แก้จนเมืองนคร (สรุป15และเตรียม21ก.พ.)


ความรู้แรกคือ เป้าหมายของโครงการ ความรู้ที่ 2คือ บูรณาการหน่วยงาน/องค์กรเพื่อระดมคน และทรัพยากรลงไปสนับสนุนอย่างประสานเชื่อมโยงโดยมีชุมชนเป็นแกนกลางของการพัฒนา ความรู้ที่ 3 คือ บทบาทของหน่วยสนับสนุน ความรู้ที่ 4 คือ เจตคติ ความรู้และทักษะของคุณอำนวย ความรู้ที่ 5 คือ การจัดทัพ

การประชุมคณะทำงานทางวิชาการด้านการจัดการความรู้โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครเมื่อวันที่15ก.พ.ประสบผลสำเร็จเกินคาด มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ แต่ก็ขาดไป2หน่วยงานสำคัญคือเกษตรและสาธารณสุข (วันนั้นรมต.สุดารัตน์ลงเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมที่นครศรีธรรมราชพอดี) เราเริ่มรายการโดยแนะนำตัวทำความรู้จักกัน จากนั้นน้าประยงค์และจ่าจังหวัดเล่าความเป็นมาของโครงการ แนวคิดและกระบวนการดำเนินงานและสถานะการณ์ของโครงการในปัจจุบันซึ่งโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครจะเข้ามาเชื่อมต่อ ซึ่งผมได้พูดเสริมเป้าหมายโครงการของเครือข่ายยมนาและปกครองจังหวัดที่ครอบคลุมกลุ่มคนและพื้นที่กว้างขวาง การจะแปลงแนวคิดให้เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้ต้องจัดกำลังสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพโดยเราต้องใช้ความรู้เป็นแกนกลางในการทำงาน

ความรู้แรกคือ เป้าหมายของโครงการ

เรื่อง แก้จนอย่างยั่งยืนเพื่อไปสู่ชุมชน สังคมเมืองนครศรีธรรมราชตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง    ที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่นำร่องจำนวน 400 หมู่บ้าน ผู้นำชุมชน 3,200 คน สมาชิกจำนวน 25,600 คน/ครัวเรือนในปี 2549 และดำเนินการต่อเนื่องถึงปี2551

ความรู้ที่ 2 คือ บูรณาการหน่วยงาน/องค์กรเพื่อระดมคน และทรัพยากรลงไปสนับสนุนอย่างประสานเชื่อมโยงโดยมีชุมชนเป็นแกนกลางของการพัฒนา

การเชื่อมโยงหน่วยสนับสนุนร่วมกันทำงานในบทบาทของผู้สนับสนุนการเรียนรู้ โดยนำข้อมูลรายครัวเรือนมาวิเคราะห์จัดระดับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมกับเจ้าของข้อมูล จากนั้นเสริมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักในศักยภาพการพัฒนาของตนเอง แปรศักยภาพสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นอันดับแรก เมื่อเกินความสามารถก็รวมกลุ่มช่วยเหลือกันในชุมชน หากเกินความสามารถของกลุ่มก็ปรึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อบต.) เกินความสามารถของอบต. ก็ปรึกษาอำเภอ จังหวัดตามลำดับ เป็นการพัฒนาเพื่อการพึ่นตนเอง พึ่งพากันและพึ่งพาผู้อื่นตามความจำเป็น

ความรู้ที่ 3 คือ บทบาทของหน่วยสนับสนุน

บทบาทของหน่วยสนับสนุนจะทำหน้าที่ 2 หน้าที่คือ1) หน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ (คุณอำนวย) 2)สนับสนุนความรู้ทางเทคนิค เทคโนโลยีบางประการ ซึ่งบทบาทส่วนที่1 จะมีความสำคัญมาก เพราะบทบาทส่วนที่2 ส่วนใหญ่ก็อยู่ในชาวบ้านที่มีประสบการณ์ตรง หน้าที่คุณอำนวย ก็คือทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความคิด ความมุ่งมั่น ความชัดเจนในเป้าหมายการพัฒนาของตน จากนั้นเชื่อมโยงการเรียนรู้โดยประสานแหล่งเรียนรู้จากที่ต่างๆมาตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแท้จริง

ความรู้ที่ 4 คือ เจตคติ ความรู้และทักษะของคุณอำนวย

คุณอำนวยต้องมีความคิด ความมุ่งมั่น ความชัดเจนในเป้าหมายการพัฒนาของตนเองเช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมาย แต่เป็นเป้าหมายในฐานะผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีความรู้และทักษะบางประการ เช่นรู้จักแหล่งเรียนรู้อย่างกว้างขวาง รู้สภาพของกลุ่มเป้าหมายรายครัวเรือน ทุนของชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องมีทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ นักประสานเชื่อมโยง รวมทั้งนักสังเกตและจดบันทึก เป็นต้น

ความรู้ที่ 5 คือ การจัดทัพ

เนื่องจากเป็นโครงการที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางและกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก จึงต้องมีการจัดกำลังอย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิชาการจัดการความรู้มีบทบาทในการเสริมสร้างการเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย1)คณะกรรมการอำนวยการ(คุณเอื้อจังหวัด 44 คน) 2)คณะทำงานสนับสนุนภาคประชาชน(คุณเอื้ออำเภอ/ตำบล 513 คน) 3)คณะทำงานสนับสนุนชุมชน(คุณอำนวยชุมชน 3,200 คน) 4)กลุ่มเป้าหมายรายครัวเรือน(คุณกิจ25,600ครัวเรือน/คน)

ทีมวิชาการจึงต้องจัดกำลังเป็น 2 ระดับคือ ระดับที่ 1 คือคุณอำนวยกลางจากหน่วยงานหลักคือ กศน. พัฒนาชุมชน เกษตร สาธารณสุข ธกส. ปกครอง ยมนา หน่วยงานละประมาณ 5 คน

มีบทบาทในการสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับคุณอำนวยตำบล คุณเอื้อจังหวัดและคุณเอื้ออำเภอ/ตำบล ระดับที่ 2 คือ คุณอำนวยตำบลมาจากหน่วยงานข้างต้นตำบลละประมาณ 3 คน จำนวน 495 คน ทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้กับคุณอำนวยชุมชน 3,200 คน และคุณกิจจำนวน 25,600 คน โดยจะนัดประชุมทีมวิชาการและคุณอำนวยกลางในวันที่ 21 ก.พ.นี้ที่ห้องประชุมORชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อหารือแนวทางการทำงาน 1)การสรรหาและคัดเลือกคุณอำนวยตำบล 2)เตรียมการประชุมคณะทำงานโครงการทั้งหมด คือคุณเอื้อจังหวัด อำเภอ/ตำบล และคุณอำนวยตำบลในวันที่ 7 มีนาคม 2549 3)บทบาทของคุณอำนวยกลาง 4)การแบ่งงานของคณะทำงานด้านวิชาการ ที่คิดได้คือ 4.1)ทีมบันทึกความรู้จากการปฏิบัติ(เขียน ภาพ อื่นๆ) 4.2)ทีมประสานวิชาการเชื่อมโยงกับสถาบัน(ให้-รับ) 4.3)ทีมการเงิน 4.4)แผนการทำงาน 3/6/12 เดือนของทีมวิชาการ

สำหรับผู้สนใจนอกจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งที่เป็นหน่วยงาน/องค์กรและบุคคลสามารถแจ้งความจำนงเข้ามาเป็นภาคีความร่วมมือเพื่อเรียนรู้กับโครงการนี้ได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 16111เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท