เทคโนโลยี


เทคโนโลยี

บทบาทของเทคโนโลยีต่อการศึกษาตลอดชีวิต

 โดยครูแมว ลานสกา

 

               บทบาทเทคโนโลยีสมัยใหม่  ทั้งเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีโทรคมนาคม

และเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การจัดการศึกษาบรรลุอุดมการณ์การศึกษาตลอดชีวิต     กล่าวคือ วิทยาการก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร เป็นปัจจัยผลักดัน    ที่ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างพลโลก อย่างไร้พรหมแดน (Globalization)  นำไปสู่การผสมผสานความคิด ค่านิยม ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างมวลมนุษย์ชาติ ที่เรียกว่า กระแสโลกาภิวัฒน์เทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ  ในการพัฒนาประเทศ เกิดการแข่งขันในด้านข้อมูลข่าวสาร ด้วยการนำเอาความรู้และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่ง เป้าหมายความเป็นเศรษฐกิจและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge-based Economy/Society)  

                ประเทศไทย  ในฐานะที่อยู่ร่วมในสังคมโลก  ทำให้ได้รับผลกระทบจากกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว   จึงได้กำหนดแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  และกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศสำคัญไว้  กลุ่ม  คือ

1.       เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านภาครัฐ  (e-Government)  

2.       เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านพาณิชย์  (e-Commerce)

3.       เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม  (e-Industry) 

4.        เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา  (e-Education) 

5.       เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านสังคม  (e-Society) 

 การศึกษาในฐานะกลไกพื้นฐานของการพัฒนาคน  เป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังว่าจะเป็นการ

เตรียมคนและสังคมให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง   เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ              

           การจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัฒน์  จึงเป็นการเตรียมกำลังคน   ที่มีความฉลาดในการที่จะเป็นบุคลากร นักคิดและนักเลือกข่าวสารข้อมูลมาใช้ในการดำเนินชีวิต     การวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษา      จึงต้องเน้น  การวางแผนในเชิงรุก       โดยวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มของกระแสโลกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาประเทศไทย

      การจัดการศึกษาในปัจจุบัน  จึงได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้ของผู้เรียน  เพื่อพัฒนาผู้เรียนในยุคโลกาภิวัฒน์  ให้มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ 

 สังเคราะห์ข้อมูลและข่าวสาร  รูปแบบวิธีการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล มากขึ้น 

กระบวนการเรียนการสอนเปลี่ยนบทบาทของครูจากการเป็นผู้ให้  ผู้ถ่ายทอด  มาเป็นผู้ออกแบบการศึกษา เพื่อพัฒนาคนที่มีความแตกต่างกัน  วิถีทางการเรียนรู้เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการใช้ เทคโนโลยีเข้มข้น   เริ่มมีการนำนวัตกรรมใหม่ทางการเรียนการสอนเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้  โดยเฉพาะเทคโนโลยี  อินเทอร์เน็ต”  ได้มีการเห็นความสำคัญในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  และเริ่มวางโครงสร้างพื้นฐาน  (Infrastructure)  ทางด้านการสื่อสาร  และกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนเพื่อให้หน่วยงานทางด้านการศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่  ที่มีข้อมูลต่อเชื่อมอยู่ทั่วทุกมุมโลก  อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายย่อยจำนวนมาก  กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก  ทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายสื่อสารที่ใหญ่มากจนสามารถตอบสนองความต้องการในการค้นคว้าข้อมูลได้เป็นอย่างดี  (วิทยา  เรืองพรพิสุทธ์.    2538  :  2)  ทำให้เกิดความต้องการในการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งทรัพยากรเรียนรู้สำหรับผู้เรียน  เช่น  การจัดระบบห้องสมุด  การบริหารงานของฝ่ายธุรการ  การค้นคว้าข้อมูล  การเรียนการสอนทางไกลโดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรข้อมูลข้อสนเทศต่างๆ  อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด  ลดความซ้ำซ้อน  เพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐาน  ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของการให้บริการข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็ว  ตรงตามความต้องการของผู้ใช้  และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูล  และระบบสานสนเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญสำหรับการวิจัยและพัฒนาการศึกษา  (Computer Time.    2538  :  18)
                  สำหรับประเทศไทย  มีการศึกษาเกี่ยวกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในด้านการศึกษา  ดังเช่น  การศึกษาของ  ทิพวรรณ  รัตนวงศ์   (2532)  ได้ศึกษาแนวโน้มหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในปี พ.ศ.2545  พบว่าการอุดมศึกษาในอนาคตเทคโนโลยีทางการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น  การเรียนการสอนไม่จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียนและภายในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป  และเรวดี  คงสุภาพกุล  (2538)  ได้ศึกษาการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตของนิสิตนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร  พบว่า  สาขาวิชาที่ศึกษามีความสัมพันธ์กับความบ่อยในการใช้  นิสิต  นักศึกษาสาขาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ใช้ระบบมากกว่านิสิตนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์  และเป็นการใช้ตามสาขาวิชาที่ศึกษา  คือ  นิสิตนักศึกษาสาขาสังคมศาสตร์  และมนุษย์ศาสตร์มีความสัมพันธ์ด้วยกัน  จึงใช้ระบบในการคุยกับเพื่อน  ในขณะที่นิสิตนักศึกษาสาขาสังคมศาสตร์  และมนุษยศาสตร์มีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  จึงใช้ระบบในการคุยกับเพื่อน  ในขณะที่นิสิตนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์  จะใช้ในงานบริการค้นคว้างานวิจัยค้นคว้าข้อมูลวิชาการ  

                ในปัจจุบันได้มีความพยายามจัดสภาพแวดล้อมทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนที่เรียกว่า  “อีเลิร์นนิ่ง”  (e-learning)  ซึ่งเป็นการเรียนเนื้อหาหรือสารสนเทศสำหรับการสอนหรือการอบรม  ซึ่งใช้นำเสนอด้วยตัวอักษร  ภาพนิ่ง  ผสมผสานกับการใช้ภาพเคลื่อนไหว  วีดิทัศน์และเสียง  โดยอาศัยเทคโนโลยีของเว็บ  (Web Technology)  ในการถ่ายทอดเนื้อหา  รวมทั้งการใช้เทคโนโลยี      ระบบการจัดการคอร์ส  (Course Management System)  ในการบริหารจัดการงานสอนด้านต่าง ๆ  มีการจัดให้มีเครื่องมือการสื่อสารต่าง ๆ  เช่น e-mail, Webboard  สำหรับตั้งคำถาม  หรือแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างผู้เรียนด้วยกัน  หรือกับวิทยากร  การจัดให้มีแบบทดสอบ  หลังจากเรียนจบ  เพื่อวัดผลการเรียน  รวมทั้งการจัดให้มีระบบบันทึก  ติดตาม  ตรวจสอบ  และประเมินผลการเรียน  โดยผู้เรียนส่วนใหญ่แล้วจะศึกษาเนื้อหาในลักษณะออนไลน์ ซึ่งหมายถึงจากเครื่องที่มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 
                รูปแบบการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิ่งในประเทศไทย  พบว่าแต่ละหน่วยงานได้พัฒนาระบบ จัดการผู้เรียน  (LMS  :  Learining  Management System)  ระบบจัดการเนื้อหา  (CMS  :  Content  Management System)  ของตนเอง เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ใช้ โปรแกรมเว็บ  (Web Programming)  แตกต่างกันออกไป

            นอกจากนี้มีบริษัทภายในประเทศไทยที่พัฒนาซอฟต์แวร์บริหารจัดการการเรียนชื่อ Education Sphere (http://www.educationsphere.com/)  คือบริษัท Sum System จำกัด ที่พัฒนา LMS Software ออกมาให้จำหน่ายและพัฒนาให้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นหน่วยงานแรก  รวมทั้งศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พัฒนาโปรแกรมจัดการหลักสูตรเนื้อหาวิชา และการจัดการเรียนการสอนชนิด การเรียนผ่านเว็บ  (Web-base Instruction)  โดยตั้งชื่อโปรแกรมว่า Chula E-Learning System (Chula ELS)  ออกมาให้บริการ 
               ความพยายามในการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์  (e-Learning)  ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาจากแนวคิดของ  แฮนแสน  ซิลเวอร์  และสตรอง  (Hansen, Silver and Strong)  ได้แบ่งรูปแบบการเรียน  (Learning Styles)  ของผู้เรียนโดยทั่วไปออกเป็น  4  ประเภท  คือประเภทที่ชอบการเรียนการตรง  (Directive)  ประเภทที่ชอบการเรียนแบบค้นคว้าด้วยตนเอง  (Inquiry)  ประเภทที่ ชอบการเรียนแบบสร้างสรรค์  (Creative)  และประเภทที่ชอบการเรียนแบบร่วมมือกันทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม  (Cooperative)  ผู้เรียนทุกคนจะมีรูปแบบการเรียนรู้ทั้ง  4  แบบอยู่ในตัวเอง แต่จะมีลักษณะเด่นในรูปแบบหนึ่งเป็นพิเศษมากกว่ารูปแบบอื่น   (Perrin.     1994  :  140) 

    สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์  (e-Learning)  เต็มหลักสูตร  แต่ก็ได้เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาจัดการเรียนการสอนแล้ว  เช่น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้กำหนดเป็นนโยบายในระบบการศึกษาไร้พรมแดน แผน  มทส.  (วิจิตร  ศรีสอ้าน.    2541)  ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินโดยเริ่มสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต   แต่ยังไม่ได้ดำเนินการสอนแบบเต็มหลักสูตร  ส่วนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็ได้จัดทำโครงการศึกษาทางไกลผ่านวิทยาเขตเสมือนจริง  (Virtual University)  โดยมีเป้าหมายที่จะทดลองใช้กับนักศึกษาปริญญาโทบางหลักสูตรในปีการศึกษา 2543  และจะขยายใช้กับนักศึกษาปริญญาโททั้งหมด  ในระยะต่อไป  รวมทั้งการเปิดสอนระดับปริญญาตรีบางหลักสูตรด้วย  (มหาวิทยาสุโขทัยธรรมธิราช.    2541) 

 แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการของทั้ง  2  มหาวิทยาลัยนี้เป็นการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบางรายวิชาเท่านั้น  มิได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเต็มหลักสูตร

       จึงจะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาทั้งในระบบ  นอกระบบและตามอัธยาศัย

เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน  เทคโนโลยีโทรคมนาคม  และเทคโนโลยีสารสนเทศล้วนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการศึกษา  การสืบค้นข้อมูล ตลอดจนการจัดการศึกษา  หรือเมื่อจบการศึกษาแล้ว การสมัครงาน  การติดตามข่าวสารต่างๆเทคโนโลยีก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในยุคสังคมปัจจุบัน

                                                           …………………………………………………….

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เทคโนโลยี
หมายเลขบันทึก: 168123เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2008 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท