ฟ้าครับ
สมัยก่อนถ้าบอกว่าสามารถเอากระดาษกรองมากรองน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดได้ก็คงไม่มีใครเชื่อ แต่ปัจจุบันนี้ทำไ้ด้แล้วครับ วิธีหนึ่งคือใช้เยื่อกรองความละเอียดสูงที่เรียกว่า reverse osmosis membrane ความสามารถในการกรอง ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของรูพรุนที่อยู่บนเยื่อกรอง
ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ทำให้พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า size does matter!
เมื่อแรก ๆ ขนาดของรูก็ยังใหญ่อยู่
คือเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในระดับไมโครเมตรหรือไมครอน
(หนึ่งในพันของมิลลิเมตร)
เยื่อกรองขนาดนี้เอาไปใช้ในการกรองเอาเศษละอองขนาดเล็ก เช่น ตะกอนดินเหนียวที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ หรือแม้กระทั่งแบคทีเรียก็สามารถกรองออกได้ จึงเอาไปใช้ในการกรองน้ำให้สะอาดได้
แต่บริษัทโทเรไม่ได้หยุดหรือพอใจอยู่แค่นั้น คงมุ่งหน้าวิจัยต่อไป จนผลิตเยื่อกรองที่มีขนาดเล็กระดับ 10 นาโนเมตร ซึ่งระดับนี้สามารถกรองไวรัสได้ ในยามที่โลกกำลังเผชิญกับมหันตภัยจากไข้หวัดนกระบาดใหญ่ เทคโนโลยีนี้น่าจะมีความสำคัญขึ้นมาอีกมาก
นอกจากทำให้ขนาดรูเล็กลงแล้ว ยังมีงานวิจัยที่พยายามควบคุมกระบวนการผลิตเพื่อให้ขนาดของรูสม่ำเสมอ และมีการกระจายตัวที่ดี ซึ่งงานแบบนี้ลำพังองค์กรวิจัยภาครัฐคงไม่ทำ เพราะเป็นแนวที่บริษัทเอกชนถนัด
เมื่อเทคโนโลยีก้าวไปถึงเยื่อกรองระดับใกล้ ๆ 1 นาโนเมตร
(หนึ่งในพันของไมครอน) ผนวกกับเทคโนโลยีอื่น ๆ
ในกระบวนการผลิตที่พูดถึง
ก็ทำให้อิออนของธาตุที่มีขนาดใหญ่ถูกกรองออกไปด้วย
ตรงนี้แหละจึงเกิดการ breakthrough ครั้งใหญ่ เพราะสามารถนำน้ำทะเลมากรองให้เป็นน้ำจืดได้
ผลกระทบเชิงสังคมของงานวิจัยชิ้นนี้มีมหาศาล
รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นความสำคัญเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดในท้องที่กันดาร
และนำไปใช้ในโรงงานผลิตน้ำจืดที่จังหวัดโอกินาวา
และในต่างประเทศมีที่สิงคโปร์และทรินิแดด
บทเรียนนี้ เราพอจะวิเคราะห์และสรุปได้ไหมครับว่า ด้วยวัฒนธรรมการวิจัยในองค์กรภาครัฐหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งที่จริงน่าจะเน้นการช่วยสังคมมากกว่างานวิจัยของบริษัทเอกชน คงไปไม่ถึงจุดนี้ได้ เพราะไม่มีความถนัดในการวิจัยระดับกระบวนการผลิต ซึ่งแท้จริงแล้วสำคัญเหมือน ๆ กัน หรืออาจจะมากกว่า?
ถ้ารัฐหรือมหาวิทยาลัยจะทำ
ก็ต้องจับมือกับเอกชนจึงจะทำได้สำเร็จ