หลักการและแนวคิดในการจัดสัมมนา


ลักษณะการสัมมนาเท่าที่ผมเคยสัมผัส มีไม่น้อยที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ก่อเกิดมรรคผลที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

หลักการและแนวคิดในการจัดสัมมนา

 

            การสัมมนา เป็นกระบวนการประชุมกลุ่มบุคคลที่เป็นที่นิยมจัดกันมากในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยหลักการแล้วเป็นการระดมความคิดเพื่อการแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือตกอยู่ในภาวะปัญหา หัวอกเดียวกัน  โดยมากมักนิยมจัดกันตามโรงแรมใหญ่ๆ หรูหรา หรือสถานที่ตากอากาศที่มีบรรยากาศดี เพื่อให้เกิดความคิดที่โปร่ง แล่นสามารถพูดคุยกันได้โดยไม่ต้องพะวงเรื่องอื่นๆ บางทีสัมมนาเสร็จก็พักผ่อนกันไปในตัว กลายเป็นที่สังสรรค์ของเพื่อนฝูงอีกทางหนึ่งด้วย   มีคนคิดคำนวณกันว่า ประเทศไทยน่าจะใช้เงินงบประมาณในการจัดสัมมนาต่อปีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียเลยทีเดียว แต่เมื่อสัมมนาแล้วจะได้มรรคผลแค่ไหนนั้นไม่ได้บอกไว้

 

           ลักษณะการสัมมนาเท่าที่ผมเคยสัมผัส มีไม่น้อยที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ก่อเกิดมรรคผลที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ส่วนใหญ่พูดบรรยายหมดไปวันหนึ่งๆ แล้วก็ออกเที่ยว สมาชิกสัมมนาไม่ได้นำเอาความรู้ แนวคิด ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตน องค์กร หรือสังคมแต่อย่างไร ขอให้ได้ชื่อว่าได้ไปสัมมนากันเท่านั้น  ส่วนผู้จัดสัมมนาก็ไม่ค่อยมีความรู้ในการจัดสัมมนากันมากนัก ไม่รู้ว่า หลักการสัมมนาที่แท้จริงเป็นอย่างไร รูปแบบที่เหมาะสมกับเรื่องสัมมนาควรจัดแบบใด  และเรื่องที่สัมมนาก็ไม่ค่อยจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

 

          วันนี้ผมจึงขอนำเอาหลักการแนวคิดในการจัดสัมมนามาบอกกล่าวกันในเชิงทฤษฎี  เพื่ออย่างน้อยจะเป็นประเด็นให้ฉุกคิดกันบ้างว่า ถ้าจะจัดสัมมนาอะไร ควรจะได้คำนึงหลักการแนวคิดที่ถูกต้องกันบ้าง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการสัมมนา บ้านเมืองเราจะได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างจริงจังกันเสียที เสียดายเงินงบประมาณชาติ เสียดายเวลา และเสียดายความรู้ ความคิดของวิทยากร และของสมาชิกที่อุตส่าห์ระดมกัน

 

หลักการและแนวคิดสำคัญในการสัมมนา

 

1.กระบวนการกลุ่ม  สัมมนาเป็นการประชุมของกลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน อยู่ในแวดวงเดียวกันมาร่วมคิด ร่วมทำงานกันเพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกัน  เช่น แก้ไขปัญหา  สร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน  คิดหาแนวทาง แนวปฏิบัติงาน  เป็นต้น  นั่นหมายความว่าการจัดสัมมนาผู้จัดก็ควรให้สมาชิกได้ปะทะสังสรรค์ร่วมคิด ร่วมทำเป็นกลุ่ม จะจัดแบบมีกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย ตามระยะเวลาที่เหมาะสมในการสัมมนา

 

          กระบวนการกลุ่มมีอิทธิพลมากต่อผลสำเร็จ และหากได้ควบคุมกระบวนการกลุ่มให้มีความเข้มข้น จริงจัง มีกรอบ ทิศทาง เป้าหมายที่ชัดเจน มีผู้นำกลุ่มที่เก่งในการกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มระดมความคิด พูดคุย หรือปฏิบัติงานเข้มแข็ง  มีบรรยากาศประชาธิปไตย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดอย่างมีเหตุผล เคารพกติกาของกลุ่ม และรับผิดชอบ ตลอดจนมีเลขานุการกลุ่มบันทึกการประชุมกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ประเด็นสำคัญ ก็ย่อมเกิดมรรคผลได้อย่างแน่นอน  ดังนั้นผู้จัดก็ควรหาวิทยากรกลุ่มที่เก่งๆ และเข้าใจธรรมชาติของสมาชิก สามารถให้ข้อมูลและความกระจ่างในขั้นตอน ก็จะเกิดประโยชน์คุ้มค่า

 

2. แนวคิดการสร้างวิธีการคิดแก่สมาชิก    คุณค่าของการสัมมนาอย่างหนึ่งก็คือ ความคิดที่ได้จากสมาชิกซึ่งเกิดจากการระดมความคิด (Brainstorming)  หรือพายุแห่งความคิด  ซึ่งถ้าสมาชิกมีวิธีการคิดที่มีประสิทธิภาพก็ย่อมได้ความคิดที่มีคุณภาพ เพราะ ความคิดคือหัวใจของการสัมมนา  ดังนั้น ควรมีการชี้แนะที่ดี ซึ่งได้จากวิทยากรที่มีแนวคิดที่ดี ควรมีเป้าหมาย กรอบ ขอบเขตที่ชัดเจน จะได้ไม่ฟุ้งซ่านจับประเด็นการพูดคุยไม่ได้  และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องมีข้อมูลที่ดี  คำว่าข้อมูลที่ดี  หมายถึงต้องมีความหลากหลาย  มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และมีเพียงพอแก่การนำมาคิด ตัดสินใจ  เพราะฉะนั้นการทำเอกสารประกอบการสัมมนาจึงต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้มีคุณภาพพอที่จะนำมาใช้พูดคุยกันได้ แต่นอกเหนือไปจากนั้น สมาชิกที่ดีก็จำเป็นต้องแสวงหาข้อมูลมาก่อน หรือรวบรวมประสบการณ์ของตนมาล่วงหน้าเพื่อประกอบกับการคิด ตัดสินใจด้วย

 

3. แนวคิดการสร้างแรงจูงใจในการสัมมนา     การจัดสัมมนาที่ดีและให้ได้ผลจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกมีความต้องการ กระตือรือร้นที่จะทุ่มเททำงาน แก้ไขปัญหาให้ลุล่วง หรืออยากจะอยู่ประชุมสัมมนาโดยตลอด ไม่แอบหนีออกไป ช็อปปิ้ง หรือนอนเล่นในห้องของโรงแรม ทำให้สัมมนาเสีย ลองสังเกตง่ายๆ ถ้าเป็นช่วงวันแรกพิธีเปิดผู้คนจะแน่นหนาแต่พอเวลาเนิ่นนานไปวันที่สอง สาม ก็หนีหายกันไปหมด บางครั้งวันแรกช่วงบ่ายก็หนีกลับแล้วถ้าสัมมนานั้นน่าเบื่อ

 

          แรงจูงใจในการจัดสัมมนาที่เห็นได้ชัดทางกายภาพก็หนีไม่พ้นเรื่องสถานที่จัดสัมมนา ซึ่งหมายถึงห้องประชุมดูทันสมัย สะอาด สวยงามอาจไม่จำเป็นต้องดูหรูหราแต่เน้นการเอื้อต่อการประชุมที่ดูไม่แออัด คับแคบ เครื่องปรับอากาศเปิดเย็นฉ่ำ มีอุปกรณ์เครื่องแสง สี เสียง ภาพ พร้อมครบครันทันสมัยไม่ติดขัด ใช้การไม่ค่อยจะได้  จะลุกเข้าห้องน้ำห้องท่าก็สะดวกเพราะอยู่ใกล้ ห้องน้ำสะอาดสะอ้าน กลิ่นหอม ด้านอาหารว่าง อาหารเครื่องดื่มอร่อย เพียงพอ และตักรับประทานได้สะดวก รวดเร็ว  ส่วนห้องพักก็สะดวกถ้าจัดในโรงแรมไม่ต้องเดินทางไกล ห้องพักสะอาดสะอ้าน กว้างขวาง มีมินิบาร์ และเครื่องบันเทิงจำเป็นเช่น โทรทัศน์ วิทยุ เคเบิลแล้วแต่พอให้ได้พักผ่อนส่วนตัวบ้าง ตลอดจนบริการต่างๆ ที่มีรองรับความต้องการของผู้เข้าสัมมนาได้ครบถ้วน  จนไปถึงกายภาพภายนอก ที่ดูโอ่โถง สวยงาม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบ้าง หรือในสถานที่ธรรมชาติอันงดงาม มีไม้ดอกไม้ประดับ และอื่นๆ ช่วยให้บรรยากาศในการสัมมนาดี น่าประทับใจ

            ส่วนแรงจูงใจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเนื้อหาสาระการสัมมนาซึ่งประกอบด้วย กระบวนการสัมมนาที่เป็นระบบเรียบร้อย บรรยากาศเป็นกันเอง มีกระบวนการกลุ่มก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้ข้อยุติเช่นแนวคิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ บรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้ แน่นอนบุคคลสำคัญที่จะก่อให้เกิดสภาพเช่นนี้ คือ วิทยากร ผู้จัดสัมมนา ที่จะควบคุม ดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

          ความจริงยังมีแนวคิดอีกหลายประการที่จะช่วยให้เกิดแรงจูงใจจนสามารถทำให้การสัมมนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง เช่น การจัดแสดงประกอบ การสาธิต การนำทัศนศึกษาหรือไปดูของจริง สภาพจริงในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง และการจัดแสดงและขายสินค้า (อย่างหลังเห็นบ่อยครับ แต่ต้องระวังเพราะสมาชิกมัวแต่ซื้อของหน้าห้องสัมมนาจนไม่เป็นอันประชุมสัมมนากันก็มีบ่อย)  

 

         จากที่กล่าวมานี้ก็น่าจะมองเห็นสภาพการจัดสัมมนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าสอดคล้องกับหลักการแนวคิดเหล่านี้หรือไม่ ผมอยากให้เกิดความตระหนัก ใคร่ครวญว่า  ต่อไปจะจัดสัมมนาอะไร ขอให้คำนึงประโยชน์ที่จะได้คุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่เสียไปหรือไม่  ประหยัดและยึดหลักพอเพียงกันสักนิด หากไม่จำเป็นจริงๆ ต้องจัดสัมมนา ก็ไม่ควรจัดครับ ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยนั้นค่อนข้างจะรัดตัวอยู่  ท่านว่าจริงไหมครับ   

 

หมายเลขบันทึก: 173831เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2008 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับอ.กรเพชร

ขอบคุณมากสำหรับความรู้จากบันทึกนี้ครับ

บางทีเราจัดสัมมนากันโดยไม่รู้ว่ามีแนวคิดอย่างไร สภาพการจัดสัมมนาบางแห่งก็จัดตามคำสั่งเจ้านายที่ต้องการผลาญงบประมาณให้หมดๆไป บางทีถูกเชิญไปเป็นวิทยากรบอกเราว่าเป้าหมายคือคนกลุ่มนี้ แต่พอไปถึงที่สัมมนาดูหน้าตาก็รู้ว่าไม่ใช่กลุ่มที่เขาบอก ถามไปถามมาปรากฏว่ากลุ่มเป้าหมายติดสัมมนาที่อื่นอีกแห่ง ก็เลยต้องเอากลุ่มนี้มาแทน

เห็นผู้เข้าสัมมนาบางทีก็รู้ว่าไม่ได้ผล เพราะไม่ตั้งใจเข้าไปเรียนรู้ อยากไปประชุมเพราะอยากไปเที่ยว วิทยากรบรรยายก็นั่งคุยกัน เปลืองงบประมาณจริงๆ

ไม่รู้ว่าอาจารย์อยากบ่นหรือเปล่า แต่ผมอยากบ่น อิอิ

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

ปีใหม่เมืองปีนี้ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จนบันดาลความสุขนะคะ

ส่วนเรื่องราวสารสาระในหัวข้อนี้หฯว่ามีประโยชน์มากในตอนเปิดเทอมเพราะหนูจะจัด

สัมมนาผู้นำนักศึกษาสโมสร ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆที่อาจารย์ได้แบ่งปันค่ะ

สุนิษา สุรินทร์แก้ว

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

กระผมอยากทราบ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มันคืออะไรหรอคับ

วานอาจารย์ไขข้อข้องใจให้กระผมหน่อยนะคับ

ขอบคุณท่านอาจารย์มากคับ

เรียน ท่านอาจารย์กรเพชร เพชรรุ่ง

กระผม นายกีรติ เพชราเวช นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีโอกาศเข้ามาอ่านบทความของอาจารย์ใน block แห่งนี้ แล้วรู้สึกประทับใจในบทความที่อาจารย์ได้แสดงทรรศนะเอาใว้ เป็นอย่างยิ่ง จึงอยากจะขออนุญาต นำบทความของอาจารย์ไปใช้ในการนำเสนอในชั้นเรียน เกี่ยวกับเรื่อง เทคนิค วิธีการ กระบวนการสัมนา ซึ่งจะใช้ลักษณะการนำเสนอแบบเสวนา(ในบทบาทสมมติ) โดยให้มีการอภิปรายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสัมนาในแง่มุมต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมชั้นเรียนและสังคมการศึกษา

จึงอยากจะเรียนขออนุญาตท่านอาจารย์ผ่านทางบล๊อกนี้

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท