มองอนาคตกับ พล นิกร กิมหงวน


เมื่อวาน ผมแวะไปแถวบ้านลุงเอก ไปที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตั้งใจจะไปหาหนังสือส่งไปห้องสมุดที่พระอาจารย์ชัยวุธจะปรับปรุง (เลื่อนเป็นเดือนพฤษภาคม)

ทางมูลนิธิฯ แถมหนังสือ "สยามประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ของ พล นิกร กิมหงวน" มาเล่มหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นเอกสารแจกสำหรับ โครงการ เมืองไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ของ พล นิกร กิมหงวน และ ป. อินทรปาลิต ก่อนวาระ ๑๐๐ ปี ชาตกาล เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โรงละครแห่งชาติ (หอเล็ก)

อ่านดูแล้ว ก็ระลึกถึงหนังสือหัสนิยาย ชุด พล นิกร กิมหงวน แต่งโดยคุณปรีชา อินทรปาลิต (๒๔๕๓-๒๕๑๑) ซึ่งน่าจะมีส่วนที่ทำให้ผมกลายเป็นนักอ่านในปัจจุบัน เท่าที่ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร แฟนพันธ์แท้ รวบรวมไว้ได้ มี ๘๗๕ ตอน -- อาจคลาดเคลื่อนได้

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๒ ๙๔ ตอน
พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๗ ๑๗๗ ตอน
พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๑ ๑๓๕ ตอน
พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๑ ๔๖๙ ตอน

มีอยู่ตอนหนึ่งที่เป็นการวาดภาพอนาคตล่วงหน้าไป ๔๐ ปี จากพ.ศ.๒๕๑๐ ครับ จะถูกหรือผิดไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ผมพบว่าความกล้าหาญ และจินตนาการของคุณปู่ปรีชานั้น น่าทึ่งมากครับ 

ไปสู่อนาคต

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิตประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน
(คัดจากหนังสือ วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยาย ชุด พล นิกร กิมหงวน เล่ม ๒)

    ในปี ๒๕๑๐ ก่อนที่ท่านนักประพันธ์เอกจะถึงแก่กรรม ท่านได้เขียนสามเกลอตอน ไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นการ "วาดภาพ" เหตุการณ์ล่วงหน้าไป ๔๐ ปี

    ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น บรรดาตัวละครที่ยังมีชีวิตและแสดงบทบาทอยู่ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้ล่วงลับไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียง ๒ คนคือพนัส พัชราภรณ์ บุตรของพลกับนันทา และดำรงค์ ณรงค์ฤทธิ์ บุตรของดิเรกและประภา สำหรับหลานปู่อยู่กันครบถ้วน แพราะทุกคนเกิดหลังปี ๒๕๑๐ คือ พล.ต.ดำรัส บุตรของศาสตราจารย์พล.ท.ดำรง ณรงค์ฤทธิ์, พล.ท.สินาด ไทยแท้ บุตรของพล.ต.สมนึก ไทยแท้, เพราพิลาส พัชราภรณ์ธิดาของ พล.ท.พนัส พัชราภรณ์และบุตรชายของพล.ท.นพ การุณวงศ์ ซึ่งไม่ปรากฏชื่อ

    พล.ท.พล พัชราภรณ์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘, พล.ท.นิกร การุณวงศ์ ตามไปใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ส่วน พล.ท.กิมหงวน ไทยแท้และพล.อ.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เสียชีวิตใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ตอนที่สี่สหายถึงแก่กรรมนั้น แต่ละคนอายุประมาณ ๖๐ ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นอายุที่ใกล้เคียงกับ ป. อินทรปาลิต

    สำหรับคุณหญิงวาด ประสิทธิ์นิติศาสตร์ได้ล่วงลับไปในปี พ.ศ.๒๕๑๕ และจอมพลพระยาปัจนึกพินาศ ถึงแก่อสัญกรรมในปีต่อมา ทั้งสองท่านควรจะมีอายุไม่ต่ำกว่า ๘๐ ปีเมื่อถึงแก่กรรม

    บรรดาภรรยาของสี่สหายก็คงล่วงลับตามๆ กันไป ซึ่งระบุชัดเจนเพียงนันทาคนเดียวที่เสียชีวิตในปี ๒๕๒๒ อายุประมาณ ๖๓ ปี

    ส่วน ร.อ.แห้ว โหระพากุล ซึ่งอ่อนกว่า พล.ท.พล พัชราภรณ์ ผู้เป็นนายหลายปีถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ คงจะมีอายุประมาณ ๖๒-๖๓ ปี ร.อ.แห้ว มีบุตรคนหนึ่งเป็นคนสวนของบ้านพัชราภรณ์ในปี ๒๕๕๐

    รายละเอียดจากตอนสามเกลอตอน ไปสู่อนาคต ข้างต้นนี้ ทำให้ประมวลได้ว่าสี่สหายยังคงรับใช้ราชการทหารต่อไปจนกระทั่งได้เลื่อนยศสูงขึ้นหลังจากครบเกษียณอายุได้ไม่นาน ต่างก็ทยอยล่วงลับทิ้งมรดกและธุรกิจต่างๆ ให้ทายาทไปดำเนินการต่อไป ลูกชายของสี่สหายยังคงรับราชการทหารในด้านวิทยาศาสตร์และสรรพาวุธ จนกระทั่งดำรงและพนัสได้ยศพลโท ส่วนนพกับสมนึกเป็นพลตรี

    ในปี ๒๕๕๐ พล.ท.พนัส พัชราภรณ์กับ พล.ท.ดำรง ณรงค์ฤทธิ์มีอายุได้ ๖๗ และ ๖๕ ปี ตามลำดับ ส่วน พล.ต.สมนึก ไทยแท้ เสียชีวิตไปตั้วแต่ปี ๒๕๓๕ และ พล.ต.นพ การุณวงศ์ในปีต่อมา ทั้งสองท่านมีอายุประมาณ ๕๐ ปีเท่านั้น

    นั่นคือ "อวสาน" ของหัสนิยายชุด สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ซึ่งเรื่องราวได้ต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยที่ผู้ประพันธ์ได้วาดภาพของกรุงเทพฯ ในปีนั้นเอาไว้ด้วย

    ป. อินทรปาลิตเขียนบทนำเรื่องไปสู่อนาคตไว้ตอนหนึ่งว่า

    "ศาสตราจารย์ดิเรกจะพาคณะพรรคของเขาเดินทางไปสู่อนาคต คือไปพบเห็นในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มันจะต้องเกิดขึ้น..."

    จากนั้นท่านนักประพันธ์เอกก็บรรยายภาพกรุงเทพฯในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจและมีชีวิตชีวา ซึ่งส่วนใหญ่คล้ายกับกรุงเทพฯ ในปี ๒๕๔๔ ที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วนั่นเอง

    "ที่ถนนสุขุมวิท หน้าบ้าน 'พัชราภรณ์' มีรถยนต์แล่ยผ่านมาอย่างน่าเวียนหัว รถทุกคันใช้ความเร็วสูงมาก ลักษณะของรถไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ รถประจำทางเป็นรถสองชั้นคันใหญ่และยาวมาก...

    ....................

    ...รถไฟขนาดใหญ่วิ่งอยู่บนถนนสุขุมวิทคล้ายกับรถราง มีสองคัน พ่วงวิ่งไปตามรางสูงจากถนนประมาณ ๑๐ เมตร ใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

    มองออกไปนอกบ้าน 'พัชราภรณ์' เป็นอาคารสูงใหญ่อย่างน้อยที่สุดก็ ๒๐ ชั้นจนถึง ๘๐ ชั้น ส่วนยอดของมันเสียดเข้าไปในกลุ่มเมฆอันหนาทึก... ผู้คนริมถนนสุขุมวิทเดินสับสนไปมาผู้ชายแต่งชุดสากลและผู้หญิงสวมเสื่อกระโปรงวันพีซ มองดูชาวกรุงเทพฯ ไม่ผิดอะไรกับชาวยุโรปอเมริกา"

    ลูกชายของเจ้าแห้วซึ่งพูดภาษาอังกฤษบอกกับคณะผู้มาเยือนจากโลกอดีตว่า รัฐบาลไทยประกาศยกเลิกภาษาไทยทั้งภาษาพูดและอักขรวิธีมาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๗ ทำให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษแทนภาษาไทย

    สี่สหาย เจ้าคุณปัจนึกฯ นพและสมนึกกับเจ้าแห้ว ขึ้นแท็กซี่ในอนาคตซึ่งเป็นรถคาดิลแล็ค ชายหนึ่มคนขับแท็กซี่ ซึ่งจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าบอกว่า

    " '...บางกอกมีมหาวิทยาลัยราว ๒๐๐ แห่งเห็นจะได้ครับ โรงเรียนประถมและมัธยมไม่ต่ำกว่าห้าพันแห่ง ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนครับ เครื่องเขียนและแบบเรียนตลอดจนเสื้อผ้าทางโรงเรียนจ่ายให้ฟรี... อาคารใหญ่ทางขวามือนี่คือตลาดเงินครับ พวกเศรษฐีมาชุมนุมกันที่นี่ตลอดวัน ขายหุ้นซื้อหุ้นวุ่นวายไปหมด...

    ....................

    ...บางกอกน่ะมันกว้างขวางเหลือเกิน พวกคุณคงไม่ทราบว่าอาณาเขตของบางกอกได้รวมจังหวัดธรบุรี นนทบุรี และปทุมธานีไว้แล้วเมื่อ ๘ ปีที่แล้วมา ทางนี้ก็รวมสมุทรปราการไว้ด้วย ท้องนาในบางกอกหรือที่สวนไม่มีแล้วครับ มีแต่ตึกรามบ้านช่องเหมือนกันทุกแห่ง พลเมืองบางกอกมีตั้ง ๑๕ ล้าน นอกสำมะโนครัวอีกไม่ต่ำกว่าห้าหกล้านคัน [sic]

    สี่สหายยิ้มแห้งๆ ไปตามกัน...

    ....................

    ท่านเจ้าคุณถอนหายใจหนักๆ

    'เหมือนกับหลงมาในเมืองสวรรค์ว่ะ ตื่นเต้นพอดูทีเดียว แล้วก็คนขับรถเขาความรู้แก่กว่าเรามาก อย่างน้อยก็ได้รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือนชื่อนายอิสระ สจ๊วต เรามีสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูง รัฐมนตรีของเราเป็นพลเรือนทั้งนั้น แม้กระทั่งรัฐมนตรีกลาโหม รัฐบาลชุดนี้ได้บริหารประเทศชาติของเราอย่างเข้มแข็ง ไม่มีการคอรัปชั่นเด็ดขาด ข้าราชการทุกคนมีเงินเดือนพอเลี้ยงตัวและครอบครัวให้ได้รับความสุข ต่างทำงานเพื่อประเทศชาติจริงๆ เศรษฐกิจของชาติไทยดีมาก เพราะเรามีเหมืองทองหลายแห่งและมีบ่อน้ำมันในอ่าวไทยมากมาย นอกจากนี้ เรายังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดหนัก ไทยแลนด์ไม่ใช่ประเทศกสิกรรมเหมือนแต่ก่อน...' "

    คณะพรรคสี่สหายนั่นเที่ยวรถชมพระนครอันกว้างใหญ่ ป. อินทรปาลิตบรรยายถึงการกีฬาของไทยในอนาคตว่า

    "สนามกีฬาหรือกรีฑาสถานแห่งชาติได้ขยายอาณาเขตออกไปอีกหลายเท่า สนาม 'ศุภชลาศัย' กลายเป็นสนามฟุตบอลสำหรับการแข่งปลีกย่อย เรามีสนามฟุตบอลใหม่ที่จุคนดูได้ถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน คนขับรถแท็กซี่ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และนักกีฬาของไทยกว่าเหรียญทองได้เกือบหมด ไทยแลนด์ก้าวหน้าทุกอย่างแม้กระทั่งการกีฬา เราส่งทีมฟุตบอลไปแข่งขันฟุตบอลโลก ๓ ครั้งแล้ว และได้ถ้วยชนะเลิศทุกครั้ง ขณะนี้ไทยแลนด์กลายเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซีย รองลงมาคือญี่ปุ่น"

    ป. อินทรปาลิตบรรยายต่อไปว่า

    "ลัทธิคอมมิวนิสต์สลายตัวไปแล้ว ประเทศคอมมิวนิสต์ต่างเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย สงครามโลกครั้งที่ ๓ จึงไม่เกิดขึ้น ชาวโลกต่างมีความรักใคร่สามัคคีกันเป็นอย่างดี เมืองจีนแผ่นดินใหญ่กับไทยแลนด์มีความสัมพันธ์ต่อกันในทางการฑูตเหมือนเมื่อก่อน จีนแดงซึ่งเปลี่ยนเป็นจีนขาวได้ส่งสินค้าที่เราชอบมาขายในเมืองไทยมากมาย นับตั้งแต่ก๊งไฉ่ ลูกนำเลี๊ยบ ลิ้นจี่ดอง...พวกคนจีนที่เคยเป็นจีนแดงมาเที่ยวเมืองไทยกันอย่างสนุกสนาน คนไทยก็ไปเที่ยงเมืองจีนกันเยอะแยะโดยจรวดข้ามทวีปใช้เวลาเดินไทยไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

    ....................

    ...คณะนักทัศนาจรก็นั่งรถไปชมสรรพสินค้าตามบริษัทห้างร้านต่างๆ ห้างร้านเหล่านี้ล้วนแต่กว้างขวางหรูหรา บางแห่งคนซื้อก๋มีรถเข็นเล็กๆ ลากไป อยากได้ข้าวของอะไรก็หยิบใส่รถเข็น แล้วให้แคชเชียร์คิดเงินที่ประตูออก...

    ทุกหนทุกแห่งล้วนแต่ทำให้นักทัศนาจรตื่นเต้นแปลกใจในความเจริญของบางกอก รถแท็กซี่คาดิลแล็คเก๋งทั้ง ๒ คันพานักทัศนาจรข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าช้างวังหน้าเที่ยวชมธนบุรี สวนผลไม้กลายเป็นตึกสูงตระหง่าน มีถนนสายใหญ่เพิ่มขึ้นอีกหลายสาย ถนนเดิม เช่นถนนอิสรภาพ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถูกขยายออกไป มีความกว้างถึง ๒๕ เมตร บาทวิถีริมถนนหลายตอนเป็นบาทวิถีเลื่อนได้ และทุกระยะ ๑๐๐ เมตร มีอุโมงค์ลอดใต้ถนนให้คนข้ามต่างทางม้าลาย ตามทางแยกมีอุโมงค์สำหรับรถทางหนึ่งลอดผ่านไป โดยไม่ต้องเสียเวลารอไฟเขียวเหมือนสมัยก่อน..."

    ป. อินทรปาลิตจินตนาการถึงบริการด้านต่างๆ ของรัฐบาลในอนาคตไว้ดังนี้

    "...บางกอกยุคนี้น้ำไหลไฟสว่างทางสะดวก ไม่ผิดอะไรกับเมืองสวรรค์ โรพยาบาลมีอยู่ทั่วเมืองและมีบริการที่ดีที่สุด อย่างรวดเร็วทันใจ คำว่าเตียงไม่ว่างไม่มี คนไข้จะได้รับการโอภาปราศรัยอย่างอ่อนหวาน ไม่มีการขู่ตะคอก... เมื่อโรงพยาบาลได้รับการแจ้งทางโทรศัีพท์ว่ามีคนป่วยไข้ไม่สบายหรือได้รับอุบัติเหตุ รถของโรงพยาบาลจะเปิดหวอรีบไปรับคนไข้ทันที...

    บางแคเปลี่ยนแปลงไปหมด กลายเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนหนาแน่น สถานสงเคราะห์คนชราเป็นอาคาร ๕ ชั้น ใหญ่โตมโหฬารมาก"

    ป. อินทรปาลิตให้คนขับแท็กซี่อธิบายถึง "นิคมคนแก่" ให้คณะพรรคสี่สหายฟังว่า

    "...ก่อนหน้านี้คนแก่ที่ไม่มีลูกหลานพอแก่ตัวลงไปก็ลำบากมาก บางทีก็อดตายหรือเจ็บตาย เพราะไม่มีใครเอาใจใส่ เดี๋ยวนี้รัฐบาลท่านรับเลี้ยงครับ คนแก่อายุ ๖๕ ปีขึ้นไปรัฐบาลจะรับมาอยู่ที่นี่ มีห้องพักอย่างสวยงาม มีอาหารดีๆ ให้กินวันละ ๔ มื้อ มีเครื่องนุ่งห่มแจกให้พร้อม และมีหมอกับพยาบาลคอยดูแลเอาใจใส่..."

    หัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ตอน ไปสู่อนาคต นี้ ทำให้บทบาทของ ป. อินทรปาลิตขยายออกไปส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นบทบาทของนักประพันธ์ที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมในหลายแง่หลายมุม ออกมาเป็นตัวอักษรอย่างต่อเนื่องถึง ๓ ทศวรรษเท่านั้น แต่ยังเสริมด้วยบทบาทของนักเขียนผู้ใช้จินตนาการเพ่งไปเบื้องหน้าอันแสนไกล แล้วอาศัยตรรกศาสตร์ประกอบการพิจารณาสถานการณ์ใมนปัจจุบัน พยากรณ์วิวัฒนาการสังคม ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอย่างที่สุด

หมายเลขบันทึก: 170246เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2008 06:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ผมก็โตมากับ พล นิกร กิมหงวน ครับ ผมเชื่อว่าผมอ่านมาเกือบ 80-90% ของตอนต่างๆ ที่มีครับ อ่านมาตั้งแต่สมัยมัธยม แต่พอเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้อ่านแล้ว

อย่างตอนที่คุณ Conductor นำมานี้ก็ได้อ่านครับ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากมายนัก พอได้มาอ่านต่อตอนนี้ถึงกับทึ่งมากถึงความสามารถในการพยากรณ์อนาคตของคุณ ป. ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมอ่าน พล นิกร กิมหงวน มาตั้งแต่เด็กประมาณ ป.4 ป.5 อะไรอย่างนั้นเลยครับ กลับมาอ่านอีกเป็นครั้งเป็นคราว พอถึงช่วงมัธยมกลายเป็นนิยายจีนกำลังภายในไปแล้ว

นอกจากความแม่นแล้ว ผมยังเห็นความปรารถนาดีที่ต้องการจะให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองอีกครับ

สวัสดีค่ะ

พล นิกร กิมหงวน นี่เป็นหนังสือที่ชอบมากค่ะ นอนอ่านหัวเราะอยู่คนเดียว ตอนเด็กๆ สนุกจัง รู้สึกจะเป็นนิยายที่อ่านต่อเนื่องมากนานที่สุดค่ะ แม้ขณะนี้ ก็จำเรื่องราวหลักๆได้อยู่ค่ะ

 

นิยายจีนกำลังภายในนี่ผมอ่านยกร้านเช่าหนังสือเลยครับ (ในต่างจังหวัดเมื่อก่อนจะมีร้านเช่าหนังสือ ซึ่งมีหนังสือนิยายไทยและนิยายจีนกำลังภายใน) ผมเป็นลูกคนเดียว แม่ผมเลี้ยงด้วยหนังสือครับ

พี่ศศินันท์: เป็นเด็กก็สนุกไปอีกแบบหนึ่งนะครับ ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ไม่ต้องรู้เห็นความไม่ดีต่างๆ ของคนทั่วไป (เห็นแต่ไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายนัก)  ซึ่งหากเอานิสัยอย่างนี้ติดตัวมา ก็จะกลายเป็นคนไร้วิญญาณ มองเห็นความไม่ถูกต้องแล้วยืนดูเฉยๆ อย่างเลือดเย็น

อาจารย์ธวัชชัย: คงมีสมาชิกอีกมาก ที่เป็นเหมือนอาจารย์ (แต่อาจารย์โชคดีที่คุณแม่เลี้ยงมาด้วยหนังสือครับ) คืออ่านมาตั้งแต่เด็กนะครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกันว่าทำไมเวลาโตขึ้นแล้ว ต่างคนต่างพยายามจะแตกต่าง โดดเด่น ทั้งๆ ที่ปัจจัยการดำรงชีวิตก็คือปัจจัย ๔ เหมือนๆ กัน

P

Conductor

 

อาตมาก็เป็นแฟนพันธ์แท้ชุดสามเกลอเหมือนกัน อ่านมาตั้งแต่ชั้นประถมเหมือนกัน  และโครงเรื่องหลัำกหรือบางเรื่องก็ยังพอเล่าได้เหมือนกัน... (กล่าวคือ เหมือนๆ กับความเห็นข้างบน)

เมื่อก่อนก็สำคัญตนว่าอ่านหนังสือครอบคลุมเกือบทุกประเภท... แต่เมื่อมาสู่โลกกว้างขึ้น จึงรู้ว่า มีบางมุมที่ยังไม่คุ้นเคย เช่น  นิยายผีสยองขวัญ เพื่อนคนหนึ่งจัดเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่อาตมาก็อาจเคยอ่านเพียงเล่มสองเล่มเท่านั้น... หรือบางมุมก็ยังไม่เคยได้ไปเยือน เช่น นิยายรักเกาหลี อาตมาไม่เคยอ่านเลย หลานบางคนเล่าให้ฟังเรื่องโน้นเรื่องนี้...

อนึ่ง ขออนุโมทนาคุณโยม Conductor ล่วงหน้า สำหรับจาคเจตนาในเบื้องต้น...

เจริญพร

มาไม่ทันรุ่นนี้ค่ะ แต่ก็ยังได้อ่านเพราะของสะสมของคุณพ่อ ตอนเด็กๆ อ่านแล้วบางอย่างก็ไม่เก็ตเหมือนกัน ทุกวันนี้ยังเหลืออยู่บ้าง แต่กระดาษเริ่มกรอบๆ แล้ว พ่อเล่าให้ฟังว่าตอนย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ๆ พ่อมีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวแล้วไปแอบเลยไปตามหาบ้านพัชราภรณ์ในหนังสือด้วยค่ะ อยากรู้ว่ามีอยู่จริงมั้ย

เห็นลงเรื่องนี้แล้วนึกถึงหนังสือรวมภาพของเหม เวชกรที่เล่าให้ฟังว่าซูซานมีอยู่ น่าจะเอามาลงให้คนในนี้ได้ดูระลึกความหลังเหมือนกัน เดี๋ยวกลับไปหาดูดีกว่า คนรุ่นสว.น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เท่าที่รู้มาผีกระสือตำหรับไส้ลอยเป็นพวงส่องแสงแว้บๆ นี่ก็มาจากอ.เหมนี่ล่ะค่ะ

เคยอ่านเป็นตอนๆ ค่ะ จำได้ว่าสนุกมาก แต่ไม่ได้อ่านเยอะ เพราะยืมของลูกพี่ลูกน้องอ่าน จำได้ว่าเป็นเล่มที่เขารวมเล่มแล้ว

จินตนาการกรุงเทพบางเรื่องไว้เกือบเหมือนนะคะ เห็นแต่ความเจริญทางวัตถุที่อาจจะใกล้เคียง ..

เป็นแฟนพันธุ์ พล นิกร กิมหงวน เมื่อครั้งยังอยู่ในชั้นประถมค่ะ อ่านจากห้องสมุดของโรงเรียนที่มีให้ จึงไม่ครบทุกตอน ชอบมากๆ อ่านไปหัวเราะกิ๊ก กั๊ก จนเพื่อนที่นั่งข้างๆ หันมามองว่าเกิดอะไรขึ้น ... เป็นหนังสือที่สร้างความสุข และจินตนาการที่ดีค่ะ

หนังสือเป็นเครื่องมือสื่อสารความคิด เสริมสร้างจินตนาการ และหนังสือก็มีระดับชั้นครับ

การอ่านนั้นดีแล้ว เพียงแต่หลังจากอ่านแล้ว ควรถามตัวเองอยู่เสมอว่าได้อะไร (เป็น AAR ครับ) ถ้าตอบไม่ได้บ่อยๆ เข้า บางทีก็ไม่ควรอ่านอันนั้นอีกต่อไปนะครับ

เว็บไซต์สามเกลอ ได้รวบรวมเรื่องพล นิกร กิมหงวน เอาไว้มากมาย รวมทั้งตอน ไปสู่อนาคต ฉบับออนไลน์ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท