BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ประชาธิปไตยกับเทคโนโลยีการเกษตร


ประชาธิปไตยกับเทคโนโลยีการเกษตร

สื่อทุกชนิดตอนนี้... จะเห็นได้ว่า นอกจาก กกต. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงแล้ว ก็จะมีผู้นำทางศาสนาต่างๆ บรรดาศิลปิน และผู้มีชื่อเสียงแขนงอื่นๆ ในสังคมไทยออกมาชักชวนให้ไปเลือกตั้ง และต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งก็เหมือนกับทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาในช่วงก่อนจะเลือกตั้ง...

และผู้เขียนเพิ่งอ่าน บทความของ เวทิน ชาติกุล เรื่อง การเปลี่ยนเทคโนโลยีในสังคมไทย : กรณีเทคโนโลยีสารเคมี จากวารสารสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐) จบลง ก็ได้ความคิดเห็นว่า ปัญหาสองประะเด็นนี้มีรูปแบบพื้นฐานทำนองเดียวกัน มีตรรกะเหมือนกัน หรืออาจสะท้อนปัญหาของสังคมไทยเหมือนกัน....

จากบทความบอกว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการเกษตรแบบเดิมมาเป็นแบบใหม่จะเป็นไปดังนี้...

  • เริ่มโดยกลุ่มชนชั้นนำในสังคม
  • เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
  • และเปลี่ยนระบบกสิกรรมของประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ ก็มีผู้ต่อต้านและตอบโต้จากสังคม ซึ่งก็มีนัยการตอบโต้แตกต่างกันไปดังนี้

  • การตอบโต้โดยเปิดเผยชนิดแข็งกร้าว เช่น กบฎชาวนาในสมัยอยุธยาเป็นต้น ซึ่งทุกครั้งรัฐจะใช้วิธีการปราบอย่างรุนแรงเสมอ
  • การตอบโต้โดยอ่อน เช่น การรวมกลุ่มประท้วง หรือการถวายฎีกาเป็นต้น ซึ่งเกือบทุกครั้ง จะมีการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับขุนนางหรือเจ้าหน้าที่
  • การตอบโต้โดยส่วนตัว นั่นคือ การไม่เชื่อฟังหรือไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ มีการใช้สารเคมีผิดวิธี เป็นต้น

มิติทางญาณวิทยา สังคมไทยมักจะตีความหมายปัญหาว่า

  • ปัญหาทางเทคโนโลยี -ปัญหาความอยุติธรรมในสังคม - ปัญหาในการใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่ถูกไม่ควร

ส่วนมิติทางจริยศาสตร์ รัฐเชื่อว่า

  • เทคโนโลยีสมัยใหม่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีของผู้คน

..................

ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อเปลี่ยนคำว่า เทคโนโลยี มาเป็นคำว่า ประชาธิปไตย ก็อาจเป็นไปทำนองเดียวกัน เช่น ประชาธิปไตยเริ่มต้นจากกลุ่มชนชั้นนำในสังคม เืพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองทั้งหมด...

เฉพาะประเด็นการต่อต้านหรือตอบโต้จากสังคมนั้น ผู้เขียนคิดว่า รูปแบบการใช้เงิน ซื้อเสียง ขายเสียง น่าจะเป็นการตอบโต้จากกลุ่มชนในสังคมอย่างชัดเจนที่สุด กล่าวคือ

  • ผู้สมัครก็ยังเชื่อกันว่า มีการใช้เงินเพื่อซื้อเสียงอยู่ ทั้งโดยตรงหรืออ้อม และโดยเปิดเผยหรือปกปิด...
  • ผู้ลงคะแนนก็ยังคงเชื่อกันว่า มีการรับเงินอยู่...
  • เจ้าหน้าที่และกระบวนการทางการเมือง ก็เชื่อว่ายังคง เอื้อ ต่อการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอยู่...

เมื่อมองทางมิติญาณวิทยา ก็เชื่อกันว่า ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยก็คือปัญหาเรื่องความอยุติธรรม และก็คือปัญหาในการใช้อำนาจรัฐในแนวทางที่ไม่ถูกไม่ควรของเจ้าหน้าที่

ส่วนมุมมองทางจริยศาสตร์ ก็ชัดเจนเช่นกันที่จะบอกว่า

  • ระบอบประชาธิฺปไตยจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น...

................

ผู้เขียนก็สงสัยตัวเองว่า การที่รูปแบบเชิงตรรกทั้งสองนี้สอดคล้องกัน เพราะผู้เขียนเข้าไปจับโครงสร้างแห่งชุดคำอธิบายว่าเหมือนกัน...

หรือเพราะทั้งสองนี้สะท้อนถึงปัญหาระดับพื้นฐานของสังคมไทย...

และหรือเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง...

จึงนำมาเล่าไว้เล่นๆ  

 

หมายเลขบันทึก: 155142เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2007 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการครับหลวงพ่อชัยวุฒิ

กระผมอ่านแล้วความคิดเห็นของหลวงพ่อมีส่วนเป็นไปได้สูงครับ

อาจเป็นบทสรุปขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง........

เพราะจากอดีตจนถึงปัจจุบันมักเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ โดยชนชั้นนำ(สำหรับกระผมคิดว่าชนชั้นนำหรือผู้นำ(ผู้ที่มีความต้องการก่อนคนอื่น)) แล้วตามมาด้วยทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ตามความต้องการ  แล้วก็ขยายผลให้มากขึ้นโดยคิดว่ายิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี  สุดท้ายก็เปลี่ยนไปเป็นอย่างที่ผู้นำต้องการตามลำดับขั้นดังที่คุณเวทิน ชาติกุล และหลวงพ่อ กล่าวไว้ข้างต้น เพียงแต่อาจมีประเด็นย่อยต่างกันบ้างตามยุคสมัย แต่โดยหลักแล้วน่าจะใช่เลยครับ สุดท้ายปัญหาก็ปรากฏ แล้วก็ต้องมาหาทางแก้กันต่อไป

P

ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

 

ประเด็นที่อาตมาสนใจก็คือ

  • การตอบโต้จากกลุ่มสังคม

กล่าวคือ แม้จะมีการชักชวน ชี้นำ เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง... และกฎหมายล่าสุดก็บัญญัติว่า ผิด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายก็ตาม....

แต่ เมื่อปัญหานี้ยังคงมีอยู่ และก็พัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นคือ การตอบโต้จากสังคม ใช่หรือไม่ ?

ดังนั้น อาตมาคิดว่า เราน่าจะศึกษาปัญหาการตอบโต้จากสังคมในรูปแบบนี้ ดีกว่ามัวแต่รณรงค์ เพราะเมื่อยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ จึงควรศึกษาเพื่อปรับรูปแบบใหม่...

ก็บ่นเล่นๆ เท่านั้น

และ บ่นเรื่องประเด็นส่วนตัวนิด อาตมาชื่อ ชัยวุธ ( ธ.ธง สะกด) 

เจริญพร 

 

 

ความคิดแปลก  และน่าสนใจครับ

ไม่มีรูป

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

 

รู้สึกปลื้ม สำหรับคำชมของท่านอาจารย์...

อาตมาเพียงแต่ ถอดโครงสร้างของชุดคำอธิบายเรื่องหนึ่งมา แล้วก็นำอีกเรื่องหนึ่งมาใส่ในชุดคำอธิบายที่ถอดมาได้ เท่านั้น... 

ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็คล้ายๆ กับอาตมาไปเห็นบ้านหลังหนึ่ง ก็จำแบบไว้ แล้วก็มาสร้างบ้านหลังหนึ่งด้วยอุปกรณ์ของเราเองตามแบบที่จำไว้ เท่านั่นเอง...

อนึ่ง ประเด็นการตอบโต้อำนาจรัฐนี้ อาตมาคิดว่ามีมานานแล้ว จะเขียนบันทึกใหม่เรื่อง ศรีธนนชัย เพื่อให้เห็นอีกประเด็นหนึ่ง....

เจริญพร 

ที่พระอาจารย์อรรถาธิบายอุปมาอุปมัยนั้น...ผมมองว่า...เป็นกระแสแห่งโลก(โลกีย์)ครับ...

 

เมื่อโลกเดินทางไปด้านนี้...มวลรวมประชากรก็หลั่งไหลตามกัน(แม้ว่าทุกเรื่องจะมีผู้เดินสวนทางก็ตาม)

กระแสแห่งเทคโนโลยี....

กระแสแห่งประชาธิปไตย....

ก็เหมือนคนจุดเทียนสว่างไสวอยู่ไกลลิบๆ...ผู้คนก็เข้าใจว่านั่นเป็นทางออกจากถ้ำมืด...โดยไม่รู้จริง ๆ ว่า...จะไปพบกับอะไรกันแน่....

P

นายขำ

 

ท่านเลขาฯ ว่ามาก็ถูกต้อง เพราะนั่นคือ..

 

  • พฤติกรรมฝูงสัตว

สัตว์มักมีแนวโน้มว่ามักจะทำอะไรเหมือนๆ กัน เพราะรู้สึกปลอดภัย ส่วนสัตว์บางตัวที่แปลกแยกออกไปก็อาจถูกต่อต้าน ทำร้าย หรือถูกกล่าวหาว่าบ้าหรือเพี้ยน...

แต่สัตว์บางตัวที่ว่านั้น ถ้าเริ่มมีผู้นิยมชมชอบ และเริ่มมีผู้เอาเยี่ยงเอาอย่างมากขึ้น ก็จะกลายเป็นผู้นำหรือจ่าฝูงใหม่...

ส่วนบางตัวที่ไร้ผู้นิยมชมชอบก็อาจถูกกล่าวหาว่าบ้าหรือเพี้ยนต่อไป....

เจริญพร 

นมัสการครับหลวงพ่อชัยวุธ

กระผมต้องกราบขออภัยหลวงพ่อที่ใส่ชื่อผิด และขอขอบพระคุณที่หลวงพ่อแจ้งให้ทราบครับ

เรื่องที่หลวงพ่อสนใจเป็นเรื่องที่ศึกษาค่อนข้างยากกระมังครับ เพราะคงหาคนที่จะให้ข้อมูลตามความจริงได้ยาก

เราหาวิธีแก้เขาก็หาวิธีโกง สุดท้ายเราก็ตามหลังทุกที

แก้กันที่ต้นเหตุดีกว่าครับ แต่กระผมก็ขอตามหาต้นเหตุก่อนนะขอรับ เจอเมื่อไหร่กระผมจะศึกษาและหาวิธีทำให้ต้นเหตุเกิดเป็นผลที่ดีทำให้โลกนี้อยู่กันอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืนครับ

P

ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

 

อาตมาก็มิได้ศึกษาหรือสนใจอะไรนัก เพียงแต่เมื่อมีความคิดผุดขึ้นมาว่า มีชุดคำอธิบายเป็นไปทำนองเดียวกัน จึงนำมาเล่าเล่นๆ ...

เฉพาะประเด็นการเมือง เราน่าจะยกเลิกกฎหมายห้ามซื้อเสียง ปล่อยไปตามอิสระ แต่คงจะเป็นไปได้ยาก...

ประเด็นที่ว่านี้ ก็ทำนองเดียวกับกรณียาบ้า เคยได้ยินแนวคิดว่า น่าจะให้ทางการผลิตขายเลย...

....

อีกอย่างหนึ่ง คุณโยมเรียก หลวงพ่อ ทำให้อาตมารู้สึกว่า แก่ (...... )

หลายเดือนก่อน นั่งรถเมล์มาจากหาดใหญ่ พอถึงสงขลา กระเป๋ารถก็ถามมาว่า หลวงพ่อลงไหน ?  อาตมารู้สึกไม่ค่อยสบอารมณ์นัก...

ตอนลงรถก็มองดูกระเป๋าอีกครั้ง คิดว่าอายุราว ๒๐ ... อาตมาเดินเข้าวัด พลางนึกขำตัวเอง เค้าเรียกหลวงพ่อก็น่าจะสมควรแล้ว เพราะเด็กรุ่นนี้สามารถเป็นลูกเราได้แล้ว....

ก็บ่นเล่นๆ... 

เจริญพร   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท