เตือนตัวเองด้วยความหวังดี


ธรรมชาติคือการอิงอาศัยกัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี ความรู้นี้ควรเป็นความรู้สำคัญ เพื่อให้การทำงานที่มุ่งมั่นตั้งใจไม่ตึงเครียด ทำไปให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำตามหน้าที่ ไม่ต้องไปแบกไว้บนบ่า จัดการความรู้เรื่องนี้ไม่ได้ อาจกลายเป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

วันนี้และพรุ่งนี้(23-24ก.พ.)มีการสัมมนาเพื่อบูรณาการงานชุมชนสู่มาตรฐานงานชุมชนของสนง.พัฒนาชุมชนจ.นครศรีธรรมราช ผมได้รับเชิญไปร่วมเป็นวิทยากรพรุ่งนี้เช้าหัวข้อ เวทีเจรจาแนวทางความร่วมมือสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายมชช.โดยมีพี่ปุก(บุญตรี ไชยรักษ์)ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งตรงกับงานบูรณาการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร   ที่พวกเรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่
ที่จริงมชช.ก็คือการประเมินตนเองเพื่อไปสู่มาตรฐานที่ร่วมกันตั้งไว้ คือตารางอิสรภาพนั่นเอง        จะมี 4มาตรฐานคือ ผู้นำ องค์กร เครือข่าย และชุมชน ในการทำงานต้องการความร่วมมือจากภาคีต่างๆเพราะผู้นำชุมชนมีหลายด้าน องค์กร/เครือข่ายก็เช่นเดียวกัน ชุมชนเป็นองค์รวมยิ่งต้องมองทุกด้าน มชช.จึงสอดคล้องกับโครงการบูรณาการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครเป็นอย่างยิ่ง
แต่ก็มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการอีกชุดหนึ่งต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องเชื่อมโยงงานประจำกับโครงการบูรณาการทุกคนต่างเห็นภาพร่วมกัน ผมคิดว่าหัวหน้าทีมคือพี่ปุกจะได้นำแนวคิดดังกล่าวเชื่อมโยงเข้ามาในงานมชช.อย่างกลมกลืนกับการเคลื่อน400หมู่บ้านที่เรากำลังจะดำเนินการ เป็นการยิงนกทีเดียวได้2ตัว

การทำเรื่องนี้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง ความอดทนเพราะเราทำงานบนสถานะการณ์จริงที่ควบคุมตัวแปรได้จำกัดมาก แต่ความเป็นจริงก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ผมเห็นว่าความล้มเหลวส่วนใหญ่มาจากข้อจำกัดในการขยายผลที่ทำให้ความคิดดีๆหรือตัวอย่างดีๆ ไม่สามารถผลิตซ้ำได้ การจัดการกับความรู้ในเรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายมาก

ครูชบใช้แนวทางขับเคลื่อนสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาทโดยชุมชนเป็นหลัก ไม่หวังพึ่งส่วนราชการเลย ใช้คณะกรรมการที่ผู้ว่าสงขลาเป็นประธานเพื่อเป็นใบเบิกทางเท่านั้น เรื่องอื่นๆมูลนิธิลุยเอง

ก็ได้ผลดี แต่หากจะทำซ้ำก็ต้องหาคนอย่างครูชบจังหวัดละคนอย่างนั้นหรือ?

หลายคนพูดถึงการผลักดันเป็นนโยบาย

เมื่อเป็นนโยบายแล้วจะสำเร็จได้โดยง่ายอย่างนั้นหรือ?

ตอนนี้เรามีนโยบายดีๆและตัวอย่างภาคปฏิบัติชั้นเลิศมากมาย โดยไม่ต้องไปหาจากต่างประเทศเลย แต่ผลิตซ้ำได้จำกัดมาก

นโยบายเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ โรงปุ๋ยอินทรีย์ 1 อำเภอ 1โรง
นโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นโยบายเมืองไทยแข็งแรง ดีๆทั้งนั้น

แต่มีปัญหาเรื่องการขยายผล

ผมเคยอยู่วงรอบองค์กรพัฒนาเอกชนมาก่อน ในแต่ละพื้นที่ทำงานเกาะติดอย่างต่อเนื่องหลายปี งบประมาณมหาศาล และมีความคล่องตัวในการทำงานด้วย แต่เกิดผลเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

ไม่รู้เพราะอะไร?

ภาคส่วนอื่นๆก็เช่นเดียวกัน

พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ มันเป็นเช่นนั้นเอง

เพราะธรรมชาติคือการอิงอาศัยกัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี

ความรู้นี้ควรเป็นความรู้สำคัญ เพื่อให้การทำงานที่มุ่งมั่นตั้งใจไม่ตึงเครียด

ทำไปให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำตามหน้าที่ ไม่ต้องไปแบกไว้บนบ่า

จัดการความรู้เรื่องนี้ไม่ได้ อาจกลายเป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

ต้องระวังให้ดี (เตือนตัวเองด้วยความหวังดีนะ)

 

หมายเลขบันทึก: 16542เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2006 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท