‘มีซา’ ไม่ใช่ชื่อของฉัน-การเดินทางของเรื่องเล่า-10 ( 2 พฤษภาคม 51)


มีซาไม่สามารถสืบค้นรากเหง้าของตนเองได้ เธอเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่สร้างชื่อ นามสกุล และเครือญาติเทียม เพื่อลดโทษจากการค้ามนุษย์ การพรากผู้เยาว์ ให้เหลือเพียง “พ่อที่พาลูกออกมาขอทาน” ทิ้งปัญหามากมายให้รอสะสาง แม้ทุกวันนี้ปัญหาด้านความพิการของมีซาจะได้รับการบรรเทาไปเพราะได้รับการช่วยเหลือ แต่ปัญหาความเป็นคนไร้รากเหง้าคงยังตามหลอกหลอนมีซาไปจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข และจะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ เช่น หลักประกันสุขภาพ การประกอบอาชีพในอนาคตฯลฯ

มีซา ไม่ใช่ชื่อของฉัน

โดย จุฑิมาศ สุกใส  วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2551

 

ครั้งสุดท้ายที่มีซาพบแม่คือวันที่เธอต้องจากบ้าน บ้านที่เธอจำไม่ได้ในจังหวัดเชียงราย   ตั้งแต่นั้นมา “บ้าน” ของมีซาคือสะพานลอย และต่อมาเป็นสถานสงเคราะห์ 

          นักศึกษาหญิงวัย 21 ปี  คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ยืนยันอย่างหนักแน่น หลังจากแนะนำตัวว่าจริงๆ แล้ว เธอไม่ได้ชื่อ มีซา และไม่ได้นามสกุล เบียงแล ตามเอกสารประจำตัวอันน้อยนิดที่เธอมีอยู่ ได้แก่ บัตรประจำตัวนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี บัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ออกมาตั้งแต่ พ.. 2545 ปรากฎเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ได้จากการที่ทาง สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพ ปากเกร็ด เพิ่มชื่อของมีซาเข้าใน ทะเบียนบ้านของบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะชั่วคราว (ท.ร.13) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2544  ขึ้นต้นด้วยเลข “6”

สถานะบุคคลของมีซาถูกกำหนดโดยเจ้าหน้าที่ทะเบียนว่าเธอเป็น คนต่างด้าวในประเทศไทย แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีซาถูกกำหนดสถานะบุคคลหรือตัวตนโดยคนอื่น

          มีซาจำไม่ได้ชัดเจนว่าเธอชื่ออะไร อยู่ที่ไหนใน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สถานที่แรกที่เธอจำความได้ แต่ก่อนหน้านั้นเธอจำได้ว่าเธอย้ายจากที่หนึ่ง ไปเชียงราย ไปอยู่ที่ “หมู่บ้านทำไม้กวาด” จนกระทั่งเธอถูกพามา “ขอทาน” ในกรุงเทพฯ ข้อมูลทั้งหมดที่เธอรู้เป็นการสันนิษฐานระหว่างผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ครอบครัวของมีซาตามที่เธอจำได้ ประกอบด้วยแม่แท้ๆ พ่อเลี้ยง และพี่ชายหนึ่งคน

            หนูไม่ได้ชื่อ “มีซา” ส่วน”เบียงแล” เป็นนามสกุลของคนที่เขาพาหนูมา ตอนที่ตำรวจจับหนูกับเขา เขาบอกกับตำรวจว่าหนูชื่อนี้ และว่าเขาเป็นพ่อของหนู แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขาไม่ได้เป็นพ่อหนู เขาขอหนูจากพ่อเลี้ยงมาอยู่กรุงเทพฯ ตอนแรกแม่ไม่ยอมให้หนูมา แต่พ่อเลี้ยงให้มากับคนๆนั้น  เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ เขาก็พาหนูมาอยู่ตามสะพานลอยจนตำรวจจับ จากนั้นหนูก็ไม่ได้ข่าวเขาอีกเลย”

นับตั้งแต่นั้นมา บันทึกและเอกสารทุกชิ้นที่เกี่ยวข้องกับเธอปรากฏชื่อ “มีซา เบียงแล” ชื่อที่เธอไม่ได้เลือกและไม่มีโอกาสโต้แย้งใดใด สถานสงเคราะห์แรกรับประมาณปีเกิดของมีซาว่าเป็น พ.. 2530 เธอปรากฏตัวใน ทะเบียนของสถานสงเคราะห์บ้านนนทภูมิครั้งแรกเมื่อ พ.. 2537 ผู้ดูแลมีซาคาดว่า มีซาอาจเข้าไปอยู่ที่ บ้านราชวิถี มาตั้งแต่ พ.. 2535-2536

          นักสังคมสงเคราะห์อธิบายว่า มีซาถูกจับพร้อม “ผู้ปกครอง” แถบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อมีการส่งต่อ  มีซามาที่บ้านนนทภูมิ มีการระบุสถานะว่ามีซาเป็นบุคคล “ต่างด้าว” ตั้งแต่ที่สถานแรกรับ ตั้งแต่นั้นมาบ้านนทภูมิพยายามติดตามและหาทางแก้ไขปัญหาที่มีซาไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนมาโดยตลอด

          เมื่อตำรวจจับได้ก็พาหนูไปอยู่บ้านๆ หนึ่ง หนูจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร แต่เขาจะให้คนที่อยู่ตึกแต่ละตึกใช้ชุดนอนสีต่างๆ สีเขียวบ้าง สีชมพูบ้าง”

ผู้ปกครองและผู้ดูแลสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบ้านราชวิถี จากนั้นมีคนพาเธอไปแผนกทันตกรรม ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ เนื่องจากภาวะพิการแต่กำเนิด มีซาจึงถูกย้ายมาที่ “บ้านนนทภูมิ” ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์ที่ดูแลเด็กและเยาวชนผู้พิการตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี

          ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์และนักสังคมสงเคราะห์ผู้ดูแลของมีซา ต้องการให้มีซาได้รับสถานะบุคคลก่อนจบการศึกษา เพราะเมื่อจบการศึกษาแล้วมีซาอาจไม่ได้อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์อีก เนื่องจากอายุเกินเกณฑ์ที่สถานสงเคราะห์จะดูแล สถานสงเคราะห์จึงส่งเสริมให้มีซาได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยและสามารถประกอบอาชีพดูแลตนเองได้

          ประเด็นปัญหาของมีซาค่อนข้างซับซ้อน เพราะมีซาไม่สามารถสืบค้นรากเหง้าของตนเองได้ เธอเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่สร้างชื่อ นามสกุล และเครือญาติเทียม เพื่อลดโทษจากการค้ามนุษย์ การพรากผู้เยาว์ ให้เหลือเพียง พ่อที่พาลูกออกมาขอทาน  ทิ้งปัญหามากมายให้รอสะสาง แม้ทุกวันนี้ปัญหาด้านความพิการของมีซาจะได้รับการบรรเทาไปเพราะได้รับการช่วยเหลือ แต่ปัญหาความเป็นคนไร้รากเหง้าคงยังตามหลอกหลอนมีซาไปจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข และจะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ เช่น หลักประกันสุขภาพ การประกอบอาชีพในอนาคตฯลฯ

 

ประวัติการรักษาของนางสาวมีซา เบียงแล[1]

 

การรักษา: ศัลยกรรมรักษาปากแหว่ง เพดานโหว่แต่กำเนิด ทันตกรรมจัดฟัน

วันเดือนปี

การรักษา

28 พฤศจิกายน 2537

ทำบัตรประจำตัวผู้ป่วย คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่ 00295 ได้รับการเข้ารักษาเมื่ออายุ 7 ปี

9 กันยายน 2540

ทำ chest X-rayและตรวจเตรียมผ่าตัด (มีซาอายุประมาณ 10 ปี)

9 กันยายน 2540

ส่งตรวจเตรียมผ่าตัด และผ่าตัดใส่ถุงน้ำที่แก้ม 2 ข้าง

22 กันยายน 2540

ตัดไหม

8 ธันวาคม 2540

ศัลยกรรมจมูก เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

17 ธันวาคม 2540

ปลูกถ่ายจมูก 1ครั้ง

16 กุมภาพันธ์ 2541

ทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าและทำจมูก

11 มกราคม 2542

ทำศัลยกรรมจมูก เริ่มทำช่องปาก (1 ครั้ง) ณ หน่วยบูรณะช่องปากและใบหน้าชั้น 3 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

-หลักประกันสุขภาพที่ใช้: ไม่ใช้หลักประกันสุขภาพ ใดๆ

-ผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล: ได้รับการสนับสนุนจากชาวต่างชาติ สโมสรโรตารีกรุงเทพฯใต้

-แพทย์นัดครั้งสุดท้ายตามบัตรนัดผู้ป่วย (HN 680/42) ของคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดือนธันวาคม 2549 แต่ไม่ได้ไปตามนัด เนื่องจากรู้สึกเบื่อกับการรอและแพทย์แจ้งว่าตอนนี้ยังไม่ต้องทำอะไรอีก

 

ประมาณการค่ารักษา

บันทึกข้อความไม่ลงวันที่ ลงนามผู้แจ้ง คือ นพ.ศิริชัย จินการักษ์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุ HN 078993/40 แจ้งว่า ดญ.มีซา เบียงแล อายุ 10 ปี “ยังต้องทำการตกแต่งบริเวณใบหน้าอีกหลายครั้ง ประมาณการค่าใช้จ่ายอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน  100,000บาท” 

บันทึกข้อความ วันที่ 19 มีนาคม 2544 ลงนามผู้แจ้ง ทญ.ปิยะธิดา จิตตานันท์ ทันตแพทย์ประจำหน่วยความผิดปกติบริเวณใบหน้าและช่องปากแต่กำเนิดแจ้งค่าประมาณการรักษาคนไข้ HN 680/42 ดังนี้

1)         ทันตกรรมจัดฟัน                         3,000            บาท

2)         การสบฟัน การบดเคี้ยว                 ประมาณการรักษา

3)         ค่ารักษาทางทันตกรรมจัดฟัน           20,000                    บาทตลอดการรักษา

4)         ค่า X-ray ประมาณ                        1,000           บาท

5)         ค่าใส่ฟัน ประมาณ                       10,000             บาท

บันทึกดังกล่าวระบุว่า “นอกจากนั้น คนไข้มีแนวโน้มควรรับการผ่าตัดบริเวณใบหน้า ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าว ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เกี่ยวข้องต่อไป”

 

การรักษา: ปวดท้องปี 2550

          การทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าของมีซา สถานสงเคราะห์เป็นผู้ทำให้ที่โรงพยาบาลชลประทานรังสฤษดิ์ โดยทำเป็นหมู่คณะ ดังนั้นจึงไม่มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้พิการที่ไม่มีบัตรประชาชน แต่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ บ้านนนทภูมิจะนำบัตรประจำตัวผู้พิการไปทำบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้

          เมื่อปลายปี 2550 มีซาปวดท้องเป็นโรคกระเพาะ จึงนั่งรถกลับจากมหาวิทยาลัยราชภัฎธัญบุรีมาที่สถานสงเคราะห์เพื่อใช้สิทธิตามบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า เลขที่ ท03821640 ออกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2545 ปรากฏเลขประจำตัวประชาชนบนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า 6-1297-00000-18-2 ทำที่โรงพยาบาลชลประทานรังสฤษดิ์  โดยการใช้สิทธิมีเจ้าหน้าที่ที่บ้านนนทภูมิไปเป็นเพื่อนด้วย

มีซานำบัตรดังกล่าวมาใช้บริการที่หน่วยบริการของกรมการแพทย์ฯ (จากการแจ้งของนักสังคมสงเคราะห์ผู้ดูแล) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะหน่วยบริการดังกล่าวไม่ได้ตรวจสอบสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ไม่รองรับบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 6 และ7 จึงไม่ปรากฏว่ามีซาเสียสิทธิ แต่มีซาและนักสังคมสงเคราะห์กังวลว่าหากนำบัตรไปใช้รักษาที่อื่นๆ ที่มีการตรวจสอบเลขประจำตัวประชาชนกับระบบคอมพิวเตอร์ มีซาอาจเสียสิทธินี้ได้

 

สถานะบุคคลตามกฎหมายของ มีซา เบียงแล

โดย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล วันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2551

         

        จากข้อเท็จจริงที่มี-แม้มีซาจะปรากฎตัวในดินแดนประเทศไทย แต่จากการที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าพ่อแม่ของเธอคือใคร จึงอาจกล่าวได้ว่ามีซาคือ บุคคลไร้รากเหง้า[2] เนื่องจากเป็นบุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ ที่เดิม-ก่อนหน้าที่จะมาอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพ ปากเกร็ด มีซาเป็นบุคคลไร้รากเหง้าที่ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือเป็นคนไร้รัฐ

          การที่สถานสงเคราะห์ฯ นำชื่อของมีซาเข้าในทะเบียนบ้านประเภท 13 นั้น แม้จะเป็นการเยียวยาที่ทำให้ดูราวกับว่ามีซาจะไม่ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ไม่ไร้รัฐ แต่ในความเป็นจริงก็คือ มีซาไม่มีฐานข้อเท็จจริงสำหรับการเพิ่มชื่อในท.ร.13 มีซาจึงเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนชื่อออกจากท.ร.13 ดังกล่าว

          การแก้ไขปัญหาของมีซาก็คือ เธอควรได้รับการสำรวจและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน และรับบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งจะทำให้มีซาเป็นบุคคลภายใต้ยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 โดยจัดอยู่ในกลุ่มของคนไร้รากเหง้าและกลุ่มเด็กในสถาบันการศึกษา และเมื่อมีซาเรียนจบอุดมศึกษา มีซาจะสามารถร้องขอสัญชาติไทยได้โดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 7 ทวิวรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติฯ

          อย่างไรก็ดี มีซาต้องเข้าใจและยืนยันข้อเท็จจริงของตัวเธอเองประการหนึ่งที่ว่า แม้เกณฑ์พื้นฐานประการหนึ่งในการเป็นผู้มีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยก็คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อในแบบพิมพ์ประวัติมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และเธออาจมีชื่ออยู่ในท.ร.38 ก. ไม่ถึง 10 ปีในวันที่เธอเรียนจบ แต่เธอได้รับการบันทึกชื่อในท.ร.13 มาตั้งแต่ปี 2544 แม้จะเป็นการมีชื่อ “ผิดที่” แต่ในอีกด้านหนึ่งเอกสารท.ร.13 ดังกล่าวก็สามารถใช้ยืนยันการนับระยะเวลาการปรากฎตัวของเธอในดินแดนรัฐไทยได้



[1] ข้อมูลทั้งหมดได้รับการเปิดเผยโดยความยินยอมของเจ้าของประวัติ ต่อหน้าเจ้าของประวัติ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ผู้ดูแลเจ้าของประวัติ และผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เพื่อใช้ในการวิจัยนี้เท่านั้น

คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 168543เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ติดต่อ แผนกทันตกรรม รพ.จุฬาฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท