ" หรือ พฤติกรรม..ให้คนเราอยู่ร่วมกันอย่างผาสุขได้

มีหลักโบราณว่าวัตถุกำหนดจิตหรือจิตกำหนดวัตถุ สรุปว่ากำหนดซึ่งกันและกัน

มีวิธีคิดเกิดขึ้นลอยๆ คงที่หรือก็ไม่ใช่

อาจารย์ชากล่าวว่าให้ระวังความคิด เพราะจะไปกำหนดอะไรต่างๆจนกลายเป็นวิถีชีวิต

วิธีคิดกับความคิดนั้นต่างกัน?

ต่างกันอย่างไร วานอาจารย์จำแนกด้วยครับ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ถ้าถามลงลึกมากๆ คนที่ถูกฝึกมาให้คิดแบบกลไกก็ "บิ้อ" ค่ะ

"อาจารย์ชากล่าวว่าให้ระวังความคิด เพราะจะไปกำหนดอะไรต่างๆจนกลายเป็นวิถีชีวิต"  น่าจะหมายถึงที่ว่าไว้ คือ ความคิดกำหนดพฤติกรรม ..พฤติกรรมที่ทำจนเคยชินเป็นนิสัย กลายเป็นวิถีปกติของชีวิต

วิธีคิด กับ ความคิด ต่างกันอย่างไร .... ตอนตัวเองเขียนก็ตั้งคำถามนี้เหมือนกัน ... แต่ก็เขียนเอาความแบบหลวมๆว่าเหมือนกัน แต่ที่เลือกใช้คำว่า "วิธีคิด" เพื่อจะให้ล้อกับคำว่า "วิธีการ" ค่ะ

ตอนคุยกับคุณพิพัฒน์ คุณพิพัฒน์ยังตั้งคำถามว่า แล้ว "วิธีการคิด" ล่ะ...

มีเพื่อนเป็น "วิศวกรแนวพุทธ" สองท่าน มีอาจารย์เป็น "เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ" หนึ่งท่าน ก็ทำให้เราได้คิดกว้างขึ้น ส่วนตัวเองนั้น ยังเป็นแค่ "นักศึกษาแนวพุทธ" ค่ะ

ความคิดกำหนดวิธีคิด วิธีคิดกำหนดพฤติกรรม พฤติกรรมกำหนดวิถีชีวิตของคนเราหรือเปล่าครับ?

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

....อืมมมมม... สงสัยต้องขอยกยอดไปคุยตอนเจอกันคราวหน้านะคะ..

สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี และผู้แลกเปลี่ยนทุกท่าน

ขอบคุณทุกท่านที่แลกเปลี่ยนจนเกิด "ความคิด" ในการเปลี่ยน "วิธิการ" น่าสนใจมากคะ

จะรออ่านบันทึกต่อไปนะคะ

ด้วยความเคารพ

---^.^---

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะคุณพิมพ์ดีด ....ขอบคุณที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนนะคะ ..

  • ปัจเจกมีกระบวนทัศน์และระดับจิตใจที่แตกต่างกัน จึงคิดและกำหนดกระบวนการที่แตกต่างกัน
  • ปัญหาของบ้านเราคือ  ปัจเจกหรือกลุ่มปัจเจกชอบคิดแทนชุมชนหรือสังคม  โดยที่ไม่รัก  ไม่รู้จัก   ไม่เข้าใจผู้คนและบริบทของชุมชนหรือสังคม
  • ทำอย่างไรที่จะทำให้แต่ละปัจเจกปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์
  • ทำอย่างไรที่จะทำให้ชุมชนหรือสังคมมีส่วนร่วมในการคิดและกำหนดกระบวนการ  หรือพูดง่ายๆทำอย่างไรที่จะทำให้ชุมชนหรือสังคมคิดเป็นและสามารถกำหนดกระบวนการที่เหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้เอง  อิอิ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

"ปัจเจกมีกระบวนทัศน์และระดับจิตใจที่แตกต่างกัน จึงคิดและกำหนดกระบวนการที่แตกต่างกัน"

"ทำอย่างไรที่จะทำให้ชุมชนหรือสังคมคิดเป็นและสามารถกำหนดกระบวนการที่เหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้เอง"

น่าคิดค่ะ

คนนอกไม่คิดแทน

คนใน..คิดเป็น มีเสรีภาพในการเลือก และมีศักยภาพในการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง...

ยังไงก็เริ่มจาก "ความคิด" คิดถูก คิดชอบ ใช่ไหมคะ

ขอบคุณค่ะ

อยากร่วมออกความเห็นสักนิดหนึ่งครับ

ในทางพุทธศาสนาท่านอธิบายเกี่ยวกับมรรคะ ว่า สัมมาทิษฐิย่อมเป็นประธาน ดังนี้

เมื่อมีสัมมาทิษฐิ (ความรู้ในอริยสัจจะ) สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ(ความดำริชอบ) สัมมาวาจา จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาวาจา (การพูดชอบ) สัมมากัมมันตะ จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมากัมมันตะ(การทำชอบ) สัมมาอาชีวะ จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาอาชีวะ(การเลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาวายามะ (การเพียรชอบ) สัมมาสติ จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสติ(การระลึกในอารมณ์สติปัฎฐาน) สัมมาสมาธิ จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสมาธิ (การตั้งใจมั่นชอบ) สัมมาญาณะ จึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ จึงพอเหมาะได้

จะเห็นได้ว่าตัวนำคือทิษฐิ ความรู้ หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้หลักการการก่อนถึงจะคิดพูดทำต่อต่อไป

แต่สำคัญที่สุดคือ

ต้องเห็นความจำเป็นเอง

รู้เอง

ทำเอง

ได้รับผลเอง

และแก้ไขปรับปรุงเอง

ผมว่าคนนอกที่หวังดีทั้งหลายน่าจะทำหน้าที่ให้ถูกต้องนะครับ

เรียนอาจารย์

หายไปช่วงหนึ่งครับขออภัย

ขอบพระคุณคุณชินมากๆค่ะ

พุทธมีความกว้างและความลึก เพียงแต่ท่านไม่ได้พยายามนำตรรกะและการพิสูจน์ตามตรรกะมายืนยันความถูกต้องของคำสอนหรือทฤษฎีอย่างที่ตะวันตกพยายามทำ (กาลามสูตร)

คงเป็นเพราะท่านต้องการให้เราเห็นเอง ทำเอง รู้เอง รับผลเอง... ลึกซึ้งมากค่ะ

หวังว่าคุณชินคงสบายดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท