กระบวนการหลุดพ้นจากความเป็นหนี้ : ศึกษาจากกลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน


คนกลุ่มนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น ปราชญ์ชาวบ้าน เพราะเป็นต้นแบบของการต่อสู้ด้วยความอดทนที่จะเอาชนะอุปสรรค ความแร้นแค้น เป็นผู้มีภูมิปัญญาทั้งความคิด ความสามารถในการหาหนทางเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ความเป็นหนี้

หลายวันมานี้เปิดอ่านหนังสือพิมพ์แล้วเกิดอาการเบื่อมาก เพราะเต็มไปด้วยข่าวร้าย ขโมยน็อตเสาไฟฟ้าแรงสูงจนล้มลงมาทั้งต้น ขโมยสมบัติสาธารณะ สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ฝาปิดท่อระบายน้ำ โคมไฟประดับถนน ฯลฯ น้ำมันขึ้นราคาพุ่งสูงไม่ยอมหยุดเป็นเหตุให้สินค้าและบริการอีกมากมายหลายประการขึ้นราคาตามมา เศรษฐกิจการค้าการขายตกอยู่ในเงื้อมมือของต่างชาติ การทำมาหากินฝืดเคือง ร้านค้าโรงงานปิดกิจการ ลูกจ้างแรงงานตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายการเมืองทะเลาะกันไม่เลิก ต่างหยิบยกเอาข้อกฎหมายมากล่าวอ้าง ยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ถูกต้อง อีกฝ่ายหนึ่งผิด...โง่และคิดไม่เป็น

ผมนึกถึงภาพของประเทศอาร์เจนตินาเมื่อครั้งที่ได้ดู VCD ที่คุณนิติภูมิ นวรัตน์ นำเสนอในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2548 ของหอการค้าจังหวัดชุมพร เห็นผู้คนออกมายืนโบกไม้โบกมือข้างถนน เพื่อขออาหารกินประทังความหิว ของานทำ ขอ...อะไรก็ได้ที่ขอได้ เพราะชีวิตถึงคราววิกฤติ อับจนสิ้นหนทางกันแล้ว หวั่นวิตกอยู่ในใจลึก ๆ ว่า วิกฤติที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทยวันนี้ จะทวีความรุนแรงไปถึงไหน ? จะหยุดยั้งลงได้อย่างไร ? จะเดินตามรอยหลาย ๆ ประเทศที่สร้างเหตุปัจจัยอันเนื่องมาจากการติดกับดักของความโลภ ความหลง ในมายาภาพของเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรีหรือไม่ ?

โชคดีที่ผมได้มีโอกาสศึกษางานวิจัยของคุณสมยศ สมวิวัฒน์ชัย เรื่อง กระบวนการหลุดพ้นจากความเป็นหนี้ : ศึกษาจากกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านพหุพาคีเครือข่ายภาคอีสาน ผมต้องทำหน้าที่ถอดความในงานวิจัยชิ้นนี้ออกแบบเป็นไฟล์ PowerPoint เพื่อนำเสนอต่อคณาจารย์ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้วิจัยต้องการค้นหาคำตอบว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากการลดหนี้จนหลุดพ้นจากความเป็นหนี้ ปลดหนี้ได้สำเร็จทำได้อย่างไร ? การดำเนินวิถีชีวิตยึดหลักแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้มากน้อย เหมือนหรือต่างจากพระราชดำรัสของในหลวงเพียงใด ?

การเลือกศึกษาในกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านพหุพาคีภาคอีสาน จำนวน 12 คน เพราะสนใจในกรอบความคิดว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่มีความแห้งแล้งมากที่สุด ขาดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติยิ่งกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำ ที่กักเก็บน้ำ และระบบชลประทาน จึงเป็นภาคที่การแก้ปัญหายากและน่าเป็นห่วงมากที่สุด ถึงแม้ว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยประกาศแก้ไขปัญหาความยากจนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมถึงไม่สำเร็จ ?

ท่ามกลางวิกฤติปัญหาความยากจนในภาคอีสาน มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เคยได้รับผลกระทบจากการผลิตพืชพาณิชย์สมัยใหม่ ได้ต่อสู้ค้นหาทางออกในการผลิตที่เหมาะสมสำหรับชาวอีสาน และพบว่าการทำเกษตรแบบผสมผสาน อาศัยการพึ่งตนเอง พึ่งพากันเอง โดยไม่เน้นการพึ่งระบบตลาดแต่เพียงอย่างเดียว อาศัยเศรษฐกิจแบบพอเพียงในการแก้ปัญหากลับเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้สินของคนอีสานได้ คนกลุ่มนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น ปราชญ์ชาวบ้าน เพราะเป็นต้นแบบของการต่อสู้ด้วยความอดทนที่จะเอาชนะอุปสรรค ความแร้นแค้น เป็นผู้มีภูมิปัญญาทั้งความคิด ความสามารถในการหาหนทางเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ความเป็นหนี้

ปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางราชการให้เปิด ศูนย์การเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้เกิดเป็น เกษตรกรต้นแบบ, วปอ.ภาคประชาชน, กองทุนภูมิปัญญาชาวบ้านภาคอีสาน และมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทยอีสานคืนถิ่น เพื่อเป็นสถาบันในการทำงาน สร้างคน สร้างปัญญา ทั้งในส่วนของเครือข่ายแกนนำ และเครือข่ายขององค์กรพันธมิตร รวมตัว-ร่วมคิด-ร่วมทำ พัฒนาต่อยอดเป็น ชุมชนคนคิดได้ ที่จะเป็นผู้สืบทอดและเผยแพร่แนวความคิด ตลอดจนรูปธรรมที่กลุ่มปราชญ์ชาวบ้านได้ร่วมกันทำไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดเป็นทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา และทุนความดี โดยมีเป้าหมายสร้างให้ได้ 1 ล้านครอบครัวทั่วอีสานในปี 2560

ผู้วิจัยได้เดินทางไปพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มนี้ ถ่ายภาพ บันทึกเสียง อ่านเอกสารส่วนตัวที่ไม่เคยเผยแพร่ เช่น สมุดบันทึกประจำวัน รายงานการประชุมของศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ สัมภาษณ์แม่บ้าน ลูก ๆ และเพื่อนบ้านเรือนเคียง ส่งมาให้ผมได้แกะรอย ซึมซับและสร้างจินตนาการเพื่อการนำเสนอให้ตรงเป้าหมาย

เรื่องราวทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลในสายตาของผม ทำให้ผมได้ทราบว่า ต้นธารของปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานกลุ่มนี้ คือ พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย จาก จ.สุรินทร์ เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่อาวุโสที่สุด ทำเกษตรผสมผสานก่อนใคร ๆ เดินมาถูกทางก่อนเพื่อน ไม่มีหนี้สินมาแต่ดั้งเดิมเพราะยึดหลักแห่งความไม่ประมาท ไม่หลงทางเลยมาตั้งแต่เริ่มแรกด้วยการเป็นอยู่อย่างสมถะ ขยันขันแข็งเฉกเช่นบรรพบุรุษในอดีต

ผมได้นำเรื่องราวเหล่านี้ถ่ายทอดผ่านทางวิทยุ สวท.100 รายการ ก่อนตะวันลา ทุกวันอังคารเวลา 17.00 น. ท่านที่สนใจขอเชิญติดตามรับฟัง.

คำสำคัญ (Tags): #ปราชญ์ชาวบ้าน
หมายเลขบันทึก: 171587เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2008 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ ขอให้มีความสุขมากๆ สุขภาพแข็งแรง สดชื่นแจ่มใสครับ

ไม่เห็นนานแล้วครับ งานคงยุ่งนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท