วัฒนธรรม วัฒนธรรม


“วัฒนธรรมคืออะไร การอธิบายอะไรๆด้วยวัฒนธรรมนั้นหลวมมาก วัฒนธรรมไม่ได้ลอยมาจากฟ้า แต่วัฒนธรรมมันเกิดด้วยบริบทสังคม ต้องอธิบายให้ลึกกว่านั้น”

ไมเคิลเป็นอาจารย์นักรัฐศาสตร์ ชื่นชมนักเศรษฐศาสตร์ ที่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์

  ไมเคิลพูดไทยได้ดี  อ่านภาษาไทยได้เก่งด้วย  อ่านทั้งงานอาจารย์ฉัตรทิพย์  อาจารย์ผาสุก  อาจารย์ธีรยุทธ  อาจารย์เสกสรรค์    สัมภาษณ์นักคิด  นักการเมืองไทยดังๆมานับคนไม่ถ้วนแล้ว    

ไมเคิลไม่ชอบให้ใครเรียกว่า ฝรั่ง  เพราะรู้สึกเหมือนถูกแบ่งแยกชาติพันธุ์พอๆกับคำว่า แขก  เจ๊ก ฯลฯ   เวลาขึ้นรถเมล์  เด็กชี้ให้แม่ดู  บอกว่า ฝรั่งขึ้นรถเมล์   เด็กคงไม่รู้ว่า  ฝรั่งฟังภาษาไทยได้   ฝรั่งคิดมากอย่างไมเคิลก็หันไปดุเด็กเป็นภาษาไทยว่า ฝรั่งขึ้นรถเมล์ไม่ได้รึไง??”    เด็กน้อยตกใจไปเลย

  

ปีหนึ่งๆ ไมเคิลมาเมืองไทยหลายรอบ  ลงไปแถวปัตตานีบ้าง  ช่วงใกล้เลือกตั้งก็ไปสังเกตการณ์ ไปทำวิจัยแถวมหาสารคาม   เมื่อพอมีเวลา  ไมเคิลก็จะโทรมานัดไปทานข้าว   ไมเคิลบอกว่ามา อัพเดทข้อมูล  คืออยากรู้ว่าเราทำงาน เจออะไรมาบ้าง  และเล่าให้ฟังว่าตัวเองมาเมืองไทยเจออะไรมาบ้าง   ไมเคิล เป็นคนชอบวิพากษ์ตามประสาแนวมาร์กซ์  จึงมีมุมมองชวนคิดมาฝากเสมอ   เป็นคนตลกร้าย

  

ไมเคิลสรุปว่า   หัวใจของการเมืองไทยไม่ใช่อธิบายด้วยประชาธิปไตย  แต่อธิบายด้วยวิธีคิดและพฤติกรรมแบบ  “liberal” สุดๆ     

  

ทำนองว่า  ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ ??”  เราถามเป็นภาษาไทย  เราสองคนคุยกันเป็นภาษาอังกฤษปนไทย  ไมเคิลพยักหน้า   จะอธิบายตรงนี้ได้อย่างไร  ประวัติศาสตร์หรือ    ไมเคิลพูดอะไรฟังไม่ถนัด  หรือว่าเป็น วัฒนธรรม  เราถามต่อ   คราวนี้ไมเคิลรีบแย้ง

  

วัฒนธรรมคืออะไร   การอธิบายอะไรๆด้วยวัฒนธรรมนั้นหลวมมาก  วัฒนธรรมไม่ได้ลอยมาจากฟ้า   แต่วัฒนธรรมมันเกิดด้วยบริบทสังคม   ต้องอธิบายให้ลึกกว่านั้น

  

แต่ไมเคิลก็ไม่ได้อธิบาย ...   ไมเคิลมีนัด...ต้องไปต่อ ...  เห็นว่าอีกสองสามวันจะไปสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์    ไมเคิลเคยทำวิจัยเกี่ยวกับ อัตลักษณ์ของประเทศไทย  โดยทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรม .....  คงจะเข็ดกับวิธีคิดต่อคำว่า วัฒนธรรม ...

  

การยึดวัฒนธรรมเป็นที่ตั้ง   บางทีมันก็ทำให้เราอธิบายความจริงอะไรไม่ได้หลายอย่าง


คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรม
หมายเลขบันทึก: 164523เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2008 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

อาจารย์ปัทมาวดี

ผมได้อ่านหนังสือ "to think well is good, to think right is better" (สนพ. openbooks) ของคุณ สฤณี อาชวานันทกุล เขียนถึงเรื่องประชาธิปไตยไร้เสรี ซึ่งเป็นแนวคิดของ Fareed Zakaria แล้ว ผมมองคำว่า liberal ของคุณไมเคิล ว่ามีความหมายต่างจากของคุณ Fareed อยู่มาก

ผมเข้าใจว่า liberal ที่แปลว่าทำอะไรตามใจ? จะตรงข้ามกับการยอมรับความคิดเห็นคนอื่นหรือเปล่า เหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่ทำอะไรตามใจและเด็กไม่สามารถทำอะไรตามใจในสังคมไทย คำว่า liberal ของไทยเลยกลายเป็นการตามใจตัวเอง และไม่รับฟังความคิดคนอื่น ตรงนี้หรือเปล่าครับ ที่ทำให้เราไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่งได้ เพราะเราไม่ได้มีฐานความคิด liberal มาแต่เดิม และการที่เราตีความว่าเสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง เหมือนอย่างผู้นำบางคนชอบย้ำ ก็เพราะเราเข้าใจประชาธิปไตยในมุมมองของเรา

ผมชอบที่คุณ Fareed สรุปว่า เสรีนิยม เป็นพื้นฐานขั้นต้นของประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นพื้นฐานของเสรีนิยมครับ

ส่วนจะอธิบายการเมืองไทยด้วยมุมมองไหนนี่ ผมก็จนปัญญาเหมือนกันครับ

ขอบคุณครับ

การเกิดขึ้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง น่าจะมาจากการพัฒนามาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เช่น ระบบการปกครองที่เรามักคิดว่ามีปัญหาเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

เป็นเพราะที่มาไม่ได้มาจากความต้องการแท้จริง ไม่ได้มาจากความจำเป็นและไม่ได้มาจากคนส่วนใหญ่ แต่เป็นคนส่วนน้อย  และก็ยังไปเลียนแบบคนอื่น โดยไม่ปรับให้เหมาะกับเราเองอย่างจริงจริง 

เรามักไปจับกระพี้เขามาแต่ไม่ดูแก่นตัวเอง แล้วนำมาใช้อย่างฝันฝัน

ทำให้ดูเหมือนอะไรก็ไม่ค่อยเข้าท่าในเมืองไทย  เวลานำมาใช้

และคนใช้ก็ไม่เห็นความจำเป็น ที่จะต้องนับถือหรือยอมรับระบบหรือมาตรฐานที่กำหนด หรือขาดวินัยในการปฎิบัติ เพราะไม่เห็นความสำคัญที่จะรักษามันเอาไว้

คนหวังดีที่มีอำนาจในประเทศทั้งหลายในอดีตมัก ลืมคิดว่าใครคือคนส่วนใหญ่และเขาควรทำอะไรเพื่อใคร

ผมว่าสิ่งที่เขียนมาอาจจะเป็นที่มาของวัฒนธรรมการทำอะไรตามใจคือไทยแท้

 

 

สวัสดีค่ะคุณแว้บ

  • จะไปเล่าให้คุณสฤณีฟังนะคะว่า มี fan club เขียนถึง  เธอคงดีใจ
  • ชอบประเด็นของคุณแว้บนะคะที่ว่า "ทำอะไรตามใจ? จะตรงข้ามกับการยอมรับความคิดเห็นคนอื่นหรือเปล่า"  หรือ เป็น liberal แบบไทยๆ 
  • ไว้เจอไมเคิลครั้งหน้า จะลองให้เขาขยายความคำว่า "liberal" ที่เขามองเห็น  เชื่อว่าคงได้มุมมองที่น่าสนใจค่ะ  ต้องบอกให้ไมเคิลเข้ามาอ่านบล็อกบ้างแล้ว !!
  • จะหาเวลาอ่านงานของ Fareed (ฉบับคุณสฤณี) บ้าง  ที่จริงคุณสฤณีเธอแนะนำหนังสือหลายเล่มเหมือนกันค่ะ  แต่ยังไม่มีเวลาอ่านเลย
  • อย่าลืมแวะมาเขียนแสดงความเห็นดีๆอีกนะคะ  ขอบคุณค่ะ

เรียนคุณชิน

"ไม่ดูแก่นตัวเอง" นี่น่าจะเป็นรากเหง้าของปัญหาในการที่สังคมไทยเลือกทางเดินที่คดเคี้ยวสุ่มเสี่ยงอยู่เสมอ  นำไปสู่ "การเลือกเสรี" แบบไร้ระเบียบ ไร้หลักเกณฑ์ ....เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบาย "ทำอะไรตามใจ หรือ liberal แบบไทยๆในการเมืองไทย" ....

ขอบคุณค่ะ

น่าสนใจ 

แต่เมืองไทย (และคนไทย) liberal จริงหรือ

ในหลายๆ กรณี คนที่ไม่ทำตามกระแสในเมืองไทยแทบจะอยู่ไม่ได้เสียด้วยซ้ำ (มักถูกคนไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น)

มี ขรก. ซักกี่คนที่ไม่อยากใส่ชุดดำ หรือชุดเหลือง ในช่วงที่ถูกเรียกให้ใส่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ (หลายคนที่รู้จักไม่กล้า)

เวลาใครบอกคนไทยว่า "ดิฉัน/ผมไม่นับถือศาสนา"  "เห็นด้วยกับการให้สามจังหวัดชายแดนเป็นเขตปกครองอิสระ" หรือเชื่อว่า "เกิดเป็นคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครอยู่เหนือหรือใครเป็นฝุ่นใต้เท้าใคร"  ได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง (ขนาด "ป๋า" หลายคนยังบอกว่าห้ามวิพากษ์วิจารณ์) ซึ่ง concept พวกนี้ธรรมดามากในโลกตะวันตก แม้กระทั่งประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดีและ conservative

ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกนี้เป็นวัฒนธรรมหรือเปล่า แต่ก็ถ่ายทอดกันมานานพอสมควร (แต่ต่อไปอาจจะจางลงก็ได้ ลองดูโพลของ ABAC เรื่องนักการเมืองที่มีคุณธรรม) 

ไรท์อาจจะอยู่เมืองไทยนานไป จนกลายเป็นคนไทย (รุ่นค่อนข้างแก่) และความเป็น marxist จางหายไปเหมือนกับคนตุลาไทยจำนวนไม่น้อยแล้วก็เป็นได้  

 

คุณเพื่อนครับ

ผมอ่านแล้วต้องขอตอบแทนอาจารย์์ปัทมาวดี

ผมมองอย่างนี้ครับ คำว่า liberal จริงๆ แล้วคือ การเคารพในความต่างของพฤติกรรมและความคิดเห็น ใช่ไหมครับ? ตรงนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยได้ฝึก เพราะมีระบบอวุโสอยู่ นั้นหมายความว่าต้องเคารพผู้ใหญ่ ตรงนี้ทำให้คนที่อายุมากกว่าสามารถสั่งคนอายุน้อยกว่าได้ ทั้งภาษาไทยเองก็มีโครงสร้างเือื้อต่อการใช้งานในระบบอวุโส คือมีลำดับชั้น มีสุภาพ ไม่สุภาพ มีคำบอกความเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย เด็กพูดกับผู้ใหญ่ก็อย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่พูดกับเด็กก็อีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นเรื่องน่าสนใจที่คุณไมเคิลเอามาตีความในภาษาเรา

ผมมั่นใจว่าเรื่องที่ไม่ควรพูดนั้นมีอยู่ทุกประเทศครับ ลองมาที่อเมริกาแล้วพูดพวก N-word หรือลองไปแถวทางใต้แล้วด่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันสิครับ แต่อย่างไรก็ดี ผมสังเกตว่าประเทศอเมริกานั้นอายุยังไม่มาก และมีหลายเผ่าพันธุ์รวมกัน แรงต้านทานความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงสูงกว่า ประเทศอื่น (อันนี้ผมวิเคราะห์เอาเอง)

อีกเรื่องที่ผมติดใจคือ ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าการเรียกร้องให้คน "ไม่เปลี่ยน" นั้นเป็นเรื่องที่จะเกิดประโยชน์กับใคร การมาบอกว่าคนตุลาฯ เปลี่ยน แสดงว่าไม่มีอุดมคตินั้น ผมสงสัยว่าต้องให้เขาเป็นอย่างไรถึงจะพอใจครับ? ในเมื่อสังคมก็เปลี่ยน วัฒนธรรมที่ยังดำเนินต่อไปก็ต้องเปลี่ยน ภาษาเองก็เปลี่ยน (ถ้าไม่เปลี่ยน แสดงว่าเป็นภาษาตาย) แล้วทำไมคนในสังคมถึงจะเปลี่ยนไปตามบริบทเหล่านี้ไม่ได้หรือครับ?

สิ่งที่สำคัญในการ "เปลี่ยน" นั้น คือต้องบอกได้ว่าทำไมเปลี่ยน และจุดยืน (ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน) คืออะไรมากกว่านะครับ

ขอบคุณครับ 

สวัสดีจ้ะ...เพื่อน ...

  • เราดีใจเสมอที่มีเพื่อนแวะเวียนมาอ่านและแสดงความเห็นโดยไม่แสดงตัว
  • เพื่อนมีนิยามของ liberal อยู่ในใจ... บางทีต้องตีกรอบว่า  liberal ในเรื่องอะไร   liberal ในสภาวะใด
  • ดูเหมือนเพื่อนกำลังจะบอกว่า  เราไม่ liberal ต่ออำนาจบางอย่าง  เมื่อมีอำนาจนั้นครอบอยู่  เราก็ไม่กล้าแสดงออกถึงสิ่งที่เราคิด เราต้องการ เราคาดหวัง   
  • มีอำนาจอะไรบ้างที่ทำให้คนไทยยอมอยู่ในอาณัติ?  ...อำนาจเงิน  อำนาจ.....
  • เพราะการขัดขืน (อารยะหรือไม่อารยะ) ย่อมมีต้นทุน   อย่างนี้เรียกว่า liberal แบบ "รักษาตัวรอด" ต่างหาก
  • ผลสำรวจเรื่อง "นักการเมืองที่มีคุณธรรม" นั่นหรือ...... เรื่องเศร้าโดยแท้....
ขอบคุณคุณแว้บ อีกครั้งค่ะที่เข้ามาแสดงความเห็น    น่าสนใจค่ะ  

สวัสดีครับ อ.ปัท

ผมหายไปเสียนาน ต้องขอโทษด้วยครับ หวังว่าอ.คงสบายดี

พอดีช่วงนี้ได้อ่านงานของคุณไมเคิลบ้าง มาเปิดดูหน้าแรกๆก็เห็นมีเขียนขอบคุณอ.ปัทอยู่ด้วย (หนังสือชื่อ Democracy and National Identity in Thailand) จึงพอเดาได้ว่าเป็นไมเคิลคนนี้ที่อ.ปัทพูดถึงพอดี

ผมคิดว่าส่วนทีคุณไมเคิลยังไม่ได้ตอบอ.ปัทนั้นเขาได้เขียนตอบอยู่ในหนังสือของเขาอยู่บ้าง จึงขออนุญาตเอ่ยถึง

การที่คุณไมเคิลบอกว่าวัฒนธรรมไม่ได้ลอยมาจากฟ้าและวัฒนธรรมเกิดจากบริบทสังคมนั้น คงเป็นเพราะการเอ่ยถึงวัฒนธรรมลอยๆมันไม่สะท้อนถึงมิติ "ความสัมพันธ์ทางอำนาจ" ซึ่ง Marxist ให้ความสำคัญมาก

การมองไปให้ลึกกว่านั้นในเชิงวัฒนธรรม เพราะ Marxist สนใจว่าสังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบสามารถคงอยู่ได้อย่างไร และได้คำตอบว่าสังคมเหล่านั้นมีการสร้าง "อุดมการณ์" มารับรองการครอบงำของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า(และได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจอยู่)

วัฒนธรรมในการศึกษาของไมเคิล (จากหนังสือของเขา) จึงเจาะจงไปถึงมิติในเชิง "อุดมการณ์และความคิด" ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาและขยาย "อำนาจ" ของคนกลุ่มหนึ่ง

หนังสือ Democracy and National Identity in Thailand ของคุณไมเคิลได้เน้นถึงจุดดังกล่าวในบริบทของระบอบการปกครองแบบ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" โดยคุณไมเคิลกล่าวถึงกระบวนการสร้างอุดมการณ์ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ของรัฐไทย เพื่อรักษาอำนาจนำ (Hegemony) ของรัฐและชนชั้นนำที่มีอำนาจควบคุมรัฐ

 ประชาธิปไตย เมื่อถูกนำมาผสมกับ อุดมการณ์ชาตินิยมแบบไทย แล้วกลายเป็นอะไร เสริมสร้างและสนับสนุนอำนาจคนกลุ่มใด เป็นคำถามที่คุณไมเคิลตอบในหนังสือของเขา

 ส่วนประเด็นเรื่อง Liberal แบบไทยๆนั้น คุณไมเคิลเคยพูดถึงใน Paper ของเขาชื่อ The Reforming State: Security, Development, and Culture in Democratic Times (2003)

คุณไมเคิลกล่าวว่า Liberal แบบไทยๆนั้นน่าฉงนนัก ในเวลาเดียวกันกับที่กระแสสังคมผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งถูกเรียกว่าฉบับประชาชนขึ้นมาจนได้ แต่คนไทยกลับสนับสนุนผู้นำทางการเมืองที่ไม่มีความ Liberal เลยได้เช่นกัน

Liberal แบบไทยๆใน Paper นี้ของคุณไมเคิลจึงหมายถึง Liberal ที่ถูกผสมผสานไปกับกระบวนการสร้างอุดมการณ์ของชาติไทย ซึ่งพอรวมกันไปแล้ว มันกลายเป็น Liberal ที่ไม่อยู่ภายใต้การเคารพสิทธิที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแนวคิด Liberal ในเชิงตะวันตก

ขอโทษที่เขียนซะยาวครับ

ขอบคุณครับ

 

 

อาจารย์ธร  สวัสดีค่ะ

  • ดีใจมากที่อาจารย์ส่งข่าวมา  ขอบคุณมากๆสำหรับคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นมากว่าไมเคิลคิดยังไง   พี่เองยังไม่ได้อ่านงานเขาโดยละเอียดเลยค่ะ
  • ที่อาจารย์เขียนยาวๆนั้นดีแล้วค่ะ  ต้องขอบคุณอาจารย์ที่สละเวลามากกว่า 
  • อาจารย์กลับเมืองไทยครั้งที่แล้ว เราไม่ได้คุยกันมากนัก  ครั้งหน้าคงได้เจอและได้รับฟังเรื่องงานของอาจารย์บ้าง   หวังว่าคงก้าวหน้าไปด้วยดีนะคะ
  • อ้อ..ช่วยเดาหน่อยว่าคุณ "เพื่อน" ที่ส่งข่าวมานั้นเป็นใคร :)
  • โชคดีค่ะ

 

ขอบคุณ ทั้งสามท่านที่มาร่วมแลกเปลี่ยนครับ

ผมงงกับประโยคของคุณแว้บที่ว่า "ผมสังเกตว่าประเทศอเมริกานั้นอายุยังไม่มาก และมีหลายเผ่าพันธุ์รวมกัน แรงต้านทานความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงสูงกว่าประเทศอื่น" คืออ่านแล้วไม่เข้าใจจริงๆ ว่าหมายความว่าอะไร หมายถึงมีแรงต้านพวกที่แตกต่าง หรือหมายถึงการยอมรับในความแตกต่าง

เรื่องที่ไม่ควรพูดที่คุณแว้บอย่างใน US ประเภท political-correctness (อย่างเช่น การเรียกใครว่า Negro ยกเว้นเวลาพวกเขาอยากเรียกตัวเอง) นั้น ผมคิดว่าการ respect (ขอไม่ใช้คำว่าเคารพเพราะคิดว่าความหมายไม่ตรงนัก) เป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกสังคม รวมทั้งการ "ด่า" กันด้วย (เขียนแล้วก็นึกถึง สนธิ สุรววย และวุฒิพงศ์) 

แต่เรื่องประเภทไปภาคใต้ (ถึงแม้จะเป็น FL) แล้ววิจารณ์ (ไม่ใช่ "ด่า") บุชไม่ได้นั้น ผมไม่เชื่อครับ ผมเห็นฝรั่ง (โดยเฉพาะนักวิชาการ รวมทั้งในรัฐนั้นด้วย) วิจารณ์รวมทั้งแซวถึงความโง่ของบุชอยู่บ่อยๆ สถานภาพของบุชทั้งพ่อและลูกเทียบกับป๋าของหลายคนในวันนี้ยังไม่ได้เลย

เรื่องคนเปลี่ยน แน่นอนทุกคนเปลี่ยนครับ ผมไม่ได้เรียกร้องให้ใครไม่เปลี่ยน ที่พูดถึงคนเดือนตุลานั้น เป็นเพราะหลายคนเปลี่ยนจากการคิดและเชื่ออะไรแบบง่ายๆ ในยุคหนึ่งมาคิดและเชื่ออะไรแบบง่ายๆ ในอีกยุคหนึ่งต่างหาก  หรืออย่าง อ.สุวินัย แกก็เปลี่ยนสังคมนิยม เทพ เปรต มังกร กำลังภายใน ฯลฯ 10ล10 ไปได้เรื่อยๆ และผมก็ไม่ได้บอกว่า Marxism ดีหรือควรยึดถือนะครับ

ผมต้องออกตัวว่ายังไม่ได้อ่านหนังสือของไรท์ จึงไม่ขอพูดอะไรต่อจากที่พูดไปแล้ว

สำหรับผลสำรวจเรื่อง "นักการเมืองที่มีคุณธรรม" ซึ่ง อ.ปัทม์มองว่าเป็น "เรื่องเศร้าโดยแท้" นั้น ผมมองสองประเด็นคือ ประเด็นแรก นี่เป็นตัวอย่างข้อจำกัดของโพล (ที่ใครต่อใครนิยมทำกันมาก) ซึ่งคนตอบมักจะเลือกตอบจากชื่อ(หรือสิ่ง)ที่ตัวเองรู้จัก (ดังนั้น อ.อาจจะยังไม่ต้องเศร้ามากนักก็ได้) และประเด็นที่สองก็คือการสืบทอดวัฒนธรรมแบบ "ปลูกฝัง" (และโฆษณาชวนเชื่อ) นั้นทำได้จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนส่งสารกับคนรับสารมี wavelenght ที่ไม่ตรงกัน  

แต่ที่ผมไม่เคยเชื่อและยังไม่ยอมเชื่อก็คือเด็กไทยแย่ลง มีจริยธรรมน้อยลง และอีกหน่อยประเทศเราจะแย่ (ถ้าให้ออกความเห็นด้วยหรือเดาอคติส่วนตัวของผมเอง ผมมองตรงกันข้ามกับความเห็นทำนองนี้ครับ) 

  

   

ขออภัย ย่อหน้าที่สอง ผมจะบอกว่า

การ respect (ขอไม่ใช้คำว่าเคารพเพราะคิดว่าความหมายไม่ตรงนัก)คนอื่นเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทยที่หลายคนนิยมเรียกร้องความสนใจการ "ด่า" กันด้วย (เขียนแล้วก็นึกถึง สนธิ สุรวิชญ์ และวุฒิพงษ์) 

หมายเหตุ: สำหรับชื่อสุรววย (หัวคิด?) ผมเรียกเขาด้วยชื่อนี้จนชินตั้งแต่เขาเขียนบทความตั้งชื่อสรยุทธ เป็น สรยวย หัวคุด   

ขอเติมย่อหน้าสุดท้ายนิดหนึ่งว่า ผมรำคาญพวกโพลด่าเด็ก ที่คอยจะไปตั้งคำถามก่อนเทศกาลต่างๆ ว่าเด็กเตรียมจะมีเซ็กซ์กันวันนั้นหรือเปล่า แล้วก็มารำพึงรำพันสั่งสอน(หรือด่า)เด็กกันต่อ ในขณะที่สังคมผู้ใหญ่ปากว่าตาขยิบกันเป็นว่าเล่น   

 

 

 

อ.ปัทม์

"ดูเหมือนเพื่อนกำลังจะบอกว่า  เราไม่ liberal ต่ออำนาจบางอย่าง  เมื่อมีอำนาจนั้นครอบอยู่  เราก็ไม่กล้าแสดงออกถึงสิ่งที่เราคิด เราต้องการ เราคาดหวัง"

----------------------------------------- 

ครับ ถ้าคำว่า "เรา" ที่ อ. ใช้หมายถึงคนไทยส่วนใหญ่

แต่ไม่ใช่ ถ้าคำว่า "เรา" หมายถึงตัว อ. เอง  เพราะ "เรา" (ตรงนี้เปลี่ยนมาหมายถึงเราสองคนแล้วนะ) ห่างกันนานจนไม่อาจคาดเดาว่าตัว อ. เองคิดอย่างไรในวันนี้

แต่ก็ดีใจที่เห็น อ. ทำในสิ่งที่ "เรา" (อันนี้หมายถึงตัวผมเอง) เคยคิดไว้ว่าจะทำงานประเภทนี้เมื่อ "เราจะโต" ซึ่งเขียนแบบนี้ "เธอ" คงเดาได้ว่า "เรา" ไม่(ค่อย)ได้ทำ 

ปล. ถึงแม้ภาษาพวกนี้จะเก่า แต่ก็เป็นภาษาที่ดิ้นได้เยอะเลย เพราะฉนั้น คงไม่กลายเป็น "ภาษาตาย" (ที่ไม่ใช่ภาษาใต้) ตามวจีที่คุณแว้บได้ง่ายนักนะครับ  :)  

ขออภัยที่โพสต์สุดท้ายลืมใส่ชื่อ (จริงๆ คือนามแฝง) ไป

(คือจะบอกแค่ว่าไม่ตั้งใจจะใช้นามดังกล่าว เดี๋ยวจะมีใครเข้าใจว่าตั้งใจหลังจากที่ได้อ่านข้อความนี้จากข้างบน

สวัสดีจ้ะ...เพื่อน ...

  • เราดีใจเสมอที่มีเพื่อนแวะเวียนมาอ่านและแสดงความเห็นโดยไม่แสดงตัว

---

ปล. ขออภัยด้วยที่กลายเป็นโพสต์หลายอัน (จากที่ควรเป็นอันเดียว)  การโพสต์แบบไม่คิดดีๆ ก่อนว่าเขียนครบทุกประเด็นที่อยากเขียนแล้วยังก็เป็นแบบนี้แหละครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท