ชาวพุทธอุทลุม : อะไรคือ อุทลุม ?


โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ โย มํ ปสฺสติ โส ธมฺมํ ปสฺสติฯ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม




ใน อิติ.อ.ปรมตฺถทีปนี สงฺฆาฏิกณฺณสุตฺตวณฺณนา หน้า 334 พระบาลี มีอยู่ว่า

โส อารกาว มยฺหํ, อหญฺจ ตสฺสาติ โส ภิกฺขุ มยา วุตฺตปฏิปทํ อปูเรนฺโต มม ทูเรเยว, อหญฺจ ตสฺสทูเรเยว. เอเตน มํสจกฺขุนา ตถาคตทสฺสนํ รูปกายสโมธานญฺจ อการณํ, ญาณจกฺขุนาวทสฺสนํ
ธมฺมกายสโมธานเมว จ ปมาณนฺติ ทสฺเสติ เตเนวห “ธมฺมํ หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ น ปสฺสติ, ธมฺมํ อปสฺสนฺโตมํ นปสฺสตี”ติ. ตตฺถ ธมฺโม นาม นววิโธ โลกุตฺตรธมฺโม, โส จ อภิชฺฌาทีหิ ทุสสิตจิตุเตน น สกุกา ปสฺสิตํ,ตสุมา ธมฺมสฺส อทสฺสหโต ธมฺมกายํ จ น ปสฺสตี”ติ ตถา หิ วตฺตํ:-

“กินฺเต วกฺกลิ อิมินา ปูติกาเยน ทิฏฺเฐน, โย โข วกฺกสิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ. โย มํ
ปสฺสติ,โส ธมฺมํ ปสฺสตี”ติ.

“ธมฺมภูโต พฺรหฺมภูโต”ติ จ
“ธมุมกาโย อิติปิ, พฺรหฺมกาโย อิติปี”ติ จ อาทิ


บทว่า โส อารกาว มยฺหํ อหญฺจ ตสฺส ความว่า ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคต
กล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคต ก็ชื่อว่า อยู่ไกลเธอเหมือนกัน ด้วยคำนี้ พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้า ด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วยธรรมกายต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้). ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นเราตถาคต ในคำว่า ธมฺมํ น ปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตรธรรม ๙ อย่าง ชื่อว่า ธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่าไม่เห็นธรรมกาย สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า:-

ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไร ด้วยกายอันเน่าเปื่อยนี้ที่เธอได้เห็นแล้ว

ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้น ก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้น ก็เห็นธรรม ดังนี้ และว่า เราตถาคตเป็นพระธรรม เราตถาคตเป็นพระพรหมดังนี้ และว่า เป็นธรรมกายบ้าง เป็น พรหมกายบ้าง ดังนี้ เป็นต้น 

และก่อนที่ พุทธองค์ จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสแก่พระอานนท์ ไว้ความว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา (ที. มหา. 10/141/178 )  แปลว่า "อานนท์ ! ธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา ธรรมและวินัยนั้น ย่อมเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย"

ในสมัยพุทธกาลไม่มีพุทธบัญญัติให้กราบไหว้ รูปบูชา มีแต่เพียงบัญญัติให้สังเวชนียสถานเป็นสถานที่ อันสาธุชนที่ควรเยือน เพื่อธรรมสังเวช เพื่อเจริญธรรม การสร้างรูปบูชาเป็นเพียงรูปแบบ ประเพณีปฏิบัติอันดีงาม  เป็นอามิสบูชา ที่สาธุชนไม่ควร หยุดยึดติดอยู่ที่เปลือก หรือทำให้เป็นอุปสรรคที่จะเข้าถึงธรรม ในสมัยพุทธกาล สงฆ์ทั้งหลายก็มิได้กราบไหว้รูปบูชาของพระพุทธเจ้า
มุ่งปฏิบัติบูชา หาของดีที่ีมีอยู่ในเนื้อธรรม

อมรวัชร กอหรั่งกูล แสดงทรรศนะ ไว้ในบทความ นาคแปลงพุทธรูป ไว้อย่างมีนัยสำคัญความว่า เมื่อเร็วๆ นี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยออกแคมเปญท่องเที่ยวไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นสิริมงคลและขอพรให้สมปรารถนา โดยกำหนดเลือกวัดที่มีชื่อเป็นสิริมงคลยกตัวอย่างเช่น วัดชนะสงคราม เมื่อได้กราบไหว้แล้วก็จะรอดพ้นภัยพาลทั้งมวลไหว้พระวัดระฆัง จะได้มีชื่อเสียงโด่งดังกังวานไกลเหมือนเสียงระฆัง เป็นต้นทุกวันนี้พระพุทธรูปมีประโยชน์ใช้สอยที่เด่นชัดประการเดียวคือแสดงเดชฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ที่มากราบไหว้ขอพรทั้งที่แนวทางปฏิบัติของชาวพุทธที่แท้นั้นสอนให้พึ่ง ตนเองไม่ใช่วอนขอสอนให้ปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นจากกิเลสของตนไม่ใช่ไปเชื่อมงคลตื่นข่าวซึ่งเป็นของภายนอกตนจนเป็น เหตุให้กิเลสพอกพูนมากยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกชัดเจนถึงการพลิกผันแปรเปลี่ยนไป ในทางไสยศาสตร์แทนที่การกราบไหว้องค์พุทธรูปจะเป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยจึงเกิดคำถามตามมาว่าเหตุใดกิจกรรมของชาวพุทธจึงหลุดตัวออกจากแนวทางพุทธที่แท้จริง?

ที่มา http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=230&view=next&sid=886338c968fcdfed50417a1594bff307

พุทธทาสภิกขุ เองท่านก็ได้แสดงทรรศนะที่ไม่เห็นด้วยกับการ กราบไหว้วัตถุมงคล ไว้ใน กาพย์ฉบัง 16 ที่ชื่อ  กรรมดีดีกว่า(วัตถุ)มงคล ความว่า

กรรมดี ดีกว่ามงคล สืบสร้าง กุศล ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง คาดมั่ง แขวนมั่ง รังรุง ขี้ขลาด หวาดกลัว หัวยุ่ง กิเลส เต็มพุง มงคล อะไร ได้คุ้ม อันธพาล ซื้อหา มาคุม เป็นเรื่อง อุทลุม นอนตาย ก่ายเครื่อง รางกอง ธรรมะ ต่างหาก เป็นของ เป็นเครื่อง คุ้มครอง เพราะว่า เป็นพระ องค์จริง มีธรรม ฤามี ใครยิง ไร้ธรรม ผีสิง ไม่ยิง ก็ตาย เกินตาย เหตุนั้น เราท่าน หญิงชาย เร่งขวน เร่งขวาย หาธรรม มาเป็น มงคล กระทั่ง บรรลุ มรรคผล หมดตัว หมดตน พ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ใจกาย อุปัทวะ ทั้งหลาย ไม่พ้อง ไม่พาน สถานใด เหนือโลก เหนือกรรม อำไพ กิเลสา- สวะไหน ไม่อาจ ย่ำยี บีฑา ฯที่มา คู่มืออุบาสกอุบาสิกา ภาค๑-๒ สำนักสวนโมกขพลาราม ไชยา

เมื่ออ่านกาพย์ฉบัง 16 เรื่องกรรมดีดีกว่า(วัตถุ)มงคล ซึ่งประพันธ์โดย พุทธทาสภิกขุ ก็ติดใจคำศัพท์อยู่สองคำ ได้แก่คำว่า อุทกัง และ อุทลุม ข้าพเจ้าจึงได้ลองค้นจาก พจนานุกรมออนไลน์ของ ราชบัณฑิตยสถาน สอบจากเครือข่ายพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน สันนิษฐานว่า อุทกัง มาจาก อุทก จึง หาความหมายของคำว่า อุทก ได้ความว่า

คำ : อุทก; อุทก-
เสียง : อุ-ทก; อุ-ทก-กะ-; อุ-ทะ-กะ-
ชนิด : น.
ที่มา : (ป., ส.)
นิยาม : น้ำ.

อ้างใน http://www.royin.go.th


ศาสตราจารย์ สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ อรรถาธิบายคำว่า อุทก / ทก ไว้ในหนังสือ บาลี สันสกฤตที่สัมพันธ์กับภาษาไทย หน้า 143 คำว่า อุทก / ทก แปลว่า ผู้ไหล ผู้เปียก ผู้ชุ่ม (จาก อุทิ ธาตุ) หญิงมีระดูเรียกว่า อุทกยา (หญิงต้องการน้ำชำระ) เทียบกับ คำว่า กมล หน้า 145 กมล แปลว่า ประดับน้ำ (กํ = น้ำ + อล= ประดับ)

 ฉะนั้น อุทกะ หรือ อุทกํ หรือ ทกํ จึงแปล โดยสังเขปว่า น้ำ อย่างไม่ต้องสงสัย คำว่า อุทกัง ที่แปลว่าน้ำนี้ ปรากฎอยู่ใน กาพย์ฉบัง 16 ตอนที่ว่า

"ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง
พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง"

สาเหตุที่ท่านพุทธทาสใช้คำว่า อุทกัง วัตถุประสงค์ก็เพื่อรับสัมผัส กับคำว่า ขลัง และส่งสัมผัสไปยังคำว่า ฉมัง ตามหลักฉันทลักษณ์ ของ กาพย์ฉบัง 16 สำหรับคำว่า อุทกัง ถ้ามีรากศัพท์มาจากคำว่า อุทก ก็ควรอ่านออกเสียงว่า อุ-ทะ-กัง แต่เพื่อความไพเราะ จำต้องอ่านออกเสียงว่า อุด-ทะ-กัง เพื่อรับสัมผัสกับคำว่า ตระกรุด (ตระกรุด อุด-ทะ-กัง) กรณีนี้ คล้ายกับกรณีที่เราอ่านทำนองเสนาะในวันไหว้ครู ซึ่งเป็นกาพย์ฉบัง 16 เหมือนกัน บทที่ว่า "ข้าขอน้อมนบ อภิวันทน์" (ข้าขอน้อมนบ อบ-พิ-วัน) การอ่านออกเสียงว่า "ข้าขอน้อมนบ อบ-พิ-วัน" ย่อมจะไพเราะกว่า การอ่านออกเสียงว่า "ข้าขอน้อมนบ อะ-พิ-วัน"

อัศนี พลจันทร หรือที่เรารู้จักกันดีในนามปากกา "นายผี" เรียกกรณีนี้ว่าเป็น กาพยานุมัติ หรือนักเลงกลอนบางคนก็เรียกว่า เป็น กวียานุโลม (Poetic License) การแผลงคำลักษณะนี้พบมากในภาษากวีและภาษาพระ อาทิเช่น

กาย แผลงเป็น กายัง
พุทธ แผลงเป็น พุทธัง
สกุณ แผลงเป็น สกุณัง
พล แผลงเป็น พลัง
ทุกข แผลงเป็น ทุกขัง ฯลฯ

การแผลงคำลักษณ์นี้ถ้าใช้ในบทประพันธ์ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคล้องจองสละสลวย แต่ถ้าในวงการพระ หรือวงการนักเลงบาลีไวยากรณ์ ว่าไว้ว่า นามจะทำหน้าที่อย่างใดในประโยคนั้นขึ้นอยู่กับวิภัติที่บอกหน้าที่หรือการก (case) ซึ่งแบ่งเป็น 8 การก คำว่า อุทกัง จัดเป็น ทุติยาวิภัติ เป็นกรรมการก (ทำหน้าที่ถูกกระทำ) แสดงความเป็น เป็นเอกพจน์ (Singular) ทุติยาวิภัติ บางที่ก็ไม่ต้องแปล เพราะทำหน้าที่เป็นกรรม บางทีก็แปลว่า "สู่ ยัง เฉพาะ"

พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม (ปธ. ๗) อาจารย์ประจำ หน่วยวิทยบริการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วัดหงษ์ประดิษฐาราม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แสดงทรรศนะเกี่ยวกับคำว่า อุทกัง ไว้ความว่า

คำว่า อุทกํ แปลว่า น้ำ  "ศัพท์นี้พิเศษ กล่าวคือ แม้จะลบอักขระ ตัวหน้าบ้าง ตัวหลังบ้าง ตัวกลางบ้าง หรือแปลงบ้างก็ยังคงแปลว่า น้ำ เหมือนเดิม ดังต่อไปนี้

ลบข้างหน้า จาก อุทกํ ก็เป็น ทกํ (ลบ อุ) , กํ (ลบ อุทะ)
ลบตัวหลัง จาก อุทกํ ก็เป็น อุทํ  (ลบ กํ )
ลบตัวกลาง จาก อุทกํ ก็เป็น อุกํ ( ลบ ทะ )
แปลงสระ จาก อุทกํ , อุกํ ก็เป็น โอทกํํ , โอกํ (แปลงสระ อุ เป็นสระ โอ )
ดังนั้น อุทกํ ทกํ กํ อุทํ อุกํ โอทกํ โอกํ ก็แปลว่า่ น้ำ เหมือนกัน...

อนึ่ง ศัพท์ที่ลบหน้าลบหลัง หรือสำเนียงเพี้ยนไปเล็กน้อยทำนองนี้ เรียกว่า ศัพท์ อนุพันธ์ ซึ่งก็มีอยู่หลายศัพท์ในภาษาบาลี เฉพาะศัพท์นี้เรียกว่า อุทกานุพันธ์ ส่วนศัพท์อื่นที่พอนึกได้ตอนนี้ก็คือ สุนขานุพันธ์ คือศัพท์ที่เกี่ยวโยงกับคำว่า สุนัข (หมา) ซึ่งก็มีหลายศัพท์เหมือนกัน เช่น สุโณ โสโน โสโณ สุนกฺโข สุนโข  สา .... ศัพท์เหล่านี้แปลว่า หมา เหมือนกัน"


อุทกัง / อุทกํ แปลได้ว่า สู่การเปียกชุ่ม ยังการเปียกชุ่ม เฉพาะการเปียกชุ่ม ซึ่งความหมายก็ยังคงแปลว่าน้ำอยู่ดี แต่ถ้าวิเคราะห์ ตามบริบทของคำประพันธ์ ที่ว่า


"ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง
พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง"

อุทกัง / อุทกํ น่าจะหมายถึงเครื่องลางของขลังจำพวก น้ำมันพราย อะไรทำนองนี้ ประกอบกับนักเลงโบราณ นิยมชมชอบ เสาะหา น้ำมันพราย หรือวัตถุมงคลจำพวกน้ำ ไว้เพื่อใช้ทำเสน่ห์กับหญิงที่ตนเองหมายปองหวังเอาทำเมีย ( อันธพาล ซื้อหา มาคุม) สมัยนี้น้ำมันพราย เปลี่ยนชื่อเป็น เอฟรีดีน (ephredine) ซึ่ง เป็นสารต้นแบบที่ถูกค้นพบในปี 1887 และได้สังเคราะห์ให้เป็น amphetamine ในปีเดียว กันนั่นเอง ต่อมาได้มีการสังเคราะห์อนุพันธ์ใหม่ของ amphetamine เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะเพิ่มหรือลดคุณสมบัติ บางประการของ amphetamine

อ้างใน http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/edrug.html


สำหรับคำว่า อุทลุม

คำ : อุทลุม
เสียง : อุด-ทะ-ลุม
คำตั้ง : อุทลุม
ชนิด : ว.

ศาตราจารย์ (พิเศษ) จำนง ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) อธิบายคำว่า "อุทลุม" แปลว่า "ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ,นอกแบบ, นอกทาง เช่น คดีอุทลุม คือ คดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล, เรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า คนอุทลุม เช่น ผู้ใดเปนคนอุทลุมหมีได้รู้คุณบิดามานดา ตา ปู่ หญ้า ตา ยาย แต่มันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มานดา ปู่ หญ้า ตา ยาย มัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกัน (กม. ตราสามดวง) (กฎ) การห้ามผู้สืบสันดานฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา เช่น ลูกฟ้องพ่อแม่ ต่อศาลไม่ได้ เป็นคนอุทลุม.

อ้างใน http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=rainam&group=5&month=09-2005&date=19&gblog=


สมพร พรหมหิตาธร อัยการอาวุโส อดีตรองอัยการสูงสุด อรรถาธิบายถึง คดีอุทลุม ไว้ในหนังสือเรื่อง รู้ทันกฎหมายจากนิยาย ชุดทนายแผ่นดิน หน้า 157 ความว่า คดีอุทลุม ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายว่าห้ามฟ้องเพราะถือว่าผิดประเพณี เช่นลูกฟ้องพ่อแม่บุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ โปรดดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - อุทลุม มาตรา 1562

อ้างใน http://www.kodmhai.com/m2/m2-4/m4-1561-1584-1.html

 

แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขออัยการๆ จะยกกล่าวก็ได้ ประกอบกับ พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 ม.11 (6) ว่า ในคดีที่ราษฎรฟ้องผู้หนึ่งผู้ใดมิได้โดยกฎหมายห้ามอัยการมีอำนาจเป็นโจทย์ก็ได้ ดังนี้อัยการจึงมีอำนาจฟ้องในนามตนเองในฐานะเป็นทนายแผ่นดิน โดยมิต้องให้ลูกแต่งตั้งทนายเพราะหากกระทำเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าลูกฟ้องพ่อแม่เสียเองโดยการแต่งตั้งอัยการเป็นทนายแทนให้ (ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2512)

พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม (ปธ. ๗) ได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับคำว่า อุทลุมไว้ความว่า

คำว่า อุทลุม ไม่เคยเจอเหมือนกันและยังนึกไม่ออกว่าจะมาจากบาลีหรือไม่ ? เคยคิดว่า อุทลุม อาจโยงเข้ากับคำขออุปสมบท ซึ่งขึ้นต้นว่า....สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ .....คำขออุปสมบทนี้ เรียกกันตามภาษาวัดๆ ว่าบท อุลลุม  ซึ่งสมัยก่อนห้ามเจ้านาคเรียน (ฝึกท่อง) โดยให้เรียนบทอื่นๆ ก่อน จนยังอีก ๒-๓ วันจะบวช  จึงให้เรียนบทนี้... โดยเชื่อกันว่า นาคตนใดเรียนบทนี้ก่อนจะมีอุปสัคให้ไม่ได้บวช เช่น ต้องคดี สาวหนีตามมา อุบัติเหตุ ฯลฯแต่สมัยนี้ นาคที่อยู่วัดหลายๆ เดือน หรือเป็นปีๆ หมดไปแล้วจากสังคมวัด ดังนั้น ความเชื่อเรื่องนี้จึงพลอยเลือนหายไปด้วย....เมื่อพิจารณาว่า อุทลุม กับ อุลลุม ออกเสียงคล้ายๆ กัน และความหมายก็บ่งชี้ว่า ไม่เหมาะสม เหมือนกัน.... จึงอาจเป็นไปได้ว่า อุทลุม แผลงมาจาก อุลลุม ....



พุทธทาสภิกขุ ประพันธ์กาพย์ ฉบัง 16 เรื่อง "กรรมดีดีกว่ามงคล" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเตือนสติพุทธบริษัทผู้งมงายในเรื่องนอกรีด ว่าการนับถือเครื่องรางของขลัง อาทิ หินทิเบต จตุคามรามเทพ ปี่เซี่ยะ พระภูมิเจ้าที่ ฯลฯ เป็นเรื่องอุทลุม (เรื่องเนรคุณต่อศาสนา) นับว่าเป็นโวหารที่เจ็บแสบไม่น้อย

สอดคล้องกับ ทฤษฎี ธวนิ ของอินเดีย ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี อรรถาธิบาย เกี่ยวกับ ทฤษฎี ธวนิ ไว้ในหนังสือเรื่อง การวิเคราะห์วรรณคดีไทย ตามทฤษฎีวรรณคดีสันสกฤต หน้า 38-39 ความว่า ธวนิ คือ พลังความหมายของคำในบทประพันธ์ วรรณคดีจะทำให้ผู้อ่านเกิดรสได้ จะต้องใช้ถ้อยคำที่มี ธวนิ นักทฤษฎีธวนิจึงถือว่า ธวนิคือวิญญาณของกวีนิพนธ์ (kavyasyamadhvanih) คำที่ใช้ในคำประพันธ์มีความหมาย 3 ระดับดังนี้

1.อภิธา ความหมายตามรูปคำเป็นความหมายพื้นฐานที่สุด
2.ลักษณา ความหมายบ่งชี้ เป็นความหมายตามความจริง
3.วยัญชนา ความหมายแนะ เป็นความหมายที่มีนัย ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นจากข้อเท็จจริงด้วย ดังนั้น คำว่า อุทลุม จึง เป็น วยัญชนา ตาม หลักทฤษฎีธวนิ


ความงมงายนี้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ปรากฎอยู่ใน เขมาเขมสรณทีปิกคาถา ความว่า


พะหุง เว สะระณัง ยันติ ปัพพะตานิ วะนานิ จะ,
อารามะรุกขะเจตยานิ มะนุสสา ภะยะตัชชิตา
มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง
ป่าไม้บ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ
;
เนตัง โข สะระณัง เขมัง เนตัง สะระณะมุตตะมัง
เนตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ.
นั่น มิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่น มิใช่สรณะอันสูงสุด,
เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
.
โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต
จัตตาริ อะริยะสัจจานิ สัมมัปปัญญายะ ปัสสะติ
ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว,
เห็นอริยสัจจ์คือ ความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ
;
ทุกขัง ทุกขะสะมุปปาทัง ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง,
อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง;
คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้,
และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์
;
เอตัง โข สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง
เอตัง ส ะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ.
นั่นแหละ เป็นสรณะอันเกษม นั่น เป็นสรณะอันสูงสุด;
เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.....


เมื่อ 2551 กว่าปีที่แล้ว ประชาชนในสมัยนั้นก็ไม่ต่างจากสมัยนี้ คือนิยมที่จะกราบไหว้ ภูเขา ป่าไม้ อาราม จอมปลวก ต้นกล้วยแปลกๆ ฯลฯ พุทธองค์ท่านทักท้วงว่า นั่นไม่ใช่ ที่พึ่ง (สรณะ) อันเกษม นั่นไม่ใช่ที่พึงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง การพ้นทุกข์นั้น ต้องอาศัย หลัก อริยสัจ 4 เห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้, และดำเนินตามหลัก มรรค 8 อันประเสริฐ เป็นเครื่องถึงความระงับทุกข์ ฉะนี้จึงจะพ้นทุกข์ได้จริง พระพุทธองค์ทรงทำให้ผองชนสมัยพุทธกาลที่หลับไหล (ไสยะ) ตื่น (พุทธะ) ฟื้นขึ้น มาร่วม 2550 ปี แต่คนสมัยนี้ กลับเลือกที่จะกลับไปหลับไหล ต่อ

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 168641เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2008 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

P

กวินทรากร

 

คำว่า อุทลุม ไม่เคยเจอเหมือนกันและยังนึกไม่ออกว่าจะมาจากบาลีหรือไม่ ?

เคยคิดว่า อุทลุม อาจโยงเข้ากับคำขออุปสมบท ซึ่งขึ้นต้นว่า....

  • สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ .....

คำขออุปสมบทนี้ เรียกกันตามภาษาวัดๆ ว่าบท อุลลุม  ซึ่งสมัยก่อนห้ามเจ้านาคเรียน (ฝึกท่อง) โดยให้เรียนบทอื่นๆ ก่อน จนยังอีก ๒-๓ วันจะบวช  จึงให้เรียนบทนี้... โดยเชื่อกันว่า นาคตนใดเรียนบทนี้ก่อนจะมีอุปสัคให้ไม่ได้บวช เช่น ต้องคดี สาวหนีตามมา อุบัติเหตุ ฯลฯ

แต่สมัยนี้ นาคที่อยู่วัดหลายๆ เดือน หรือเป็นปีๆ หมดไปแล้วจากสังคมวัด ดังนั้น ความเชื่อเรื่องนี้จึงพลอยเลือนหายไปด้วย....

เมื่อพิจารณาว่า อุทลุม กับ อุลลุม ออกเสียงคล้ายๆ กัน และความหมายก็บ่งชี้ว่า ไม่เหมาะสม เหมือนกัน.... จึงอาจเป็นไปได้ว่า อุทลุม แผลงมาจาก อุลลุม ....

ประเด็นนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น และหลวงพี่ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพียงแต่เคยคิดเล่นๆ เท่านั้น (เรื่องนี้คิดเอง ไม่มีข้อมูลจากใครอื่นเลย)

..............

  • คำว่า อุทกํ แปลว่า น้ำ

เพิ่มเติมศัพท์นี้อีกนิด (ทำนองอวดรู้ 5 5 5) เพราะศัพท์นี้พิเศษ กล่าวคือ แม้จะลบอักขระ ตัวหน้าบ้าง ตัวหลังบ้าง ตัวกลางบ้าง หรือแปลงบ้างก็ยังคงแปลว่า น้ำ เหมือนเดิม ดังต่อไปนี้

ลบข้างหน้า จาก อุทกํ ก็เป็น ทกํ (ลบ อุ) , กํ (ลบ อุทะ)

ลบตัวหลัง จาก อุทกํ ก็เป็น อุทํ  (ลบ กํ )

ลบตัวกลาง จาก อุทกํ ก็เป็น อุกํ ( ลบ ทะ )

แปลงสระ จาก อุทกํ , อุกํ ก็เป็น โอทกํํ , โอกํ (แปลงสระ อุ เป็นสระ โอ )

ดังนั้น อุทกํ ทกํ กํ อุทํ อุกํ โอทกํ โอกํ ก็แปลว่า่ น้ำ เหมือนกัน...

อนึ่ง ศัพท์ที่ลบหน้าลบหลัง หรือสำเนียงเพี้ยนไปเล็กน้อยทำนองนี้ เรียกว่า ศัพท์ อนุพันธ์ ซึ่งก็มีอยู่หลายศัพท์ในภาษาบาลี เฉพาะศัพท์นี้เรียกว่า อุทกานุพันธ์

ส่วนศัพท์อื่นที่พอนึกได้ตอนนี้ก็คือ สุนขานุพันธ์ คือศัพท์ที่เกี่ยวโยงกับคำว่า สุนัข (หมา) ซึ่งก็มีหลายศัพท์เหมือนกัน เช่น สุโณ โสโน โสโณ สุนกฺโข สุนโข  สา .... ศัพท์เหล่านี้แปลว่า หมา เหมือนกัน

เจริญพร

  • นมัสการพระคุณเจ้า ครับ
  • ขอบพระคุณ พระคุณเจ้ามากๆ ครับ มีประโยชน์มากๆเลยครับ ว่าด้วยเรื่องที่มาของคำว่า อุทลุม-อุลลุม
  • ผมเองอยากเรียนบาลีไวยากรณ์ มากๆ ครับ เขียนอวดรู้แต่ เจอผู้รู้จริงๆ ต้องขอคารวะครับฝากตัวเป็นลูกศิษญ์ครับ ....
  • ผมเคยนำบทความนี้ไปลงที่สมาคมนักกลอน แว่วๆ มาว่า มีคนในสมาคม คิดว่าผมเป็น มหา เปรียญ 5 เป็นอย่างน้อย (จริงๆ แล้วยังไม่ได้บวชเลยครับ แย่จัง อ่านหนังสือบาลีศึกษาไปตามยถากรรม)
  • ขอบพระคุณมากๆครับ พระอาจารย์

สวัสดีครับคุณกวินทรากร..

*ตั้งชื่อได้งดงามดีครับ...ตามมาขอบคุณที่ได้เข้าไปแอ่ว(เที่ยว)ในเรื่องตำนานผีล้านนา

*เกล็ดความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณในเรื่องพระลอมีมากครับ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับอาณาจักรล้านนาสมัยก่อนครับ

*ถ้าตามแล้วถอดองค์ความรู้จริงๆออกมาได้ก็จะเห็นผะหญาหรือภูมิปัญญาคนล้านนาสมัยก่อน บรรพบุรุษเหล่านั้นท่านรู้จริง รู้แจ้ง รู้จับใจ  เข้าใจทั้งธรรมชาติและจิตวิญญาณผู้คน

*บรรพบุรุษใช้ความรู้เป็นประโยชน์แก่วิถีชีวิตดังในเรื่องต่างๆที่เป็นทั้งตำนาน นิทาน  เจี้ย  ฯลฯ.ที่ถ่ายทอดเป็นมรดกสังคมมาสู่คนรุ่นปัจจุบัน  เพียงแต่เราจะถอดองค์ความรู้แล้วประยุกต์ใช้ให้ชีวิตเป็นสุขอย่างไรในสังคมปัจจุบัน แต่หากเรามองผ่านผิวเผินก็เป็นเรื่องงมงายไปเลยก็มี

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

 

สวัสดีครับคุณลุงหนานพรหมา P  NIKHOM ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมครับ ผมมีบทความเกี่ยวกับพระลอที่เคยเขียนไว้เอาไว้จะเอามาลงนะครับ

ทดสอบแทรกเสียงสวดมนต์

ขอบคุณครับ

ผมไม่ได้ติดแบบนั้นหรอกครับ

  • ผมถือเป็นการเรียนรู้มากกว่าครับ
  • รู้ว่าในอดีตคนไทยทำอะไรกันบ้าง

แต่ผมก็ยังใช้เป็น "สัญญลักษณ์" ของพระพุทธเจ้าอยู่ครับ

คือยังมีกิเลศอยู่เหมือนกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.แสวง ขอบพระคุณมากๆ ครับที่แวะมาอ่านตามคำเชิญชวน การบูชาพระเครื่อง/พระพทธรูป นั้นก็ถือเป็น พุทธานุสติ/สังฆานุสติ/ธรรมานุสติ อย่างหนึ่งครับ สำหรับผมเองก็มีเหรียญ เจ้าคุณนร ห้อยคออยู่เหมือนกันครับ :) 

  • พี่เข้ามาฟังเสียงสวดมนต์ และรับความรู้ยามดึก ไม่ได้ออกเวรหรือเข้าเวรนะคะ
  • สร้างความสบายในใจจากการรับสิ่งดีๆจากน้องสู่พี่...
  • มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง
    ป่าไม้บ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ
    ;นั่น มิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่น มิใช่สรณะอันสูงสุด,
    เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
    .
  • ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว,
    เห็นอริยสัจจ์คือ ความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ
    ;
    คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้,
    และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์
    ;
    นั่นแหละ เป็นสรณะอันเกษม นั่น เป็นสรณะอันสูงสุด;
    เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.....ขอบคุณค่ะ..

ทุกวันนี้ยังท่องพระคาถาชินบัญชรเป็นประจำค่ะ อยากเห็นทุกคนมีความสุขค่ะ

ขอบคุณครับคุณ  กฤติกานต์ อนุโมทนาสาธุครับ

ต้องการให้ขาวพุทธคิดเหมือนคุณกวินให้มากขึ้นครับ...มีแต่ความงมงาย ไมเหมือนกับ    เขมาเขมสรณทีปิกคาถา เลยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท