ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

ปรารถนาดี แต่ไม่เข้าใจ


           เมื่อสัปดาห์ก่อน มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงสนทนาที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการสนทนาเพื่อ warm up ก่อนเริ่มสัมมนาของภาควิชา ซึ่งการสัมมนานี้จัดว่าเป็นงานที่เราต้องทำกันทุกปี เพื่อประเมินสิ่งที่ผ่านมาในปีการศึกษาที่แล้ว เพื่อจะเตรียมงานในปีการศึกษาต่อไป

           มีประเด็นน่าสนใจจากการพูดคุย ที่อาจารย์ท่านนึงได้เปิดไว้ได้น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ทุกวันนี้การที่เราได้มีโอกาสช่วยเหลือนักศึกษาในยามที่เขาเจอปัญหาในระหว่างเรียน ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นเรื่องการเรียน หรือเรื่องอื่นๆ การชี้แนะ อบรม สั่งสอน ให้คำปรึกษา และอะไรอีกมากมายที่เราได้กระทำนั้น “เป็นการกระทำไปด้วยความปรารถนาดี แต่ปราศจากความเข้าใจ หรือเปล่า????”

         คำถามนี้สะกิดใจตัวเองเป็นอย่างยิ่ง เพราะ โลกของนักศึกษากับโลกของอาจารย์นั้นต่างกัน พิสูจน์ได้จากคำปรารภที่มักจะพบบ่อยๆจากอาจารย์ อาทิ “ทำไมนักศึกษาถึงทำอย่างนี้” “ทำไปได้ยังไง ทำไมช่างไม่รู้อะไรเสียเลย” “ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงเป็นอย่างนี้” และอื่นๆอีกมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่า เราต่างอยู่บน โลกคนละใบ และเรากำลังเอากฎเกณฑ์ในโลกของเรา ไปตัดสินการกระทำในโลกของนักศึกษา

        ประเด็นที่ถูกตั้งขึ้นนี้ ทำให้ตัวเองนึกย้อนไปในปีการศึกษาที่ผ่านมา ที่นักศึกษาถูกตั้งคำถามจากอาจารย์เมื่อพวกเขาไม่เข้าห้องเรียน “ทำไมพวกเธอถึงไม่เข้าเรียน lecture” “พวกเธอคิดว่า การไม่เข้าเรียนนั้นเป็นการกระทำที่ผิดไม๊” คำถามเหล่านี้กระหน่ำถามนักศึกษา และเต็มไปด้วยความคาดหวังจากอาจารย์ว่าจะได้ฟังคำตอบที่น่าพอใจ คำตอบที่คนบนโลกเดียวกันกับอาจารย์เขาตอบกัน

        ไม่ต้องบอกก็พอจะเดาได้ว่า คำตอบที่อาจารย์ได้รับกลับมากลับทำให้อาจารย์งงจนเป็นไก่ตาแตก หรือไม่ก็โกรธจนหน้าแดง ตัวสั่น เนื่องด้วยนักศึกษาคิดว่า “การไม่เข้าเรียนนั้นเนื่องด้วยเพราะเขามีเหตุที่ต้องทำอย่างอื่น (การเรียนหรือทำงานของวิชาอื่น) ที่เขาคิดว่าสำคัญกว่า” เขาคิดว่าการเข้าเรียนหรือไม่เข้าเรียนเป็นสิทธิของเขา การไม่เข้าเรียนไม่ได้เป็นการกระทำผิด เพราะเขาสามารถสอบผ่านได้เมื่อมีการประเมินผล” (เหมือนจะบอกว่า อาจารย์มีหน้าที่สอนก็สอนไป หน้าที่เรียน เป็นของเขา อะไรทำนองนั้น) นี่แค่เป็นตัวอย่างที่ยกมาก่อนที่คนเป็นอาจารย์จะหัวใจวายไปเสียก่อน

        การเขียนบันทึกนี้ ไม่ได้ต้องการจะหาข้อสรุปว่า นักศึกษาหรืออาจารย์ใครถูกมากกว่ากัน แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า คำตอบของนักศึกษา สะท้อนให้เห็นการมองโลกของนักศึกษา ที่ต่างไปจากการมองโลกของอาจารย์ เมื่ออาจารย์ไม่เข้าใจประเด็นนี้ อาจารย์ก็จะแก้ปัญหาไปตามกรอบการมองโลกของอาจารย์ การแก้ปัญหาของอาจารย์คือ การลงโทษ ว่ากล่าว ตำหนิ มี Quiz ในชั่วโมงบรรยาย เช็คชื่อ และอีกหลากหลายวิธี ที่ทำไปเพราะความปรารถนาดี อยากให้นักศึกษาเข้าเรียน แต่ปราศจากความเข้าใจ

         บางทีเหตุผลในการให้นักศึกษามาเข้าเรียน ของอาจารย์ก็คือ เพื่อนักศึกษาจะได้มีความรู้ที่จะนำไปรักษาโรคให้คนไข้ หากไม่เข้าเรียน ก็จะไม่มีความรู้ อาจจะไม่ใช่เหตุผลเดียวในการ approach ต่อปรากฏการณ์นี้อีกต่อไปเพราะ หากการประเมินผลโดยการสอบ เป็นวิธีการเดียวที่อาจารย์ใช้ในการประเมินความรู้นักศึกษา เพราะฉะนั้น หากนักศึกษาสอบได้ โดยไม่เข้าเรียน ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร เพราะเขาได้พิสูจน์แล้วว่า ถึงไม่เข้าเรียน ฉันก็มีความรู้

        ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับนักศึกษา การพูดคุยที่เปิดใจ ทำให้เรามองเห็นว่า โลกของเรา กับโลกของนักศึกษาต่างกัน ความตั้งใจที่จะโน้มน้าว ขอร้องให้เขาเข้าเรียน lecture เป็นอันต้องพับเก็บไป เพราะต้องยอมจำนนด้วยพบว่า วิชาบรรยายที่เราสอนๆกันอยู่ เป็นเนื้อหาที่แห้งแล้ง การสอนไม่มีพลังพอที่จะทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำความรู้ไปรักษาคนไข้ เพราะมันถูกตีค่าแค่ทำให้เขาได้เลื่อนชั้นได้ ก็เท่านั้น

      การพูดคุยครั้งนั้นเลยต้องเปลี่ยน focus กันใหม่ การลองชี้ชวนให้นักศึกษาเข้าใจถึง ปรากฏการณ์ butterfly effect เรานั่งลงพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจบทกลอนที่ว่า

เพียงผีเสื้อขยับปีก

โลกอีกซีกไหวสะท้อนอาจร้อนหนาว

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

ทุกเรื่องราวเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน

            สิ่งนี้ เป็นความพยายามที่จะให้นักศึกษาได้เข้าใจว่า การกระทำใดๆก็ตาม ย่อมส่งผลต่อสรรพสิ่งในโลกนี้ การกระทำเล็กๆ อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ก็เป็นได้ ดังนั้น การเข้าเรียน lecture จึงไม่ได้มีความหมายแต่เพียงว่า การเข้าไปนั่งฟังความรู้ที่อาจารย์ถ่ายทอดให้เท่านั้น หากยังเป็นการกระทำเล็กๆ ที่อาจเป็นการช่วยหล่อเลี้ยง “ความเป็นครู” ให้กับอาจารย์อีกด้วย การได้สื่อสารให้นักศึกษาเข้าใจแบบนี้ น่าจะเป็นการช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ และความสำคัญของตัวเองที่มีต่อผู้อื่น เพราะทุกวันนี้คนเรา เข้าใจว่าเราสามารถดำรงอยู่อย่างเป็นปัจเจกได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย

การเข้าถึงนักศึกษาอย่างเปิดใจ และการใช้หัวใจของความเป็นครู อย่างอ่อนน้อม

บางที อาจจะช่วยให้โลกของเรากับของนักศึกษา ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น ก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 171201เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2008 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณมากๆที่อาจารย์ไปแวะเยี่ยม blog โน้น ไม่งั้นมัทคงไม่ทราบว่ามีบันทึกดีๆแบบนี้!

นักศึกษาที่มช.โชคดีมากๆค่ะที่มีทีมงานที่พยายามเข้าใจพวกเขา มัทกลับไปเยี่ยมบ้านคราวก่อน อ.ทั้งที่จุฬาและมธ.ก็บอกว่า นักศึกษาเปลี่ยนไปมาก และ ทำผิดเพราะไม่รู้ไม่คิดว่าผิดจริงๆจนน่าแปลกใจ

ดีใจมากๆค่ะที่ได้อ่านบันทึกของอ.

ชอบมากที่อ. เขียนว่าให้ "เปิดใจและการใช้หัวใจของความเป็นครู อย่างอ่อนน้อม"

รู้สึกได้ถึงพลังทางบวกอันมหาศาล

- จากนร. ที่หลับในห้อง lecture ช่วง 8-9 โมงเช้าบ่อยๆ ถ้ามีอาจารย์มาคุยด้วยแบบอ.อารีรัตย์ รับรองว่าตั้งใจฟังแน่นอน : )

ขอบคุณเช่นกันค่ะ อ.มัท

คิดอย่างนั้นจริงๆค่ะ ว่า หัวใจของครูนั้น ไม่เพียแต่ต้องอ่อนโยนแล้ว ยังต้องอ่อนน้อมด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถก้าวพ้นอะไรหลายๆอย่าง เช่น ผู้มีอำนาจ (คนสอน) ผู้ตัดสิน(คนให้คะแนน)ผู้จัดแจง (คนที่บอกให้ทำอะไรต่อมิอะไร)สิ่งเหล่านี้ทำง่าย แล้วไม่ต้องสอนในอาจารย์จากรุ่นสู่รุ่นกันเลย

เพราะการกระทำที่ปราศจากความรัก ย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

ต่างจากการสอนที่เต็มไปด้วยความรัก ที่ต้องฝึกหัดอย่างเข้มข้น ด้วยใจที่เข้มแข็งค่ะ

ประเด็นที่อ.มัทเสนอประโยคสุดท้ายน่าสนใจ แต่ทำยังไงให้เด็กมาเรียนน่ะยากกว่า

จริงไม๊คะ :)

สวัสดีค่ะ พี่อ้อ

หายไปนานเลยทีเดียวนะคะ

เข้ามาแลกเปลี่ยนเพราะอ่านแล้วเกิดสะกิดใจ

จำได้ว่าตอนเรียนจบใหม่ๆ เคยตั้งใจว่า

"เมื่อฉันเป็นครู ฉันจะไม่ทำอะไรแบบที่ครูเคยทำกับฉัน

ครูหลายคนไม่เข้าใจ และดุด่าว่ากล่าวเมื่อเห็นพฤติกรรมประหลาด (ในสายตา)

คำถามที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับตัวเองตอนที่เป็นนักศึกษา คือ

ทำไมครูไม่เข้าใจเรา ทำไมครูถึงทำกับเราอย่างนี้

ก็เราก็มีเหตุผลของเรา(เอง)นี่นา"

แต่พอตัวเองเปลี่ยนสถานภาพ เปลี่ยนบทบาท

เปลี่ยนโลกทัศน์ เรียนรู้และรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ

ยิ่งนานวัน ก็อดไม่ได้ที่จะไม่เข้าใจเหตุผลของนักเรียน

พอได้มาอ่านบันทึกนี้ เลยสะกิดต่อมอะไรบางอย่างที่มันเคยทำงาน

ขอบคุณนะคะที่เอามาแลกเปลี่ยน จะพยายามลดช่องว่าง

ที่มีอยู่ตอนนี้ให้มันน้อยลงค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.น้องหนิง

มีประโยคนึงที่อาจารย์ท่านนึงพูดขึ้นมา แล้วยังเป็นสิ่งที่ตัวเองขบคิดมาตลอด อาจารย์ท่านนั้นบอกว่า

"เด็กนักศึกษาของเราไม่ได้เปลี่ยน แต่เราต่างหากที่เปลี่ยน"

ประโยคนี้อาจจะไม่ถูกทั้งหมด แต่ก็ทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเอง เราต่างก็เติบโตขึ้น ทำให้สายตาที่เรามองนักศึกษาเปลี่ยนไป แต่เราดันบอกว่า นักศึกษาสมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ตัวเรายังเปลี่ยนเลย นับประสาอะไรกับนักเรียนของเรา.... จริงไม๊

ขอแจมครับ

หากนักศึกษาเปลี่ยนไปจริงเราจะทำยังไงล่ะ

เราจะใช้วิธีการแบบเดิมในการสอนเค้า แล้วที่เหลือก็ "ช่างหัวมัน ฉันทำอย่างที่เคยทำมาก็ดีอยู่แล้ว" อย่างงั้นหรือ

คงไม่ใช่มั้ง

หรือที่จริงแล้วบางทีการพยายามที่จะตอบคำถามว่า "นักศึกษาสมัยนี้เปลี่ยนไปหรือไม่" ถึงที่สุดแล้วมันอาจจะไม่สำคัญอะไรเท่าใดนัก

เพราะหากเราเลือกที่จะมาเป็นครูแล้ว หน้าที่ของเราคือการพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะดูแลและประคับประคองให้เค้าได้เติบโตได้อย่างสมดุลระหว่าง ในทิศทางที่ควรจะเป็นและทิศทางที่เค้าอยากจะเป็น

ไม่ว่านักศึกษาจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร เราก็คงจะต้องพร้อมที่จะทำความเข้าใจ และยอมรับเสียก่อนในเบื้องต้น ก่อนที่จะทำอะไรต่อไป

หรือในบางครั้ง แม้เราอาจจะไม่เข้าใจเค้า ก็ไม่เป็นไร ขอแค่เรารักเค้า ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นต่อมา น่าจะรับประกันได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม

เป็นกำลังใจให้ครับ

ขอบคุณพ่อน้องมากปัณณ์ค่ะ  ที่เข้ามาแจมและให้กำลังใจ

มีอีกนิดครับ

"อย่าพยายามทำความเข้าใจมนุษย์เลย...จงรักพวกเขาเถิด และเมื่อเธอเริ่มเรียนรู้ที่จะรัก เธอจะรู้เองว่า แม้จะไม่เข้าใจพวกเขาก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร"

จาก ปลูกฝันไว้ในแผ่นดิน ลูเซีย บาเกดาโน่ (เขียน) / รัศมี กฤษณมิษ (แปล)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท