รูปแบบการจัดการความรู้ในสถานศึกษา


การจัดการความรู้ในสถานศึกษา

 

               การจัดการความรู้ (Knowledge Management ; KM)  เป็นกลยุทธ์ให้บุคลากรในองค์กรค้นคว้า รวบรวม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำองค์ความรู้มาปฏิบัติเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

               สถานศึกษา เป็นหน่วยงานทางการศึกษาที่มีหน้าที่จัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด  สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบตัวและสังคมโลก การจัดการความรู้โดยกลุ่มผู้ปฏิบัติงานโดยการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เพื่อดึงความรู้ในคน (Tacit Knowledge) ที่เกิดจากประสบการในการทำงาน ค่านิยมและทัศนคติที่ได้จากการปฏิบัติงานในสถานศึกษา หรืออาจเกิดจากการมีพรสวรรค์  นำมาประยุกต์ให้เข้ากับความรู้แฝงในสถานศึกษา  บูรณาการให้สอดคล้องกับความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ที่ปรากฏในเอกสาร หรือบันทึกอยู่ในรายงานต่าง ๆ  และนำไปใช้ในการทำงานใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน  โดยมีเป้าหมายในการพัฒนางานให้มีคุณภาพและผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น พัฒนาครูให้เป็นมืออาชีพ และพัฒนาฐานความรู้ขององค์กร เพื่อเพิ่มทุนความรู้และทุนทางปัญญาของสถานศึกษา เพื่อช่วยให้สถานศึกษามีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

             รูปแบบการจัดการความรู้ในสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของครูให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาต้องสนับสนุนส่งเสริมและจัดให้มีกิจกรรม  ดังนี้

            1.  การใช้สื่อสารสนเทศ (ICT) เพื่อจัดให้มีระบบสารสนเทศที่เอื้อต่อการจัดการความรู้ มีฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ จัดให้มีการสื่อสารการจัดการความรู้ในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

            2.  การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อฝึกอบรมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้และความเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้ จัดให้มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาของครู

            3.  การชี้แนะหรือการสอนงาน (Coaching)  เป็นวิธีการพัฒนาสมรรถภาพการทำงานของครู โดยเน้นไปที่การทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย  ช่วยให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่มีอยู่หรือได้รับจากการอบรมไปสู่การปฏิบัติ  มีลักษณะเป็นกระบวนการ ประกอบด้วยวิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ และดำเนินการตามขั้นตอนจนบรรลุเป้าหมาย ที่ต้องการ 3 ประการ  คือ  การแก้ปัญหาในการทำงาน  การพัฒนาความรู้ ทักษะหรือความสามารถในการทำงาน และการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะ ในการทำงาน มีลักษณะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชี้แนะกับผู้รับการชี้แนะเป็นกลุ่มเล็กหรือรายบุคคล และใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  โดยยึดหลักการในการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การเรียนรู้ร่วมกัน การค้นพบวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง และการเสริมพลังอำนาจให้บุคคล

            4.  การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ (Action Learning)  สร้างวัฒนธรรมในการทำงานให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยผู้บริหารต้องผลักดันส่งเสริมสนับสนุนและเป็นแบบอย่างที่ดี มีระบบการประเมินผลการจัดการความรู้  มีระบบให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

            5.  การจัดชุมชนนักปฏิบัติ (Community Practice)  โดยจัดให้มีทีมงานจัดการความรู้ ที่มีผู้บริหารสถานศึกษาเป็นประธาน ครูทุกคนเป็นทีมงาน ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการความรู้   มีการสร้างบรรยากาศในสถานศึกษาให้เอื้อต่อการจัดการความรู้ และจัดให้มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้

หมายเลขบันทึก: 168355เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 00:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

*วิทยายุทธท่านผู้อำนวยการไร้เทียมทาน  จริง ๆ

*ข้าน้อยขอมอบความไว้วางใจฝากตัวเป็นศิษย์  (ด้วยความเคารพ )

                  เจ้าผึ้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท