เรียนรู้จาก R2R


เรียนรู้จาก R2R


          วันนี้ (11 ก.ค.48) ผมไปร่วมประชุมกับโครงการ R2R  โรงพยาบาลศิริราช   ใครไม่รู้จักโครงการ R2R ให้ไปดูในเว็บไซต์ www.si.mahidol.ac.th/r2r


          การประชุมวันนี้ว่าด้วยเรื่อง CPG (Clinical Practice Guidelines)   โดยมีอาจารย์ศิริราช 2 ท่านที่ไปเรียนมาจากแคนาดาในเรื่องวิธีการพัฒนาและใช้ประโยชน์ CPG   เป็นผู้นำเสนอหลักการและแนวปฏิบัติด้าน CPG   มีคณาจารย์ประมาณเกือบ 20 คนที่เป็น “คุณอำนวยกลุ่ม” (cluster facilitator) มาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น   รวมทั้งมีผู้บริหาร 2 คนจาก สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย   สวรส. มีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนา CPG โดยได้ทุนสนับสนุนจาก สปสช. (สำนักงานปฏิรูประบบบริการสุขภาพแห่งชาติ)


          ผมนั่งฟังด้วยความตื่นตาตื่นใจ   และบันทึกความรู้สึกในขณะนั้นไว้ว่า
1)      นี่คือความพยายามพัฒนาคุณภาพของบริการสุขภาพ   โดยใช้ CPG เป็นเครื่องมือ   เป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการสุขภาพเป็นสำคัญ   ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพและในขณะเดียวกันระบบบริการสุขภาพก็เป็นระบบที่สมดุล   หรือมีความพอดีตามสภาพทรัพยากร
2)      มุมมองของแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขต่อ CPG มีได้หลากหลายแบบ   ทั้งแบบเน้นอำนาจความรู้   เน้นการกำหนด CPG โดย “ผู้รู้” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม   ไปจนถึงเน้นการพัฒนา CPG ขึ้นมาจากการช่วยกันกำหนดโดยผู้ปฏิบัติและทดลองใช้   และปรับปรุง CPG   หลายฝ่ายร่วมกันกำหนด CPG ตรงจุดปฏิบัติของตน   จนรวมกันเป็น CPG ภาพใหญ่ที่ใช้งานได้กว้างขวางและนำไปแลกเปลี่ยนกับ CPG สากลได้
3)      การพัฒนา CPG มีหลายขั้นตอนมาก   แต่จัดกลุ่มได้เป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือตอนรวบรวมหลักฐาน (evidence) กับตอนรวบรวมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ (expert opinion)    ตอนรวบรวมหลักฐานต้องทำกันแบบสุด ๆ   เน้นความรู้ระดับทั่วโลก (global)    แต่ตอนรวบรวมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิต้องยึดความพอดีและยึดบริบทของสังคมหรือชุมชนนั้น ๆ (local)
4)      ควรมองกระบวนการสร้างและกระบวนการใช้ CPG เป็นกระบวนการเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน   หรือเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัตไม่รู้จบ  นั่นเอง     และควรมองเป็นกระบวนการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งของผู้ประกอบการวิชาชีพด้านบริการสุขภาพ
5)      มองกระบวนการ CPG เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพในภาพรวม   ทั้งเชื่อมโยงกับระบบการเงินเพื่อบริการสุขภาพ (Health Care Financing System) และระบบอื่น ๆ ในระบบสุขภาพ
6)      มองความเชื่อมโยงของกระบวนการ CPG กับ R2R
7)      สามารถนำ KM ไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการ CPG ได้


วิจารณ์  พานิช

   11 ก.ค.48


 

หมายเลขบันทึก: 1587เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2005 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท