ตอนที่ 31 การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างชาญฉลาดด้วยผลวิเคราะห์ดิน


การทำการเกษตรจะต้องรู้เรื่องดินของเราเป็นอย่างดี

      

      "ในประเทศที่มีการพัฒนาระบบการเกษตรดีแล้ว เมื่อเขาจะทำการเกษตรทุกอย่าง จะต้องวิเคราะห์ให้รู้เรื่องดินที่เขาจะทำการเกษตรในพื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างดี" เป็นคำกล่าวแรกเปลี่ยนความรู้จากนายรังสรรค์  กองเงิน  เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเมื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกศูนย์ส่งเสริมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนวัดพระแก้ว

    เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 ที่ผ่านมานั้น ผมได้เดินทางร่วมกับเกษตรจังหวัดชัยนาท เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  ด้านการวิเคราะห์เพื่อการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างชาญฉลาด ลดต้นทุนการผลิตข้าว และทำนาอย่างยั่งยืน  การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ผู้เขียนรู้สึกถึงความสามรถของเกษตรกรในการเรียนรู้ธรรมชาติของดิน และท้องทุ่งนาที่มีระบบนิเวศน์วิทยาเป็นปัจจัยหลักให้ทำการเกษตรอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน

   

     เวทีจัดการความรู้ เป็นรูปแบบอย่างเรียบง่าย โดยใช้ศาลาเรียนรู้ของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน  นั่งล้อมโต๊ะโดยมีเกษตรกรจังหวัดชัยนาท เสริมความรู้ในข้อที่ตกหล่นไปจากการนำเสนอของเกษตรกร สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

    พจท.เฉลี่ยว น้อยคง แกนนำเกษตรกรบ้านเลขที่ 42/3 ม.3 ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี กล่าวว่าจากการได้เข้ารับการอบรมโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในเรื่องการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ (ต้องขออภัยชื่อเต็มจำไม่ได้) ที่ศูนย์บริหารศัตรูพืชสุพรรณบุรี ได้กลับมาถ่ายทอดให้กับสมาชิกฟัง พร้อมรวมผู้จัดทำแปลงสาธิต(หน่วยกล้าเสี่ยง) ได้มา 4 ราย คือคุณจรูญ  คุณสำออย คุณสมทบ และคุณบุญฤทธิ์  โดยทำการปลูกข้าวผสมผสานตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร และชีวภาพ เริ่มตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยว คือ

  1.  หลังการเก็บเกี่ยวปล่อย้ำเข้านา พ่นด้วยฮอร์โมนจากหน่อกล้วย หมักไว้ 7 วัน

  2. เตรียมดิน ไถดะ

  3. ทำเทือก  กำจัดหอยเชอรี่ด้วยน้ำหมักจากฝักคูณบด  แช่ข้าว

  4. หว่านข้าว

          รวมแล้ว 10 วัน จากเดิม เผาฟางข้าว ปล่อยน้ำ ทำเทือก และหว่านข้าวใช้เวลา 7 วัน แต่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศน์วิทยา ประมาณค่ามิได้

      ผลที่ได้รับ ค่าใช้จ่ายลดลงจากที่เคยจ่ายโดยรวม 3,200 บาท ต่อไร่ ต้นทุนลดลงจำนวนมาก ลองมาดูรายจ่ายโดยรวมของแต่ละท่าน คือคุณจรูญ 2,370 บาท/ไร่ คุณสำออย 1,729 บาท/ไร่ คุณสมทบ 1,791 บาท/ไร่ และคุณบุญฤทธิ์ 1,870 บาท/ไร่ 

       ต้นทุนที่ลดลงได้จากการใช้ปุ๋ยเคมีที่ลดลงจากเดิม เพราะใช้ตามค่าของดินในแต่ละชุดดิน  ซึ่งจากที่เคยใช้ 1,180 บาท/ไร่ เหลื่อใช้ตามค่าของดิน ในแต่ละท่านลดลงเหลือจ่ายเงินเป็นค่าปุ๋ยเคมีดังนี้  คุณจรูญ 519 บาท/ไร่ คุณสำออย 341 บาท/ไร่ คุณสมทบ 341บาท/ไร่ และคุณบุญฤทธิ์   287 บาท/ไร่  เนื่องจากดินในนาของเรานั้นมีความเป็นกรดเป็นด่าง และและธาตุอาหารบางส่วน แตกต่างกันไปตามชุดดิน และลักษณะการใช้ การปรับปรุงดินของเพื่อนเกษตรกรเอง แต่เมื่อก่อนนี้เราได้ใช้ปุ๋ยเคมีตามคำบอกเล่า หรือคำแนะนำของผู้อยากรู้ต่างๆ  ทำให้เราเสียค้าใช้จ่ายไปมากแล้ว

    

    คุณบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ ให้เหตุผลว่า บางท่านสงสัยว่าต้นทุนของพี่จำรูญทำไมยังมากกว่าเพื่อน จึงให้เหตุผลว่า เพราะเนื่องจากทำเป็นแปลงทดสอบการใช้สารสกัดสมุนไพรไปด้วย  คือให้เสียค่าใช้จ่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหมือนเดิม คือเสียไป 285 บาท  แต่รายอื่นใช้สารสกัดสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่นโดยเฉพาะ บระเพ็ด อีกทั้งการลดต้นทุนโดยใช้ปุ๋ยตามค่าของดินนั้นยังไม่พอ  เพื่อนเกษตรกรต้องลดการเผาต่อซัง และฟางข้าว  และป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ด้วยครับ เพราะเรามีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่เก่งอยู่ให้ได้ปรึกษา ครับ เช่นที่ตำบลของผมมีคุณลมูล  จันทร์วงศ์ และคุณ เชน  กรณ์ผึ้ง มาแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงในวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมอ ครับ

     นายรังสรรค์  กองเงิน ได้เสนอแนะว่า ทางกลุ่มได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดเอง แล้ว  การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างเดียวอาจจะส่งผลถึงผลผลิตที่ลดลง และคุณภาพไม่ดี เพราะการทำเกษตรอินทรีย์จะได้ดี เฉพาะพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากสภาพของดินเราเสื่อมโทรมจากการขาดการบำรุงมานาน ดังนั้นจึงได้แนะนำให้กลุ่มเกษตรกรได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีอัดเม็ดตามค่าของดิน โดยใช้แม่ปุ๋ยเสริมลงไปกับเพื่อนเกษตรกร ได้ใช้อย่างถูกต้อง ดีกว่าบรรทุกทั้งปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงกว่าไปในทุกนา อาจมีปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตรใหม่ตามชุดดิน เช่น เฉลี่ยวนครปฐม (ชุดดินนครปฐม)

หมายเลขบันทึก: 159484เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2008 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ช่วงนี้พยายามใช้เกษตรอินทรีย์บำรุงดินค่ะ

ใช้จุลินทรีย์ EM อยู่บ้าง กับไม้ดอก

การใช้สารเคมี ให้ผลเร็ว แต่ส่วนใหญ่มีผลเสียระยะยาวนะคะ

ผมก็ไปร่วมในเวทีนี้ด้วย..แต่จะรอให้พี่ชัดเล่า..(อิอิ)

ไปมาเหมือนกันเกษตรกรที่นี่เขาเก่งจิงจิงขอปรบมือชื่นชมให้คร๊าบ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท