เศรษฐกิจฐานความรู้ คือ คำตอบของการพัฒนาในวันนี้


สิ่งที่เขานำเสนอบ่งบอกให้ “ตื่นรู้” อย่างชัดเจนว่า เขาวางแนวทางพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่มีการสร้างสรรค์ – จัดหา – ดัดแปลง - เผยแพร่และนำความรู้ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ได้อย่างไร ?

เพราะเหตุอันเนื่องมาจากการได้รับมอบหมายให้ ออกแบบโครงการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายมานิต วัฒนเสน นำพาให้ผมได้พบปะพูดคุยกับบุคคลในแวดวงไบโอเทคหลายท่าน หนึ่งในนั้นก็คือ นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)

เราพูดคุยกันมากมายหลายเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริม / สนับสนุนให้ชุมชน-ท้องถิ่น และนักธุรกิจ SMEs พัฒนาอาชีพของตนเองโดยการสร้างสรรค์ นวัตกรรม (Innovation) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตภายใต้ระบบการแข่งขันและกลไกตลาดเสรี ที่ต้องการ ความแตกต่าง (Difference), ดีที่สุด (The Best) และ เป็นรายแรก (The First)

เรื่องหนึ่งที่คุณศุภชัยซึ่งกำลังเรียน วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) อยู่ในขณะนี้ และมีโปรแกรมจะมาดูงานจังหวัดทางภาคใต้ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ฝากบอกมาและผมเห็นว่าน่าจะนำมาบอกต่อ ขยายความ ให้สังคมชุมพรได้เรียนรู้ร่วมกันก็คือ คณะนักศึกษา วปอ. แทบจะเดาไม่พลาดเมื่อเข้ารับฟังการบรรยายสรุปสภาวะเศรษฐกิจ-สังคมของจังหวัดต่าง ๆ จะมีเรื่องหลักซ้ำไป-ซ้ำมา วนเวียนกันอยู่ 2 เรื่อง คือ ปัญหาผลผลิตทางการเกษตร และการท่องเที่ยว

ถามว่า 2 เรื่องนี้ สำคัญหรือไม่ ? ตอบได้ว่า สำคัญแต่ดูเหมือนว่า แนวทางการแก้ปัญหา การพัฒนา ที่หยิบยกมานำเสนอ (และเรียกร้องความช่วยเหลือแบบไม่ค่อยมีทางออก) คณะนักศึกษา วปอ. ฟังกันมาแล้วหลายรอบ อาการเบื่อก็เลยเกิดขึ้น ตามมาด้วยท่าทีที่บอกให้รู้ว่า ... รีบ ๆ จบกันเลยดีกว่า

การเดินทางมาศึกษาดูงานก็เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟัง รับทราบ นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ ภายใต้การบริหารงานที่เข้มแข็งแตกต่างไปจากที่อื่น แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นการเรียกร้อง บ่งบอกให้รู้ตำแหน่งใน Boston’s Model ว่าตกอยู่ในสภาวะ หนูน้อยงอแง...พ่อแม่กลุ้มใจ

ตรงกันข้ามกับการศึกษาดูงานในต่างประเทศที่เดินหน้าไปอย่างเข้มแข็งภายใต้แนวทาง เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) สิ่งที่เขานำเสนอบ่งบอกให้ตื่นรู้อย่างชัดเจนว่า เขาวางแนวทางพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่มีการสร้างสรรค์ จัดหาดัดแปลง - เผยแพร่และนำความรู้ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ได้อย่างไร ?

คำตอบมีอยู่แล้วอย่างชัดเจนว่า จะต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการเป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ

  1. ระบบนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี (Innovation System & Technological Adoption) หมายถึง การมีระบบนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับ ทั้งในระดับกิจการผลิต ศูนย์วิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัย กลุ่มคนที่มีความรู้ รวมทั้งองค์กรที่ปรึกษาจากภาครัฐและเอกชน ที่มีความสามารถในการจัดหา เผยแพร่ แลกเปลี่ยนและรับเอาความรู้มาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับความต้องการในท้องถิ่น ตลอดจนสามารถนำความรู้นั้นๆ มาใช้ปรับปรุง ต่อยอดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่

  2. ประชากรที่มีการศึกษาและแรงงานที่มีความรู้-มีฝีมือ (Educated, Creative & Skilled Labor Force) จะเป็นตัวกลางในการสร้าง (Knowledge Creation) การใช้ (Knowledge Utilization) และการกระจายความรู้ (Knowledge Diffusion) สู่ระบบเศรษฐกิจและสังคม ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับคุณภาพจะต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยที่เน้นการค้นคว้า ทดลอง เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะในเชิงปฏิบัติ ร่วมกับการฝึกอบรมที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสูง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เนื่องจากความรู้ / ความสามารถของบุคคลอาจถดถอยหรือหมดสิ้นไปหากขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

  3. เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม (Information & Communication Technologies) โลกปัจจุบันพึ่งพาเทคโนโลยีหลัก 3 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยีและวัสดุศาสตร์ ซึ่งเมื่อถูกนำมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมแล้ว จะเกิดพลังที่กระตุ้นให้มีการแพร่กระจายและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนและธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศจากทั่วทุกมุมโลกได้ และนำข้อมูลนั้นมาสังเคราะห์ กลั่นกรองให้เป็นความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

  4. สภาพแวดล้อมและสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic & Institutional Regime) ได้แก่ กฎระเบียบข้อบังคับ ความเชื่อ ค่านิยมของสังคมที่เปิดกว้างยอมรับแนวความคิดใหม่ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนในสังคมกล้าคิดค้นวิธีปฏิบัติ และความรู้ ความคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ รวมถึงนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการสร้าง และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน

ปัจจัยทั้ง 4 ข้อนี้ ผมได้มาจากเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ www.nesdb.go.th ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ขอเชิญท่านที่สนใจเข้าไปติดตามโดยพลัน.

หมายเลขบันทึก: 163800เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2008 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท