แผนที่ความรู้...นำสู่การสร้างความรู้


แผนที่ความรู้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการประมวลความรู้ของนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งมีแนวคิดเดียวกันกับการทำสมุดประมวลและการทำโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ของช่วงชั้นที่ ๑ ๓ ที่กำหนดให้สัปดาห์ที่ ๙ และ ๑๐ ของแต่ละภาคเรียน  เป็นช่วงเวลาที่นักเรียนจะต้องประมวลความรู้ทั้งด้านเนื้อหาสาระและทักษะออกมาเป็นโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้และสมุดประมวลความรู้

  

แต่เนื่องจากสาระวิชาในช่วงชั้นที่ ๔ มีลักษณะที่ลงลึกในแต่ละศาสตร์รวมทั้งในการเรียนของช่วงชั้นที่ ๔ นั้น จะต้องมีการสอบปลายภาคเพื่อประเมินการเรียนรู้ด้านเนื้อหาสาระอยู่แล้ว  ทำให้การประมวลความรู้แบบโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้และการทำสมุดประมวลที่นักเรียนในช่วงชั้นที่ ๑-๓ ที่ต้องใช้เวลาในสัปดาห์ที่ ๙ และ ๑๐ ไม่เหมาะสำหรับนักเรียนในชั้น ๑๐ ที่จะต้องมีการเรียนการสอนถึงสัปดาห์ที่ ๙ และมีการสอบปลายภาคในสัปดาห์ที่ ๑๐

ดังนั้นการประมวลความรู้ของช่วงชั้นที่ ๔ จึงจำเป็นต้องมีลักษณะที่กระชับ และจะต้องสามารถประมวลความรู้ได้จริงในเวลาอันสั้น  คณะครูจึงได้คิดรูปแบบการประมวลความรู้ของนักเรียนชั้น ๑๐ ออกมาเป็นแผนที่ความรู้  โดยกำหนดให้ 

  

  • แผ่นที่ ๑        เป็นแนวคิดหลักในแต่ละสาระวิชาที่เรียนในภาคเรียนนั้น ๆ โดยนักเรียนต้องนำเสนอในรูปของผังมโนทัศน์

  • แผ่นที่ ๒        เป็นการเชื่อมโยงแนวคิดหลักของแต่ละสาระวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักเรียนค่อยๆประมวลความรู้ความเข้าใจต่างๆที่มีความสัมพันธ์กันเข้ามาหากัน

  • แผ่นที่ ๓        เป็นการนำเสนอความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนแต่ละคน  ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไป

  • แผ่นที่ ๔        เป็นการบอกเล่าถึงที่มาของความรู้ใหม่ว่าประกอบกันขึ้นมาจากความรู้ส่วนใด หรือเรื่องใดบ้าง

ก่อนที่นักเรียนจะได้ประมวลความรู้กันในสัปดาห์ที่ ๙ ซึ่งยังคงมีการเรียนการสอนตามปกตินั้น  ในสัปดาห์ที่ ๘  ครูทุกสาระวิชาจะสรุปเนื้อหาสาระและแนวคิดหลักของแต่ละสาระวิชา  เพื่อช่วยผู้เรียนในการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ซึ่งจะตกผลึกกลายเป็นการทำแผนที่ความรู้ในสัปดาห์ที่ ๙

เนื่องจากการประมวลความรู้เป็นสิ่งที่นักเรียนชั้น ๑๐ ที่เป็นนักเรียนเก่าของเพลินพัฒนาคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว  หลังจากที่ครูอธิบายถึงส่วนประกอบต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว  จึงแบ่งกลุ่มให้นักเรียนใหม่และนักเรียนเก่าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน  เพื่อให้นักเรียนเก่าช่วยอธิบายถึงวิธีการและแนวคิดของการทำแผนที่ความรู้ที่มีลักษณะคล้ายกับการทำสมุดประมวลฉบับย่อ

นักเรียนลงมือทำแผนที่ความรู้ในวันศุกร์ของสัปดาห์ที่ ๙ โดยแต่ละกลุ่มก็กระจายกันไปทำในที่ต่าง ๆ บางกลุ่มนั่งทำในห้องสมุด  บางกลุ่มทำในห้องเรียน  บางกลุ่มนั่งทำตรงระบียงซึ่งจะไม่เป็นการรบกวนกันเมื่อมีการปรึกษากันภายในกลุ่ม

  

และในที่สุด การทำแผนที่ความรู้ที่แผ่นที่ ๑ และ ๒ ก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงภายในเช้าวันนั้น  นักเรียนเกือบทั้งหมดทำเสร็จเรียบร้อย  ส่วนแผ่นที่ ๓ และ ๔ นั้น  นักเรียนส่วนใหญ่ใช้เวลาตลอดบ่าย จนกระทั่งถึงเวลาเลิกเรียนก็ยังไม่เสร็จ  มีคนที่ทำเสร็จเพียง ๓-๔ คนเท่านั้น  เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องใช้ความคิดและความรู้ส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันขึ้น  นักเรียนบางคนกล่าวว่า ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย

สัปดาห์ที่ ๑๐ เมื่อนักเรียนส่งแผนที่มาให้ตรวจ  เป็นช่วงเวลาที่ไม่แตกต่างจากครูในช่วงชั้นอื่น ๆ คือ ชื่นใจได้เห็นการเรียนรู้  มีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นักเรียนชั้น ๑๐ ที่มีอายุอยู่ในช่วง ๑๔ ๑๕ ปี ผลิตความเข้าใจของเขาขึ้นมาจากกระบวนการเรียนรู้ที่ค่อยๆสั่งสมกันขึ้นมานั่นเอง   

หมายเลขบันทึก: 162310เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2008 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดีๆ  ผมกำลังสนใจเรื่องการทำแผนที่ความรู้อยู่พอดีเลยครับ หากมีโอกาสคงได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำแผนที่ความรู้เพิ่มเติมอีกนะครับ..

สวัสดีค่ะคุณเรวัต ดีใจที่ประสบการณ์เล็กๆของโรงเรียนมีประโยชน์ แต่นี่ก็เป็นวิธีการที่ครูทั้งหลายคิดกันขึ้นมาโดยไม่ได้อิงทฤษฎีอะไร :) คิดกันว่าน่าจะเป็นวิธีที่จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียน ก็เลยนำมาใช้ แล้วก็ได้ผลค่ะ

ครูใหม่

 

ป.ล. ตอนนี้โรงเรียนอยากได้คนที่สนใจกระบวนการเรียนรู้ และอยากสร้างให้เด็กเข้าถึงภาษา และภูมิปัญญาไทยมาร่วมงานค่ะ พอมีใครจะแนะนำมาบ้างไหมคะ

ขอบคุณค่ะ :)

 

บันทึกนี้เป็นประโยชน์จริงๆค่ะ

ขอบคุณคุณsasinanda ที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนให้หายคิดถึงค่ะ

ครูใหม่:)

เรียน อ.วิมลศรี ศุษิลวรณ์

ผมขออนุญาตเรียนถามเกี่ยงกับแผนที่ความรู้ครับ

อาจารย์ช่วยแนะนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนแผนที่ความรู้ด้วยครับ

โปรแกรมเหล่านี้ เหมือนกับโปรแกรมที่ใช้เขียนแผนที่ความคิด (Mind mapping) หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

ถ้าโปรแกรมที่คุณหมายถึงคือโปรแกรมสำเร็จรูป เราไม่ได้ใช้ค่ะ แต่ให้นักเรียนเขียนขึ้นจากความเข้าใจโดยใช้หลักการของ concept map ค่ะ  ส่วน mind map เป็นชื่อทางการค้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท