ทีมสนับสนุนจะเสริมทัพการจัดสวัสดิการของพัทลุงได้อย่างไร


(โครงการวิจัยนำร่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคม เชิงพื้นที่) 

ยังคงมีโอกาสได้ติดตามการเคลื่อนงานวิจัยฯของจังหวัดพัทลุง วันนี้(18 กพ. 51)เป็นการประชุมทีมสนับสนุน  ณ อาคารฝึกอบรม  ศูนย์วิจัยข้าว  อำเภอเมือง  จังหวัดพัทลุง  จากการวางแผนภารกิจของโครงการ  กำหนดให้มีทีมสนับสนุน ๔๐ คน ที่ช่วยให้ความเข้าใจ และมีทีมวิจัย ๑๒ คน ทำหน้าที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ วางแผนไว้ ๒๖ พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง ๑๑ อำเภอ

 

การประชุมเริ่มขึ้นประมาณ 10 โมงเช้า  มีทีมสนับสนุนเข้าร่วมประชุม  จำนวน 23 คน  นอกจากนั้นเป็นคุณเทพรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยนำร่องฯ  คุณโสรยา ผู้ช่วยประสานงานฯ  คุณภีม ภคเมธาวี ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาองค์กรการเงินฯ  รัชนี ผู้ช่วยประสานงานโครงการฯ และคุณประวัณรัตน์(ไม่แน่ใจว่าเขียนชื่อถูกต้องรึเปล่านะคะ) เจ้าหน้าที่จาก พัฒนาชุมชน จังหวัดพัทลุง มาร่วมให้ความเห็น

 

เมื่อแนะนำตัวกันเรียบร้อยแล้ว  เริ่มต้นการประชุมด้วยการทบทวนความรู้เกี่ยวกับโครงการวิจัยนำร่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมเชิงพื้นที่ โดยคุณภีม ต่อด้วยการนำเสนอ ภาพรวมการดำเนินการวิจัยโครงการฯของจังหวัดพัทลุง โดยคุณเทพรัตน์ หลังจากที่ได้ผ่านมา 2-3 เดือนแล้ว ช่วงแรกเป็นการเตรียมความเข้าใจทั้งภาคราชการและส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  มองโครงการเป็น 2 ส่วน 1)ตอบโจทย์ใหญ่ของโครงการฯ 2)ทำอย่างไรให้มีกระบวนการต่อเนื่องต่อไปโดยตัวคนในพื้นที่  เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้มีการขับเคลื่อนสร้างทีมทำงานในระดับชุมชน  การทำงานจะสะท้อนภาพชุมชนเป็นหลัก จะมองสวัสดิการในความหมายที่กว้างกว่าที่ภาครัฐทำอยู่  การเตรียมงานเป็นการแบ่งคนและพื้นที่ รับผิดชอบโดยนักวิจัยระดับพื้นที่จำนวน 12 คน  เก็บข้อมูลเรื่องสวัสดิการในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น  มีทีมอำนวยการ จำนวน 40 คน  ที่ทำหน้าที่คอยสนับสนุนการทำงาน

 

จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการจัดสวัสดิการในจังหวัดพัทลุง  ดำเนินรายการโดยคุณจิระพา(บินหลาดง)  เห็นว่าแต่ละท่านมีความเข้าใจและมุมมองของการจัดสวัสดิการค่อนข้างกว้าง หลากหลายและมีความครอบคลุม  ส่วนใหญ่มองการจัดสวัสดิการจากฐานการจัดของตนเอง เช่น ศูนย์คุณธรรมชุมชน  วิสาหกิจชุมชน  กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มออมทรัพย์  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ(กองทุนฟื้นฟูทะเล   การจัดการพันธุ์สัตว์น้ำรอบทะเลสาบ)  ความเห็นหนึ่งที่เป็นแนวคิดให้ทีมวิจัยได้นำคิดเป็นกรอบการทำงานครั้งนี้ได้คือ การรวมคนโดยการใช้เงิน/การออมเป็นเครื่องมือ เป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาเกิดความต่อเนื่อง  เกิดการมีส่วนร่วม  งานวิจัยชิ้นนี้ต้อง 1)ตอบโจทย์ของโครงการ 2)ทีมวิจัยเกิดการพัฒนาตนเองในการวิจัย เข้าใจการจัดการนำไปสู่การขับเคลื่อนงานสวัสดิการต่อไป 3)พื้นที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาชุมชน  เป็นการตอบโจทย์วิจัยตนเอง และมีทีมงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อไปได้  รายการนี้ถูกหยุดด้วยการพักรับประทานอาหารกลางวัน

 

ในช่วงบ่ายคุณจิระพา ยังคงเป็นผู้ดำเนินรายการต่อเปิดฉากด้วย เวทีแลกเปลี่ยนสิ่งดี ๆ ที่คิด และอยากให้เกิด ขอถ่ายทอดสิ่งดีๆ จากเวทีบางส่วน ประสบการณ์จัดสวัสดิการโดยไม่ใช้เงิน คือสวัสดิการคุณธรรม  จากการทำเรื่องศูนย์คุณธรรมอำเภอบางแก้ว ทำมา ๔ ปี ให้ความรู้ด้านคุณธรรม ศีลธรรมด้านศาสนาเป็นหลัก การเรียนการสอนนักธรรม จัดกิจกรรมบทเรียนภาคฤดูร้อน ต่อมามีการเรียกร้องจากเยาวชนหญิง ให้มีกิจกรรมสำหรับผู้หญิงบ้าง  ทางศูนย์จึงจัดกิจกรรมวันแม่ ให้เยาวชนหญิงเข้าค่ายจัดมา ๓ ปี เห็นว่าพฤติกรรมของเด็กดีขึ้น  พูดจาไพเราะ ช่วยเหลืองานบ้าน นอกจากนั้นในศูนย์ฯยังให้บริการพิธีกรในงานพิธีกรรม บริการฟรี  ศูนย์คุณธรรมให้บริการตั้งแต่เด็กเล็กถึงผู้สูงวัย ....... จากการทำงานรอบทะเลสาบและสังคมเมือง เปรียบเทียบดูแล้วเห็นความแตกต่าง คนเมืองมีความคิดสูงกว่า แต่การบริหารจัดการให้เกิดสวัสดิการยากกว่าในชนบทเพราะเกิดการต่อยอดจากบรรพบุรุษ สังคมเมืองมีความหลากหลายมาก ความเป็นอยู่กระจัดกระจาย  การรวมตัวเกิดจากการรวมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน การใช้เงินเป็นเครื่องมือในการรวมกลุ่มเป็นกลอุบายที่สำคัญ การนำเงินมาฝากแต่ละเดือน ต้องมีการบริหารจัดการ  มีกรรมการรับผิดชอบชัดเจน มีกลไกในการจัดการ มีการตอบสนองคืนกำไรแก่ชุมชน เช่น เกิดกองทุนฟื้นฟูพันธ์ปลา ทรัพยากรธรรมชาติ และนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อท้องถิ่น การรวมกลุ่มนอกจากเกิดการออม การแก้ไขปัญหาร่วมกันแล้วยังเป็นการสร้างความช่วยเหลือ ถ้อยทีถ้อยอาศัยในชุมชน

 

แลกเปลี่ยน สถานภาพของตนเอง(ตัวเอง หน่วยงาน)ในวันนี้จะมาหนุนเสริมได้อย่างไร ประเด็นนี้ทีมสนับสนุนได้ให้ข้อมูลการเข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งในด้านความรู้  ข้อมูล เช่น พัฒนาชุมชน สามารถให้ข้อมูลของกลุ่มออมทรัพย์ทั้งหมดในจังหวัดพัทลุง ประสานพื้นที่ เช่น  โรงเรียน.. กำลังทำโครงการครอบครัวเข้มแข็งใน ๔ พื้นที่ มีนักวิจัยในพื้นที่  หากการเก็บข้อมูลของโครงการนี้มีพื้นที่ซ้ำกันสามารถให้การหนุนเสริมเรื่องการเก็บข้อมูล หรือแบ่งปันข้อมูลบางอย่างได้

 

ต่อจากนั้นเป็น  การให้ความรู้ความหมายและเป้าหมาย สวัสดิการพัทลุง โดยคุณภีม - ภารกิจของโครงการ  จากทีมสนับสนุน ๔๐ คน ที่ช่วยให้ความเข้าใจ และมีทีมวิจัย ๑๒ คน ทำหน้าที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ วางแผนไว้ ๒๖ พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง ๑๑ อำเภอ ศึกษารายละเอียดกองทุนในชุมชนทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่ นอกจากนั้นใช้กลไกทีมงานเชื่อมงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชน มาจากองค์ประกอบในคณะกรรมการต่าง ๆ  ชุดใหญ่สุดคือ กสจ. มีผู้ว่าฯเป็นประธาน ต้องทำแผนยุทธศาสตร์การจัดสวัสดิการจังหวัด  นอกจากนั้นมีกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม สำหรับจังหวัดพัทลุงมีงบจำนวนประมาณ ๓ ล้านบาท และกองทุนจาก พอช.อีกจำนวนหนึ่ง  กองทุนอยู่ดีมีสุข  กองทุน สปสช.  ทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการทุกกองทุนคือจะหาทางส่งเสริมซึ่งกันและกันไม่มีส่วนที่ทำงานทับซ้อนกัน  หลังจากนั้นคุณเทพรัตน์ได้กล่าวถึง การขับเคลื่อนงานวิจัยในระยะต่อไป  ว่าจะมีการถอดองค์ความรู้ สิ่งดี ๆ มีเวทีการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด นอกจากนี้ในเชิงประเด็น จัดเวทีร่วมกับพื้นที่ใกล้เคียง  เวทีทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งในการเก็บข้อมูลพื้นที่ที่กำหนด 26 พื้นที่นี้ มีพื้นที่นำร่องของโครงการฯ(3 ตำบล 2 เทศบาล)บางส่วนรวมอยู่ด้วย 

 

หลังจากเสร็จการประชุมของทีมสนับสนุน ส่วนหนึ่งได้ทยอยกันกลับบ้าน  อีกส่วนซึ่งมีหน้าที่อยู่ในทีมวิจัยพื้นที่ 12 คนด้วย  ได้ทำวงคุยต่อ(AAR) ปัญหาหลักของวันนี้คือ ทีมสนับสนุนมาประชุมไม่ครบตามจำนวนที่วางไว้  คำตอบส่วนหนึ่งคือปัญหาการสื่อสาร  จดหมายล่าช้า  แต่บางส่วนรับทราบแต่ไม่เข้าร่วม  ซึ่งการประชุมจะเป็นเวทีคัดกรองบุคคลเข้าร่วมทีม  หากไม่ได้เข้าร่วมการประชุมควรคัดออกจากทีม แล้วค่อยๆ หาคนใหม่ร่วมทีมต่อไป  ปัญหาอีกอย่างที่เจอคือ ข้อจำกัดในการทำงานของ พมจ. มาร่วมเป็นตัวบุคคล  ยังไม่ให้ความสำคัญในเชิงของหน่วยงาน

 ทีมวิจัยทั้ง 12 คนได้นัดหารือเรื่องที่จะนำเสนอรายงานความก้าวหน้าต่อ สกว. ในวันที่ 28 กพ. นัดให้มีการหารือกันในวันที่ ๒๒ กพ. ๕๑ ณ ห้องประชุม พมจ. ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เวลา ๐๙.๓๐ น.       

 

หมายเลขบันทึก: 166221เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2008 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับเป็นการเขียนงานวิจัยเชิงคุณภาพ ขอเป็นกำลังใจนะครับผม

ถ้าอ.ต้องการโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูล ผมมีโปรแกรมแจกให้ใช้ฟรี ผมเป็นที่ปรึกษากลุ่มบ้านดอนไชย อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถ้าสนใจติดต่อคุณนกได้เลยครับ tel 0817832676 แล้วผมส่งตัวอย่างโปรแกรมให้คุณพล ศรีเพชรที่จังหวัดพัทลุงไปให้ดูแล้วด้วยครับหรือติดต่อผ่านอ.ภีมก็ได้ครับ

สวัสดีคะคุณP 

 

ขอบคุณคะสำหรับการเข้ามาให้กำลังใจ โอกาสหน้าเชิญเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนด้วยนะคะ

ขอบคุณคะ

สวัสดีคะคุณดิเรก

ตัวเองได้เข้าไปติดตาม blog ของกลุ่มบ้านดอนไชยอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกันคะ โปรแกรมที่ใช้สำหรับการเก็บข้อมูลน่าสนใจคะ  แล้วจะหาโอกาสศึกษานำมาใช้งานคะ

ขอบคุณคะ

เรื่องการบูรณาการกองทุน ถ้าใช้แนวคิดของลำสินธุ์ก็คือ  เมื่อชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนก็จะเลือกเองว่าจะใช้กองทุนไหนทำอะไร  ชุมชนน่าจะบอกได้ว่า ซ้ำซ้อนหรือไม่ ควรบูรณาการหรือไม่ 

บางกิจกรรมที่เงินกองทุนเดียวอาจไม่พอ ก็ต้องใช้สองกองทุนร่วมกัน  อย่างนี้อาจไม่ใช่การซ้ำซ้อน แต่เป็นการหนุนเสริม

บางกิจกรรม เงินกองทุนเดียวก็พอแล้วอย่างนี้  ในกรณีนี้จึงเป็นการซ้ำซ้อน

.. ใครจะเป็นคนบอกได้ดีที่สุดว่า ซ้ำซ้อนและควรบูรณาการ ... คิดว่าเป็นเฉพาะเรื่องเฉพาะพื้นที่  บางเรื่องบางพื้นที่  เรื่องบูรณาการอาจไม่ใช่ปัญหาเลยค่ะ  ตัวเองมองว่า "การบูรณาการกองทุน" เป็นเพียงหนึ่งในวิธีบริหารจัดการ  แต่จะเป็นตัวหลักที่ทุกพื้นที่ต้องทำหรือเปล่านั้น  ไม่แน่ใจค่ะ

ถ้าเข้าใจผิดก็ขออภัยด้วย  แต่เขียนมาแลกเปลี่ยนจากข้อมูล (จำกัด) เท่าที่มีค่ะ

 

การบูรณาการมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด   เท่าที่เคยเห็น เช่น การรวมกองทุนวิจัย หรือการบูรณาการงานอื่นๆตามที่เคยทำงานบริหารมาบ้าง   มีประเด็นพึงคำนึงคือ

  • อย่าให้บูรณาการกลายเป็นการรวมศูนย์ 
  • ถ้าการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะกระทบไปหมด  ผลคือ มีเงินมากอง แต่ใช้เงินไม่ออก  ไม่ทันกับความต้องการ   การกระจายกองทุนกระจายงาน มักมีข้อได้เปรียบตรงความรวดเร็ว เข้าถึงปัญหาได้ดีกว่า
  • ในกรณีที่งานมีหลากหลายมิติ (เช่นงานสวัสดิการ) บางครั้งหน่วยตัดสินใจจัดสรรเงินไม่เข้าใจครบถ้วนในทุกเรื่อง  ผู้ปฏิบัติงานจริงเข้ามามีส่วนร่วมได้น้อยลง  หรือต้องสร้างงานหลายชั้น
  • จะบูรณาการทุกกอง หรือ เฉพาะบางกองทุน หลักการการบูรณาการคืออะไร   

ก็ต้องชั่งน้ำหนักเรื่อง การแก้ปัญหาซ้ำซ้อน  แต่อาจสร้างข้อจำกัดอย่างอื่นๆ  การออกแบบการบูรณาการจึงสำคัญมาก

โจทย์การบริหารจัดการเรื่องสวัสดิการที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคืออะไร  ถึงจะซ้ำซ้อนแต่ก็อาจพอทำกันไปได้ก่อน  ความทั่วถึง  ความเป็นธรรม ประสิทธิภาพของงานที่แต่ละหน่วยดำเนินการอยู่เป็นอย่างไร

 

      น้องรัชพี่เข้ามาติดตามความก้าวหน้าเพื่อจะได้ไม่ตกข่าว มีความข่าวหน้าที่น่าสนใจมาก เสียด่ายที่ไม่ได้ไปร่วมด้วย วันก่อนพี่ภีมโทรมาชวนไว้เหมือนกัน แต่เห้นว่าพี่ไสวจะเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนด้วย    ตอนนี้ทีมนักวิจัยจากชุมชนได้เข้ามาขอข้อมูลที่พอชอยู่เหมือนกัน

สวัสดีคุณ รัช

เข้ามาหาความรู้ได้ประโยฃน์มาก

คนทำงานชุมชน ยังขาดเครื่องมือขาดการหนุนเสริมพลังความคิด

ถ้าคิดเป็น ทุนภายนอกจำเป็นน้อยมาก

จะอย่างไรก็ขอให้งานวิจัยชิ้นนี้ พื้นที่เจ้าของข้อมูลได้ประโยชน์

โดยเฉพาะประโยชน์ทางพลังความคิด ที่จะเอาไปปรับใช้ในพื้นที่

ยินดีให้ความร่วมมือทุกประการ

ขอบคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท