กิจกรรมวันแรกที่เราตั้งใจมากระบี่ในครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดีครับ เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมประชุมทำให้ทีมเราและทีมผู้จัดพอจะยิ้มได้บ้าง หลังอาหารค่ำยังมีการพูดคุยกันอย่างสนุกสนานวางแผนการประชุมในวันพรุ่งนี้พร้อมกับประเมินสิ่งที่ผ่านมาในวันนี้ว่ามีข้อควรปรับปรุงแก้ไขตรงไหนบ้าง ผมว่าดีนะครับไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ถ้าหมั่นทบทวนหาจุดบกพร่อง เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้น จะได้ไม่เผลอปล่อยโอกาสให้ผ่านไป เพราะมัวแต่คิดว่าที่เราทำนั้นเยี่ยมที่สุด ดีที่สุด
7 ธค. 50 เริ่มกิจกรรมวันที่สองละครับ วันนี้ย้ายห้องประชุมมาห้องเล็กกว่าเดิมแต่ก็ทำให้ใกล้ชิดอบอุ่นกันมากขึ้น วันนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่าเมื่อวานครับ เริ่มต้นเช้าวันนี้ด้วยบรรยากาศสุขแจ่มใส
ผมเล่าเรื่อง "กระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการ" เชื่อมโยงทุกระดับ ระหว่าง โรงพยาบาลพุทธชินราช สถานีอนามัยหรือหน่วยบริการปฐมภูมิ และประชาชนในชุมชน ทั้งหมดที่ผมนำมาเล่ากลั่นกรองจาก เจ็ดปีของการทำงานร่วมกับน้องๆในกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว ผมสรุปของผมเองว่าจะทำงานใดให้ได้ผลดีต้องคิดอยู่เสมอว่า ไม่มีใครเก่งพอที่จะเป็นพระเอกหรือนางเอกคนเดียวได้หรอกครับ ต้องอาศัยการประสานงานกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ ร่วมใจให้ตรงกันตั้งแต่แรกเพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน ร่วมสมองช่วยกันคิดเพื่อให้เกิดวิธีการที่เหมาะสมและ ร่วมมือกันทำเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมจับต้องได้จริงๆไม่ใช่เป็นเพียงแค่แผนงาน ต่อจากผมก็เป็นหนูรัตน์ (ศิริรัตน์ มีแสง) เล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่ทำงานในศูนย์สุขภาพชุมชน ตำบลบ้านกร่าง ในฐานะตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลและประชาชนในชุมชน หนูรัตน์ทำงานที่บ้านกร่างมาหลายปีผ่านอะไรหลายๆอย่างทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่ผลลัพธ์ของทีมบ้านกร่างเป็นที่น่าพอใจครับ งานบริการปฐมภูมิของตำบลบ้านกร่างจึงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ศิริรัตน์ เล่าเรื่องการทำงานที่ตำบลบ้านกร่าง
แต่ที่สร้างความฮือฮาและเสียงหัวเราะอย่างมากคือคนนี้ครับ พี่ปรีชา ศรีชัย รองนายก อบต. บ้านกร่าง บุคคลต้นแบบในการดูแลโรคเบาหวาน พี่ปรีชาในฐานะผู้นำท้องถิ่นและเป็นผู้ป่วยเบาหวานเองด้วย มีวิธีการโน้มน้าว ผลักดัน ชักจูง ชักชวนให้เกิดกลุ่มดูแลสุขภาพในชุมชน เกิดเป็นชมรมดูแลสุขภาพที่เข้มแข็ง มีสมาชิกที่ร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก พี่ปรีชาเล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนานน้ำเสียงเจือความภาคภูมิใจ แถมชักชวนชาวกระบี่ไปเยี่ยมดูงานที่บ้านกร่าง ยินดีต้อนรับเต็มที่พร้อมอาหารกลางวันโดยงบของ อบต.บ้านกร่างสนับสนุนครับ
พี่ปรีชา ศรีชัย รองนายก อบต. บ้านกร่าง
หลวงตาวี (น.พ. วีระศักดิ์ วัชรัตน์ศิริยุทธ) พูดต่อจากพี่ปรีชาเรื่องการคัดกรองโรคแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวานและ change management (การบริหารจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลง)
ถึงตอนนี้ก็เที่ยงกว่าแล้วครับ แต่ก่อนจะไปห้องอาหารกันก็มี big surprise สำหรับโต้ง คือเค้กวันเกิดจากทีมผู้จัดของโรงพยาบาลกระบี่ ทำเอาคุณนายโต้งน้ำตาไหลด้วยความประทับใจเชียวครับ
ผ่านเรื่องประทับใจกันแล้วก็ไปรับประทานอาหารกลางวันกันครับ
ตามธรรมเนียมครับ หนังท้องตึงหนังตาก็หย่อน ก่อนจะหลับกันหมดก็ต้องมาสร้างความตื่นตัวกันก่อนครับ หน้าที่ของอ้อ อีกเช่นเคย
หัวเราะกันพอแรงแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของ อ้อ เปรมสุรีย์ เล่าเรื่อง ที่ตัวเองคลุกคลีมากับเท้าเบาหวาน ให้ชาวกระบี่ฟัง
ต่อจาก อ้อ ก็เป็นหน้าที่ของโต้ง ลัดดาวัลย์ โต้งรับหน้าที่เล่าเรื่องของการบันทึกในบล็อก ยกตัวอย่างที่พวกเราบันทึกกันรวมถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้เริ่มหัดบันทึกกันแล้ว
กระดาษรูปหัวใจถูกแจกให้กับทุกคนในช่วงท้ายของการประชุม เขียนเป็นสัญญาใจต่อกันว่าจะทำอะไรให้เกิดเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเบาหวานที่เราดูแล
ถึงเวลา ลาจากอย่างเป็นทางการละครับ ผมและทีมทุกคนประทับใจในผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างสูง อยู่กันเกือบครบจนถึงเย็นเลย ขอบคุณชาวกระบี่มา ณ ที่นี้ด้วยความเคารพครับ
จับมือร้องเพลงขอสัญญากันก่อนจบการประชุม
ในที่สุด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่าง กระบี่ - พุทธชินราช ก็สิ้นสุดลงครับ กระบวนการจบสิ้นไปแล้วแต่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ อย่างน้อยที่เกิดขึ้นแน่ๆคือ ความเป็นมิตร ความผูกพันธ์ของคนทำงานทั้งสองโรงพยาบาล ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดีงามที่แม้จะเกิดในเวลาอันสั้นแต่ก็ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับพวกเราชาวพุทธชินราชทุกคนที่มีโอกาสไปเยือนกระบี่ในคราวนี้