เรียนรู้พร้อมกันทั้งครอบครัว


ร่วมกันทำความดีถวายในหลวงทั้งครอบครัว

15 ธันวาคม  2550

วันนี้คณะผู้เดินทางพลังเสื้อเหลืองพร้อมกันที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา  7.00 น. ออกเดินทางด้วยรถบัสปรับอากาศ 3 คัน และรถตู้อีก 2 คัน มุ่งหน้าสู่โรงเรียนบางตะบูนวิทยา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อปลูกต้นไม้ถวายในหลวง ภายใต้ชื่อโครงการ ไผทอุดมศึกษาปลูกต้นไม้ถวายพ่อ : ๑ ครอบครัว ๑ ต้นไม้ คลายโลกร้อน

คณะผู้เดินทางมีสมาชิอยู่ 4 กลุ่มย่อย  กลุ่มที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มครอบครัว ประกอบด้วยนักเรียนชั้น อนุบาล ป1 ถึง ป.6 พร้อมคุณพ่อคุณแม่  มียกเว้นอยู่ 1 ครอบครัว ที่พาคุณยายมาด้วย  กลุ่มที่สอง  คือ กลุ่มคุณครูผู้อำนวยความสะดวก   กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มผู้บริหาร ทำหน้าที่กำกับงาน ทุกอย่างราบรื่น มีความสุขถ้วนหน้า  ส่วนกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ปรึกษา เป็นกลุ่มที่ไม่มีหน้าที่ใดๆ นอกจากทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวกิตติมศักดิ์ 

จากการสนทนากับผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์พริ้มเพรา สุพโปฏก พบว่าเป็นเจตนาของ ผอ. ที่ให้ผู้ปกครองมีโอกาสร่วมทำความดีถวายในหลวงทั้งครอบครัว และร่วมส่งเสริมความใฝ่รู้ของนักเรียน   

ผู้ปกครองคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า รู้สึกประทับใจในกิจกรรมหลายๆอย่างที่ได้ร่วมทำกับลูก  ลูกมีความสุข สนุก และภูมิใจที่คุณพ่อคุณแม่รับรู้และชื่นชมความสามารถ ความกล้าที่ร่วมกิจกรรมในกลุ่ม 

 ถึงโรงเรียนบางตะบูนวิทยา  เราได้รับการต้อนรับอย่างดี จากคุณครูชมภูนุช ประเสริฐจิตร์ หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนโรงเรียนบางตะบูนวิทยา พร้อมทีมเสื่อสีฟ้ามัคคุเทศก์น้อยของโรงเรียนบางตะบูนวิทยา ทุกคนผ่านการเรียนรู้จากค่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน พร้อมให้ความรู้แก่คณะนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และผู้สนใจ

โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำตำบล จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ม.1 ถึ. ม.6  มีนักเรียน ร้อยกว่าคน ด้านหลังโรงเรียนเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ยังมีสภาพอุดมสมบูรณ์  ไม่น้อยกว่า 30 ไร่ จัดตั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนโรงเรียนบางตะบูนวิทยา  มีผู้สนใจจากสถาบันต่างๆ  เข้าเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้ในศูนย์ฯจำนวนมาก  โดยเฉพาะปีนี้ ทราบมาว่า มีผู้มาเยี่ยมชมทั้ง 365 วัน   มัคคุเทศก์น้อยปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน ป่าชายเลน และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนรอบๆโรงเรียน   

ขณะที่เรากำลังเดินแถวเข้าห้องประชุม เพื่อฟังคำบรรยายประกอบวิคีทัศน์  เราพบกลุ่มนักเรียนประมาณ 70 คนจากสุพรรณบุรีมาค้างแรมที่โรงเรียนและกำลังจะลงเรือเรียนรู้ชีวิตชุมชนสองฝั่งแม่น้ำบางตะบูน  เห็นแววตาแต่ละคนมีความสุข คงได้รับความรู้ความสุขเต็มที่อย่างแน่นอน

พวกเราได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน  ได้แก่ ต้นโกงกาง ตะบูน ตะบัน ลำพู และแสม ไม้เหล่านี้พบได้ในสภาพป่าชายเลนทั่วไป  มีสัตว์หลายชนิด สัตว์ในน้ำหรือในเลนที่เด่นมาก ได้แก่ ปลาตีน ปูก้ามดีด  ปูดีดขัน ส่วนสัตว์บกมีสองชนิด คือ ลิง และสุนัข   คุณครูแนะนำให้ถือไม้ไว้ป้องกันตัวจากความซนของลิง  ระวังลิงแย่งของกิน เพราะมันเรียนรู้ว่าถุงก๊อบแก๊บมีขนมแน่ๆ หลังจากฟังบรรยายพร้อมชมสไลด์ประกอบแล้ว   มัคคุเทศก์น้อยนำพวกเราเข้าไปศึกษาป่าชายเลนหลังโรงเรียน เป็นกลุ่มๆ  ทางเดินเป็นคอนกรีดทอดยาวไปทางทะเลแล้ววกกลับเป็นรูปตัว U ทางเดินช่วงหนึ่งเป็นไม้กระดาน  มัคคุเทศก์อธิบาย ให้ข้อมูลเป็นจุดๆ จัดเป็นฐาน  ได้แก่ ฐานทะเล  - ฐานแสม   - ฐานโกงกาง และ- ฐานชะคราม

หลังรับประทานอาหารเที่ยงพวกเราปลูกต้นไม้ ตามความตั้งใจ  ทางโรงเรียนบางตะบูนเตรียมต้นกล้าแสมให้เรา  ครอบครัวละ 1 ต้น คุณครูชมภูนุช ประเสริฐจิตร์ เตรียมพื้นที่รอบทางเดินขุดเป็นหลุมเว้นระยะห่างเป็นจังหวะ  แนะนำให้เรานำต้นกล้าปลูกในหลุมแล้วเติมดินที่โคนต้น ต้องกดแรงๆ ให้แน่น เอาไม้ปักผูกเป็นหลักยึดต้นไว้  เวลาน้ำขึ้นจะท่วมต้นกล้า แต่จะไม่ถูกพัดพาไป  ภาพความร่วมมือในการปลูกต้นไม้ของแต่ละครอบครัวน่ารักมาก  คุณพ่อบางคนหารือกับลูกว่าใครจะเป็นคนเอาต้นกล้าหย่อนลงไปในหลุม ใครจะส่งดินให้ ดูสามัคคีทั้งพ่อ-แม่และลูก  บางที่เป็นทางลาดเอียงลงไปที่มีน้ำอยู่  ท่าทางการปลูกก็เป็นลีลาน่าดูทีเดียว   ผู้เขียนคิดว่าทุกครอบครัวจะได้หัวข้อสนทนาที่สร้างสรรค์ ผูกพันระหว่างกันนาน  

ภาคบ่าย นักเรียนและผู้ปกครองลงเรือชมชีวิตริมแม่น้ำ โดยมีคุณครูชมภูนุช ประเสริฐจิตร์พร้อมมัคคุเทศก์เป็นผู้บรรยาย  เรือมี 2 ลำ  จุได้ 60 คน  อาจารย์และผู้บริหารจึงเรียนรู้ชีวิตคนในหมู่บ้านแทน เราอำลาโรงเรียนเวลาประมาณบ่ายสามโมง  และกลับเข้ากรุงเทพด้วยสวัสดิภาพ

การเรียนรู้ในสภาพจริงเป็นประสบการณ์ที่ให้ทั้งความรู้  การคิด  และความรักต่อสิ่งรอบตัว ได้มีโอกาสชื่นชมแบบอย่างของความเอื้อเฟื้อของโรงเรียนบางตะบูน  ความเก่งของสมาชิกเสื้อสีฟ้า  ทำให้จิตเกิดสุนทรียภาพ และ จินตนาการอื่นๆ  แต่ทั้งนี้ คงเกิดตามความแตกต่างของแต่ละคน  อยากเชิญชวนให้ร่วม เผื่อแผ่ความคิด ความรู้ และ ความรู้สึกต่อกัน  จะมีใครไหมหนอ โปรดเสนอตัว แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ขอขอบคุณมากนะที่นี้

ครุภาวิณี

หมายเลขบันทึก: 155259เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2007 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ตามมาอ่าน
  • การทำความดีเพื่อแผ่นดินครับอาจารย์
  • ดีใจว่าได้อ่านเหมือนสมัยอยู่ที่ สานปฎิรูปกันเลย
  • อิอิอิอิๆ

สวัสดีครับคุณครู

     ผมสงสัยว่าการเรียนรู้จากสภาพจริง หรือจากประสบการณ์ ทำไมจึงมีความรู้สึกว่าผู้เรียนได้รับ และสามารถเข้าใจเองได้เลยว่า เด็กเป็นผู้มีความรู้และความเข้าใจ แต่ที่ผ่านมากรอบของหลักสูตร โปรแกรมหรือการเรียนรู้จากตำราหลายๆเล่ม ส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจากประสบการณ์ของท่านผู้รู้(ผู้สอน) แต่กว่าจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ ผมในฐานะผู้เรียนแล้วทำไมรู้สึกว่าเข้าใจยากจังเลยครับ แถมผู้เรียนยังต้องมาทำข้อสอบที่กำหนดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้สอนด้วย ตลอดจนเกณฑ์ต่างๆที่ผู้สอนสร้างขึ้น ในการวัดผลสัมฤทธิ์

    อาจารย์คิดว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง เกณฑ์การวัดผลสัมฤทธิ์มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรครับ ใครรู้บ้างครับ ผมสงสัยจริง  

  หนูมาขอกราบสวัสดีปีใหม่คะอาจารย์

%25e0%25b8%2594%25e0%25b8%25ad%25e0%25b8%2581%25e0%25b8%259b%25e0%25b8%25b5%25e0%25b8%259a

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท