-บทสรุปของเรื่องเล่า-


ท้ายสุดแห่งการเดินทางของเรื่องราวในช่วงหนึ่งของชีวิตผู้คนเหล่านี้ บนทางอันยาวไกลที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะต้องประสบพบเจอกับ ทุกข์ภัยจากสิ่งใด พวกเขาจะต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยอีกหรือไม่ย่อมไม่อาจรู้ได้นั้น แต่การที่พวกเขาจะผ่านพ้นความยากลำบากจาก “ปัญหาสุขภาพ” ที่อาจจะต้องเผชิญในอนาคตได้นั้น คงไม่อาจอาศัยเพียง ความใจดีของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือความโชคดีเท่านั้น

 

          เมื่อการเดินทางของ เรื่องราวสู่เรื่องเล่า ปรากฎขึ้น จาก 10 เรื่องเล่า ซึ่งเป็น 10 ตัวแทน ของผู้คนที่มีชีวิตดำเนินอยู่ในผืนแผ่นดินไทย เราพบว่า เงื่อนไขแห่งตัวตน ที่เราได้มองจาก สถานะบุคคล และ ความด้อยโอกาส นั้น เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการที่ทำให้คนคนหนึ่งไม่ได้รับการดูแล และไม่สามารถเข้าถึง หลักประกันสุขภาพ ได้  

 

โศกนาฏกรรมชายขอบ

เราพบว่าการไม่มี หลักประกันสุขภาพ ส่งผลให้ ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ดี ด้วย จากกรณี นายหม่องละ ซึ่งถือ บัตรเขียวขอบแดง คือมีสถานะ เป็นคนต่างด้าวได้รับสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว    แม้ว่าที่ผ่านมานายหม่องละ ไม่ได้ถูกปฏิเสธการเข้ารักษาพยาบาล ตั้งแต่เริ่มแรกที่เจ็บป่วย แต่การดูแลรักษาของแพทย์ที่ให้เพียงยาพาราเซตามอลและยาแก้อักเสบนั้นไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น จนพวกเขาตัดสินใจมารักษาตัวเองโดยยาสมุนไพร และหันไปรักษากับหมอเถื่อน จนกระทั่งเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำลายอาการหนักหนาจนไม่สามารถรักษาได้แล้ว

 สิ่งที่ครอบครัวต้องเผชิญหลังจากนายหม่องละล้มป่วยคือ ต้องขายบ้านไปในราคา 20,000 บาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาจนหมด  นอกจากนี้ด้วยสถานะที่ไม่ใช่คนไทยการเดินทางออกนอกพื้นที่แต่ละครั้งก็สร้างความกังวลใจด้วยความกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม

          เราพบว่า ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถได้รับการคุ้มครอง หรือการเข้าถึง หลักประกันสุขภาพ

จากกรณีของ นายโกโม  แรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ต้องเสียเงินค่าประกันสุขภาพปีละ 1,300 บาท สามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลโดยเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 30 บาท

เนื่องจาก  โกโม พูดไทยได้เพียงเล็กน้อยต้องมีล่ามทุกครั้งในการสื่อสาร ไม่เข้าใจขั้นตอนการขอรับการรักษาพยาบาล และการส่งต่อ ทำให้เมื่อประสบอุบัติเหตุรถจักรยานชนนั้น โกโมรู้ว่าเขาสามารถใช้สิทธิ 30 บาท

เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่าไม่สามารถใช้สิทธิได้เขาจึงไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดกว่า 3,000 บาท และเขาไม่ได้รับการผ่าตัดโดยไม่มีคำอธิบายจากแพทย์  ด้วยปัญหาในการสื่อสารของโกโมจึงทำให้การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวไม่เป็นจริง

กรณี นางใบ๋ ซึ่งเป็น แรงงานพม่านอกระบบ คือ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงาน นางใบ๋จึงไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจนตาถลน(เกือบบอด) นางใบ๋ซึ่งมีปัญหาในการติดต่อสื่อสาร อีกทั้งยากจนจึงไม่กล้าไปหาหมอ จนกระทั่งอาการเจ็บปวดหนักหนานางใบ๋ก็ได้รับคำแนะนำจากโรงพยาบาลแม่อายให้ไปรักษาตัวที่จังหวัดเชียงใหม่

ความยากลำบากของนางใบ๋เริ่มตั้งแต่ การเดินทางออกนอกพื้นที่นั้นอาจจะทำให้ถูกจับกุม และเมื่อไปโรงพยาบาลแล้วพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่องก็แทบจะไม่อยากรักษาตัว จนกระทั่งสุดท้ายเมื่อได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลสวนดอกแล้วไม่มีเงินจ่าย โรงพยาบาลก็ไม่ยินยอมให้ออกจ่ากโรงพยาบาล จนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากคลีนิกกฎหมายแม่อายให้ไปช่วยเจรจา

 

โศกนาฏกรรม..แห่งบาปบริสุทธิ์

เราพบว่ามีกรณีที่การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐส่งผลต่อการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และไม่ได้มีการปกป้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งบาปบริสุทธิ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก

จากกรณี น้องออย ที่เป็นลูกของสุดา ซึ่งถูกอำเภอแม่อายถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545  ทำให้สุดาตกเป็นคนไร้สัญชาติในขณะที่น้องออยเกิด และเมื่อสุดาไม่ได้รับการยอมรับว่ามีสัญชาติไทย ก็ไม่มีสิทธิในการประกันสุขภาพแบบคนสัญชาติไทย และน้องออยก็ถูกถือเป็น คนต่างด้าว เช่นกัน

สุดา ซอหริ่ง มารดาของน้องออยเป็นหนึ่งใน 1,243 คนที่ได้รับความคุ้มครองจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2548 เธอจึงได้รับการเพิ่มชื่อใน ทร.14 แต่น้องออยซึ่งเป็บุตรสาวที่เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 ณ โรงพยาบาลแม่อาย กลับไม่ได้รับการเพิ่มชื่อใน ทร.14 เช่นเดียวกับมารดา

ภายหลังการคลอด น้องออยไม่ค่อยแข็งแรง มีปัญหาที่ระบบการหายใจ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลโดยตลอดและติดหนี้สินโรงพยาบาลจำนวนมาก ท่ามกลางความเชื่องช้าในการดำเนินการของอำเภอแม่อาย  จึงทำให้น้องออยต้องจากไปด้วยวัยเพียง 2 ขวบ พร้อมกับสภาพจิตใจอันย่ำแย่ของพ่อแม่ที่ต้องแบกรับสภาพหนี้กว่า 2 แสนบาท กับรายได้น้อยนิด

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2549 เป็นวันที่น้องออยได้รับสิทธิในสัญชาติไทย แต่ก็ดูสายเกินไปสำหรับน้องออย ซึ่งสุขภาพเสื่อมโทรมลงมาแล้ว และก็ตายลงในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2549

 

การเรียนรู้และยอมรับของคนสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามีกรณีที่  ไม่ถูกปฏิเสธการรักษาพยาบาลและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในกรณี นายติ๊ ชายดี แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้รับการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยว่ามี สัญชาติไทย  และแม้ว่า โดยการตีความของ สปสช. เขาจะไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  แต่เขาได้รับปฏิบัติดังเช่นคนที่มีสัญชาติไทย  

นายติ๊ได้รับ หนังสือรับรองผู้สูงอายุของโรงพยาบาลแม่อาย ทำให้ไม่เสียค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแม่อาย และไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลไท ทั้งนี้ เพราะเป็นคนป่วยที่โรงพยาบาลแม่อายส่งต่อให้โรงพยาบาลไท ทุกวันนี้ก็ยังไปรับยาที่โรงพยาบาลแม่อายเป็นประจำ

กล่าวได้ว่ากรณีของนายติ๊นั้นเป็นการเรียนรู้และยอมรับของโรงพยาบาลแม่อาย หลังจากที่เคยเกิดโศกนาฏกรรมกับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆอย่าง น้องออย มาแล้ว ท่ามกลางความจริงที่มีอยู่ของผู้คนแม่อาย ท่ามกลางปัญหาสถานะบุคคลที่ยังไม่คลี่คลายถึงที่สุด วันนี้โรงพยาบาลแม่อายได้เลือกที่จะให้คนเหล่านั้นได้เข้ารับการรักษาพยาบาล

 

ชีวิตที่ได้รับการเยียวยา

          เราพบว่าท่ามกลางความโชคร้ายจากการไร้ซึ่ง หลักประกันสุขภาพ ณ วันนี้มีคนที่ได้รับการเยียวยาจากรัฐไทย

กรณี นายสัพตู คนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนอง ชายวัย 62 คน ที่ต้องสูญเสียร่างกายซีกซ้าย ไปกับอาการอัมพาตครึ่งซีก  ช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพของนายสัพตูยังสามารถเป็นไปได้หากเขาและคนในครอบครัวมีเงิน 1,300 บาท ในการซื้อบัตรประกันสุขภาพซึ่งเป็นโครงการที่สาธารณสุขจังหวัดระนองได้จัดทำขึ้นแต่เขายากจนเกินกว่าจะซื้อได้

แต่เขาไม่ได้ถูกปฏิเสธการดูแลรักษาจากโรงพยาบาล เนื่องจากมีการประสานงานและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนจาก เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์  และเมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านเขายังได้รับบริการมาตรวจวัดความดันและจ่ายยาให้ฟรีจากเจ้าหน้าที่พยาบาลจากสถานีอนามัย ต.หินช้าง ถึงที่บ้านทุก 2-3 เดือน ตลอดจนการนำข้าวสารอาหารแห้งมามอบให้ และเขาอยู่ในวัยของผู้สูงอายุ(อายุมากกว่า 60 ปี) ดังนั้นเขาอาจจะได้รับการดูแลสงเคราะห์จากสถานภาพดังกล่าว แม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนสัญชาติไทยก็ตาม

กรณี นายอาลิ่ม ประมงกิจ  หนึ่งในมอแกนจากเกาะช้าง ที่ได้รับการสำรวจแบบ 89 แต่ยังไม่ได้เอกสารแสดงตน(หลังจากนี้จะได้รับ บัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ขึ้นต้นด้วยเลข 0)  ที่โชคร้ายถูกทางการอินเดียจับกุมข้อหาลักลอบจับสัตว์น้ำโดยมิได้รับอนุญาต  และเป็น ผู้โชคร้ายสองชั้น เพราะยังถูก "น้ำช็อต"จากการลงไปดำปลิงลึกกว่า 30 เมตร  ที่มีเพียงหน้ากากพลาสติกเก่าๆกับสายลมเท่านั้นที่เป็นเครื่องรับประกันชีวิต  แม้ในขณะนั้นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันจะช่วยเหลือทุกวิถีทาง คือ  เมื่อเกิดอาการชาตอนขึ้นมาบนบกจากการถูกช็อต  จะถูกโยนลงในน้ำอีกครั้งเพื่อปรับสภาพร่างกายและก่อนจะซ้อมอย่างหนัก เพื่อเรียกสภาพปกติกลับคืนมา  แต่การปฏิบัติแบบนั้นก็เพียงช่วยให้ผ่อนหนักมาเป็นเบาเท่านั้น  เพราะใครที่โดนสภาพร่างกายจะกลับมาไม่เหมือนปกติไม่พิการ ก็เดินกะโผลกกะเผลก  ซึ่งนายอาลิ่ม สิ่งที่เขาต้องเผชิญคือ พิการครึ่งตัว

นายอาลิ่ม มีหน่วยงานจากภาครัฐ และเอกชนดูแลช่วยเหลือจนได้กลับยังประเทศไทยแล้ว  ซึ่งในขณะนี้พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนพรัตน์ ในความดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องจากเป็นกรณีที่สื่อต่างๆให้ความสนใจ

แต่มอแกนส่วนใหญ่นั้น ซึ่งมีวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาสุขภาพในขณะที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพนั้น โอกาสที่จะได้รับการดูแลจากหน่วยงานรัฐเช่นเดียวกับนายอาลิ่มก็ดูจะเลือนลาง

กรณี น้องวิน ลูกของแรงงานพม่าที่ถูกทอดทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก เด็กชายฝาแฝดซึ่งคลอดก่อนกำหนดด้วยน้ำหนักตัวเพียง 2.2 กิโลกรัม และมีปัญหาสุขภาพหลายอย่างนับตั้งแต่เริ่มลืมตาดูโลก   ที่หนักหนาสุด คือ ปัญหาหลอดอาหารและหลอดลมเชื่อมต่อกัน  ทำให้เด็กไม่สามารถกินนมแม่ทางปาก เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการสำลักออกทางจมูก นอกจากนี้ยังมีปัญหาหัวใจมีรูรั่วขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร และปัญหาปอดอักเสบ          

               น้องวินอาจจะโชคดีหลังจากที่ต้องเผชิญกับโชคร้าย  เพราะน้องวินอาจจะเป็นลูกแรงงานต่างด้าวในจำนวนไม่กี่คนที่เจ็บป่วย แล้วได้รับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลโดยได้รับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลกว่า 7 แสนบาท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมากและโอกาสที่เด็กลูกต่างด้าวคนอื่นๆจะได้รับเงื่อนไขลักษณะนี้อาจจะมีจำนวนน้อยนิด รวมไปถึงมีคนรับอุปการะดูแลอย่างใกล้ชิดให้ผ่านพ้นความเจ็บป่วยมาได้

               แต่วันนี้ในระหว่างทางที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย น้องวินยังต้องเผชิญกับปัญหาของสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนเด็กปกติ ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยง่ายและหายยากกว่าเด็กปกติ ทุกวันนี้น้องวินต้องเสียค่ารักษาพยาบาลอย่างน้อยเดือนละ 500 บาท ไม่สามารถซื้อหลักประกันสุขภาพทางเลือกใดๆได้ แม้แต่ของเอกชนเองเนื่องจากมีประวัติการเจ็บป่วย 

 

จากเรื่องเล่าเก่า….สู่เรื่องเล่าใหม่

       ท้ายสุดแห่งการเดินทางของเรื่องราวในช่วงหนึ่งของชีวิตผู้คนเหล่านี้ บนทางอันยาวไกลที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะต้องประสบพบเจอกับ ทุกข์ภัยจากสิ่งใด พวกเขาจะต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยอีกหรือไม่ย่อมไม่อาจรู้ได้นั้น แต่การที่พวกเขาจะผ่านพ้นความยากลำบากจาก ปัญหาสุขภาพ ที่อาจจะต้องเผชิญในอนาคตได้นั้น คงไม่อาจอาศัยเพียง ความใจดีของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือความโชคดีเท่านั้น เราจึงเห็นว่า

·       รัฐต้องยอมรับการมีอยู่จริงของกลุ่มคนที่ปรากฎตัวอยู่ในแผ่นดินไทย เนื่องจากการยอมรับในเงื่อนไขแห่งความเป็นจริงนั้น จะสามารถกำหนดนโยบายและแนวทางที่เหมาะสมและเป็นจริงได้

·       .ในระหว่างกระบวนการในการพัฒนาสถานะบุคคลนั้น รัฐควรส่งเสริมดูแลให้สามารถได้รับบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสม

·       รัฐต้องส่งเสริม ดูแล ให้ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ ให้คนกลุ่มนั้นๆสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้จริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำจัดเงื่อนไขปัจจัยที่เป็นอุปสรรค เช่น การสื่อสาร

·       รัฐต้องสร้างเสริมทัศนติที่ดีในการเป็นผู้ให้บริการให้เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น กรณีที่คนยากไร้ต้องทำสัญญารับสภาพหนี้นั้นไม่ให้ต้องตกอยู่ในสภาพของความกดดันจากการถูกข่มขู่ แต่มีความมั่นใจที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลและได้รับการบริการอย่างเหมาะสม

·       การสร้างหลักประกันทางเลือกให้กับคนกลุ่มต่างๆนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานที่เป็นจริง และเหมาะสม

 

 

คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 168545เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นิ่ม แน่น ชัด

นับแต่ต้อง ก็เห็นเธอนี่ล่ะที่เรียนรู้เรื่อง "สิทธิ" เร็วมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท