ภาษากับเชื้อชาติพม่าในมุมมองทางภาษาศาสตร์


“เราไม่ใช่คนพม่า แต่เราเป็นคน …. ” อาจเป็นคำพูดที่ได้ยินจากคนพม่า
ภาษากับเชื้อชาติพม่าในมุมมองทางภาษาศาสตร์
“เราไม่ใช่คนพม่า แต่เราเป็นคน …. ”
อาจเป็นคำพูดที่ได้ยินจากคนพม่า การไม่ประกาศตนว่าเป็นชาวพม่า ทั้งที่มีพื้นเพในประเทศพม่า พูดภาษาพม่าได้ หรืออาจถือหนังสือเดินทางพม่าด้วยนั้น อาจเป็นเรื่องน่าฉงนสำหรับชาวต่างชาติ ที่เห็น ความเป็นพม่า ถูกปฏิเสธอย่างหน้าตาเฉย
กรณีดังกล่าวอาจสะท้อนได้ว่า การเอาเรื่องกฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมืองของประเทศมาตัดสินว่าเป็นคนพม่าหรือไม่นั้น แม้เป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่กลับไม่ง่ายที่จะให้เกิดการยอมรับในความเป็นพม่าไปได้ด้วย ส่วนการจะสรุปเอาว่าคนที่พูดภาษาพม่าได้คล่องแคล่วถือเป็นการยอมรับความเป็นพม่านั้น ก็อาจไม่ใช่ข้อสรุปที่ดี เพราะภาษากับเชื้อชาติไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป สำหรับบางคนในบางสถานการณ์ ภาษาก็ส่วนของภาษา และเชื้อชาติก็ส่วนของเชื้อชาติ หาใช่หนึ่งเดียวในความเป็นพม่าไม่
อย่างไรก็ตามภาษาอาจมีอิทธิพลต่อการยอมรับความเป็นพม่าได้เช่นกัน จากการที่ภาษาพม่านั้นถูกกำหนดให้เป็นภาษาประจำชาติสำหรับชนทุกเผ่าพันธุ์ ดังนั้นผู้พูดภาษาพม่า จึงไม่จำเป็นต้องเป็นคนเชื้อสายพม่าเสมอไป อาจเป็นคนมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ กะฉิ่น ฉิ่น มูเซอ ตองสู จีน แขก ฯลฯ  พอนานเข้าคนต่างเชื้อสายเหล่านี้ก็อาจมองตนว่าเป็นคนพม่า เพราะตนไม่พูดภาษาเดิมแล้ว นอกจากภาษาพม่า ดังตัวอย่างคนมอญในพม่าส่วนมาก ที่ลืมว่าตนสืบเชื้อสายมาจากมอญ ดังนั้น ภาษาจึงอาจบ่งชี้ความเป็นเชื้อชาติได้เพียงช่วงเวลาหนึ่ง โดยมิได้สืบสายถาวรติดอยู่กับเชื้อชาติตลอดไป
ในทางภาษาศาสตร์ มักยอมรับในเรื่องการโยงใยทางภาษาของกลุ่มชนต่างๆ และวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาที่มีเสียง ศัพท์ และไวยากรณ์คล้ายคลึงกัน แล้วจำแนกภาษาต่างๆเป็นกลุ่มภาษาหรือตระกูลภาษา การวิเคราะห์ดังกล่าวช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่หากนำมาอ้างอิงอย่างไม่ระวัง ก็อาจหลงคิดไปว่าภาษาเป็นตัวกำหนดเชื้อชาติไปด้วย
ในสมัยอาณานิคมนั้น ได้เคยมีการศึกษาทั้งในเชิงมานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์เพื่อจำแนกกลุ่มประชากรในประเทศพม่า ดังความเห็นว่า “…หากจะจัดจำแนกประชากรในพม่า เราไม่อาจอาศัยพงศาวดาร ประเพณี คติชน หรือความคล้ายคลึงทางพื้นที่(เช่น พม่าและมอญอยู่ที่ลุ่ม ฉิ่นและกะเหรี่ยงอยู่ตามดอย) หากต้องอาศัยภาษาพูดเป็นหลัก เรื่องอื่นๆอาจใช้เพื่อตรวจสอบเกณฑ์ภาษาเท่านั้น” (C.C.Lowis,  The Tribes of Burma ๑๙๑๙, หน้า ๒) และมีความเห็นว่าประเพณีหรือตำนานนั้นชนชาติต่างๆอาจมีร่วมกันได้ ภาษาพูดจึงเป็นข้อพิสูจน์สายพันธุ์ของกลุ่มชนชาติ ความเห็นเช่นนี้ยอมรับกันมานานจนมีการนำมาใช้คาดคะเนถิ่นกำเนิดและเส้นทางอพยพของชนชาติต่างๆในประเทศพม่า เพราะเข้าใจไปว่าภาษาเป็นเครื่องบ่งชี้ชนชาติได้ดีกว่าเกณฑ์ด้านอื่นๆ
ที่ผ่านมานั้น ภาษาพม่าและภาษาของชนชาติต่างๆในประเทศพม่าได้รับการศึกษาเพื่อจัดจำแนกสายพันธุ์และชี้ให้เห็นเครือข่ายและเชื้อสายทางภาษาในระดับต่างๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้จากองค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์ว่าด้วยภาษาพม่าและภาษาที่เกี่ยวข้องกับพม่าในพื้นที่ประเทศพม่าและประเทศไทย
จากการเปรียบเทียบภาษาตามแนวภาษาศาสตร์เปรียบเทียบเชิงประวัติ นักภาษาศาสตร์ได้ข้อสรุปว่า ภาษาพม่าเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาเบอร์มิส (Burmish) ของสายโลโล-พม่า (Lolo-Burmese) ภายใต้สาขาทิเบต-พม่า(Tibeto-Burman) ที่แยกเชื้อสายมาจากตระกูลภาษาจีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)อีกที ภาษาพม่าจึงมีความคล้ายคลึงกับภาษาทิเบตมากกว่าภาษาจีน และแตกต่างกับภาษาไทย ภาษามอญ ภาษาเขมร และภาษามาเลย์โดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็มีความใกล้ชิดกับกลุ่มภาษาโลโล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นชาวเขาอยู่ในประเทศไทย อาทิ มูเซอ ลีซอ และอีก้อ ส่วนภาษาพม่าจะมีความใกล้ชิดกับภาษากะเหรี่ยงมากน้อยเพียงใดนั้น ยังไม่อาจหาข้อยุติได้อย่างแน่ชัด แต่โดยลักษณะทางภาษานั้น พบว่าภาษากะเหรี่ยงมีโครงสร้างประโยคที่ต่างไปจากภาษาในกลุ่มทิเบต-พม่า คือเป็นแบบ ประธาน-กริยา-กรรม แทนที่จะเป็นแบบ ประธาน-กรรม-กริยา อย่างภาษาต่างๆในสาขาทิเบต-พม่า แรกๆนักภาษาศาสตร์จึงเสนอให้ภาษากะเหรี่ยงอยู่นอกสาขาทิเบต-พม่า แต่ต่อมามีการจัดภาษากะเหรี่ยงไว้ในกลุ่มสาขาทิเบต-พม่าด้วย เพราะเห็นว่าภาษากะเหรี่ยงมีความคล้ายคลึงกับภาษาอื่นๆของกลุ่มทิเบต-พม่าในด้านศัพท์ แต่ใกล้ชิดกับภาษาพม่าน้อยกว่าภาษาในกลุ่มโลโล เช่น มูเซอ ลีซอ และอีก้อ สำหรับภาษาที่อยู่ในกลุ่มเบอร์มิสและมีความใกล้ชิดกับภาษาพม่ามากยิ่งกว่าภาษาในกลุ่มโลโลได้แก่ ภาษามะยู(,U^) หรือมารู และภาษาอะซี(v=ut) ซึ่งพูดอยู่ในรัฐกะฉิ่น บริเวณพรมแดนพม่า-จีน
ในประเทศพม่ามีชนร่วมเชื้อสายภาษาพม่าอยู่หลายกลุ่ม ทั้งที่ร่วมเชื้อสายอย่างใกล้ชิดและที่ห่างออกไปจนส่งภาษากันไม่รู้เรื่อง กลุ่มที่ใกล้ชิดกับพม่าได้แก่ชนชาติพม่าที่พูดภาษาพม่าสำเนียงท้องถิ่นต่างๆตามชนบทและพื้นที่รอบนอก ในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีเพราะเคยสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นของตนเอง คือชาวพม่าในรัฐยะไข่(i-6b'N)หรือรัฐอาระกัน นอกจากพม่าที่ยะไข่แล้ว ชนที่มีเชื้อสายภาษาร่วมกับพม่าและยังคงหลงเหลือจนถึงปัจจุบัน เป็นเพียงชาวพม่าท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองอย่างเด่นชัด ได้แก่ อิงตา(v'Ntlkt) ทวาย(5kt;pN) ธนุ(TO6) ยอ(gpk) พูน(z:oNt) และต่องโย(g9k'NU6bt) เป็นต้น สำหรับชนที่มีเชื้อสายห่างจากชนเผ่าพม่าออกมาหน่อยนั้น ได้แก่ มูเซอ(,^C6bt) ลีซอ(]ugiak) อีก้อ(gdk) ฉิ่น(-y'Nt) กะฉิ่น(d-y'N) นาคา(ok8) กะเหรี่ยง(di'N-สะกอหรือโป) ปะโอหรือตองสู(g9k'Nl^) คะยา(dpkt-กะเหรี่ยงแดง) และปะด่อง(xgmj'N-กะเหรี่ยงคอยาว) เป็นอาทิ ชนส่วนน้อยที่ร่วมเชื้อสายกับพม่าเหล่านี้ ต่างก็มีกองกำลังอิสระต่อสู้กับรัฐบาลกลางของพม่ามาเป็นเวลานานหลายสิบปีนับแต่ได้รับเอกราช (ค.ศ.๑๙๔๘)
ในประเทศไทยมีชนเผ่าที่ร่วมเชื้อสายทางภาษาใกล้ชิดกับพม่าอยู่หลายเผ่า ได้แก่ อีก้อ(อะข่า) มูเซอ (ละหู่) ลีซอ(ลีซู) อูก๋อง(พวกละว้าที่อุทัยธานี) บิซู(พวกละที่เชียงราย) อึมปี(พวกก้อที่เมืองแพร่) รวมถึงกะเหรี่ยงหรือยางเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะ กะเหรี่ยงสะกอ(ยางขาว) และกะเหรี่ยงโป(ยางแดง) กลุ่มชนร่วมเชื้อสายกับพม่าที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาหรือเป็นเพียงกลุ่มชนเล็กๆที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ และตลอดแนวภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย สำหรับในประเทศพม่าพบชนกลุ่มดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วไปต่อจากชายแดนไทยด้านตะวันตกจนถึงลุ่มแม่น้ำสาละวิน
อันที่จริง กลุ่มชนร่วมเชื้อสายกับพม่าในประเทศพม่านั้น มีเป็นจำนวนมากที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่ผสมกลมกลืนอยู่ในสังคมเมืองจนแยกไม่ออกจากชาวพม่านั้นก็มีอยู่แทบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะมอญและกะเหรี่ยงในชุมชนเมืองในพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดี สะโตง และสาละวิน บ้างยังใช้ภาษาเดิมได้ และมีเป็นจำนวนมากที่พูดภาษาพม่าได้เพียงภาษาเดียว มีทั้งที่รู้และไม่รู้เชื้อสายเดิมของตน นอกจากนี้ ยังพบว่าบางภาษาในประเทศพม่าเป็นภาษาที่มีลักษณะ“ลูกผสม”อย่างภาษากะเหรี่ยง จนยากที่จะกำหนดชัดว่าเป็นภาษากลุ่มใด ดังนั้นภาษาจึงมิอาจนำมาพิสูจน์เชื้อสายของกลุ่มชนหรือบุคคลได้ นั่นคือภาษาหาได้ผูกติดกับเชื้อชาติไม่
จะเห็นได้ว่าแม้ภาษาจะเป็นระบบสื่อสัญลักษณ์อันซับซ้อนที่อยู่คู่กับมนุษย์ก็ตาม แต่ภาษาก็มิได้ผูกติดอยู่กับสายเลือด การหลงเข้าใจไปว่าภาษาบ่งบอกถึงเชื้อชาติได้นั้น ย่อมผิดจากข้อเท็จจริง เพราะไม่มีชนชาติใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว และภาษาของกลุ่มชนหนึ่งๆก็ย่อมผันแปรไปตามสภาวะแวดล้อม ไม่หยุดนิ่งดุจแช่แข็ง ดังนั้นชนชาติต่างๆที่ร่วมเชื้อสายทางภาษากับพม่าดังกล่าวมา จึงย่อมมีข้อแตกต่างทางภาษามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ หาได้สืบทอดทางพันธุกรรม ข้อมูลทางภาษาจึงมิอาจสนับสนุนเรื่องเชื้อชาติให้เป็นจริงขึ้นมาได้
ความรู้เกี่ยวกับเชื้อสายภาษาพม่าในทางภาษาศาสตร์ข้างต้นนั้น จึงเพียงช่วยให้ทราบเครือข่ายภาษาพม่าอย่างเป็นระบบ และให้มองเห็นภาษาในฐานะเครื่องบ่งชี้ทางวัฒนธรรม(วิถีชีวิต)อย่างหนึ่ง ส่วนเชื้อชาตินั้นอาจเป็นเพียงคำที่ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อกำหนด สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และยากที่จะพิสูจน์ให้เห็น
ส่วนการปฏิเสธทางเชื้อชาตินั้น คงเป็นปฏิกิริยาทางสังคมหรือทางการเมืองของผู้คนในประเทศที่ยังหลงสมมุติทางเชื้อชาติ  ดังนั้นการที่ความเชื่อเรื่องเชื้อชาติซึ่งโยงไว้กับความรักชาติยังคงเป็นเครื่องมือทางการเมืองในประเทศพม่าอยู่นั้น ย่อมส่งผลให้ชนชาติที่ต่างพื้นเพทางภาษา เกิดสับสนและมีกังขาใน ความเป็นพม่ ทั้งที่สามารถพูดภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่วก็ตาม
วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15542เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออ้างอิงด้วยค่ะ

เผื่อจะไปหาอ่าน

งงงงงงงงงงๆๆๆๆๆ!!!!!!!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท