เมื่อผมค้นพบความจริงของชีวิต .. เหตุจากการประเมินผลการเรียนนักศึกษา (ตัดเกรด)


ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่ผมถือเป็น "ข้าของแผ่นดิน" คนหนึ่ง ซึ่งเป็นครู ไม่ใช่จะสอนแต่ความรู้ ให้แต่เกรด ... ครูต้องสอนคุณธรรมจริยธรรมให้เด็กเขาไปด้วย

ทุก ๆ ปลายเทอม ... หลังจากการสอบปลายภาคเสร็จนั้น หน้าที่ต่อไปของครูหรืออาจารย์ ก็คือ

  • การตรวจรายงานของนักศึกษา (ไม่ว่าจะสอนกี่ห้อง)
  • การให้คะแนนในงานแต่ละชิ้น
  • การนำคะแนนมารวมกันแล้ว คิดเป็น "เกรด" ตามเกณฑ์ที่ผู้สอนตั้งเอาไว้

การให้เกรด มีอยู่ 2 ประเภท คือ อิงเกณฑ์ กับ อิงกลุ่ม

อิงเกณฑ์ หมายถึง ผู้สอนได้มีเกณฑ์มาตรฐานไว้แล้ว เช่น ถ้านักศึกษาได้ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถือว่า นักศึกษาได้รับเกรด A หรือ ถ้านักศึกษาทำได้น้อยว่า 49 เปอร์เซ็นต์ลงมา ถือว่า ต่ำกว่าเกณฑ์ นักศึกษาได้รับ E หรือ F หมายถึง ถ้าเป็นวิชาบังคับ นักศึกษาต้องลงเรียนใหม่อีก 1 ภาคเรียน

อิงกลุ่ม หมายถึง ผู้สอนมีความตั้งใจว่า นักศึกษา 1 หมู่เรียนนี้ จะให้เกรด A, B, C, D หรือ E กี่เปอร์เซ็นต์ดี ส่วนใหญ่เขาจะนิยมให้เกรด C มีคนอยู่เยอะสุด เพราะถือว่า เป็นคนส่วนใหญ่ เก่งปานกลาง อีกประการก็คือ วิชานี้อาจจะมีนักศึกษาคละวิชาเอกกันมาก ถ้าตัดแบบอิงเกณฑ์ นักศึกษาวิชาเอกนั้น ๆ จะได้เปรียบนักศึกษาที่ไม่ใช่วิชาเอก

เล่าแบบคนกันเอง และเชื่อว่า หลายท่านคงผ่านการตัดเกรดมาทั้งสองแบบแล้วนะครับ

 

สำหรับผม มักจะใช้การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ เนื่องจากต้องการวัดความสามารถทางการเรียน ความตั้งใจเรียน ความขยัน ของนักศึกษาแต่ละคนไปเลย ใช้สัจธรรมว่า กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตามสนอง ถ้าเขาตั้งใจเรียน เขาต้องได้เกรดดี เขาไม่ตั้งใจเรียน เขาก็ต้องเรียนเกรดไม่ดี ... มันจึงเป็นเช่นนั้นเอง

 

ภาคเรียนนี้ก็เช่นกันครับ ภาคเรียนที่ 2 / 2550 ... ผมสอน 5 หมู่เรียน 2 วิชา ... ตรวจงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 อาทิตย์ (ก็ที่ผมหาย ๆ ไป ไม่ค่อยได้เขียนบันทึกนั่นแหละครับ) ... งานบางชิ้น ผมตรวจไม่ต่ำกว่า 200 รอบ (เด็ก 200 คน) ทั้งภาคเรียนก็เป็นพัน ๆ รอบ แทบไม่ได้มีแค่งานที่เป็นกระดาษ บางครั้งเป็นสื่อการสอนที่เป็นอิสระทางความคิดของเด็ก ก็ต้องตั้งเกณฑ์มาตรฐานให้ดีหน่อย ไม่เช่นนั้นจะวัดไม่ได้ หรือบางทีก็การตรวจงานเด็กผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น รับ-ส่งอีเมล์, สร้างเว็บไซต์ เป็นต้น

 

ตรวจงานเสร็จ ... ก็จะกรอกคะแนนลงแบบฟอร์มที่สร้างจาก Microsoft Excel ... หรือไม่กรอกลงกระดาษก่อน แล้วจึงค่อยกรอกลง Microsoft Excel อีกครั้งหนึ่ง ... หลังจากนั้นก็นำคะแนนมาตีเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วพิจารณาว่า คะแนนตกไปอยู่ที่เกรดใด ... เมื่อได้แล้วก็ส่งเกรดเข้าฐานข้อมูลสำนักส่งเสริมวิชาการของมหาวิทยาลัย พร้อมกับ Print Out พร้อมตัวต้นฉบับใบรายชื่อนักศึกษาที่เขียนเกรด ส่งคณะ ให้ทำการตรวจสอบก่อนส่งมหาวิทยาลัยอีกที (ขั้นตอนมากมาย)

 

แต่ช่วงเครียดมาก ๆ ในการตัดเกรดนะครับ ก็มีหลายช่วง ได้แก่

ช่วงที่ 1 .. ตอนตรวจรายงาน ... คนที่ทำงานออกมาดี ตรวจไปก็ยิ้มไป มีความสุขดี แต่ลองไปเจอคนที่ทำงานเหมือนเอาเท้าเขี่ยมาส่ง หรือทำส่งไปงั้น ๆ เหมือนคนไม่มีจุดหมายในชีวิต ทำให้ต้องคิดหนักว่า ไอ้แบบนี้ เอาไปกี่คะแนนให้สมกับที่เอาเท้าเขี่ยมาส่ง หรือให้ I ไปเลย ให้ทำใหม่ให้สาแก่ใจ ในฐานะไม่ตั้งใจทำ ... ตอนนี้จะเครียด ... และอาจจะเครียดหนักไปอีก เพราะตรวจพบคนเดียวซะเมื่อไหร่ บางเทอมเป็นสิบ ยี่สิบคนโน้น (บางที ยกวิชาเอก คือว่า ถ้าเอกไหนขยัน ตั้งใจ มันก็เป็นทั้งเอก ถ้าเอกไหน ไม่ได้เรื่อง มันก็ไม่ได้เรื่องทั้งเอก ถ้าจะหา "ช้างเผือก" ก็มีอยู่บ้าง แต่น้อยเหลือเกิน อันนี้ "สัจธรรม" ครับ)

ช่วงที่ 2 .. ตอนตัดสินใจให้เกรด ... ตรวจครบ คะแนนรวมแล้ว ตีค่าเกรดแล้ว แต่ ... บางคน มันตกอ่ะสิ ... ดูผลงานตั้งแต่ต้นจนจบเทอม .. เออ สมควร ... คนที่เรียนแล้วไม่ถึง 49 เปอร์เซ็นต์นะครับ ก็มี

  • ไม่ค่อยเข้าเรียน คือ เรียนไม่ถึงครึ่งของเวลาเรียนทั้งหมด พวกนี้ โดยส่วนใหญ่คือ พวกเอาแต่ใจตัวเอง ตื่นก็มา ไม่ตื่นก็ไม่เข้า ... หรือวันนี้อารมณ์ไม่ดี ไม่เข้า ... อารมณ์ดี ก็เข้า .. หรือวันนี้ส่งรายงาน รายงานยังไม่เสร็จ ไม่เข้า ... เป็นการใช้ชีวิตที่ตลกมาก .. มาเรียนไปทำไมฟ่ะ พ่อแม่เอ็งรู้สึกยังไงบ้างล่ะ
  • มาเรียนแบบตาปลาไหล ... นั่งเรียนไปหลับไป นั่งเรียนไปเบลอไป ไม่มีสมาธิ เบลอ ๆ ตาใส ๆ เหมือนปลาไหลเปี๊ยบ (เคยเห็นตาปลาไหลนะครับ) .. อาจารย์พูดเป็นต่อยหอยอยู่หน้าห้องให้ฟัง ก็ครับ ๆ ค่ะ ๆ ... แล้วก็ทะลุก้น ทะลุหู ออกไป เหมือนกระป๋องน้ำรั่ว ใส่น้ำแล้วก็ไหลออกหมด .. มันจะมาเรียนทำไม๊ของมัน ... เป้าหมายชีวิตเอ็ง มาเรียนตามพ่อแม่สั่งมาหรือไง หรือ มานั่งเฉย ๆ ฟ่ะ
  • ไม่เคยทำงานด้วยตัวเอง (โกงนั่นเอง) ... ประเภทนี้ รู้ว่า อาจารย์สั่งให้ทำอะไร แต่ตูจะไม่ทำเองแน่นอน เพราะคิดว่า ปัญญาข้ามีเพียงแค่นี้ จะไปสร้างยานอวกาศอย่างที่อาจารย์บอกได้ยังไงฟ่ะ ... นักศึกษาประเภทนี้ มันต้องทำทุกวิถีทางที่จะส่งงานให้ได้ ไม่ว่าด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ... วิธีที่ 1 เพื่อนอ่อนลอกเพื่อนเก่ง .. ขอเพื่อนที่ทำเอง ลอกเสียเลย (โหย อาจารย์จับไม่ได้เล้ย อาจารย์ตามเอ็งไม่ทันซะแล้ว) ... วิธีที่ 2 มอบกายให้คุณครู GOOGLE ... ขอให้คุณครู GOOGLE ช่วยหน่อย คีย์ป๊าบ ๆ แล้วก๊อปปื้บ ๆ (โหย อาจารย์จับไม่ได้อีกแล้ว ข้าสอนวิชานี้มาเท่าไหร่ ตรวจงานเกินหมื่นชิ้นแล้ว ข้าตามเอ็งไม่ทันเล้ย) ... วิธีที่ 3 ทำงานเป็นทีม ... เนื่องจากวิธีที่ 1 มีจุดอ่อน ต้องมีการปรับวิธีโดยเลือกใช้ต้นฉบับหลายคนหน่อย อา ข้อ 1 เอาเพื่อนหมายเลข 1 อา ข้อ 2 เอาเพื่อนหมายเลข 2 ข้อ 3 เอาเพื่อนหมายเลข 3 .. เป็นต้น ยัง ๆ ยังไม่พอ เดี๋ยวอาจารยจับได้ เราต้องทำการอะแดป ๆ ต่อไป โดยการสลับประโยค เปลี่ยนคำ ใส่สำนวนตัวเองนิดหน่อย แค่นี้อาจารย์ก็จับไม่ได้แล้ว (โหย .. อาจารย์โง่ เรียนก็ไม่จบล่ะมั้ง ไม่รู้ทันเล้ย)
  • ไม่เคยมาเรียนเลย แต่แวะมาสอบไล่ ... แบบนี้ก็เคยเจอครับ .. มาสอบตามหน้าที่ของนักศึกษา เพื่อเจออาจารย์แบบหลับหูหลับตาให้เกรด ก็รอดตัว เรียกว่า เผื่อฟลุ๊ค
  • ฯลฯ (เอาไว้นึกออกจะมาเล่าให้ฟังอีก)

 

สองช่วงนี้จะมีความเครียดสูงนะครับ .. เพราะ อาจารย์ เสมือน ผู้กุมอนาคตของนักศึกษาเหมือนกัน ถ้าเราให้เกรดดี ๆ ให้เขา เขาก็จะมีโอกาสเรียนรอด จนจบหลักสูตร เป็นบัณฑิต กะเค้าได้ แต่ถ้าเขาได้เกรดไม่ดี โอกาสรอด จบเรียนจบ ก็น้อยกว่าคนอื่น ..

ผมเชื่อว่า อาจารย์ทุกคน (ที่มีความเป็นครู) คงไม่อยากให้เกรดไม่ดีกับลูกศิษย์ของตัวเองหรอกใช่ไหมครับ แต่ลูกศิษย์ของเราแต่ละคน มีความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ไม่เหมือนกันสักคน บางคนเรียนดี เรียนเก่ง ตั้งใจเรียน สมควรได้เกรดดี ๆ แต่บางคนเรียนไม่เก่ง แล้วยังไม่ตั้งใจเรียนอีก เผลอ ๆ โกง ทุจริตสารพัดวิธีเพื่อการเอาตัวรอดจากวิชาของเรา (อย่างที่เล่ามา) แบบควรให้เกรดดี ๆ เทียบเท่าคนตั้งใจเรียน หรือครับ

 

นี่คือความหนักใจในการให้เกรดในทุก  ๆ เทอม ... ปัญหาสารพัดสารเพ มาให้เราตั้งตัดสินใจ ..

 

ผมจะลองเขียนเกณฑ์ความใจดีและความใจร้ายในการตัดสินใจให้เกรดนักศึกษา นะครับ

  • ถ้านักศึกษาติด E หรือ คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ผ่าน .. ผมจะดูก่อนว่า เขามาเรียนของผมเยอะไหม ถ้ามาเรียน ก็ต้องสันนิษฐานว่า เขาตั้งใจเรียน แบบนี้จะให้เกรด I ไว้ก่อน ให้โอกาสแก้ตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเกิดเข้าเรียนเยอะ แต่งานไม่ค่อยส่ง ... แบบนี้จะหนักใจมาก ใช้เกณฑ์ข้างต้นไม่ได้ เพราะเขาไม่ส่งงาน แล้วจะเอาคะแนนที่ไหนกัน บางทีผมก็ให้ตกเลย แต่บางทีก็เห็นใจ ให้เกรด I ไว้ก่อนก็มี (ยืดหยุ่นตามสถานการณ์นั้น ๆ)
  • บางคนอีก 1 เปอร์เซ็นต์จะได้เกรด C แล้ว เช่น 59 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปัดขึ้น ก็จะเป็น C แต่ถ้าไม่ปัด ก็เป็น D+ ความรู้สึกต่างกันเลย ช่องว่างแค่ 1 เนี่ย ... ส่วนใหญ่สำหรับตัวผมเอง ไม่ปัด ปล่อย D+ เลย .. เพราะคุณลองคิดดู กว่าจะเป็นเปอร์เซ็นต์สัก 1 เปอร์เซ็นต์ ผ่านจากการเป็นคะแนนดิบมากก่อน เช่น ผมให้คะแนนดิบ 10 คะแนน แต่หารไป หารมา เปลี่ยนเป็นเปอร์เซ็นต์ แค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ แบบนี้ ... ถ้าเด็กตั้งใจทำงาน ทำงานละเอียด ไม่มักง่าย หรือทำไปเรื่อย เขาก็จะเก็บคะแนนได้เกือบเต็ม แต่ถ้าทำไปงั้น ๆ คะแนนมันก็ตกหายระหว่างทางสิครับ แล้วถ้าลองไปเทียบกับเพื่อนที่ทำงานด้วยความตั้งใจล่ะ เขายิ่งไม่สมควรได้รับการปัดอีกต่างหาก ... อาจารย์หลายคนบอกว่า ให้ ๆ ไปเหอะ (คำนี้เจ็บปวดนะครับ ใจดี แต่ไม่รับทราบผลและพฤติกรรมของเด็กในอนาคต)

 

ทำไมถึงต้องคิดมากในการตัดสินใจในเรื่อง "เกรด" ของนักศึกษา ?

  • กระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เป็นการจำลองสถานการณ์จริงในการทำงานในอนาคตของนักศึกษา นะครับ .. ถ้าอาจารย์ปล่อยปละละเลย โดยให้เขาผ่านไปโดยไม่ได้ซึบซับต่อกระบวนการจำลองนี้ ก็เหมือนกับไม่ได้สอนอะไรเขานั่นแหละ .. มีประโยชน์ตรงไหนไม่ทราบ
  • ถ้าเขาโกง ลอกรายงาน ลอกข้อสอบ ประจบอาจารย์ เพื่อให้เขามีเกรดดี ๆ .. อาจารย์จะปล่อยให้เขาทำแบบนั้นหรือครับ ... ผมคิดเสมอว่า แค่สถานการณ์จำลองแบบนี้ "ยังโกง" เรียนจบไป ก็ไป "โกง" บ้านเมืองเราเองนั่นแหละ ดังนั้น มันต้องสอนให้เห็นผลว่า ถ้าคุณโกง คุณต้องโดนอะไร มีผลเสียอะไรต่อตัวเอง และสังคมบ้าง ... มันเป็นเรื่องของจริยธรรม คุณธรรม ของคนในสังคม นะครับ  .. คนพูดว่า "ปล่อย ๆ ไปเหอะ"  .. "สงสารเด็กเขา" .. มหาวิทยาลัยมีเยอะนะครับ จะบอกให้ คนที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมเนี่ย .. ทำนอง เอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น (ผมมีเรื่องเล่าเยอะเลย กรณีเนี่ย)
  • ฯลฯ คิดเพิ่มได้จะเขียนเพิ่มนะครับ (หมดมุขแล้ว)

 

ผมชอบถามเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งว่า ถ้าเป็นกรณีแบบนี้แก แกจะทำยังไง ... เพื่อนผมตอบว่า "ให้เขารู้ความเป็นจริงของชีวิต"

ในขณะที่ผมถามพี่อาจารย์อีกคนหนึ่ง เขาตอบว่า "แล้วแต่ผู้สอน จะให้อะไรก็ให้ไปเหอะ" (ตอบแบบนี้ทุกเทอม ผมล่ะ ไม่ศรัทธากับคำตอบแบบ โยนกลอง และไม่แสดงความคิดเห็นแบบนี้เลย)

 

ความคิดเห็นทั้งหมดนี้ เป็นแค่ความคิดเห็นของอาจารย์คนหนึ่งที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยระดับล่างของท้องถิ่นประเทศไทย ...

ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่ผมถือเป็น "ข้าของแผ่นดิน" คนหนึ่ง ซึ่งเป็นครู ไม่ใช่จะสอนแต่ความรู้ ให้แต่เกรด ... ครูต้องสอนคุณธรรมจริยธรรมให้เด็กเขาไปด้วย จึงจะถูกต้องสิ

 

ขอบคุณที่ฟังครูคนหนึ่ง บ่น ๆๆ แล้วก็ไป ... แว่บ

 

บุญรักษา ครูผู้มีความเป็นครูทุก ๆ ท่าน ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 169588เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2008 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

บันทึกนี้เขียนยาวดีนะครับ

อ่านแล้วเพลิน อ่านแล้วอมยิ้ม ขอบอกว่า "เหนื่อยจังนะครับครู"

แต่ขอให้กำลังใจครับ

  บอกได้คำเดียวว่า .....ซึ้งค่ะอาจารย์  .....

สวัสดีครับ คุณเอก :)

  • เอ ทำไมผมเขียนแล้วอ่านเพลินเนี่ย
  • สงสัยการเขียนผม จะพัฒนาขึ้นครับ หลังจากเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่องมานาน
  • ขอบคุณสำหรับกำลังใจ ครับ

บุญรักษา ครับ :)

สวัสดีครับ คุณครูพวงทอง Librarian

  • เป็นครู ไม่ยากนะครับ
  • แต่เป็นครูที่ดี ยากทีเดียว
  • ขอให้เป็นครูที่ดีนะ

ขอบใจมาก :)

อาจารย์ครับผมสำนึกผิดแล้ว ช่วยแก้ไอให้ผมด้วยฮ่าๆๆ ขอบคุณอาจารย์ที่เข้าใจลูกศิษย์แต่ก็น่าเป็นห่วงนะครับ เราจะแก้นิสัยงี้ได้ไงอะ เป็นหน้าที่ของครูคนเดียวหรือเปล่า น่าจะมีคำพูดที่ทำให้เด็กได้คิดเองมั่ง อืม..... คงต้องเป็นนักพูดที่ดีด้วยเนอะ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์Wasawat Deemarn

  • บอกแล้วค่ะว่าบันทึกของอาจารย์น่าอ่าน..อ่านเพลินอย่างที่ว่า..ความคิด วิธีการสอนก็คล้ายๆ กันค่ะ..ปลายภาคเรียนที่ผ่านมาก็ต้องอ่านวิจารณ์นวนิยายของนักเรียน 5 ห้อง เกือบ 200 ชิ้น (กำหนดว่าให้เลือกทำไม่ซ้ำเรื่องกันจะได้ตัดปัญหาลอกกันไปหนึ่งเปลาะ)ปวดตาอยู่หลายวัน..แต่สบายใจค่ะ.
  • อ่านแล้วสะดุดใจนิดนึงตรงที่พี่อาจารย์คนนั้น(อยากเห็นหน้าจังว่าเป็นใคร..พูดจริงๆค่ะ) พูดว่า"แล้วแต่ผู้สอน จะให้อะไรก็ให้ไปเหอะ" ทำไมเขาคิดได้แค่นี้ไม่ยุติธรรมเลย  ไม่น่าจะมาเป็น "ข้าของแผ่นดิน" เลย เป็น "ฆ่า" ซะมากกว่า (ขอโทษค่ะ) ใครทำดีก็ต้องได้ A ทำไม่คอยดีก็ต้องให้ยาแก้ I (LOVE YOU) ซิคะ (แฮ่ะๆ)
  • อาจารย์พอจะกรูณาบอกใบ้ให้หายข้องใจสักนิดได้มั้ยคะว่า..คนนั้นเคยมาสอนป.บัณฑิตที่แม่ฮ่องสอนหรือไม่..เป็นชายหรือหญิง...สอนเทอม 1 หรือ 2.....ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณครู ภัควัฒน์

  • เราต้องทำความรู้จักตนเองก่อนครับว่า เราต้องการอะไรกันแน่ และพยายามทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ ไม่ว่าเวลาจะนานแค่ไหน
  • แต่ส่วนใหญ่ มักเดินทางตามทางคนที่เขาบอกว่า ทางนี้ดี ทางนี้ไม่ดี ทางนี้ง่าย ทางนี้ยาก .. และเราก็มักจะรับฟังอีกต่างหาก
  • เด็กเดี๋ยวนี้ จึงมักเลือกทางที่คิดว่า ง่าย คิดว่า สะดวก คิดว่า เร็ว
  • แต่ความพยายาม การให้เกียรติ การตรงต่อเวลา ไม่มีสักนิด ... กรรมใด กรรมมัน จริง ๆ ครับเรื่องนี้

ขอให้กำลังใจ และแสดงความพยายามให้เห็นด้วยนะครับ ครูรออยู่ :)

สวัสดีครับ อาจารย์ Jeed ครูแก้วตา อาณาจักร์

  • ครูที่มีความเป็นครูจริง จะคิดแบบที่ผมเขียนนี่แหละนะครับว่าไหม อาจต่างกันบ้างตามรายละเอียดของแต่ละวิชาชีพเท่านั้น .. ยกเว้น คนที่เป็นครู เพื่อประกอบอาชีพ และไม่รู้จะทำอะไรเท่านั้น
  • อาจารย์ท่านนั้น ... ยังไม่ได้ไปสอนที่แม่ฮ่องสอนครับ แต่เคยสอนที่เชียงใหม่นี้ ...
  • เป็นคนที่ผมขอคำปรึกษาใด ๆ ไม่เคยได้ดีสักเรื่อง ส่วนใหญ่จะออกมาอย่างที่อาจารย์ได้ยินครับ ..
  • UP TO YOU อย่างเดียว ... แกเห็นแก่ตัวเองที่สุด ไม่ค่อยเห็นคนอื่น ทำเพื่อคนอื่นครับ ... ตัวจริง เสียงจริง มีจริง ๆ ครับ ...
  • ไม่อยากไปวิพากย์เขามากเกินไป ... แต่ก็ไม่น่าคบหาเป็นเพื่อน เป็นพี่ เท่าไหร่ครับ ติดอยู่คือ สาขาเดียวกันนี่แหละ
  • ขอให้เชื่อเรื่องกรรม ครับอาจารย์ ใครทำอะไร ก็ได้อย่างนั้น

ขอบคุณครับ :)

    สวัสดีค่ะ อาจารย์ Wasawat Deemarn

  • ได้ทราบว่าพี่อาจารย์ท่านนั้นยังไม่เคยมาสอนที่แม่ฮ่องสอนก็ค่อยสบายใจหน่อยค่ะ
  • เพราะกลุ้มอยู่หลายวัน...ลองเดาว่าเป็นคนนั้น  คนนี้ จะใช่หรือ  ถ้าใช่  ไม่น่าเชื่อนะ.....
  • คืออ่านแล้วก็คุยกับพรรคพวกที่เรียนด้วยกัน ต่างคนต่างลองเดาในใจ...ไม่มีใครกล้าพูด  กล้าเอ่ยชื่อออกมา....และภาวนาไม่อยากให้ใช่อย่างยิ่ง...
  • เพราะประทับใจอาจารย์ทุกท่าน...ไม่อยากเสียความรู้สึกที่ดีๆไป...
  • ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะอาจารย์...หายข้องใจแล้วค่ะ
  • อาจารย์ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ  ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ Jeed ครูแก้วตา อาณาจักร์

  • อาจารย์อย่าคิดมากและคิดว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ นะครับ ผมว่า ดูจะเป็นทุกข์เปล่า ๆ หามีข้อดีไม่
  • อาจารย์ที่มาสอนที่แม่ฮ่องสอนนั้น มีทั้งดีและไม่ดี ในบางจังหวะของชีวิตของอาจารย์เอง
  • ขอแค่อาจารย์มีความศรัทธาและนับถือด้วยหัวใจ ผมว่า แค่นี้ก็พอแล้วล่ะครับ

ขอบคุณครับ :)

มาขำ คิดถึงตัวเองเมื่อสมัยเรียน - มาเรียนแบบตาปลาไหล

ดีหน่อย ที่เป็นปลาไหล เดาเก่งค่ะ .. เลยรอดหวุดหวิด :)

...

ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่ผมถือเป็น "ข้าของแผ่นดิน" คนหนึ่ง ซึ่งเป็นครู ไม่ใช่จะสอนแต่ความรู้ ให้แต่เกรด ... ครูต้องสอนคุณธรรมจริยธรรมให้เด็กเขาไปด้วย

- ขอคารวะ 1 ไหโอวัลติน ค่ะ -

...

ตอนนี้ตาค้างแล้วค่ะ เพราะเลยเวลานอนมาหลายชั่วโมง

ขอบคุณครับ คุณ poo

กว่าที่เด็ก ๆ จะรู้ว่า ได้ประโยชน์ใดจากการทำงานตามที่อาจารย์สั่งไป ... เด็กคนนั้นก็จบไป แล้วมีงานทำ นั่นแหละ จึงเห็นผลตามที่อาจารย์เคยฝึก เคยบอก :)

ขอบคุณครับ :)

เวลาผมตัดเกรดนักศึกษาทีไร ผมจะรู้สึกไม่สบายใจไปหลายวัน และนึกถึง หนังกำลังภายในครับอาจารย์

การให้ผ่านไม่ผ่าน เพื่อลงจากขุนเขาเหลียงซาน เธอจงไปฝ่าด่าน 18 อรหันต์ก่อน จึงจะลงไปได้ (ผ่านได้ก็ A เธอทำงานหนักจนชำนาญแล้วนะ ถ้าไม่ผ่านก็เอา I ไปก่อนนะ จนกว่าเธอจะผ่าน ^^)

เธอจะเรียนวิทยายุทธ์จากฉันหรือ ลองไปหาบน้ำขึ้นลงขุนเขาก่อน จนเต็มโอ่งที่ตั้งอยู่ 100 ใบนั่นหนะ (ฉันไม่ใช่เรือจ้างน้าาา ^^)

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์ตี๋ ครูgisชนบท จอมยุทธ์แห่งเขาเหลียงซาน ;)...

เมื่อผมมีประสบการณ์น้อย ๆ มาตรฐานยังไม่ดีพอ แคร์ทุก ๆ อย่าง ทำให้การตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจด้วยเหนื่อยอ่อนครับ

แต่ปัจจุบัน ผมนิ่งมากขึ้น มาตรฐานคือข้อตกลง จะไม่มีการเบี้ยวมาตรฐานที่ตกลงในคาบแรกโดยเด็ดขาด หากฝนจะตก ต้องตกทั่วฟ้า

ดังนั้น "เป๊ะ" ครับอาจารย์ แต่ก็ไม่ใช่ไม้บรรทัดมากเกินไปเช่นกัน

เพราะคนมีชีวิต ย่อมมองชีวิตด้วยเหตุผลเสมอ แต่ต้องไม่ใช่ข้ออ้าง

"I" จึงจะดีกับทุกฝ่ายก็เป็นได้ หากสมควร ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท