จัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน (ตำบลบ้านแหวน จ.เชียงใหม่ 1)


แปรความรู้ทั่วไปเป็นความรู้เฉพาะที่เห็นผลทางปฏิบัติ สนใจกระบวนการเรียนรู้ตามรายทาง

หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ม.วลัยลักษณ์ โดยการสนับสนุนของสกว.และศตจ.    ได้รับข้อเสนอโครงการวิจัย"การจัดการความรู้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลบ้านแหวน               จ.เชียงใหม่"ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่วิจัย 6 แห่งตามเป้าหมาย ผมจะใช้Blogสื่อสารกับนักวิจัยในพื้นที่และผู้สนใจ โดยจะใช้หัวข้อ จัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ในวงเล็บตามพื้นที่คือ เชียงใหม่ ลำปาง สมุทรปราการ ตราด นครศรีธรรมราชและสงขลา ขอเริ่มจากเชียงใหม่ก่อนครับ

โครงการวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" เป็นโครงการ"พัฒนาและวิจัย"แนวคิดคือ

  1. นักวิจัยมีความรู้(จากทฤษฎี)และมีประสบการณ์(จากงานวิจัย/พัฒนาที่เคยทำมา)ว่าควรจะพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ?
  2. แนวคิดการจัดการความรู้ต้องทำให้กรรมการองค์กรการเงินชุมชนซึ่งเป็นผู้บริหารเข้ามาเป็นผู้นำในการพัฒนากลุ่มของตนเอง( เป็นแนวคิดหลักของชุดโครงการ)
  3. นักวิจัยจะประสานผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นนักพัฒนาในพื้นที่(โครงการอยากให้เป็นวิถีปฏิบัติปกติของนักพัฒนาในพื้นที่)เข้ามาร่วมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และถอดกระบวนการพัฒนาและผลที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นความรู้ที่สอดคล้องกับพื้นที่ (หลังจากผ่านการปฏิบัติจนเห็นผล เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแล้ว)

โจทย์ของนักวิจัยจึงมี 2 ข้อ คือ

    1. จะประสานนักพัฒนาในพื้นที่ให้เข้ามาสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ(คุณอำนวยที่เก่ง)และให้กลายเป็นวิถีปฏิบัติปกตินั้นทำอย่างไร ? (จะรู้ว่าทำอย่างไร ก็ต้องรู้ว่า มันเป็นอย่างไร และเกี่ยวข้องกับปัจจัยอะไรบ้าง ?)
    2. กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้กลุ่มการเงิน(ซึ่งเป็นผู้จัดการความรู้)ดำเนินการจนบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ทำอย่างไร ?

ข้อคิดเห็นต่อโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลบ้านแหวน อำเภอ หางดง จังหวัดเชียงใหม่

1)ความสำคัญของปัญหา

ควรเพิ่มเติมข้อมูลสถานะการณ์ปัจจุบันของนโยบายกองทุนหมู่บ้านคือ 1) การออกพรบ.และการจัดองค์กร(โครงสร้างและกลไกพัฒนา) 2) สถานะภาพของกองทุนในภาพรวมซึ่งมีนักวิจัยทั้งจากสภาพัฒน์ฯ TDRI และนิด้ารายงานไว้อย่างน่าสนใจ (ถ้าไม่มีเวลาค้นหา ก็สามารถตัดท่อนหน้าออกทั้งหมด ลงลึกข้อมูลที่ตำบลบ้านแหวนทีเดียว (แต่นักวิจัยที่ดี ควรใฝ่รู้เพราะเป็นคุณลักษณะสำคัญ)

2)ข้อมูลสถานะภาพกองทุนหมู่บ้านตำบลบ้านแหวน(ในเชิงปริมาณ)ยังไม่ครบถ้วน ควรเก็บข้อมูลเพิ่มเติมโดยทำความเข้าใจการจัดระบบที่เป็นอยู่(กองทุนหมู่บ้านเป็นนโยบาย จึงมีกลไกของรัฐเข้ามาจัดวางระบบ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ถ้าเราแกะรอยระบบ/กลไกนั้นได้ ก็จะมีโครงสร้างหรือรูปแบบให้เราใช้เป็นกรอบในการเก็บข้อมูลมาอธิบาย สร้างความเข้าใจ) ในกรณีนี้ควรนำเสนอในรูปตาราง จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด คือเดือน ก.ค.หรือมิ.ย. 2548

หมู่ ตั้งเมื่อ สมาชิก(ก่อตั้ง/ปัจจุบัน) เงินกองทุน  ผู้กู้/เงินกู้  ค้างชำระเงินกู้(ราย/บาท) เงินสัจจะ ผู้กู้/เงินกู้ กองทุนสวัสดิการ/สาธารณะประโยชน์   อื่น ๆ

3) การสรุปปัญหาเพื่อนำมาสู่การดำเนินโครงการ(หน้า 5) เป็นการสรุปที่ขาดหลักฐาน ควรเพิ่มเติมข้อมูลจากการสังเกต สัมภาษณ์ จัดประชุมที่บอกถึงปัญหาเชิงคุณภาพเท่าที่ทราบจากข้อมูลจริง(ไม่ควรนำข้อสรุปจากที่อื่น ๆมาสรุปแบบเหมารวม) จากนั้น จึงพูดถึงเครื่องมือ "การจัดการความรู้" โดยทบทวนความรู้เรื่องนี้ให้ทราบว่า เรา(นักวิจัย)มีความรู้(เข้าใจ)และมีประสบการณ์มาอย่างไร ? เรื่องความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรที่ทบทวนมานั้นก็ยืนยันแนวคิด/วิธีการของเครื่องมือจัดการความรู้

ในประเด็นขอบเขตและเนื้อหา ผมเสนอเพื่อพิจารณาอย่างนี้ครับ

    1. ระดับกลุ่มอาจจะลงลึกเพียง 5 กลุ่ม โดยมีนักเรียนจัดการความรู้เป็นกรรมการทั้งชุดประมาณกองทุนละ 10 คน เพื่อพัฒนาการจัดการกลุ่มของตนเองให้มีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้
    2. ระดับสมาชิกก็อิงตาม 5 กองทุนโดยมีนักเรียนจัดการความรู้ ที่เป็นสมาชิก ที่รวมกันพัฒนาอาชีพของตนเอง หรือเรียนรู้เรื่องสุขภาพ โดยเลือกกลุ่มผู้กู้หรือผู้สนใจ อาจจะใช้กลุ่มละ 10 -20 คน (จากสมาชิกทั้งหมด)
    3. ใช้เครือข่ายตำบลเป็นวงเรียนรู้ของกองทุนทั้ง 13 กองทุน โดยมีนักเรียนกองทุนละ3-5คน (39-65 คน) เป็นผู้จัดการความรู้ นำความรู้มาแชร์กันและเรียนรู้จากที่อื่น ๆ เพื่อพัฒนากลุ่มของตนให้เข้มแข็ง ซึ่งผลจากการเรียนรู้ในวงตำบลอาจจะก่อให้เกิดความร่วมมือมากกว่าเครือข่ายเรียนรู้ก็เป็นเรื่องดี อาจจะเปิดว่างหรือตั้งเป้าหมายไว้ก็ได้

นี่เป็นขอบเขต/เนื้อหาเพื่อตอบโจทย์ข้อที่ 2 สำหรับโจทย์ข้อแรกก็ใช้วงเรียนรู้ของหน่วยงานสนับสนุนที่ลงไปสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านตามกลุ่ม/คนที่แจ้งมา ถอดเป็นขุมความรู้ว่าทำอย่างไร?

ทั้งหมดนี้ (โจทย์ 1และ2) นักวิจัยต้องมีความรู้เรื่องชุมชนตำบลบ้านแหวนค่อนข้างดี รู้สถานะภาพของกองทุนทั้ง 13 กองทุนเป็นอย่างดี รู้แนวคิด ทฤษฎี และมีประสบการณ์ที่พอจะเป็นแนวทางในการเข้ามาพัฒนา(จัดการความรู้)กองทุนให้เข้มแข็งขึ้น

นอกจากนี้ก็ต้องรู้โครงสร้าง/ระบบราชการและอปท.ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนหลัก มีแนวคิด ทฤษฎี และประสบการณ์ ที่พอจะเป็นแนวทางในการเข้ามาพัฒนาให้หน่วยสนับสนุนที่มีอยู่แสดงบทบาทของคุณอำนวยได้อย่างสามารถจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติปกติ

สรุปคือ นักวิจัยต้องรู้ปัญหา/อุปสรรค เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน แต่ใช้การจัดการความรู้คือ แนวทาง/วิธีการของการรวมพลังความคิด ความตั้งใจที่จะทำสิ่งดี ๆของชุมชน การเรียนรู้ร่วมกันจากตัวอย่างดี ๆเพื่อพัฒนากองทุนให้มีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน

การจัดการความรู้ได้แปรทฤษฎีทั่วไปมาใช้กับพื้นที่เฉพาะที่ตำบลบ้านแหวน จึงต้องสนใจความรู้ตามรายทางมากกว่าข้อสรุปของความรู้ที่ได้ในตอนสุดท้าย จึงต้องออกแบบการถอดความรู้และการสื่อสารเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ตลอดกระบวนการด้วยครับ

                              

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1721เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2005 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท