AAR: การสังเกตกระบวนการทางปัญญาในโครงการไตรภาคีฯ


“ชาวบ้านมีกระบวนการคิดอย่างมีปัญญา ด้วยความชาญฉลาดได้อย่างไร” “มีเงื่อนไขอะไรที่สะสมมา หรือเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือมีอะไรเป็นแรงขับที่ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างสมดุลเช่นนี้”

     ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (10-23 กุมภาพันธ์) ผมได้ขอเชิญ Dr.Ka-poom หรือคุณนิภาพร ลครวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ ในฐานะนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา จาก รพ.ยโสธร ทั้งยังเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและให้ความสำคัญกับกระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process) ของชาวบ้าน โดยเฉพาะจากการที่ Dr.Ka-poom ได้ติดตามอ่านบันทึกใน blog “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” แล้วเกิด Get Idea ว่าเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อนักที่ชาวบ้านจะร่วมกันคิดอะไร ๆ ออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ (ไม่น่าเชื่อตามฐานคิดเดิม ๆ ของคนในระบบการศึกษาเดิม)

     ก่อนเดินทางมาเราก็ได้ ลปรร.กันจนตกผลึกเป็นคำถามวิจัย (Research Question) และที่มาก็เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นในเชิง Pilot Study ก่อนที่จะได้ลงมือพัฒนาโจทย์นี้ต่อไป ตอบได้เลยว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งผมและ Dr.Ka-poom เกิด Cognitive Load สูงมาก ทั้งเหนื่อยและล้าเหมือนจะหมดแรง (กาย) แต่ในจิตกลับปิติและสว่างไสว เพราะโจทย์นี้สำคัญและคาดว่าจะมีความสำคัญต่อการให้เกียรติ เคารพในศักดิ์ศรีของภูมิปัญญาชาวบ้านสูงมาก เพราะชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการศึกษาในระบบสูงมากนัก แต่ด้วยกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Normalization) กระบวนการใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติ (Life Stye for Life) หรืออื่นใด ล้วนประกอบขึ้นจนทำให้เขาฉลาด มีเหตุมีผล มีความสมดุลของชีวิต อย่างไร้ระเบียบ ภายใต้การวิเคราะห์แบบเรื่องของเขาเขาตีความเอง (Emic) คนที่สูญเสียสมดุลจึงไม่อยู่เหลือรอให้เราพบ คิดไว้อย่างนั้น

     คาดหวังอะไรบ้างในการเชื้อเชิญ Dr.Ka-poom มาสังเกตกระบวนการทางปัญญาของชาวบ้านคราวนี้ ขอตอบว่าผมคาดหวังในสองส่วน คือส่วนที่เป็นการเติมเต็มให้กับทีมงานไตรภาคีฯ โดยเฉพาะในส่วนของประเด็นที่มุ่งเน้นไปยัง กระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process) ของชาวบ้าน และส่วนที่เป็นส่วนตัว โดยเฉพาะประเด็นช่วยให้ผมเข้าใจเรื่อง Cognitive Theory ได้ชัดเจนมากขึ้น

     เกินคาดเมื่อมาถึง (10 กุมภาพันธ์ 2549) และได้ลงมือปฏิบัติตามที่ตั้งใว้ โดยเฉพาะการสังเกตกระบวนการมีส่วนร่วม การคิด และการวิเคราะห์ ตลอดจนการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมวิจัยฯ ของ Dr.Ka-poom แม้จะมีอุปสรรคทางด้านภาษาเกิดขึ้นบ้างในช่วงแรก ๆ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เหมือนอย่างที่เคยรับรู้ว่าภาษาอีสานกับภาษาใต้ใกล้กันนิดเดียว และอาจจะมีฐานที่มาเดียวกันเสียด้วยซ้ำ ผลการวิเคราะห์ในเบื้องต้นเราได้สรุปไว้แล้ว ในรูปแบบของ Mind Map ซึ่งต่อไปจะถูกเขียนออกมาเป็นรูปแบบของบทความทางวิชาการ ในภาพรวมพอจะสรุปได้ว่ากระบวนการทางปัญญาของชาวบ้านเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เพียงแต่ยังขาดการนำเสนอออกมาในเชิงวิชาการแบบชาวบ้าน ๆ ขาดการยอมรับ ขาดการเคารพในศักดิ์ศรีของภูมิปัญญาแม้แต่ตัวชาวบ้านเอง แม้จะได้พยายามมากขึ้นอย่างเช่นในปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะ bias ที่เกิดขึ้นนั้นมันฝังลึกอยู่ในจิตใจว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เป็นสมัยใหม่ดี ประหยัด มีคุณภาพ และสะดวก กว่าในอดีต แต่เมื่อคิดได้ก็รู้สึกหวงแหน อย่างเช่นที่ชุมชนเกาะเรียนจะได้มีเวทีชุมชน “แหลงเรื่องแต่แรกเท่เป็นสิ่งดี ๆ” (เล่าเรื่องของดี ๆ ในอดีต) กันทุกวันศุกร์ เราพบว่าสังคมในระบบการศึกษากระแสหลักยังเข้าไม่ถึงกระบวนการคิดของชาวบ้าน

          เกินคาดกว่าที่คาดไว้ เพราะคาดหมายว่าจะได้ แต่ไม่นึกว่าจะได้มากมายขนาดนี้คือ... การได้เปิดประเด็นต่าง ๆ อย่างรู้และเข้าใจตรงกันกับ Dr.Ka-poom อย่างกว้างขวาง "ไร้ระเบียบและสมดุล" อย่างโหยหาและกระหายใคร่เรียนรู้ ช่วยกันสะท้อนมุมมองไม่ว่าตรงนั้นจะอยู่ในบริบทใด ขอเพียงไม่ติดภาระกิจ ก็จะลงมือ ลปรร.กันในทันที อันนี้ทำให้ได้เกินคาด และต้องขอขอบคุณเป็นการส่วนตัวจริง ๆ แก่ผู้ให้ ผู้ซึ่งให้โอกาสแก่คนชายขอบคนนี้...

          เกินคาดอีกเรื่องหนึ่งคือ ประเด็นการนัดนักศึกษาที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มรภ.สงขลา มาเข้าค่าย ก็ได้ช่วยเติมเต็มให้โดยการเพิ่มมุมมองให้แก่ นศ. การช่วยสร้างบรรยากาศให้ความมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง (Self-efficacy) แก่ นศ. ซึ่งเมื่อได้ทำ AAR แล้วผลตอบรับจาก นศ.ออกมาดีมาก (บันทึกอยู่ที่ AAR: Camp วิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มรภ.)

          เกินคาดอีกเรื่องที่เหลือเชื่อคือเราได้พบกับความเป็นทีม “น้ำ” หรือ “H2O” อย่างลงตัวและสมดุล คือบวกเพิ่มพี่หรอย (พี่อนุกูล ทองมี) เข้ามาด้วย (มีบันทึกอยู่ที่ “น้ำ” กับความลงตัวที่เป็น “ไร้ระเบียบและสมดุล”)

     ส่วนที่ยังไม่ได้ตามคาดก็มีบ้าง แต่ก็มีเหตุผลพอที่จะยอมรับได้ เช่น จำนวนครั้งของเวทีน้อยเกินไป เพราะอาศัยการเข้าไปสังเกตเวทีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติด้วย และมีหลาย ๆ เวทีได้ผ่านไปเมื่อไม่นาน การนัดหมายใหม่อยู่นอกช่วงเวลาที่ Dr.Ka-poom เดินทางมาในครั้งนี้ อีกประเด็นคือการได้พบกับทีมไตรภาคีฯ ทั้งชุดยังไม่สามารถนัดหมายได้ เป็นเพราะเวลาอันจำกัด และต้องรีบเร่งลงเก็บข้อมูลในแต่ละวันตามเวทีที่เกิดขึ้นในชุมชนต่าง ๆ

     แล้วจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ นี่แหละที่เป็นส่วนสำคัญอันยิ่งยวดของการมาครั้งนี้ เพราะต้องเป็นการมาเพื่อกลับมาอีก และเป็นการมาเพื่อเชื่อมประสานการแลกเปลี่ยนระหว่างพื้นที่ให้เกิดสมดุล ในประเด็นแรกคือการมาเพื่อมาอีก เพราะในตัวเนื้องานจริง ๆ ยังไม่เริ่มต้นขึ้น หลังจากนี้ก็ต้องเริ่มดำเนินการเพื่อค้นหาว่า...
               “ชาวบ้านมีกระบวนการคิดอย่างมีปัญญา ด้วยความชาญฉลาดได้อย่างไร”
               “มีเงื่อนไขอะไรที่สะสมมา หรือเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือมีอะไรเป็นแรงขับที่ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างสมดุลเช่นนี้”
          โจทย์นี้เราใช้การเดินเรื่องเดิมคือโครงการวิจัยฯ “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” เป็นฐานต่อยอดไปเลย ซึ่งจะมีผลดีต่อการวิจัยในหลาย ๆ ประการโดยเฉพาะประเด็นการให้โอกาสและทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Maximise Utilization) เท่าที่จะกระทำได้

          ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเพื่อเชื่อมประสานให้เกิดความสมดุลอย่างที่ว่านั้น ก็เห็นจะเป็นที่ทาง รพ.ยโสธร โดยศูนย์วิจัยฯ ได้ติดต่อทาบทามให้ผมได้ไปร่วมเป็นวิทยากรที่ปรึกษา (ผมมองว่าเป็นพี่เลี้ยงแบบพี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน) เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยในงานประจำแบบ R2R (Routine to Research) โดยเน้นให้เกิดขึ้นจนเป็นกระบวนการที่เป็นนิสัย (Regularization) ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนมีนาคม 2549 ที่จะถึงนี้ (ประเด็นนี้บันทึกเพิ่มเติมไว้ที่ โครงการ ลปรร. ข้ามพื้นที่เพื่อช่วยกันพัฒนาทีม R2R รพ.ยโสธร)

     AAR: (After Action Review) ของผู้รับการมาเยือนก็พอจะสรุปได้แต่คงไม่ละเอียดมากนัก หากแต่ได้เติมเต็มจากผู้มาเยือน (Dr.Ka-poom) ด้วยก็น่าจะทำให้สมบูรณ์มากขึ้น และขาดเสียไม่ได้เลยคือ ผู้อยู่เพื่อคอยเติมเต็มอย่างแท้จริงในฐานะนักปฏิบัติ (Habituate Man) อย่างพี่หรอย ได้ทำ AAR ให้ด้วยจะต้องเป็นบันทึกที่สมบูรณ์จริง ๆ ครับ ขอเชิญนะครับ

หมายเลขบันทึก: 16708เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คือ..การเดินทาง..

การเดินทางเพียง..เริ่มต้น
หากไกลด้วยระยะทาง..แต่..ความใคร่กระหายเรียนรู้
ไม่มีอะไร..มาหยุดยั้งได้
จากการผนวก...ความเป็น..
บุคลากรทางด้านสาธารณสุข..พยาบาลวิชาชีพ
จิตวิญญาณ...ของความรัก..ใน..การเป็น...นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา
และ..นักเทคโนโลยีการศึกษา..ที่คลั่งใคล...กระบวนการทางด้าน Cognitive
ที่มุ่งเป้าไป...เพื่อเน้นการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้...
โดยเหนี่ยวนำ...Cognitive Technology...ร่วมผสานกับศาสตร์
ทางด้าน...Psychology...คิดว่า...น่าจะก่อเกิด..อะไรได้บ้าง
ที่ "สุขใจ"...ร่วมกับ..นักคิด..นักเขียน..นักวิจัย..นักวิชาการ..
ผู้ใคร่หาคำตอบจากปัญหา...ที่มุ่งเป้าการพัฒนา..ด้วยความเป็นนักพัฒนาด้วยจิตวิญญาณที่มีอยู่...
จากความเป็นคนชายขอบ..ที่ให้.."โอกาส"..ตนและมนุษย์เสมอ

AAR...ติดค้างหลายวัน

เขียนถึง...คุณชายขอบ เพื่ออยากบอกเล่า...ภารกิจที่ติดค้างผ่านมาและต้องรีบมาสะสาง....และได้ถึงเวลาที่อยากบอกเล่า...ถึงเรื่องราว...ที่น่าควรทำ
คาดหวังอะไรบ้าง...จากการเดินทางไปร่วม "การสังเกตกระบวนการทางปัญญาในโครงการไตรภาคีฯ"
นั่นคือ การได้มองเห็นกระบวนการทางปัญหาของ "มนุษย์" (Cognitive Process) ที่เป็นเรื่องภายใต้แนวคิด
ทฤษฎีพุทธิปัญญา...ที่มีการวิ่งไปมาของ Schema ...ทั้งใหม่และเก่า..ที่มีการเชื่อมโยงกันออกมา..และนำเสนออกมา
เป็น..ความรู้...ที่ไม่ใช่จากการวัดตาม..ฐานคิดเชิงพฤติกรรมนิยม
เกินคาด...คือ..ความสมบูรณ์ของพื้นที่และประชาชน...ที่พร้อมให้เข้าไปได้ศึกษา..โดยที่ผู้วิจัยไม่ได้ activate ...กระบวนการ
ทางปัญญาของกลุ่มตัวอย่างมากนัก...เพราะเขาเล่านั้นมี...ความงดงามทางปัญญาที่มีอยู่ในตัวเอง...อยู่แล้ว หรือโดยทั่วไปเรามักเรียกว่า...ภูมิปัญญา...
ยังไม่ได้ตามคาด...คือ กระบวนการสังเกตอย่างสมบูรณ์..ภายใต้บริบทที่แท้จริงๆ..เพราะที่ได้ลงพื้นที่นั้นมีเพียงบางบริบท
นั่นอาจเป็นข้อจำกัด...ในปัจจัยหลายๆ อย่าง...ที่อาจสามารถแก้ไขได้หาก...มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องระยะเวลาที่เหมาะ...แต่สิ่งที่ยังไม่ได้ตามคาดนั้น...ใช่ว่า..จะไม่ได้เลย..เพียงแต่ในบริบทที่เข้าไปคลุกคลี...นั้น..ยังเก็บเกี่ยวได้ไม่มากพอในด้านตัวผู้วิจัยเอง...
จะทำอย่างไรต่อไป...นี่เป็นเพียงแค่การลงไปพื้นที่...เพื่อดู..แต่ความเข้มของกระบวรการทำงาน...ยังต้องใช้พลัง..ในการเดินทางอีกยาวไกลของการทำงาน..ที่ลงไปในบริบทที่แท้จริง

อ่าน่าสนใจครับ
พอจะเล่าให้เป็นรูปธรรมมากๆ ได้ไหมครับ
แบบยกเป็นเรื่องๆ
หรืออธิบายกระบวนการคิด การเรียนรู้ร่วมกันออกมาให้ชัดๆกว่านี้ อ่ะครับ 
thank 8รับ

คุณ dreamer

     บันทึกนี้เป็นการทำ AAR หลังเข้าพื้นที่ครับ หากแต่จะให้เล่าเป็นเรื่อง ๆ ตอน ๆ ก็ Blog นี้ทั้ง Blog นะครับ ค่อย ๆ อ่านนะครับ ดีใจมากที่เข้ามา ลปรร.และทิ้งรอยไว้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท