จริงๆมีความตั้งใจว่า หลังจากกลับจาก งานโครงการสรุปบทเรียนสิ่งแวดล้อมรุ่น 5 ที่ อช.น้ำหนาววันที่ 13-15 ก.พ. 49 จะมาเขียนเรื่องเล่า แต่ก็ด้วย “เดี๋ยว” นี่ละที่ทำให้ไม่ได้ลงมือเสียที ตอนแรกที่ได้รับจดหมายเชิญประชุม ก็คิดว่าคงเหมือนกับการรายงานความก้าวหน้าโครงการเหมือนทุกครั้ง แต่สำหรับตัวเองนั้น กำเรื่องราวสถานการณ์ในพื้นที่สึนามิ อยากจะไปบอกเล่า และขอปรึกษากับพี่น้องรุ่น 5 เพราะตัวเองนั้นด้อยประสบการณ์ในการทำงานพัฒนานัก อีกอย่างอยากเจอพี่น้องรุ่น 5 เพราะเราไม่ได้เจอกันนานแล้ว (โครงการที่ได้รับทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก รุ่นที่ 5) บ่อยครั้งที่ฉันถูกเชิญไปประชุมโน้น นี่ นั้น บ่อยๆ และก็บ่อยครั้งที่มักจะกำความไม่เข้าใจ ความสงสัยกลับมา และพยายามนำความรู้ที่ได้มา (รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง) มาปรับใช้ในงาน แต่ก็ไม่เกิดผลอะไรเพราะเราไม่ได้เข้าใจในเนื้อหานั้นเอง พอมาวิเคราะห์ดูว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้อยู่บ่อยๆ ก็น่าจะแยกได้ 2 ประเด็น คือ 1) ตัวเราเอง คือ ความสนใจ ความตั้งใจ และสมาธิของเราไม่ดี ไม่เข้าใจหรือสงสัยอะไร เราไม่ถาม แต่เรื่องการจดบันทึกฉันทำตลอด แต่คงจดแบบไม่เข้าใจ 2) กระบวนการอบรม วิธีการ หรือกระบวนการบางครั้งวิชาการมากเกินไปทำให้เข้าใจยาก การสื่อสารของท่านวิทยากรก็สำคัญ ทำอย่างไรที่จะให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจ
แต่...มาที่น้ำหนาวครั้งนี้ มันเกินความคาดหวังที่ตั้งไว้ คือ อาจารย์ธวัช หมันเต๊ะ จากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม สามารถถ่ายทอด และมีกระบวนการที่สามารถเข้าใจง่ายและปฏิบัติง่าย เพียงแค่หยิบเรื่องเล็กๆ หรือที่เราประทับใจมาเล่าสู่กันฟัง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ทอดความรู้จากคนโดยผ่านเรื่องเล่านั้น ส่วนกระบวนการกลุ่ม เราจัดให้มีคุณอำนวย เป็นคนดำเนินการ หรือคุมประเด็น คุณลิขิต เป็นคนจับประเด็นด่านแรกของการเรียนรู้ สุ จิ ปุ ลิ คือ ฟัง คิด/วิเคราะห์ ถามเพื่อหาคำตอบ เขียนบันทึก สำคัญมากในการเข้าถึงเนื้อหาการฝึกอบรม ซึ่งหลายคนมักจะขาดส่วนนี้ไป
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก