แผนที่ความดีของคนดี


แผนที่ความดีเริ่มจากข้างในตัวตนของเด็ก ผ่านกระบวนการคิดที่เป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายจากสิ่งใกล้ตัวคืออวัยวะของนักเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งดีๆ

ผมติดใจกับกิจกรรม "แผนที่ความดีของคนดี" ที่เคยไปทำให้กับนักเรียนโรงเรียนอนุบาลทัพทัน อ.ทัพทัน (โปรดคลิก)  เมื่อไม่นานมานี้ ฉะนั้นในการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมของนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาวง อ.ลานสัก ผมจึงนำกิจกรรม "แผนที่ความดีของคนดี" มาใช้เป็นตัวเปิดรายการเพื่อนำสู่กิจกรรมการคิด วิเคราะห์อื่นๆเพราะเหตุว่า

  • ความดีเป็นเรื่องนามธรรมที่เข้าใจได้ยากโดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ
  • แผนที่ความดีเริ่มจากข้างในตัวตนของเด็ก ผ่านกระบวนการคิดที่เป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายจากสิ่งใกล้ตัวคืออวัยวะของนักเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งดีๆใช้เวลาน้อย ได้ผลทางความคิดมาก หลากหลาย มีมิติกว้างลึก
  • เชื่อมโยง บูรณาการได้ง่ายเพราะแผนที่ความดีแผ่นใหญ่ ใช้ขยายผลนำไปสอนต่อเป็น map ย่อยได้อีกหลายร้อย map เป็นปีๆ ก็สอนไม่หมด

  • นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมสู่การสร้างความรู้ใหม่ได้ง่าย การสอนมีประสิทธิภาพเพราะง่าย ใช้เวลาน้อย ได้ผลมาก
  • นักเรียนมีส่วนร่วมสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบกิจกรรม ออกแบบกลุ่มของครู อาศัยการจัดการของครูนิดหน่อย

  • นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.3 ถึง ป.6 ก็ยังทำงานร่วมกันได้เพราะช่วยกันคิดได้ไม่ยาก ทำให้ผมคิดว่าน่าจะนำไปสอนได้ในระดับประถมศึกษาทุกชั้น
  • ยังมีอีกหลายเหตุผลที่อยากให้คุณครูหลายๆ ท่านไปทดลองใช้ดู แล้วมาบันทึกแลกเปลี่ยนกันครับ
หมายเลขบันทึก: 160854เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 07:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดีค่ะท่าน

  • ครูอ้อยอ่านบันทึก และชมภาพอย่างมีความสุขค่ะ
  • ดีใจ ยินดีไปกับนักเรียนที่ได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการนี้
  • ครูอ้อยจะขอนำไปเป็นตัวอย่างบ้างนะคะ
  • ถึงแม้ว่าใครบอกว่า  จะเสียเวลา   แต่หากลองทำดู  จะรู้ว่า....ได้ผลเกินคาดยิ่งนักค่ะ

ครูอ้อยเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

สวัสดีครับครูอ้อย ดีใจที่ครูอ้อยสนใจครับ ลองนำไปใช้ดูนะครับ ครูอ้อยสอนภาษาต่างประเทศ คงน่าสนใจ เขียนมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีคะครูอ้อย

  • เป็นวิธีคิดที่ทำให้นักเรียนได้เห็นภาพของตัวเองชัดเจน แล้วสามารถทำให้ตัวเองดีได้อย่างไร ไม่ใช่แค่คิด แต่ได้เขียน ได้จินตนาการ ได้สัมผัสกับความรู้สึก ที่อยากจะเป็น
  • เยี่ยมมากคะ
  • ขอนำไปทดลองใช้บ้างนะคะ

                                 เป็นกำลังใจให้เสมอ

                                       สวัสดีคะ

  • สวัสดีครับ
  • เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ
  • ขออนุญาตนำไปใช้และพัฒนาต่อนะครับ
  • ขอบพระคุณครับ

สวัสดีคุณดวงหฤทัยและคุณสายลมครับ

ขอบคุณที่กรุณาให้กำลังใจครับ และผมเชื่อว่ากิจกรรมนี้มีพลังพอที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าถึงความดีได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าเด็กหรือไม่เด็กครับ ได้ผลอย่างไรก็เขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

กิจกรรมนี้น่ารักดีครับ คิดว่านำไปประยุกต์ใช้กับ เวทีเยาวชนได้ดีเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับผม 

ขอบคุณคุณจตุพรครับ ลองนำไปประยุกต์ใช้ดูนะครับ ได้ผลอย่างไรก็บอกกันบ้างนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ นาย ศิลป์ชัย เทศนา

ครูอ้อย เข้ามาอ่านอีกครั้งค่ะ  ไม่เบื่อเลย  ชื่นชมค่ะ

  • สวัสดีครับ
  • เป็นเช่นเดียวกับครูอ้อยครับ..."อ่านอีกกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ."
  • กิจกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นการเพาะบ่มต้นทุนอันดีงามของชีวิตให้กับนักเรียน
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์ศิลป์ชัย 
  • ครูแตนขอชื่นชมผลงานด้วยคนค่ะ
  • ครูแตนสอนวิชาภาษาอังกฤษจะได้มีวิธีสอนใหม่ๆ ทีน่าสนใจมาให้นักเรียนของครูแตนเล่นและเรียนดูค่ะ

เยี่ยมจริง ๆ ครับ อาจารย์

ขอบคุณครับ :)

น่าจะปรับใช้ร่วมกับ ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี ได้นะครับ (The Johari – Window theory)

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ขอทราบโจทย์ที่อาจารย์มอบให้กับเด็กได้มีส่วนร่วมอันงดงามนี้ด้วยครับ
  • คือ อาจารย์ให้โจย์กับเด็กว่าอย่างไร-บ้าง
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ทุกท่าน

ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ทุกท่านได้กรุณาให้ความสนใจและความเห็นต่างๆ เรื่องแผนที่ความดีของคนดีนั้นผมเริ่มทำเพราะเหตุผลหลายอย่างครับ ด้วยประสบการณ์ของผมเมื่อไปเยี่ยมโรงเรียนและเห็นผลงานนักเรียนทั้งหลาย มักจะพบปรากฏการณ์ ดังนี้ครับ

  • คุณครูให้นักเรียนทำงานมาก แต่ได้ผลงานน้อย จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม (หลายท่านไม่ทราบวิธีสั่งงาน สั่งการบ้าน ซึ่งวันหลังผมควรจะบันทึกไว้แลกเปลี่ยนกัน) ผมคิดว่าทำงานครั้งเดียวควรได้ผลลัพธ์มากๆ ทำแผนที่ความคิดแผ่นเดียวสอนได้หลายวัน ฯลฯ
  • นักเรียนของเราเก่งและคิดได้มากมาย แต่มีข้อจำกัดตรงคำสั่งของคุณครูที่ อาจจะสั่งงานไม่ตรงเป้า ตั้งใจยิงนกแต่ไปโดนเอาเครื่องบิน ประมาณนั้น
  • การสอนคิดผมควรคำนึงถึงเรื่อง คิดดี คิดถูก คิดเป็น ผมก็เลยต้องเริ่มจากความดีที่ใกล้ตัว แม้จะเป็นนามธรรมแต่นักเรียนคิดออกมาจากด้านใน สู่ด้านนอกแล้วให้ตลบเข้าด้านในอีก อาจเรียกว่าองค์รวมหรือบูรณาการที่มาจาก inside-out และ outside-in ซึ่งผมก็เพิ่งจะทดลองใช้เป็นครั้งที่ 2 ตามที่ผมบันทึกไว้ และก็ยิงติดครับ...ได้ผล นักเรียนตัวนิดตัวน้อยเข้าใจ บอกได้ อธิบายได้ ให้เหตุผลได้ เปรียบเทียบได้ ประเมินถูกผิดได้ ฯลฯ
  • หน้าต่างโจ แฮรี่ มีสี่ช่องที่สอนวิธีวิเคราะห์ตนเอง สิ่งที่ตนรู้ คนอื่นรู้ ตนไม่รู้ คนอื่นไม่รู้ ตามมิติ อะไรประมาณนั้น แต่แผนที่ความดีหรือแผนที่ความคิด เป็นเครื่องมือช่วยคิดได้ครับ อาจจะใช้ประเด็นในหน้าต่างโจแฮรี่มาช่วยเป็นประเด็นวิเคราะห์ก็ได้ ผมยังไม่ได้ทดลองอาจารย์ลองใช้ดูนะครับ ขอบคุณที่ทำให้ผมนึกถึงหน้าต่างโจ แฮรี่ ขึ้นมาเกือบลืมไปแล้วครับ (เคยเรียนกับท่านอาจารย์ทิศนา แขมมณี นานมาแล้วครับ)
  • โจทย์ที่ผมให้นักเรียนทำแผนที่ความดีคือ...เริ่มจากผมนำเรื่องว่าผมชอบถ่ายภาพ พร้อมกับยกกล้องมาถ่ายนักเรียนคนละฉับสองฉับ แต่ว่ากล้องมันถ่ายติดแต่คนหรือวัตถุสิ่งของ อวัยวะภายในก็มองไม่เห็น สิ่งที่อยู่ข้างในก็มองไม่เห็น ฯลฯ พูดคุยซักถามนักเรียนจนทุกคนเริ่มอยากมีส่วนร่วม หรือไว้ใจคุณครู (ส่วนใหญ่ผมเป็นคนแปลกหน้าสำหรับนักเรียน หากเป็นคุณครูที่สอนประจำจะง่ายกว่านี้ครับ)
  • ผมบอกว่าครูมีกล้องพิเศษที่ถ่ายภาพติดทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่มองไม่เห็น ผมก็ให้นักเรียนเลือกนายแบบมาคนหนึ่ง ยืนติดกระดานไวท์บอร์ดแล้ว วาดเส้นปากกาตามขอบของร่างกาย เด็กจะชอบมากครับ แกล้งเขียน ตรงนั้นตรงนี้ (ผมเลือกเด็กผู้ชายจะเล่นมุขนี้ได้) ได้ผลครับ...มุขนี้ก็ยิงติดอีก
  • เสร็จแล้วก็วาดอวัยวะเพิ่มเติม ตา หู จมูก ปาก ตับ ไต ไส้ พุง แขน ขา มือ
  • ตั้งโจทย์ว่า นี่เป็นภาพของคนดี อวัยวะในร่างกายของเราจะทำความดีหรือ เกี่ยวข้องกับความดี สิ่งดีดี ได้อย่างไรบ้าง พร้อมยกตัวอย่างเขียนให้ดู แบบ Mind Map ลากเส้นมาจากอวัยวะ เช่น ตา...มองเห็นความดีของคนอื่น ฯลฯ ให้นักเรียนช่วยคิดต่อสัก 2 - 3 อย่าง แล้วให้ไปคิดเองต่อในกลุ่ม
  • ให้นักเรียนเข้ากลุ่ม หานายแบบ แล้ววาดลงบนกระดาษปรู๊ฟ นักเรียนสนุกมาก ขนาดคนที่คุณครูบอกว่า "คนนี้แสบสุดๆ " ยังมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน (เรื่องนี้ก็น่าจะนำมาบันทึกอีก) อย่าลืมกระบวนการกลุ่ม ต้องนำมาใช้ อันนี้สำคัญครับ
  • ครูควรกำหนดเวลาให้ทำด้วยว่าให้เวลาเท่าไร 30 นาที หรือ 45 นาที ซึ่งเรื่องนี้ก็สำคัญครับ จะช่วยให้นักเรียนวางแผนการทำงานได้ บอกภารกิจ ล่วงหน้าด้วยว่าจะทำอะไรต่อ เช่น เสร็จแล้วให้หาตัวแทนนำเสนอ กลุ่มละ กี่นาที เป็นต้น
  • ได้แผนที่ความดีของคนดีทุกกลุ่มแล้วก็นำเสนอหน้าชั้น ครูควรแนะนำวิธีการนำเสนอ วิธีการฟังสำหรับผู้ฟัง มารยาททั้งหลาย ฯลฯ ซึ่งผมสังเกตแล้วนักเรียนไม่ค่อยได้ถูกฝึก แม้แต่การพูดจาให้ชัดถ้อยชัดคำ นี่ก็สำคัญครับ
  • การสอนที่เพิ่มพูนหรือบูรณาการ จาก Map ใหญ่ ไปสู่ Map เล็ก หากย้อนไปดูจะเห็นว่าผมแยกประเด็นมาทำต่ออีก... เช่น หัวใจที่รัก พ่อ รักแม่ รักครู รักคนอื่น รักตัวเอง รักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นั้นผมดึงมาทีละประเด็นเพื่อทำ แผนที่ความคิดต่อ เช่น หัวใจที่รักสิ่งแวดล้อม ดังนี้
  • เริ่มจากประเด็น รักสิ่งแวดล้อม ทำ Mind Map ในประเด็นรองที่ว่า สิ่งแวดล้อมใน ร.ร. มีอะไรบ้าง...เราจะช่วยรักษาหรือปฏิบัติอย่างไร...ฯลฯ ทำเป็น Mind Map ดังตัวอย่าง
  • ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็นำไปสอนต่อ ทีละประเด็น อีก 3 ปีก็ไม่จบครับ

ผมให้ข้อสังเกตว่า...การที่นักเรียนเขียน Mind Map ด้วยตัวเอง คิดเอง ทำให้รู้สึก เป็นเจ้าของ ซึ่งไม่ใช่ Mind Map ของครู ทำให้เขามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ การออกแบบงาน ออกแบบกลุ่ม ต้องสัมพันธ์กันครับ...เป็นไงครับ น่าสนุกจริงๆ ครับ

ขออนุญาติ เสริมว่า

  • สิ่งที่ท่านทำนี้เป็นสิ่งวิเศษมาก เดี๋ยวนี้เครื่องมือนี้นำไปใช้กันอย่างแพร่หลายและได้ผลมากในทุกวิชาชีพ ทุกกลุ่มอายุ
  • หากทำสิ่งที่แต่ละกลุ่มเขียนลงไปนั้นกำหนดมันออกมาในทางปฏิบัติ แล้วทำตามที่เขากำหนดขึ้นมา ก็จะเป็นการต่อยอดจากแผนที่ความคิดอีกหลายขั้น ผมว่าอาจารย์ทำอยู่แล้ว เล่าต่อหน่อยซิครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

         ในส่วนของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร

  • เราเคยได้รับการถ่ายทอดความรู้
  • แล้วนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ในการป้องกันสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
  • ยังไม่เคยใช้ในการปรับเป็นแผนที่ความดีของเกษตรกร
  • น่าจะต่อยอดได้

           ขอบคุณที่ช่วยเพิ่มแนวคิด

ขอบคุณท่านอาจารย์บางทรายครับ...

  • หลักคิดของผมในการสอนคิดนั้นต้องนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการคิดวิจารณญาณ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ
  • จากการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ด้วยแผนที่ความคิดแล้ว (เช่นแผนที่ความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน) ผมจะให้นักเรียนระบุปัญหา หาสาเหตุของปัญหาด้วยการปฏิบัติผังก้างปลา อาจใช้การระดมสมองหาสาเหตุที่คิดว่าเป็นไปได้หรืออาจให้หาข้อมูลเพิ่มเติมในสภาพจริง กรณีที่ปัญหาซับซ้อน เพื่อฝึกกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล ฯลฯ
  • ให้นักเรียนจัดลำดับความสำคัญของปัญหา อาจใช้วิธีโหวต หรือจัดลำดับตามความสำคัญเร่งด่วน ฯลฯ หาทางเลือกในการแก้ปัญหา กำหนดทางเลือก นำไปสู่การแก้ปัญหา
  • ทางเลือกในการแก้ปัญหาของนักเรียนเป็นที่มาของการทำ โครงงานของนักเรียนหรืออาจเป็นโครงการของครูหรือโรงเรียนนำไปใส่ในแผนปฏิบัติการ อีกยาว...
  • การแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับระดับหรือวัยของนักเรียน นักเรียนอาจเสนอแล้วครูให้ลงมือปฏิบัติจริง ย้ำว่าต้องปฏิบัติจริงครับ เช่นการรณรงค์ก็ต้องเขียนคำขวัญจริง ทำป้ายนิเทศ ฯลฯ จนถึงทำโครงงานศึกษาในเชิงลึก
  • วิธีนี้ได้โครงงานนักเรียนที่มีที่มาจากการวิเคราะห์ปัญหาที่นำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์งานต่างๆ ต่อยอดไปอีก อันเป็นการเรียนรู้ของนักเรียนที่เกิดจากความเข้าใจและเป็นความรู้ที่คงทนครับ

 

  • ขอบคุณครับอาจารย์
  • ได้แนวคิดแนวปฏิบัติอันเยี่ยมยอดครับ
  • จะติดตามตอนต่อ ๆ ไปครับ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทนัน มากๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท