การปฎิวัติเขียว...มุมที่อยากให้ช่วยมอง


การปฏิวัติเขียวเคยเป็นพระเอก ปัจจุบันเป็นผู้ร้ายเต็มตัว

หลายคนใน G2K พูดถึงการปฏิวัติเขียว 

การปฏิวัติเขียวเคยเป็นพระเอก  ปัจจุบันเป็นผู้ร้ายเต็มตัว

หากหยุดมองเชิงประวัติศาสตร์สักนิด  คงจะเห็นว่าใครร่วมกันเป็นผู้ร้ายในฉากนี้บ้าง

การปฏิวัติเขียวมีจุดเริ่มต้นมาจากความหวาดหวั่นต่อการทำนายของ Thomas Malthus ที่ว่าประชากรที่เติบโตอย่างรวดเร็วจะทำให้โลกเราอดอาหารในที่สุด  เรื่องราวถูกซ้ำเติมด้วยสภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  

ประเทศแรกๆที่ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติเขียว (ประมาณทศวรรษ 1960) เป็นประเทศที่ประสบปัญหาอดอยากหลังสงคราม  และมีปัญหารุนแรงเรื่องที่ดินเพาะปลูกมีจำกัด   จึงพยายามดิ้นรนเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้มีพอกินจากพื้นที่เกษตรที่มีอยู่จำกัดนั้น   ด้วยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตสูง ใช้ปุ๋ยใช้ชลประทาน ...ประเทศนั้นก็คือ ญี่ปุ่น  ใกล้ๆกันคือ ไต้หวัน   นอกจากเร่งพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว  ญี่ปุ่นยังตามด้วยระบบสหกรณ์ที่รัฐเป็นผู้ให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่เครือข่ายสหกรณ์การเกษตรเพื่อผูกขาดการค้าข้าว  และยังปฏิรูปที่ดินด้วยการนำที่ดินจากเจ้าที่ดินไปให้แก่เกษตรกรรายย่อยได้ทำกิน

การเริ่มต้นของการปฏิวัติเขียวในเอเชีย จึงเกิดจากพื้นที่ที่ปลูกข้าวไม่พอกิน  สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ประเทศอีกหลายประเทศที่ต้องนำเข้าข้าว เช่น อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  งานนี้   ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงและปุ๋ยเคมีเป็นพระเอกที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นหลุดพ้นจากปัญหา

เมื่อมีสถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศ เช่น IRRI  ก็ยิ่งสนับสนุนให้เกิดการวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ที่ใช้คู่กับปุ๋ยเคมีและระบบชลประทาน     เทคโนโลยีชุดนี้ จึงกลายเป็น "พรมแดนแห่งความรู้"  สุดยอดที่นักวิทยาศาสตร์คนไหนไปไม่ถึงก็จะถูกตราว่า "ตกขบวน"  (คงเหมือนกับทัศนคติต่อ จีเอ็มโอ ขณะนี้)

ส่วนยาฆ่าแมลงนั้น  เข้าใจว่า ความสำเร็จเบื้องต้น มาจากการใช้ดีดีที ปราบยุงและช่วยลดปัญหามาเลเรียในภูมิภาคเขตร้อนจนแทบจะหายขาด    ยาฆ่าแมลงจึงเป็นอัศวินขี่ม้าขาวในยุคนั้นเช่นกัน

การก่อเกิดของปฏิวัติเขียว มันมีเหตุผลในตัวของมันเอง (ก่อนที่ลุกลามไปเป็นผลประโยชน์ของธุรกิจเกษตรมากมาย) ยกเว้นการกำจัดยุงแล้ว    ประเทศไทยมีสถานการณ์ทุกอย่างตรงข้ามกับประเทศที่ต้องการการปฏิวัติเขียว     เราไม่ได้นำเข้าข้าว  แต่ผลิตข้าวเหลือส่งออก   เรามีระบบชลประทานแค่ ๒๐ เปอร์เซนต์ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด   เราผลิตปุ๋ยเคมีเองไม่ได้  ปู๋ยแพง ที่ดินถูก (ตรงข้ามกับญี่ปุ่น ปุ๋ยถูก ที่ดินแพง จึงคุ้มจะใช้ปุ๋ยแทนการขยายที่ดินทำกิน)  ข้าวพันธุ์ใหม่ต้นเตี้ย ไม่ขึ้นน้ำ แต่ที่ราบลุ่มภาคกลางบ้านเราน้ำท่วมขังในฤดูฝน   ข้าวพันธุ์ใหม่ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวยากด้วยแรงงานคน (ก้มจนเมื่อย) แต่ญี่ปุ่นมีเครื่องดำเครื่องเกี่ยวมาตั้งนาน  

วิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์สรุปได้เลยว่า "นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เหมาะสม"

คำถามคือ  ในครั้งนั้น  เรา..ประเทศไทย..สนใจการเพิ่มผลผลิตต่อไร่  สนใจข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิเศรษฐกิจของเราในครั้งนั้นด้วยเหตุใด  (เท่าที่จำได้ ข้าวพันธุ์ใหม่ (กข.) พันธุ์แรกของเรา เกิดขึ้นในปี 1969)

....ถ้ามิใช่เพราะเรา (ผู้กำหนดนโยบายไทย) ตีความว่า "การพัฒนา"  คือ  "การทำให้ทันสมัย"

....ถ้ามิใช่เพราะ เรา (ผู้กำหนดนโยบายไทย)"ไม่รู้จักตัวเอง"   "ไม่รู้แก่นของตัวเอง" ตามที่คุณชินแสดงความเห็นมาในบันทึก "วัฒนธรรม"    "ขุมพลังของปัญหาอยู่ที่สถานศึกษา" อย่างที่อาจารย์ภีมแสดงความเห็นในบันทึก "ไปคุยกับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯที่นครสวรรค์"   (เราเรียนเกษตรมาสามปีครึ่ง  ได้เรียนเรื่องตัวห้ำตัวเบียฬไม่เกินหนึ่งชั่วโมง  ที่เหลือสอนแต่เรื่องสารเคมี จึงสนับสนุนความเห็นนี้)ถ้ามิใช่เพราะ เราเป็นแบบที่คุณแว้บว่า คือ "ตามใจตัวเอง แต่ไม่รับฟังคนอื่น"    อาจตีความได้ว่า ผู้กำหนดนโยบายคิดถูกเสมอ  โดยไม่เห็นว่าประสบการณ์ของเกษตรกรนั้นมีความหมายและมีเหตุผลอยู่ในวิถีการผลิตนั้น

ความผิดสถานแรกจึงอยู่ที่ผู้กำหนดนโยบายที่ไม่ศึกษารากของตัวเองก่อน

มีเพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมในครั้งนั้นพอจะยังอยู่ได้  ก็คือ  ราคาข้าว ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ยังสูงอยู่ในเวลานั้นและเมื่อทุกประเทศหันมาปฏิวัติเขียว   กฎของ Malthus ก็ไม่เป็นจริง   ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดโลก  แต่นั่นก็ทำให้ราคาสินค้าเกษตรพื้นฐาน อย่างเช่น ข้าว มีราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง  ประกอบกับการยุติสงครามเย็นที่ทำให้  เวียดนามหันมาผลิตข้าวได้มากขึ้น  แล้วกำลังจะกลับมาทวงตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวคืนจากประเทศไทย (ก่อนอาณานิคม พม่าส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง   เวียดนามอันดับสอง  ไทยอันดับสาม  แต่ต่อมาสองประเทศแรกตกเป็นอาณานิคมและมีสงคราม  แชมป์จึงตกอยู่กับประเทศไทย)

เทคโนโลยีที่ทำให้ผลผลิตเพิ่ม  อาจทำให้ราคาตกต่ำได้ในที่สุด   ในกรณีเช่นนี้  ผู้ผลิตที่เข้าไปใช้เทคโนโลยีรายแรกๆเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์   ผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ก็คือ ผู้บริโภคนั่นเอง  .....   ผู้กำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีมักมองไม่เห็นข้อเท็จจริงของกลไกตลาดข้อนี้  และเข้าใจผิดคิดว่า เทคโนโลยีจะทำให้เกษตรกรดีขึ้นเสมอ ผู้บริโภคคนสำคัญของไทย ที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้  ส่วนหนึ่งคือคนไทยที่มีอำนาจซื้อ  อีกส่วนก็คือ ผู้บริโภคชาวต่างประเทศที่ไทยส่งสินค้าเกษตรออกไปขายนั่นเอง

เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ราคาปุ๋ย ราคายาแพง  ...ก็เกิดปัญหาแก่เกษตรกรยังไม่นับปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม  สุขภาพเกษตรกรเสื่อมโทรมที่ตามมาอีก 

ความผิดสถานที่สองอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่เริ่มเคยชินและชอบผักผลไม้สวยงาม ผลโต ทำให้ผักผลไม้ปลอดภัยที่รูปลักษณ์ไม่สวยขายไม่ออกแถมเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นตามอายุ ก็ไม่ได้เพิ่มการบริโภคอาหารตามไปด้วย  (เพราะท้องมีจำกัด)  รายได้ที่เพิ่มขึ้นกลับถูกนำไปซื้อสินค้าอุตสาหกรรม  หรือซื้อบริการ (เช่นทานข้าวในร้านอาหารสบายๆหรูๆ) เพิ่มขึ้นมากว่า     ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคการผลิตจึงเพิ่มขึ้น

ความผิดสถานที่สามอยู่ที่ผู้แสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าบางกลุ่ม  นักการเมือง ที่เล่นกับปุ๋ย กับยา กับพันธุ์

ความผิดสถานที่สี่อยู่ที่  "ดินฟ้าอากาศที่เดาไม่ได้" และ "มือที่มองไม่เห็น"  ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งการผลิตและความเสี่ยงด้านราคา ทำให้ผลตอบแทนจากเทคโนโลยีไม่เป็นดังหวัง 

แล้วถ้าถามว่า เกษตรกรเองมีส่วนร่วมในความผิดบ้างไหม ...  จะตอบอย่างไร ??

 

หมายเลขบันทึก: 164951เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2008 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • จนแต้มครับ
  • มีเรื่องเล่านอกเรื่องครับท่านอาจารย์...วันนี้ นศ.คนหนึ่ง เขาบอกว่าไปพูดคุยกับชาวบ้านท่านหนึ่ง เรื่อง "การแปรรูปผักตบชวา" ท่านบอกว่า "หากต้องการความรู้ต้องเสียค่าครู"
  • ทำให้ผมต้องร้อง "โอ๊ะโอ๋" และบอกว่า ถ้าให้ได้ก็ให้ไปเถอะ หากต้องการความรู้จากท่าน นักศึกษาบอกว่า ยังไม่สิ้นเดือนเลย เงินหมดแล้ว ไม่รู้จะหาที่ไหนดี ผมต้องร้อง "โอ๊ะโอ๋"
  • ค่าครูที่เขาให้กันอย่างน้อย ๒๐๐ บาท จึงบอกนักศึกษาไปว่า ทุกอย่างต้องมีที่มา ทำไมท่านจึงเรียกร้องค่าครู
  • และผมมาคิดต่ออีกว่า "ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ"

     จากเรื่องที่อ่านข้างบนนั้น ถ้าเกิดไม่มีการทำนาย ไม่แน่นะครับว่าเราจะอดตายกันจริงๆ

  • ขอบคุณครับ

อยากตอบว่ามี

ความไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี

การอยากมีอยากเป็นเหมือนคนชั้นขุนนาง และพ่อค้า

ความไม่รู้เท่าทันโลกรอบตัว

ความอยากรวยล้น

ความไม่ดิ้นรน พึ่งตัวเอง

ถ้ารู้จักสันโดษสักหน่อย

พึ่งตัวเองสักนิด

ลดโลภลงมากหน่อย

มีศีลเยอะเยอะ

เรียนรู้และปฎิบัติตามแนวทางศาสนามากมาก

อะไรก็ไม่เป็นอย่างนี้

 

อาจารย์เอกคะ ... ทุกอย่างเปลี่ยนไปจริงๆ

จิตวิญญาณของผู้คนเปลี่ยนไป...  นิยามความดีเปลี่ยนไป ...

เรายืนอยู่ที่หนึ่ง  โลกเหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง..

คิดในเชิงบวกและพอจะรับได้คือ  ตราบใดที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ...   แต่ถือว่าเป็นคุณภาพ "ขั้นต่ำ" แค่นั้นเอง

คุณชินคะ ที่เขียนถึงนั้น คงต้องเรียกร้องเอาจากทุกคน ทุกอาชีพเลยค่ะ นักศึกษาถามว่า "อาจารย์... คนจนไม่มีสิทธิ์จะฝัน จะเรียกร้อง จะอยากมีได้อย่างคนรวยหรือ"

ทุกคนก็ผันครับอาจารย์ ไม่ว่าจนหรือรวย

แต่ฝันนั้นเป็นไปได้ไหม

เป็นฝันเพราะอยากมีอยากเป็น

หรือฝันเพื่อพัฒนาตัวเอง

ถ้าอย่างแรกก็ไม่มีวันได้เพราะฝันจะเปลี่ยนไปเนื่องจากไม่เคยหยุดโลภ

แต่ถ้าเพื่อพัฒนาตัวเอง..มันอิ่มเอมเสมอ

เพราะสิ่งที่ได้เป็นความสุขทางใจ

เป็นคำตอบที่ชัดเจนมาก  ขอบคุณค่ะคุณชิน

สวัสดีค่ะอาจารย์ปัท

เพิ่งมีโอกาสเข้ามาอ่านค่ะ พี่ก็เขียนเรื่องประมาณนี้ไว้เป็นช่วง ๆ เหมือนกัน ล่าสุดพูดถึงการปฏิวัติเขียวไว้ใน "NGO กับงานพัฒนาการเกษตร" ค่ะ เขียนเป็นตอนย่อย ๆ ไว้ 5 ตอน เป็นเรื่องเล่าที่นำไปสู่การสะท้อนความคิดคือ นำสิ่งที่พี่เดชาชวนคิดชวนคุยให้กับลูกศิษย์ที่เกษตรกำแพงแสนมาเล่าต่อน่ะค่ะ (จำได้ว่าอาจารย์ปัทเข้าไป post ความเห็นไว้ด้วย ใช่ไหมคะ) 

พวกเราจะมี "วงคุย" เรื่องพวกนี้เป็นระยะ ๆ หากอาจารย์ปัทพอมีเวลา ขอเชิญไปร่วมวงนะคะ จะได้มี "มุมที่อยากให้ช่วยมอง" เพิ่มขึ้นค่ะ

ดูแลสุขภาพด้วยค่ะ

อาจารย์ครับ

  • บ้านผมเป็นบ้านแรกๆที่เอาข้างพันธุ์ IR 8 จาก IRRI มาปลูกที่ภาคกลาง(วิเศษชัยชาญ) เพราะ ครอบครัวเป็นชาวนา และมีอาเป็นเกษตรอำเภอ จึงให้เอาข้าวนี้มาทดลอง แต่ต้องเป็นพื้นที่ชลประทานเพื่อจัดการเรื่องน้ำได้(ผมเรียนชั้นมัธยมต้น ประมาณปี 2506)
  • คุณพ่อก็รับเอามาเต็มๆ เพราะข้าราชการมาส่งเสริมว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้  ผมเองก็ลงไปขนปุ๋ยเคมี และลุยมากับคุณพ่อ ซึ่งพ่อบอกว่ามันเหนื่อยมากกว่าการทำนาตามแบบดั้งเดิมมาก เพราะต้องเตรียมดินดีดี บังคับน้ำดีดี หากช่วงไหนชลประทานมีปัญหาก็ต้องเอาเครื่องยนต์ฉุดระหัดวิดน้ำใส่แปลงนา ไอ้เครื่องยนต์ฉุดระหัดก็หนักมากๆ ผมหลังเสียก็เพราะไปแบกเครื่องนี้แหละครับ เรายังเด็กๆ ไปแบกของหนักเกินตัว เหนื่อยมากครับ
  • เหตุผลที่สำคัญที่ทำแม้ว่าเหนื่อยเพราะที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องตั้ง 6 คน ทุกคนเรียนหนังสือหมด
  • แล้วจะเอารายได้จากที่ไหนมาส่งลูกเรียนหนังสือ มีทางเดียวคือ ทำนาให้ได้ข้าวมากๆจะได้ขายเอาเงินมาส่งลูกเรียน
  • ผมจำได้ บางเทอมผมยังต้องไปแบกข้าวเปลือกออกจากยุ้งไปขายเพื่อเอาเงินมาจ่ายค่าเทอมเลยครับ
  • ชาวบ้านจะไปรู้อะไร..นักวิชาการเกษตร ราชการ นั่นแหละมาป่าวประกาศ โฆษณา ใครอยากได้ข้าวมากๆให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าวเป็นชนิดใหม่  ข้าวเดิมๆที่เรียน ขาวตาแห้ง และอะไรอีกมากมาย(ลืมแล้ว) ถูกทางราชการมาเสนอให้เปลี่ยนพันธุ์  เพราะดีอย่างนั้นอย่างนี้ ชาวบ้านก็เอาตามเจ้าหน้าที่
  • เมื่อใส่ปุ๋ย โอย วัชพืชขึ้นเต็มนาเลย ก็ต้องวิ่งไปเอายามาปราบ ปูปลาตายเกลี้ยง หมู หมาก็ตายไปหลายตัว เพราะไปกินปูกินปลาที่มีสารพิษเข้าไป ลามไปถึงคนตาย เพราะทะเลาะกัน น้อยใจก็กรอกยาฆ่าแมลงตรากะโหลกใขว้เข้าไป เรียบร้อย ตายสนิท
  • เมื่อก้าวไปแล้วก็ไม่หวลกลับแล้วครับ เพราะภาคกลางพื้นที่ชลประทานเข้ามาถึงทุ่งนาที่กว้างขวางหมดแล้ว
  • เมื่อได้ข้าวเปลือกมากขึ้นก็จริง แต่งานหนัก เสี่ยงอันตรายยาต่างๆ แถมเลวร้ายคือ ข้าวราคาตกต่ำ  ผลิตมาแทบตายถูกพ่อค้าโรงสีกินไปหมด ขูดรีดราคาหมด
  • มันเหนื่อยฟรี..แต่ก็ต้องทำ ไม่งั้นจะทำอะไรล่ะ หากชาวนาไม่ทำนา แถบบ้านสมัยนั้นแม่บ้านใช้เวลาว่างซื้อหวายมาสานตะกร้า และเครื่องใช้ต่างๆ จนเด่นดังที่สุดก็ที่บางเจ้าฉ่านั่นแหละ ความจริงหมู่บ้านริมแม่น้ำน้อยนั้นทำเป็นทุกบ้านแหละครับ
  • วกเข้ามาที่ปฏิบัติเขียว เมื่อแนวคิดนี้เข้ามาก็สนุกซิ นักวิชาการก็สนุก มหาวิทยาลัยก็มีภาควิชาส่งเสริมการเกษตร ก็ส่งเสริมกันใหญ่ เข้าทางร้านค้าธุรกิจเกษตร ร้านขายปุ๋ย รวยกันตามๆ ข้าราชการสนับสนุนให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยได้มากก็มีคอมมิชชั่น อีก ตันละ 50 บาท ก็สนับสนุนกันใหญ่ ชาวบ้านก็ตามซิครับ
  • ความรู้ไม่เท่าทัน  แต่ก็เป็นบทเรียน ใครปรับตัวได้ก็รอดไป ใครปรับตัวไม่ได้ก็จมลงไปครับ

อาจารย์ตุ้มคะ

อ่านบันทึกของอาจารย์เช่นกันค่ะ   เสียดายตอนเราเรียน ไม่เห็นได้เจอ "ครู"  อย่างอาจารย์ตุ้มและคุณเดชา...  แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้เห็นปัญหาการศึกษาบ้านเราชัดเจนขึ้น เพราะประสบเองค่ะ

ขอบคุณที่ชวนและหวังว่าจะได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ตุ้มอีกค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เห็นภาพชัดเลยค่ะคุณบางทราย

IR8 ก็มีรากเหง้ามาจากพันธุ์ของญี่ปุ่นหรือไต้หวันนี่แหละค่ะ

ตัวเองเกิดปีผู้ใหญ่ลี และตอนเรียนเกษตรก็อยู่ในยุคกลางของปฎิวัติเขียวพอดีค่ะ   เรื่องปุ๋ยเรื่องยานี่ เรียนมาอย่างเชี่ยวชาญเลยค่ะ

ขอบคุณที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์"ตรง"นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท