เยี่ยมชมการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมาเก๊า


นับเป็นโอกาสดีที่จะดูว่ามาเก๊าเมืองกาสิโนมีการจัดการศึกษาอย่างไร

CITY EDU /บทความการศึกษา / เยี่ยมชมการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมาเก๊าธนสาร  บัลลังก์ปัทมา 

พิมพ์ครั้งแรก Thecityjournal ฉบับวันที่ 1-31 มกราคม 2551                     

 

                การจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพนั้น  สิ่งที่บอกถึงคุณภาพได้ดีประการหนึ่ง คือ ผู้เรียน ซึ่งถือเป็นผลผลิตซึ่งเกิดจากอบรมสั่งสอนของครู ที่ปฏิบัติตามนโยบายของผู้บริหารและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  จากการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่ผ่านมา จะพบว่ากระทรวงศึกษาธิการได้นำผลจากงานวิจัยการใช้หลักสูตรมาเพื่อทำการปรับปรุงหลักการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดคุณภาพตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด  สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติได้ดี คือ การเทียบเคียง (Benchmark) ซึ่งหมายถึง วิธีการวัดและเปรียบเทียบ. หรือค้นหาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices). จากองค์กรอื่น  ในส่วนของการจัดการศึกษาควรมีการเทียงเคียงการจัดการศึกษาของไทยกับต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสม ทันเหตุการณ์ โดยเปิดโอกาสให้ครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนที่มีผลการประเมินภายนอกระดับดีมาก ได้ไปศึกษาดูงานด้านการจัดการศึกษาในประเทศต่าง ๆ

                การศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมาเก๊า The International School of Macau : TIS เป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ต้อนรับผู้ศึกษาดูงานจากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เห็นการจัดการศึกษาในเขตปกครองพิเศษมาเก๊า ว่าเมืองที่มีกาสิโนแห่งนี้มีการจัดการศึกษาอย่างไร ซึ่งคณะนักศึกษาปริญญาโทบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์ศาลายา นำโดย ผศ.ดร.สรายุทธ  เศรษฐขจร ผศ.สมหมาย มหาบรรพต และ ดร.เปรมสุรีย์  เชื่อมทอง ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเพื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาของไทย                การจัดการศึกษาในโรงเรียน The International School of Macau ตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยการจัดการศึกษา แบ่งชั้นเป็นเกรดต่าง ๆ ตั้งแต่เกรด 112  โดยใช้หลักสูตรจากแคนาดา มีครูส่วนใหญ่เป็นชาวแคนาดา เปิดรับนักเรียนจากในมาเก๊าร้อยละ 60 และเป็นนักเรียนต่างชาติอีกประมาณร้อยละ 40  ในจำนวนนี้มีนักเรียนไทยรวมอยู่ด้วย สิ่งที่แตกต่างจากไทยที่เห็นได้ชัด คือ จำนวนนักเรียนต่อห้องที่มีไม่เกิน 25 คน  มีรายวิชาที่เรียน คือ ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน (ภาษาประจำชาติ), คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา, พลศึกษา

                ในส่วนของการจัดห้องสมุดได้แบ่งห้องสมุดออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสมุดระดับประถมศึกษาและห้องสมุดระดับมัธยมศึกษา

                ด้านอาคารสถานที่โรงเรียนมีอาคารสถานที่กว้างขวาง มีโรงยิมที่ใช้เป็นโรงอาหารได้ด้วย โดยมีโต๊ะรับประทานอาหารแบบพับได้ สนามเด็กเล่นปูพื้นยางมีหลังคา สนามฟุตบอลหญ้าเทียม ซึ่งแตกต่างจากสนามของโรงเรียนในไทย

                ด้านระบบรักษาความปลอดภัย มียามคอยดูแลล็อคประตูไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในอาคารของโรงเรียน

                การให้การต้อนรับของเจ้าหน้าที่ให้บรรยากาศที่เป็นกันเอง ผิดจากที่พวกเราคาดไว้ มีครูใหญ่บรรยายให้ความรู้ ตอบข้อซักถาม ซึ่งแม้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาบางคนจะไม่คล่องแคล่ว แต่ครูใหญ่ก็สามารถเข้าใจและตอบข้อสงสัยขอเราได้อย่างชัดเจน

                โรงเรียนจัดการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม มีคณะกรรมการสถานศึกษา(สคูลบอร์ด) โดยมีครูใหญ่เป็นประธาน มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัย และผู้ปกครองมาร่วมให้ความเห็น ด้านบุคลากรครูส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีทั้งชาวแคนาดา และชาวมาเก๊า

                การจัดการเรียนการสอน ในห้องเรียนจะมีครู 1 คน และผู้ช่วยครู 1 คน นักเรียนไม่มีการซ้ำชั้น แต่ใช้ระบบซ่อมเสริมเพื่อแก้ปัญหาแทน มีการใช้ ICT ในการจัดการเรียนการสอน ในวิชาศิลปะมีการสอดแทรกแนวคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้นักเรียนประดิษฐ์ชิ้นงานเป็นโมเดลจำลองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น น้ำทะเลที่มีคราบน้ำมันและขยะปนเปื้อน นอกจากนี้ยังมีการนำผลงานนักเรียนมาติดแสดงไว้บนกระดานแสดงผลงาน  มีการนำนักเรียนและครูศึกษาดูงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนได้นำนักเรียนและครูมาศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย โรงเรียนเปิดโอกาสให้ครูทำงานพิเศษหลังจากเลิกเรียนได้ โดยต้องแจ้งให้ฝ่ายบริหารทราบ และต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งบำรุงโรงเรียน โดยครูส่วนใหญ่ที่รับงานพิเศษจะรับงานสอนพิเศษภาษาอังกฤษ

                อัตราค่าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมาเก๊ากลับไม่แพงอย่างที่คิด นักเรียนมาเก๊าจะเสียค่าเรียนประมาณภาคเรียนละ 8,000 PATAKA (1 PATAKA เท่ากับ 1 DOLLAR Hong Kong โดยประมาณ ซึ่งเท่ากับ 4.42 บาท) คิดเป็นเงินไทยประมาณ  35,00050,000 บาท ต่อภาคเรียน

                สำหรับเงินที่ใช้ในมาเก๊า ส่วนใหญ่ใช้เงินดอลล่าร์ฮ่องกง รองลงมาคือเงิน ปาทากามาเก๊า ส่วนเงินหยวนจีนมีบางร้านที่รับ แต่ขอแนะนำให้นำเงินหยวนจีนไปแลกที่ร้านรับแลกที่มีอยู่หลายร้านจะได้ราคาดีกว่า คือ 100 หยวน ต่อ 104 ดอลล่าร์ฮ่องกง ส่วนเงินไทยถ้าไปแลกที่นั่นจะคิดที่ 1 ดอลล่าร์ฮ่องกงเท่ากับ 5 บาท จึงขอแนะนำให้แลกเงินดอลล่าร์ฮ่องกงจากเมืองไทยจะดีกว่า ด้านความเชื่อเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธจึงมีความเชื่อเกี่ยวกบฮวงจุ้ยและเจ้าแม่กวนอิมเหมือนกับฮ่องกงและจีน

                  สุดท้ายนี้ต้องขอขอบพระคุณโรงเรียนนานาชาติมาเก๊า ที่เปิดโอกาสให้เราเยี่ยมชมการจัดการศึกษา มา ณ โอกาสนี้/// 

หมายเลขบันทึก: 161133เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2008 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเก๊ามีเสน่ห์น่าสนใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท