จิตตปัญญาเวชศึกษา 45: รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว (จะดีหรือ?)


รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว (จะดีหรือ?)

ตั้งหัวข้อล้อเลียน (จงใจ) คำพังเพย "รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล" ซึ่งอาจจะไม่ตรงบริบทที่เป็นที่มาสักเท่าไร แต่การที่ไม่ตรงบริบทนี่แหละที่เป็นประเด็นของกระทู้นี้ เพราะเกิดการขยายการใช้คำพังเพยนี้ เลยเถิด เป็น value ในสังคมยุคตัดตอน เป็นท่อนๆ ไม่ต่อเนื่อง ที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง 

เมื่อก่อนนี้ เรียนแพทย์หกปี ก็นับนานมากแล้ว เพื่อนเตรียมอุดมรุ่นเดียวกับผม เขาไปเรียนวิศวะ 4 ปีจบ ทำงาน พอผมพึ่งรับปริญญาปรากฏว่าเขาก็คั่ว foreman position เป็นหัวหน้า มีลูกน้องในดูแล กำลังเตรียมแต่งงานไปเรียบร้อย แต่ในยุคปัจจุบัน พอจบแพทย์ 6 ปี ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องเตรียมหาที่เรียนต่อ เป็นแพทย์เฉพาะทาง 3 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง พอเรียนจบแพทย์เฉพาะทาง บางคนก็เรียนต่อสาขาย่อยเฉพาะลงไปอีก เราเรียกว่า "เรียนลงลึก" ลึกจริงๆ บางคนลึกขนาดเริ่มพูดภาษาใต้ดิน คือมนุษย์มนาธรรมดาไม่ใช้พูดกัน ตัวผมเองเรียนภูมิคุ้มกันวิทยา ว่าลึกมากแล้ว พอไปประชุมวิชาการ เจอพวกปริญญาเอกชีวเคมี โอ้ โห เป็น "ภาษาเทพ" หรือ "ภาษานรก" ขุมไหนก็ไม่ทราบ ฟังไม่รู้เรื่องเลย เพราะเต็มไปด้วย jargons ที่จำเพาะเอามากๆ คนที่อยู่นอก field ที่เรียนลงลึกแบบนี จะไม่มีโอกาส หรือโอกาสน้อยมาก ที่จะมีธุระอะไรจะต้องไปใช้ terms เหล่านี้

สาเหตุจริงๆคงจะซับซ้อน แต่จากภาพรวม ดูเสมือนว่าการรับรู้่ว่า "ยังรู้ไม่พอ" จะรุนแรงขึ้น มีความรู้เยอะขึ้น ลึกขึ้น หรือทั้งสองประการในองค์ความรู้หลักเกือบทุกสาขา (หรือทุกสาขา?) 

คำถามที่จะเชื่อมโยงกับหัวข้อก็คือ "เรียนลงลึก" อย่างที่ว่านี้ ช่วยให้เรา "รู้กระจ่าง" จริงหรือ และการรู้กระจ่างเพียงอย่างเดียวนั้น จริงๆแล้วมีความหมายว่าอย่างไร?

มีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Knight in rusty armor โดย Robert Fisher ที่มีคนแปลเป็นไทยโดยคุณนรนาท เนรมิตนักรบ ในชื่อว่า "สุภาพบุรุษอัศวิน " มีอยู่ตอนหนึ่งที่อัศวินผู้กำลังอยู่ในพันธกิจ "แสวงหาสัจธรรม" ได้เข้าไปใน "ปราสาทแห่งความรู้่" ภายนอกปราสาทนั้นก็โอ่โถงเหมือนปราสาทธรรมดาๆทั่วๆไป แต่พอเข้าไปข้างใน ปรากฏว่า "ปราสาทแห่งความรู้นี้ มีเพียงห้องเดียว" เท่านั้น

 

สาเหตุที่มีห้องเดียวก็เพราะว่า "ความรู้ที่แท้จริง นั้นเพื่อประโยชน์ของสรรพสิ่งในนิเวศน์" ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงกันหมด ไม่ได้แบ่งแยกเป็นรายวิชา เป็นสาขา

น่าสนใจที่ concept นี้ตรงกับที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระลิขิตว่า "The True Success is not in the Learning, but in its application for the benefit of mankind."

 ในคนที่ "ลงลึก" เพื่อรู้กระจ่างนั้น ไม่เพียงแต่ลงลึกไปในแง่ biology หรือระดับ molecular level หรือ genetic level เท่านั้น แต่การลงลึกน่าจะหมายถึงการเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึง "ความหมายโดยนัย" ของความรู้ที่ตนลงลึกด้วย ได้แก่ ผลกระทบของสิ่งนั้นต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เพียงแค่ที่ใกล้ชิด แต่ต่อองค์รวม ต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิต สังคม

ทว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าการ "ลงลึก" กลายเป็นการศึกษาที่หลุดพ้นจากปรัชญาแห่ง "ความต่อเนื่องเชื่อมโยง" กลายเป็นยิ่งเรียน ยิ่งขุดลงไปสาขาเดียว เช่น  biology, cellular and molecular biology, genetics, biochemistry หรือสาขา physics ก็ลงไปที่ particles หรือ พลังงาน แต่ว่าไม่สามารถจะเชื่อมโยงความรู้ที่มี มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อ "ชีวิต" หรือ "การใช้ชีวิต"ได้

ตรงกันข้าม การลงลึก บางครั้งกลับทำให้ detach จากสิ่งสำคัญๆหลายอย่าง เช่น ความรู้ทางสังคมศาสตร์หลายๆสาขา อาทิ ความดี ความงาม สุนทรียศาสตร์ ปรัชญา การสื่อสาร ศาสนา จิตวิญญาณ ความหลงไหลลงลึกใน hard sciences ที่เกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ ทำให้คนใกล้เคียงกับเครื่องจักรกล ที่ทุกๆอย่างเป็น mechanical ไปหมด เป็นความสัมพันธ์แบบสมการเชิงเส้นตรง (linear equation relationship)

หรือคนที่สนใจสังคมศาสตร์ ก็อาจจะเผลอละทิ้งหลุดเลยจากความสำคัญแบบกลไกของสิ่งต่างๆไป แต่จริงๆแล้ว ศาสตร์ต่างๆนั้น ต่างทำให้เกิดสาเหตุและผล ความเชื่อมโยงบางทีอาจจะละเอียดอ่อนมากๆจนต้องใคร่ครวญและพิจารณาอย่างถ่องแท้ และความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงบางอย่าง อาจจะเกิดกว่าที่ประสาทสัมผัสหยาบของมนุษย์จะวัด หรือสำแดงออกเป็นภาษาได้ แต่เรารู้ว่ามันมีอยู่จริง เช่น ความรัก ความเมตตา กรุณา

รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว

หมายความว่าอย่างไร (หรือ "ควร" จะหมายความว่าอย่างไร?) ในความเห็นของผม มันไม่จำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เพราะศึกษาเรียนเรื่องใดๆก็ตาม สุดท้าย ก็จะนำไปสู่ความจริงแท้แห่งความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเสมอ (interconnectedness) ศึกษาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ กฏหมาย ศาสนา ฯลฯ สุดท้ายเมื่อความรู้นี้มี "ความหมาย" ขึ้นมา ก็เพราะมีผลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

เราจะไม่มีวันบอกว่า "เราเข้าใจกระจ่าง" ในเรื่องใดๆ จนกว่าเราจะเดินทะลุกรอบของวิชานั้น และมองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ กับความจริงอื่นๆ กับความงามอื่นๆ และกับความดีแห่งจักรวาล

หมายเลขบันทึก: 155137เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2007 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับอาจารย์
     เห็นด้วยครับว่าการ ...  มองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ กับความจริงอื่นๆ กับความงามอื่นๆ และกับความดีแห่งจักรวาล  คือเป้าหมายแห่งการเรียนรู้ ... รู้ไปทุกเรื่องแต่เชื่อมโยงไม่ได้  นำไปใช้แก้ปัญหาไม่ได้ เท่ากับไม่รู้นั่นเอง
     แถมนิดนึงครับ... 
   รูปปราสาทขนาดไฟล์ใหญ่มาก เกือบ 900 KB. ทำให้ Load ช้ามากครับ  ผมว่าถ้า Resize ให้เหลือสัก 100 กว่าๆ ก็คงหมดปัญหาครับ
   โปรแกรมเล็กๆใช้ง่ายที่สุดชื่อ Image Resizer น่าใช้มากครับ หากยังไม่มี Click ที่นี่ ได้เลยครับ


 

ขอบคุณครับ อ. Handy

พอดีตอนนี้ผมใช้ Mac น่ะครับ แต่ลอง adjust แล้ว ตอนนี้เหลือ 200 ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านบันทึกนี้แล้ว มีความรู้สึกว่า ตัวเองไม่ค่อยรู้อะไรกระจ่างเท่าไร

ในชีวิตที่ผ่านมา  พบเจอสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นตลอดเวลา  และทำให้พบว่าที่ตนเองคิดว่ารู้ในบางเรื่อง ก็รู้ไม่ลึกอะไร

 จริงๆ แล้ว ยังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกเยอะมาก  

ดิฉันเคยพบ และสัมภาษณ์ คนจบใหม่มามาก ได้ปริญญากันสูงๆ  ส่วนใหญ่แล้วจะค่อนข้างมีความมั่นใจตนเองพอสมควรทีเดียว ในเริ่มแรก เมื่อจบใหม่ๆ

แต่พอทำงานๆไป ความภูมิใจและความหยิ่งทรนงของเขา จะเริ่มลดลง เพราะประจักษ์ว่า ยังมีสิ่งที่เขายังไม่รู้อีกมาก

และบางคนก็ไปเรียนปริญญาเอก ในสาขาวิชาที่ดิฉัน ก็มองไม่ค่อยจะออกว่า จะสามารถมาเชื่อมโยงความรู้ที่มี และมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อ "ชีวิต" หรือ "การใช้ชีวิต" หรือต่อสังคมได้อย่างไร 

พอไปถามเข้า เขาก็บอกว่า ที่เขาเรียนมามากๆ ในสาขานี้ เพราะ อยากเรียน แต่ยังไม่ได้มีโอกาส  มาประยุกต์ ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง  แต่อย่างใด

ดิฉันจึงเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า.....

 มันไม่จำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เพราะศึกษาเรียนเรื่องใดๆก็ตาม สุดท้าย ก็จะนำไปสู่ความจริงแท้แห่งความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเสมอ (interconnectedness) 

 สุดท้ายเมื่อความรู้นี้มี "ความหมาย" ขึ้นมา ก็เพราะมีผลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม  นั่นเอง

ในความเห็นของดิฉัน ความรู้อย่างเดียว แก้ปัญหาไม่ได้

ในการระดมความคิด ไม่ควรจะพูดถึงเฉพาะทางเทคนิคเท่านั้น

แต่ควรพูดถึงการจัดการให้ประสบความสำเร็จด้วยการจัดการคือปัญญาที่ทำให้สำเร็จได้

ประเทศเรา  ส่งคนไปเรียนต่อต่างประเทศ และยังต้องส่งไปเรื่อยๆ

แต่ทำไมเราต้องเสียค่าที่ปรึกษาต่างประเทศทุกสาขาปีละเป็นหมื่นล้านละคะ

ความเห็นดิฉัน คิดว่า ความรู้อย่างเดียวไม่พอ  ต้องมีการสังเคราะห์ความรู้เพื่อการใช้งานด้วย

คุณ sasinanda ครับ

ขอ quote อีกครั้ง "Success is not in the learning, but in its application for the benefit of mankind."

การใช้คำว่า "เรียนจบแล้ว" ก็เป็นการ misleading พอสมควรทีเดียว ณ เมื่อ "จบหลักสูตร" นั้น หมายความว่านักศึกษาน่าจะพร้อมที่จะ "เรียนจริงจัง" จากชีวิตจริงเสียที และโลกนี้ก็เต็มไปด้วยสิ่งที่เขาเตรียมพร้อมมาตลอด 3-4 ปี จะได้ลดความ arrogant ว่า หมดแล้วเรื่องที่จะเรียน เพราะคำนี้เป็นนัยของคำ "เรียนจบ"

สิ่งสำคัญก็คือ attitude ของครู ว่าสอน contents หรือ "กำลังสอนคนให้อุดมไปด้วยการศึกษา" ซึ่งแทบจะต่างกันมากระหว่างสอนนกแก้วให้พูด กับสอนนกแก้วให้แต่งกลอนนั่นทีเดียว 

ค่ะ เข้ามาแสดงความเห็นด้วยกับที่อาจารย์ ย้ำอีกทีค่ะ ว่า

การใช้คำว่า "เรียนจบแล้ว" ก็เป็นการ misleading พอสมควรทีเดียว

ดังนั้น ครูบาอาจารย์  คงจะต้องเน้นย้ำว่า การศึกษาในระบบนั้น เป็นการปุพื้นฐานความพร้อม

 เสริมสร้างให้บุคคลมีความรอบรู้พอเพียง ไม่ใช่เพียงพอ

 สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม  และให้นักศึกษาเข้าใจว่า เขายังจะต้องมีการเรียนรู้ด้วยตนเองไปอีกตลอดชีวิต

ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาในทุกรูปแบบ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณค่ะสำหรับบันทึกนี้ ชอบ quote ที่บอกว่า "The True Success is not in the Learning, but in its application for the benefit of mankind." มากเลยค่ะ

แต่คิดว่าต้องเรียนรู้เป็นอย่างมากในการที่สอนคนให้อุดมไปด้วยการศึกษา เพราะว่า ตอนนี้หลายคนที่เขาเรียน เขาเรียนเพื่อเกรด เพื่อใบปริญญา ไม่ได้เรียนเพื่อเอาความรู้ 

หลายครั้งที่ผมทบทวนการทำงานพัฒนาชนบทผมมีความเห็นในลักษณะคล้ายกับที่คุณหมอกล่าวถึงนี้

คือ การทำงานพัฒนาชีวิตชาวบ้าน ครอบครัว หรือหมู่บ้านชนบทนั้น มีพัฒนาการมานานพอสมควรในบ้านเรา แต่ก็มีภาพบางอย่างที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นไป หรือพัฒนาน้อยมากคือ "การบูรณาการงานพัฒนา"

เรามีกรมส่งเสริมการเกษตร---->ส่งเสริมเรื่องการเกษตร

เรามีกรมปศุสัตว์---->ส่งเสริมเรื่องปศุสัตว์

และกรม......ฯลฯ

ต่างมีเจตนาดีทั้งนั้นเลยในการหาทางพัฒนาชาวบ้านให้รู้เข้าใจในเรื่องที่เป็นบทบาทหน้าที่ของกรมตัวเอง ทำได้มากได้น้อยผลก็ตกกับชาวบ้าน

ประเด็นก็คือ ชีวิตชาวบ้านมิได้ขึ้นกับปศุสัตว์เพียงอย่างเดียว มีอีก ร้อยแปดเรื่อง แม้เรื่องอื่นๆก็มีกรมอื่นๆทำ  แต่มันคนละทีสองที ไม่มีพลัง ไม่เหมาะสมกับเวลา ไม่ตรงกับความต้องการ  ฯลฯ ปี 

การพัฒนาด้วยเงื่นไข specialist  มันไม่มีพลัง ยิ่งเงื่อนไขของระบบราชการที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับงานพัฒนาชุมชน ยิ่งเหมือนเอาพริกไปละลายแม่น้ำมากกว่าครับ

งานพัฒนาชุมชนหากเอาผู้รู้แจ้งทางเดียวไปทำงานแล้วยิ่งเห็นชัดว่าไม่มีทาง

กรณีตัวอย่างความเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและก่อสร้างถนนที่ปลอดภัยที่สุด อาจเกิดขึ้นได้ แต่ถนนนั้นไปขัดกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวภาคเหนือ ถนนไปขัดอย่างไรครับ  ขัดตรงที่ว่าไปทำ U turn ห่างไกลจากชุมชน จากที่เดิมไม่มีเกาะกลางถนน พอมีเกาะกลางถนนเพื่อความปลอดภัยก็ไปทำ u turn ไกล เมื่อชุมชนมีศพต้องแห่ใส่รถเข็นไปป่าช้าตามประเพณี ก็ต้องไป u turn แต่เมื่อ turn แล้วกลายเป็นว่าหัวศพหันกลับมาบ้านซึ่งขัดกับประเพณีท้องถิ่น ชาวบ้านต้องทุบ u turn ทิ้ง

นี่คือผลของความเป็น specialist ด้านเดียว 

ผมเห็นด้วยกับการพัฒนาวิชาชีพให้ทะลุปรุโปร่ง แต่ควรจะไปพร้อมๆกับการเอามาใช้ได้จริงในสังคมนั้นๆด้วยครับ

อ.บางทรายครับ

ขอเสริม

คำว่า "สุขภาพ" หรือ "สุขภาวะ" นั้น มีความหมาย และเป็น "องค์รวม (holism) ดังนั้น "สาธารณสุข" จะขับเคลื่อนได้ จะต้องมีการประสานรวมและสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ และมี alignment ที่ไปด้วยกัน

อยู่ดี กินดี มีสุข ไม่เพียงแค่ปลอดโรคเท่านั้น แต่หมายถึง ความปลอดภัยในชีวิต สันติสุขของบ้านเมือง มีอุปโภคบริโภค มีการศึกษา เศรษฐานะพอเพียง จิตใจสงบสันติและมีมงคลเป็นเครื่องนำ มีเครื่องยึดเหนี่ยว

นั่นคืองานของ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษา กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงศาสนา ท้งหมด มีการทำงานที่เอื้อหนุนจุนเจือและใช้ทรัพยากรเพื่อสิ่งเดียวกัน คือ "มวลมนุษย์ และภูมิลำเนา สิ่งแวดล้อม"

ถ้าเราทำงาน แต่สิ่งต่างๆไม่สอดคล้อง ระบบไม่เอื้อหนุน อาทิ การศึกษาไม่เอื้อการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม การที่จะทำอะไรๆ "ให้คนอื่น" เป็นเพียงเพราะต่อเมื่อเราได้ประโยชน์กลับคืน สุขภาวะทางจิต ทางสังคม ก็จะง่อนแง่นโงนเงน

มีคนถามคำถามว่า "ถ้าเรายอมมีนักการเมืองสุดจะโกงกิน แต่ทำให้เศรษฐกิจดี กับหานักการเมืองบริสุทธิ์แต่เศรษฐกิจเชื่องช้า จะเอาใคร? ใครๆก็เลือกอันแรก (จริงหรือ?) ใชไหม?" เป็น concept ของมัคคาวิลเลียน (Machaville's Principle) เจ้าของ motto "The End justifies the Means"

ปัญหาของคนที่เชื่อแบบนี้ก็คือ "อะไรเป็น The End ของคนที่ทำแบบนี้ เชื่อแบบนี้ ในระยะยาว?" อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเรากลายเป็นพวกที่ยอมมี corrupted moral เพื่อปากท้อง สังคมจะเป็นอย่างไร ลูกหลานของเราจะอาศัยในสิ่งแวดล้อมแบบไหน

มัคคาวิลลี ก็อาจจะไม่ชัดเจนนักมั้ง หรือเปล่า? สำหรับคำตอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท