On Education: XO 5 ชอบ 6 ไม่ชอบ


ไหนๆ ผมก็ออกหน้าออกตาไม่เห็นด้วยกับโครงการ OLPC มาระยะหนึ่งแล้ว มีเสียงตอบรับประปราย (ดูได้จาก comment นะครับ) ผมติดตามข่าวของโครงการนี้ตลอดครับ เรื่องน่าชื่นชมก็มี เรื่องน่าห่วงก็มี ปะปนกันไป แต่ที่ผมตั้งหน้าตั้งตาเถียงมาตลอดคือเรื่องหลักการพื้นฐานของโครงการที่ยึดให้ทฤษฏี constructivism เป็นธงชัย

ไม่นานมานี้ที่อเมริกามีโครงการ Give One Get One คือซื้อหนึ่งได้ถึงสองแต่เครื่องที่สองนั้นจะถูกส่งไปบริจากในประเทศที่เข้าร่วมโครงการ OLPC เรียกว่าซื้อแล้วได้ทำบุญนั่นเอง

ก็เพราะมีโครงการ G1G1 นี้แหละครับ อาจารย์ที่ปรึกษาของผมท่านก็ซื้อไว้เครื่องหนึ่ง (ส่วนอีกเครื่องส่งไปไหนท่านก็ไม่ทราบ) แต่เอาเป็นว่าท่านมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ สีเขียวๆ ชูเขาสองเขา วางอยู่ในออฟฟิศ ผมรู้ข่าวจากเพื่อนว่าท่านได้ซื้อไว้ก็รีบเสนอหน้าเข้าไปขอยืมทันทีครับ ท่านก็ใจดีเหลือหลายอนุญาติให้ผมมานอนกอดในวันหยุดสุดสัปดาห์

ก่อนที่ผมจะเล่าต่อ ต้องขอบอกว่าการวิจารณ์นี้เป็นมุมมองส่วนบุคคล มองในมุมของคนที่ตามข่าวอยู่ห่างๆ โดยผมซึ่งเป็นแค่คนคนหนึ่งที่มีประสบการณ์การใช้งาน PC และโปรแกรม Windows มาพอสมควร ใช้โปรแกรม Mac มานิดหน่อย ไม่ได้มองในมุมนักคอมพิวเตอร์ ไม่ได้มองว่า Spec ของเครื่องเป็นอย่างไร Processor เจ๋งหรือห่วยแค่ไหน เพราะผมว่ามันไม่ได้ประโยชน์อะไรโดยตรงกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน หรือนอกชั้นเรียนก็ตาม

ห้าชอบ

ชอบหนึ่ง ผมชอบความเล็กของเครื่องครับ แม้เครื่อง XO นั้นไม่เบาเหมือนอย่างที่นึกไว้ (ประมาณ 1.5 กก.) ผมไม่ได้เกี่ยงเรื่องความหนักเพราะความชอบอย่างที่สองของผมมันทดแทนกันไปได้

ชอบสอง ผมชอบดีไซน์ของจอกับหูหิ้วมากครับ จอนั้นดูแข็งแรง ส่วนที่จับก็เพิ่มความสะดวกในการพกพาเจ้าตัวเล็กนี้ไปไหนๆ ได้

ชอบสาม การดีไซน์โดยรวม แม้รูปทรงของเครื่องจะแปลกเสียหน่อยคือค่อนไปทางสี่เหลี่ยมจตุรัสมากกว่าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ดูน่ารัก ทนทาน เรียกว่าเข้มแข็งแต่น่ารักก็คงจะได้ ยิ่งเจ้า XO ตัวนี้สามารถแปลงร่างกลายเป็นเครื่องเกมพกพาได้ ยิ่งดีไปใหญ่เลยครับ (ผมเชื่อว่าเกมสามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อยู่แล้วนะครับ)

ชอบสี่ ผมชอบ interface ของ XO โดยเฉพาะใน sugar ซึ่งเป็น operating system ของ XO ออกแบบให้สื่อสารกับผู้ใช้ได้ดีมาก คือเห็นปุ๊บรู้ปั๊บเลยว่าหมายถึงอะไร ส่วนที่เด่นที่สุดคือส่วนของการเชื่อมต่อ (connection) จะเห็นว่ามีรูปเครือข่าย (เป็นวงกลม) อะไรอยู่ในช่วงที่เราสามารถเชื่อมต่อได้ และปริมาณความทึบของวงกลมแต่ละวงก็บอกถึงระดับสัญญาณของเครือข่ายนั้นๆ ดูง่ายชัดเจนดีครับ

ชอบห้า ผมชอบโปรแกรม tamtam ผมเองเป็นคน(เคย)ที่เล่นดนตรีมานิดหน่อย ทำงาน edit ดนตรีด้วยคอมพิวเตอร์มาบ้าง ผมลองเล่น tamtam อยู่สักพักก็รู้สึกว่ามันซับซ้อนเหลือเกิน มันมี tamtam อยู่หลายตัวใน XO นะครับ ทั้งตัวที่เป็นเครื่องเล่นเฉยๆ และตัวที่สามารถสร้างดนตริได้เลย ผมว่าผู้พัฒนาทำโปรแกรมตัวนี้ได้ดีทีเดียว เรียกว่าเป็นโปรแกรมที่โดดเด่นมากใน XO

หกไม่ชอบ

ไม่ชอบหนึ่ง รู้ครับว่า XO นั้นสำหรับเด็ก แต่ที่ผมไม่ชอบคือการดีไซน์ปุ่ม XO ไม่ได้ใช้คีบอร์ดเหมือนโน๊ตบุ๊กทั่วไป ไม่ได้เป็นแป็นพลาสติกหลายๆ ชิ้นประกอบกัน แต่เป็นแผงพลาสติกอ่อนผืนเดียว (คือใช้ดีไซน์เดียวกับ joypad ของเครื่องเกม console) ความรู้สึกของการกดแป้นก็เลยแปลกๆ แต่ที่ลำบากที่สุดคือมันทำให้ปุ่มของคีย์บอร์ดนั้นเล็กลงไปมาก ผมเชื่อว่าการออกแบบให้เป็นแผ่นพลาสติกอ่อนผืนเดียวแบบนี้ช่วยเพิ่มความสมบุกสมบันให้เครื่องดี แต่ก็เดาเอาว่าการใช้งานคีบอร์ดของ Asus EEE น่าจะง่ายกว่า เพราะเป็นดีไซน์ทั่วไป ปุ่มใหญ่กว่า คือมีพื้นที่ให้นิ้ววางได้เยอะกว่า (แต่ก็ยังหวั่นๆ ว่ามันจะเล็กไปถ้าสำหรับการพิมพ์สัมผัส)

ไม่ชอบสอง Interface แม้จะมีหลายโปรแกรมหลักของ XO ที่ดีไซน์ interface ได้ดี แต่มีโปรแกรม (ผมเดาว่าเป็นโปรแกรมที่มีผู้พัฒนาต่อเอามา install ไว้) ที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้ดีนัก หลายโปรแกรมเลยมีการดีไซน์ที่เข้าใจยาก เช่นไม่มีปุ่มคำสั่งปิดโปรแกรม

ไม่ชอบสาม อีกความยากของการใช้คือ interactivity ครับ หลายโปรแกรมไม่มีการตอบสนองกับผู้ใช้ว่าโปรแกรมได้รับคำสั่ง (คลิ๊กแล้วไม่มีเสียง ไม่กระพริบ) ตรงนี้ผมว่าสำคัญมากนะครับ เพราะถ้าแต่ละโปรแกรมแสดงสัญญาณต่างกันไป มันจะทำให้ผู้ใช้เรียนรู้ได้ช้า

ไม่ชอบสี่ อีกความไม่ชอบนี้ น่าจะเป็นข้อสังเกตมากกว่านะครับ ผมเดาว่าผู้พัฒนาหวังจะให้ XO นั้นง่ายต่อการใช้ คือเข้าใจได้ทันทีเมื่อเปิดเครื่อง ไม่ต้องวุ่นวายกับการอ่านคู่มือ ด้วยประการนี้มั้งครับ ที่ XO ไม่มีคู่มือมาให้ คือมีกระดาษติดมากับเครื่องสองแผ่น แผ่นแรกเป็นจดหมายจากประธานโครงการ อีกแผ่นเป็นคู่มือฉบับย่อ (มากๆ ) คือเป็นแผ่นพับเล็ก ๆ บอกวิธีการเปิดเครื่อง ประเด็นคือว่าก่อนเปิดเครื่องต้องดึงเขาสีเขียวๆ ทั้งสองข้างของเจ้า XO ออกมาก่อน ถึงจะกางหน้าจอออกมาได้ (getting started) ผมว่าเขาก็คิดดีแล้วที่มีวิธีการบอก ไม่งั้นผมก็คงไม่รู้ว่ามันจะเปิดอย่างไร สิ่งนี้นำมาถึงประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดอีกครั้งเกี่ยวกับโครงการนี้

ไม่ชอบห้า สิ่งที่ผมกลัวคือการพัฒนาต่อยอดของซอร์ฟแวร์มาเป็นภาษาไทย ผมมองว่าหลายๆ ปัญหาที่ผมไม่ได้สัมผัส (เพราะอ่านภาษาอังกฤษออก) จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเด็ก ถ้ามันแปลเป็นไทยแล้วแปลไม่รู้เรื่อง หลายๆ โปรแกรมมีการฝังแบบเรียนเอาไว้ในโปรแกรม อย่างเช่นโปรแกรมวาดการ์ตูน มีวัตถุประสงค์โครงการ มีขั้นตอนการเรียน เขียนอธิบายไว้เสร็จเลย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ แต่หลายๆ ครั้ง การเข้ามาผลักดันของผู้สอนมีส่วนสำคัญมาก พูดแบบนี้ ผมหมายถึงว่า จนบัดนี้ ผมก็ยังไม่เห็นด้วยกับการเอาทฤษฎี constructivism เป็นคำตอบของโครงการ

ไม่ชอบหก ประเด็นก็คือทฤษฎีไม่ใช่ทฤษฎีการศึกษาเดียวที่มีในโลก และที่สำคัญกว่านั้น constructivism ไม่ใช่ทฤษฎีการเรียนการสอนโดยตรงด้วยซ้ำ! แต่เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการอธิบายการเรียนรู้ของมนุษย์ ไม่ต่างจาก behaviorism, social cognitive, และ cognitive theories ผมพยายามจะอธิบายหลักการของทฤษฏีต่างๆ ไว้คร่าวๆ ในบล็อกของเดือนที่แล้ว ก็เพื่อจะโยงเข้ามาถึงประเด็นนี้ละครับ ว่าทำไมผมถึงเห็นว่า constructivism นั้น ไม่ใช่ทุกคำตอบ และการจะชูธง constructivism นั้นควรเริ่มจากการพัฒนาผู้สอน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเรียนการสอนที่อิงหลักการของ constructivism ยิ่งมาประกาศว่า เอาเครื่องคอมพิวเตอร์นำ โดยตัดผู้สอนออกจากวงจรนั้น ยิ่งเป็นการเอาประเด็นไปซ้อนทับกันให้มันยุ่งยากเข้าไปอีก

ถึงตอนนี้ก็เป็นอันว่าจบไตรภาคของ constructivism + XO ตามที่ผมตั้งใจไว้แล้ว

เช่นเคยครับ ขอเชิญทุกท่าน ลปรร กันตามอัธยาศัย

หมายเลขบันทึก: 168770เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2008 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท