ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

"ครู" ชีวิตที่ต้องเดิมพัน ???


 ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของ รุ่นน้องคนหนึ่ง น้องคนนี้เดิมทำงานใช้ทุนเป็นทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่ง ทำงานมาได้ 2 ปี แล้วก็ตัดสินใจลาออกจากความเป็นข้าราชการ เพื่อมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วยตำแหน่ง พนักงานมหาวิทยาลัย ประเด็นที่จะเล่าในบันทึกนี้ คงไม่ใช่การเปรียบเทียบความเป็นข้าราชการ กับความเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรอกนะคะ แต่สิ่งที่จะเล่าก็เนื่องด้วยเพราะตัวเองรู้สึกชื่นชมกับความกล้าหาญในการตัดสินใจต่อการเปลี่ยนงานของน้อง เพราะน้องบอกว่า "อยากจะทำงานเพื่อ ตอบสนองจิตวิญญาณของตัวเอง

 

น้องคนนี้ เริ่มต้นการเป็นอาจารย์ได้น่าสนใจทีเดียวค่ะ เพราะ มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ที่จะเป็น ครู ที่ดีให้ได้

สำหรับตัวเอง ไม่แน่ใจนักว่า อาจารย์ที่ทำงานในคณะฯ จะมีสักกี่คนที่เริ่มต้นความเป็น ครู ด้วยความตั้งใจแบบนี้

เพราะความรู้สึกมุ่งมั่นที่อยากเป็นครู มักจะเกิดขึ้นหรือรู้สึกได้ทีหลัง เมื่อเราได้สัมผัสกับความเอื้ออาทรที่เกิดขึ้นระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา  นั่นก็แปลว่า....กว่าความรู้สึกแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็นานโขเพราะอาจารย์ต้องก้าวพ้นอะไรต่อมิอะไร เพื่อจะได้เปิดใจมองเห็นความเอื้ออาทรนั้นจริงๆ

 

การเริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่น เป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งก็ทำให้เราจำต้องเดิมพัน

 

เมื่อน้องคนนี้ทำงานไปได้สักพัก เธอเริ่มรู้สึกว่า เธอไม่สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ ไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ เพราะเธอไม่เข้าใจนักศึกษา ไม่เข้าใจว่านักศึกษาคิดอะไร ไม่เข้าใจโลกของนักศึกษา ทำให้สิ่งต่างๆที่ทำไป ล้วนเป็นความปรารถนาดี แต่ปราศจากความเข้าใจ (ได้บอกเล่าไว้ในบันทึก ปรารถนาดี แต่ไม่เข้าใจ)

 

เธอเริ่มรู้สึกว่า การเป็นครู ที่ดี มันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน พลังความมุ่งมั่นในตอนเริ่มแรกลดน้อยถอยลง จนเกิดความไม่มั่นใจว่า เราคงเป็น ครู ไม่ได้

 

===================================

 

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าที่เราต่างได้แลกเปลี่ยนกัน เพื่อเกื้อกูลกันให้เติบโตบนเส้นทางที่มีเป้าหมายของการเป็น ครู

 

จากเรื่องเล่า กรณี น้องนักศึกษา advisee ที่น้อง.....กังวลใจ พี่อยากจะแชร์ ความรู้สึก และความเห็นนะ

พี่รู้และเชื่อมั่นว่าน้อง...... มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็น "ครู" ที่ดี  ต้องเป็นให้ได้ และอยากช่วยเด็กคนนี้  อยากช่วยให้ได้ดี 

บางทีเราอาจจะไม่ต้องเดิมพันกันขนาดนั้นก็ได้ ถ้าหากเราช่วยเด็กคนนี้ไม่ได้ดังใจ(เรา)หวัง เราก็ยังไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นครู หรือการเป็นครูช่างไกลเกินเอื้อมเหลือเกิน เพราะฉันไม่เข้าใจเด็กสักที ฉันเลยช่วยเขาไม่ได้
 
พี่กลับคิดว่า เราน่าจะคิดว่า  "เราจะทำอะไรให้ได้บ้างในฐานะของคนคนหนึ่ง ที่เราจะทำอะไรให้ คนอีกคนหนึ่ง ในฐานะเพื่อนมนุษย์ เท่านั้นก็น่าจะเพียงพอ
เพราะไม่ต้องรอให้เป็นครู ไม่ต้องรอให้มี advisee  เราก็ทำได้
 
การที่เราจะทำอะไรให้เขา   เราทำด้วยความรัก และความปรารถนาดี ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เข้าใจโลกของเขาแม้แต่นิด...พี่เองคิดว่าเราทำได้ พี่ไม่ได้หมายความว่า สั่งให้เขาทำอย่างที่เราอยากให้ทำ บอกให้เขาเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็นนะ
 
หน้าที่ ของ "ครู" พี่คิดว่า ครูเป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้  "ครู" จะทำด้วยความรัก แม้ว่าสิ่งที่เรานำพานักเรียนเราไปเรียนรู้ อาจจะไม่สามารถช่วยให้เขาได้เรียนรู้ เพระเราทำไปเพราะเราไม่เข้าใจโลกของเขา  แต่ครูก็จะไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะ พยายามทำความรู้จักนักเรียนของเขาให้มากขึ้นไปอีก ครูจะไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะแสวงหาการเรียนรู้ หรือประสบการณ์อื่น ครั้งแล้วครั้งเล่า ให้นักเรียนของเขาได้เติบโต 

 

สุดท้าย หากนักเรียนของเราได้เติบโต วันนั้นก็เป็นวันที่โลกของเรา ขยับเข้าใกล้โลกของนักเรียน หรือ เราเริ่มที่จะเข้าใจโลกของเขาแล้วนั่นเอง
 
 
การทำอะไร" นั้น   เรามีความหวังได้ (hope)  แต่เราไม่ควรคาดหวัง (expect)ให้เขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะหากเราไปคาดหวัง แล้วเขาก็อาจไม่เป็นอย่างที่เราคาดก็ได้ เราก็เป็นทุกข์  ทุกข์ที่เราช่วยเขาไม่ได้ซักที ทำไมเราทำไม่ได้ เราช่วยเขาไม่ได้ แล้วก็พานจะกลุ้มว่า เราเป็นครูที่ดีไม่ได้


พี่คิดถึง ความเป็นพ่อแม่ ที่เขารักลูกน่ะ แต่เขาก็ไม่เข้าใจหรอกว่า จริงๆแล้ว โลกของลูก เป็นอย่างไร ก็คงเหมือนพ่อแม่ของเรา ที่ยังไงก็ไม่สามารถเข้าใจโลกของเราได้หมด  บางอย่างสิ่งที่พ่อแม่ทำ ช่างขัดกับโลกของเราเสียเหลือเกิน แต่เราก็รู้ได้ว่าเขาทำด้วยความรัก และ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่เราเติบใหญ่ขึ้นได้ทุกวันนี้ ก็มาจากการลองผิดลองถูกของ พ่อแม่ ที่ก็ไม่เคยเป็นพ่อแม่มาก่อนที่จะมีเรา
 
เลยอยากให้ได้ถามตัวเอง ทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ว่าบนเส้นทางของการฝึกฝนที่จะเป็นครูนั้น เราได้ทำด้วยความรัก ใช่ไม๊  อย่าทำอะไรที่มันฝืนตัวเราจนเกินไป พูดให้ชัดๆก็คือว่า เราไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ของการเป็นครู ตามที่เราเข้าใจให้ perfect สุดๆ เพื่อจะได้เป็นครูที่ดี หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ใจไม่ได้ปรารถนา ของอย่างนี้ รีบร้อนไม่ได้ หากรีบร้อนเราจะล้า เป็นทุกข์  เพราะเราเรียกร้อง
 
ก็เหมือนพ่อแม่เรา....เขาเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุดของเรา แต่บางครั้ง เขาก็ไม่ได้เป็นคนดีในสายตาของทุกคน  เราก็เป็นลูกที่ดีที่สุดของพ่อแม่เรา แต่เราก็เป็นคนแย่ๆในสายตาของคนอีกหลายคน
 
เช่นกัน
เราเป็นครูที่ดีให้กับนักเรียนคนนึง แต่เราก็อาจเป็นครูแย่ๆของนักเรียนอีกหลายคนก็ได้

 

======================================

เป็นคำบอกเล่าของประสบการณ์ พี่สอนน้อง ซึ่งอาจจะถูกหรือผิด...ไม่รู้

แต่ก็เกิดจากประสบการณ์ลองผิดลองถูกบนเส้นทางที่มีเป้าหมายของการเป็นครู ของคนๆนึง

หมายเลขบันทึก: 172016เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2008 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สวัสดีคะ
  • แวะเข้ามาให้กำลังใจคุณครูทุกท่านคะ
  • ขอบคุณคะ

บันทึกนี้ดีมากค่ะ ให้กำลังใจคุณครูทุกท่าน

แต่สิ่งที่อยากเห็นมากๆคือ  การทำให้เด็กนักเรียนทั้งหลาย ไม่กลัวการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

ให้เขารู้ว่า การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองนั้น"ไม่ยาก" และเมื่อรู้สึกว่า "ไม่ยาก" ก็จะมีกำลังใจ

มีความอยากจะทุ่มเทความพยายามไปในการเอาชนะหรือเรียนรู้เท่ที่สังเกต ปัจจุบัน การเอาชนะความ "ยาก" นั้น ไม่ค่อยเกิดขึ้นในกลุ่มของนักเรียนนักศึกษาทั้งหลายค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ ต้นอ้อ :)

  • คนเป็นครูอยู่ในทุกวิชาชีพ จริง ๆ ครับ
  • การเป็นครูโดยตำแหน่งและอาชีพ เป็นไม่ยาก ครับ แต่คนเป็นครูด้วยหัวใจสิ ยากกว่า
  • ทุ่มเท แต่ไม่เรียนรู้หัวใจของคน ก็เหนื่อยหน่อยนะครับ
  • ครูที่ดี เริ่มต้นจาก หัวใจ ครับ ...

ขอบคุณนะครับ อ่านแล้วดีจัง :)

ขอบคุณมากค่ะ คุณปลายฝนและ คุณ Wasawat Deemarn ที่แวะเข้ามาอ่านบันทึก และให้กำลังใจ

เห็นด้วยมากค่ะ กับข้อคิดเห็นที่ว่า คนเป็นครูอยู่ในทุกวิชาชีพ ทำให้ตัวเองต้องกลับมาทบทวน ว่า การเป็นครูนั้นหมายถึงอะไรให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม

สวัสดีค่ะ คุณ Sasinanda

ประเด็นที่คุณ Sasinanda ได้ตั้งขึ้นว่า "การทำให้เด็กนักเรียนทั้งหลาย ไม่กลัวการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง" เป็นประเด็นที่น่าพูดคุยต่ออย่างยิ่งเลยค่ะ

เคยได้อ่านและได้ฟังการพูดถึง การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้เรียนต้องอยู่ใน Safety Zone หรือที่เรียกว่า พื้นที่ปลอดภัย

ในบ้านเรา พื้นที่นี้หายากเต็มที เด็กเรียนรู้ด้วยความกลัวกันทั้งนั้น เช่น กลัวสอบไม่ได้ กลัวอาจารย์ดุ กลัวความผิดหวัง กลัวความล้มเหลว

เด็กขาดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ การเรียนรู้เลยแห้งแล้ง...

ต่อโจทย์นี้ อาจจะคิดได้อีกมุมหนึ่งว่า ครู จะสร้าง Safety Zone ให้ผู้เรียนได้อย่างไร ครูจะเติมเต็มความมีชีวิตชีวาได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ท้าทายค่ะ :))

คำว่า "ครู" กับ "อาจารย์" มันต่างกันตรงไหน ???... อยากทราบ

  • สวัสดีค่ะ
  • ประโยคนี้ ตรงใจค่ะ "เราเป็นครูที่ดีให้กับนักเรียนคนนึง แต่เราก็อาจเป็นครูแย่ๆของนักเรียนอีกหลายคนก็ได้"
  • คิดอยู่เหมือนกันว่าจะมีนักเรียนเข้าใจครูสักกี่คน
  • จะมีนักเรียนไม่เข้าใจสิ่งที่ครูทำสักกี่คน
  • ขอให้มีความสุขค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูต้นอ้อ

  • ชอบจังเลยค่ะบันทึกนี้
  • การทำอะไร" นั้น   เรามีความหวังได้ (hope)  แต่เราไม่ควรคาดหวัง (expect)ให้เขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้  อย่างที่เราอยากให้เค้าเป็น
  • แต่ให้เค้าเป็นอย่างที่เค้าต้องการ และมีความสุขอย่างที่เค้าเป็น...บนพื้นฐานของคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม
  • เราหวังดี ปรารถนาดีกับเค้าได้  สำคัญเลยเทียนน้อยว่าที่ "ใจ"ค่ะ
  • เราอาจประสบความสำเร็จกับคนคนหนึ่ง แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จกับๆคนอีกคนหนึ่ง  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการเป็นครูอีกเลย...ถ้าเรามีหัวใจเป็นครู...วันหนึ่ง...ความสำเร็จในชีวิตครูจะมาหาเรา....ไม่ใช่วิทยะฐานะ ไม่ใช่ขั้นเงินเดือน ไม่ใช่ใบประกาศ ไม่ใช่โล่   แต่เรารับรู้ได้ด้วยหัวใจ จากข้างในของเราเอง
  • "ครู" จึงเป็นอยู่ที่ใจ  มิใช่เพียงอาชีพทางสังคม แต่คือความดีงาม ของการเป็นผู้ให้  ทั้งศาสตร์และศิลป์  ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ที่สำคัญ คือ การพร้อมที่จะให้อภัย....ด้วยหัวใจที่แท้จริง
  • บ่อยครั้งที่ได้ร่วมกันเรียนรู้กับนักเรียน  เค้าก็เป็นครูให้เรา เราก็เป็นครูให้เค้า  เราจึงได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
  • เป็นกำลังใจให้คุณครูค่ะ
  • ขอบคุณนะคะสำหรับบันทึกดีๆ  ^_^

ขอบคุณค่ะสำหรับบันทึกดีๆ ที่ทำให้เปิดมุมมองให้กว้างขึ้น อ่านบันทึกนี้เมื่อนานมาแล้วค่ะ คราวนี้กลับมาอ่านอีกครั้งด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กลับได้มุมมองดีๆอีกครั้งที่แตกต่างไปจากเดิม

เข้าใจ คำว่า "ครู" มากขึ้น

เป็นกำลังใจให้บนเส้นทางของการเป็น "ครู" ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท