สัมมนาองค์ความรู้แก้ปัญหา “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม”


 

ศาลฎีกาที่สหรัฐฯ, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, ฯลฯ ต่างวางหลักพื้นฐานว่า รัฐธรรมนูญสมัยใหม่ในทุกชาติ ต่างมีสภาพบังคับอัตโนมัติ (Self-Executing) ทั้งสิ้น กล่าวคือ ประชาชนยกขึ้นอ้างได้ ในทันทีที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ โดยไม่ผูกมัดต้องคอยกฎหมายลูกใดๆ จากฝ่ายนิติบัญญัติ.  ข้อสันนิษฐานนี้ มีความจำเป็น เพราะไม่เช่นนั้น รัฐสภาจะมีอำนาจบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน หรือทำให้รัฐธรรมนูญเป็นโมฆะได้ โดยไม่ยอมออกกฎหมายลูก ตามที่บังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ.

กฎหมายลูกที่จะออกมาในภายหลัง จะกำหนดได้ ก็แต่เพียงเงื่อนไข & ข้อจำกัดที่สมเหตุสมผลเท่านั้น ซึ่งจำต้องสอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐ ที่ชัดแจ้งแล้วว่า มีบทบัญญัตินั้นมา เพื่อประโยชน์มหาชน.”

สัมมนาทางวิชาการในวันเสาร์ที่ ๒๕ กพ. ๐๖ นี้ จะเสนอผลการวิจัยในเรื่อง หลักนิติศาสตร์สากล ที่ศาลนานาชาติ วางหลักพื้นฐานไว้ว่า “ศาลมีอำนาจปรับใช้ไปได้เลย” (ยกเว้นในบางกรณี) เรียกว่าหลัก “Self-Executing” (แปลไทยว่า “สภาพบังคับอัตโนมัติ”) คือ บังคับใช้ในทันทีไปได้เลย โดยไม่ผูกมัดต้องคอยกฎหมายลูก.

ต่อจากนี้ คือหนังสือเชิญสัมมนา ซึ่งเปิดกว้างแก่ผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะท่านที่มุ่งมั่นจะช่วยเผยแพร่ความรู้ & ความคิดว่า ผู้พิพากษาไทยควร:

  • มีคำพิพากษาที่มีหลักวิชาการ.
  • เขียนเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงพิพากษาเช่นนั้น.
  • ตีความกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม (Social Justice) ไม่ใช่ตีความตามตัวบทสถานเดียว.

ท่านที่สนใจเข้าร่วมสัมมนา กรุณาติดต่อขอสำรองที่นั่งได้ ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในนี้ และท่านจะดูกำหนดการสัมมนาได้ ที่ท้ายหนังสือเชิญ.

 

 

หนังสือเชิญ

 

สำนักงานสิทธิมนุษยชน

สภาทนายความ

ที่ สท.สสม.180/2549

16 กุมภาพันธ์ 2549

เรื่อง  ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง องค์ความรู้แก้ปัญหาทางปฏิบัติเพื่อตีความวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

เรียน  ท่านที่นับถือ

สิ่งที่ส่งมาด้วย

  1. Concept Paper
  2. กำหนดการ

ด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (โดยคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม) กับสภาทนายความ (โดยสำนักงานสิทธิมนุษยชน) ได้ริเริ่มการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง องค์ความรู้แก้ปัญหาทางปฏิบัติเพื่อตีความวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ขึ้น ทั้งนี้ โดยมี 7 องค์กรร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ได้แก่

  1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (คณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม)
  2. สภาทนายความ (สำนักงานสิทธิมนุษยชน)
  3. มูลนิธิคอนราด อเดนาว (Konrad Adenau Stiftung)
  4. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี)
  5. สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม & ความเป็นธรรมในสังคม (สปรย.) ภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDF)
  6. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. ฝ่าย 4)
  7. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในการนี้ เราได้กำหนดเป้าหมายการสัมมนาไว้ 6 ประการ ดังนี้

  1. เป็นการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยในลักษณะ Comparative Law Research ต่อสาธารณชนคนไทย และ เพื่อสนับสนุนข้อมูลและแนวความคิดในเชิงวิชาการ ให้ท่านผู้พิพากษาไทย ได้ตัดสินคดีที่พิทักษ์สิทธิ-เสรีภาพ โดยไม่ติดขัดว่าจะ “ต้องคอยกฎหมายลูกก่อน
  2. แม้จะเป็นการสัมมนาทางวิชาการ แต่มีความชัดเจนว่า มุ่งแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ
  3. ไม่มุ่งหวังให้การสัมมนานี้ มีบรรยากาศเป็นการกดดันต่อสถาบันตุลาการไทย เพราะมีความเชื่อมั่นว่า อิสรภาพแห่งตุลาการ (Judicial Independence) ย่อมมีความสำคัญต่อสิทธิ-เสรีภาพของประชาชนเอง เพราะเป็นหลักประกันว่า จะไม่มีผู้ใดกดดันสถาบันนี้ได้ ดังนั้น ทุกฝ่าย (รวมทั้งประชาชน) ต้องให้ความเคารพต่อสถาบันตุลาการ ว่าไม่ใช่สถาบันที่จะกดดันกันได้ แม้เราเห็นว่า ท่านตุลาการควรเปิดใจรับฟัง และไม่ยึดมั่นในความคิดของท่านสถานเดียว เพราะแม้หลัก “Judicial Independence” จะสำคัญเพียงใด แต่หลัก “Social Accountability of the Judiciary” ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเช่นกัน คือ ตุลาการมีหน้าที่ต้องให้เหตุผลที่ชัดแจ้ง ว่าเหตุใดท่านจึงตีความกฎหมาย หรือมีคำพิพากษาเช่นนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การอ้างหลัก “Judicial Independence” ในประเทศเสรีประชาธิปไตย จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนบางประการด้วย
  4. เป็นการริเริ่มและเสนอให้มีการจัดสัมมนาในปัญหานี้ เฉพาะในวงการตุลาการไทย ในทุกศาลต่อไป แต่ในครั้งนี้ จะไม่เน้นเชิญท่านตุลาการมาร่วมสัมมนา เพราะไม่ประสงค์ให้เกิดบรรยากาศ ที่ผู้เข้าสัมมนาส่วนใหญ่ ต่างรุกซักไซ้ตุลาการไม่กี่ท่าน และอาจนำไปสู่บรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ได้ เพราะการสัมมนานี้มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เพื่อตำหนิติเตียนกัน
  5. การสัมมนาครั้งนี้ มีขอบเขตจำกัดเฉพาะวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพียง 2 มาตรา คือ “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ตามมาตรา 46 กับ “สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ตามมาตรา 56 เปรียบเทียบกัน ซึ่งการจำกัดขอบเขตเช่นนี้ มีความจำเป็น เพราะไม่ต้องการให้แตกไปในหลายประเด็น อันจะทำให้การสัมมนาไม่มีจุดมุ่งที่ชัดเจน และไม่สามารถนำไปสู่การ แก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ได้จริงจัง
  6. นี่เป็นเพียงการสัมมนาขั้นต้น เพื่อนำไปสู่เวทีสาธารณะที่กว้างขวางและหลากหลายยิ่งขึ้น สำหรับวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในบทบัญญัติอื่นๆในรัฐธรรมนูญ ต่อไปในอนาคต
การสัมมนานี้ มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 13.00 – 18.00 น. ณ ห้องประชุม101 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชิงสะพานหัวช้าง ถนนพญาไท (ตึก ป.ป.ง.) ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้
จึงเรียนเชิญท่านเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย โดยกรุณาติดต่อแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสัมมนาได้ที่
  • สภาทนายความ (โดยสำนักงานสิทธิมนุษยชน) โทร. 02-629-1430 ต่อ 135, 136 หรือโทร. 02-282-9906 (คุณสมชาย หอมลออ, Email: [email protected])
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (คุณเพ็ญพรรณ อินทปันตี, โทร. 02-219-2966; Email: [email protected])

คณะเจ้าภาพผู้จัดการสัมมนานี้ มีความหวังว่า ท่านจะให้ความสนใจ ในการเข้าร่วมสัมมนาโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในการพิทักษ์รักษาสิทธิ-เสรีภาพของประชาชนไทย ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

 

(นายสมชาย หอมลออ)

ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

 

สำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

โทร. 0-2629-1430 ต่อ 135, 136

โทรสาร 0-2282-9906


 

กำหนดการ

โครงการสัมมนาทางวิชาการ

เรื่อง

องค์ความรู้แก้ปัญหาทางปฏิบัติเพื่อตีความวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 13.00 – 18.00 น.

ณ ห้องประชุม 101 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชิงสะพานหัวช้าง ถนนพญาไท (ตึก ป.ป.ง.)

------------------------------------------

 

เวลา 13.00 – 13.30 น.         ผู้เข้าสัมมนาลงทะเบียน

เวลา 13.30 – 13.45 น.         กล่าวเปิดการสัมมนาโดยคุณวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน

เวลา 13.45 – 15.45 น.         การอภิปรายเรื่อง ทำอย่างไรศาลไทยจึงจะบังคับใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่มีวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในทันทีไปได้เลย โดยไม่ผูกมัดต้องคอยกฎหมายลูก (จำกัดเฉพาะเรื่อง “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ตามมาตรา 46 กับ “สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ตามมาตรา 56 เปรียบเทียบกัน), ดำเนินการอภิปรายโดยคุณวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน

  • ท่านผู้พิพากษาจรัญ ภักดีธนากุล (เลขาธิการประธานศาลฎีกา)
  • อจ. บรรเจิด สิงคะเนติ (คณะนิติศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
  • อจ. พิเชษฐ เมาลานนท์ (คณะนิติศาสตร์, มหาวิทยาลัยนีกาตะ, ประเทศญี่ปุ่น)

เวลา 15.45 – 16.00 น.         พัก (รับประทานน้ำชา-กาแฟ)

เวลา 16.00 – 17.30 น.         อภิปรายทั่วไป, ดำเนินการโดยคุณสมชาย หอมลออ และ อจ. พิเชษฐ เมาลานนท์

เวลา 17.30 – 18.00 น.         สรุปการสัมมนา โดย อจ. สีลาภรณ์ บัวสาย จาก สกว.

 

------------------------------------------

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16118เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท