อิสระภาพที่ถูกคุมขัง


เชื่อมโยงมาถึงทุกเรื่องได้เลยครับ เชื่อมากเลยว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับซึ่งกันและกัน การให้เกียรติกัน การเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดสังคมสันติสุขได้

     เมื่อหลายเดือนก่อน ผมต้องไปเป็นวิทยากรเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขัง ที่จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพัทลุง ในเรื่องสิทธิด้านสุขภาพและบริการสาธารณสุข ในขณะที่ผมไปถึงและรอเวลาอยู่ก็ได้รับการต้อนรับจากพัศดีมาเป็นเพื่อนพูดคุยด้วย ผมถามท่านว่าคนที่ติดคุกบ่อยครั้งที่สุด เขาจะต้องด้วยคดีอะไร และทำไมเขาไม่เข็ดบ้าง

     ท่านหัวเราะก่อนตอบผมและชี้ให้ผมดูหนุ่มพิการคนหนึ่งที่นั่งอยู่ห่าง ๆ เพื่อรอคำสั่งอะไรสักอย่าง ว่าคนนี้แหละ เขาชื่อ “เหลือม” และเมื่อท่านเรียกเขาก็เข้ามาทำความเคารพ พร้อมทั้งนั่งรอคำสั่งในตำแหน่งที่ใกล้ชิดมากขึ้น ท่านให้ผมได้พูดคุยซักถาม “เหลือม” เอง ว่าทำไมเข้ามาที่นี่บ่อย ก็ได้คำตอบที่ทำให้ผมตลึงจังงังไปเลยว่า “อยากมาอยู่ที่นี่, ที่นี่สบาย, ได้ทำงาน เขาใช้ให้ผมทำงาน” ผมถามต่อว่าแล้วทำอย่างไรถึงได้เข้ามา ก็ได้คำตอบว่า “ลักขโมย เพื่อให้ถูกจับ” เมื่อถามว่าแล้วเมื่อพ้นโทษคราวนี้ จะทำอย่างไรให้กลับเข้ามาอีก เขาตอบว่า “จะทำแบบเดิม หากเป็นไปได้ไม่อยากออกไปเลย”

     ถึงเวลาที่ผมต้องเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ผมเลยขอตัวเพื่อเดินตามพัศดีอีกท่านหนึ่งไปยังห้องที่เตรียมไว้ ในใจยังอยากค้นหาคำตอบต่ออีกมาก และต้องพักไป แต่ระหว่างเดินผมก็ถามข้อมูลไปพลางพบว่า “เหลือม” เป็นคนตะโหมด พื้นเพเดิมอยู่ใกล้ ๆ กับสถานีอนามัยพรุนายขาว หลายวันต่อมาผมก็ได้มาสอบถามเรื่องราวต่อจากพี่หรอย ก็พบว่า “เหลือม” เป็นที่รู้จักของคนแถวนี้กันอย่างกว้างขวาง ในนาม “บ่าว” ส่วนชื่อ “เหลือม” นั้นเป็นฉายาที่ตำรวจเรียกเมื่อคราวจับได้ครั้งแรก ๆ คดีลักทรัพย์ ซึ่งในขั้นสอบสวน “บ่าว” ให้การรับสารภาพตลอดข้อหาด้วยคำพูดว่าสำนวนคนใต้ว่า “ตั้งไว้พันนั้นก็เสร็จเหลือมเสียแหละ” (หมายถึงเก็บไว้ไม่มิดชิด ไม่ระมัดระวัง เห็นมีโอกาสก็เลยขโมย โดยไปเปรียบเทียบกับอุปนิสัยการล่าเหยื่อของงูเหลือม)

     เมื่อคืน (18 กุมภาพันธ์ 2549) ช่วงหัวค่ำ พี่หรอย, Dr.Ka-poom และผม ได้สนทนา ลปรร.กัน เพื่อ get ประเด็นการจัดการความรู้ในโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน มีตอนหนึ่งได้พูดถึง “เหลือม” ขึ้นมา ทำให้ผมรู้ว่าตอนนี้เหลือมพ้นโทษออกมาแล้ว และยังไม่ได้กลับเข้าไป คำถามเกิดขึ้นในใจว่า เขากำลังพยายามที่จะกลับเข้าไปอีกหรือไม่ หรือเขาค้นพบอิสรภาพภายนอกโดยปราศจากการคุมขังแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดได้คือ “การคุมขังไม่ใช่การทำให้ขาดอิสรภาพเสมอไป” แต่ “การยอมรับซึ่งกัน” สิ่งนี้มากกว่าที่เป็น “อิสรภาพ” ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทใด

หมายเลขบันทึก: 16050เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2006 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

การกักขังที่แท้จริงคือการกักขังตนเองจากอิสรภาพที่พึงได้พึงมี ไม่มีใครทำใครให้สุญเสียอิสรภาพได้นอกจากตนเอง ทำตนเองทั้งนั้นแหละ

อิสระภาพ..ในบริบทของ "เหลือม"

สิ่งที่เราได้เกิด..จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้..ในค่ำคืนหนึ่ง
นั่นคือ.."อิสระภาพ"..ตามนัยของ "เหลือม"...
เหลือมเรียนรู้ที่จะแสวงหาอิสระภาพ..ด้วยจิต..และใจ..
ที่ศรัทธา..ในความสุข
และบทสรุป..ที่เรา (พี่หรอย, คุณชายขอบ, และดิฉัน)
ได้พบ นั่นคือ.."เหลือม" เรียนรู้อิสระภาพที่มีสุข..ภายใต้การ
ได้รับการยอมรับ..ที่เอื้อนำให้เกิด "ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง" (Self-esteem)

เหลือม เป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว เดินขา กะเพลก ๆ อิสระภาพของเหลือม เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง ?การสูญสิ้นอิสระภาพของเหลือม อาจจะไม่ใช่การอยู่ คุก ถ้ามีคนๆหนึ่งคิดว่าการอยู่ข้างนอก ผู้คนมากมาย หลากหลาย แต่เขาไม่มีเพื่อนหรือมีน้อยมาก ขาดที่ยืน ขาดการยอมรับ มีอาหารกินไม่ครบมื้อ ที่คุมขังข้างนอกมันอาจจะแคบกว่า คุก

การเรียนรู้และจัดการกับความรู้ของ "เหลือม"

     เมื่อวันที่ผมได้ไป ลปรร.กับทีมนำฯ
ในการพัฒนาสุขภาพของชุมชนเกาะเรียน (21 กุมภาพันธ์ 2549)
ผมได้รับทราบเพิ่มเติมจากการสนทนากันว่า
"เหลือม" ออกจากคุก และมีความสุข
อยู่กับอิสรภาพนอกคุกแล้ว ผมประเมินคร่าว ๆ ว่า...
เหลือมได้ผ่านกระบวนการตกผลึกทางความคิด
และการปฏิบัติด้วยการแสดงน้ำใจไมตรี อารมย์ดีเสมอ
อาสาช่วยเหลือผู้อื่น ตามแต่กำลังตัวเองตั้งแต่ในคุก
สิ่งนี้เหลือมได้เคยทำก่อนเข้าคุกครั้งหลัง ๆ
แต่ถูกปฏิเสธจากสังคมนอกคุก เพราะเพียง "เหลือมคนขี้คุก"
มันน่าเศร้าที่ทำให้เหลือมดิ้นรน "เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับ"
"เพียงเพื่อให้ได้รับอิสรภาพ" โดยเลือกที่จะถูกคุมขังตัวเองในคุก

     วันนี้เหลือมได้ถีบจักรยานไปอาสาช่วยงานใครต่อใครในชุมชน
ด้วยคำพูดของเหลือมที่ว่า "ช่วยเพราะอยากช่วย ไม่ใช่อยากได้อะไร"
ใครต่อใครในชุมชน ก็ยอมรับเหลือม ไว้ใจ เห็นใจ และเข้าใจ เหลือม
(ผมสัมผัสได้จากการสนทนาถึงเหลือมในเวที)
ยามมีงานมงคล อวมงคล ใด ๆ ในชุมชน เหลือมจะเป็นกำลังสำคัญแม้จะพิการ
ขวดน้ำพลาสติกที่มากมายก่ายกอง และสังคมบอกว่าเป็นขยะ
เป็นรางวัลของเหลือมที่เจ้าของงานมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์
ข้างแกงทั้งกินและใส่ถุงกลับบ้าน ที่เจ้าของงานตักยื่นให้ด้วยไมตรี ก็เช่นกัน เป็นรางวัล
ช่างแตกต่างเหลือเกินกับอดีตของเหลือม เพียงเพราะคำว่า "ยอมรับกัน" เท่านั้น

     วันนี้และวันต่อ ๆ ไป เหลือมจึงยังจะอยู่ในชุมชนแห่งนี้ต่อไปด้วย "ความไว้วางใจกัน"
ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น และเชื่อมั่นในชุมชนนี้ ว่าจะกลับมาเป็นชุมชนสันติสุขได้อีกครั้ง
จากเรื่องเล่าของเหลือม ที่เป็นกรณีศึกษาของชุมชนเอง
ซึ่งเป็นโจทย์ง่าย ๆ ที่ยกขึ้นมาในวันนั้น...

หากเราไม่ก้าวไป..ใยเราจะรู้ได้ว่า...คืออะไร เพียงแต่ว่า..การก้าวไป..เราก้าวอย่างรู้เท่าทัน..หรือไม่ ดั่งเฉกเช่น...คุณดอกหญ้า... ที่แม้ก้าวผ่านหรือไม่นั้น... แต่ ณ ตอนนี้...คงรู้เท่าทัน...นั้นได้ ย่อมน่าชื่นชม... ที่จะเชื่อมั่นและศรัทธา....แต่หากรวมถึงไม่เดือนร้อนใครด้วย ความเชื่อมั่นและศรัทธานั้น...จะมีค่ายิ่ง เป็นกำลังใจให้...ด้วยมิตรภาพที่มีอยู่นะคะ
คุณดอกหญ้าคงได้รับแรงใจให้ต่อสู้ต่อไปจาก Dr.Ka-poom แล้วนะครับ ขอให้มั่นใจในสิ่งที่ตนทำ แม้สังคมจะกำหนดไป หากแต่เรามั่นใจว่าเป็นสิ่งถูกต้องเพื่อสังคม ไม่ผิดทางจริยธรรมและคุณธรรม ก็ไม่ต้องกลัว จงหาญกล้าต่อไปหากมั่นใจ...
ยิ้ม...น้อมรับมิตรภาพที่ดีงาม...จากคุณดอกหญ้า เพราะติดตามการมา ลปรร. ของคุณค่ะ (ยิ้ม)
ไม่ได้ขัดขวางอะไร เพียงมาเพื่อสนับสนุน เป็นไมตรีจิตที่ดีต่อกัน ระหว่างผู้มาเติมเต็มกับผู้มาเติมเต็ม ปิติยิ่ง ปิติจริง ๆ ขอสนับสนุนทั้งคุณดอกหญ้าและDr.Ka-poom ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท