เนื่องจากต้องรีบเดินทางกลับต่างจังหวัด คิดว่าจะมาใช้ Net ที่บ้าน แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่คิด ต้องขออภัยท่านอาจารย์ธวัชชัยที่การเขียน Blog คราวนี้ เลยเวลาที่กำหนดค่ะ
ไม่ได้เป็น Case ของบริษัทอย่างที่อาจารย์กำหนดหัวข้อให้ไว้ แต่คิดว่า น่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่าน
การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะทำให้คุณรู้จักหาความรู้ และนำความรู้มาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ การจัดการความรู้จำเป็นต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Leaning) อยู่ตลอดเวลา เพราะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้คุณเป็นคนที่มีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รู้ว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไรในช่วงเวลาไหน รับรู้ถึงข้อดีข้อเสียจากการเลือกปฏิบัติในแนวทางใดทางหนึ่ง ซึ่งความสามารถต่าง ๆ เหล่านี้เองที่จะสะท้อนถึงคุณค่า (Value) ของตัวคุณที่คุณเองในฐานะของพนักงานอาจไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงเวลานี้ แต่หากคุณเติบโตก้าวหน้าเป็นผู้บริหารแล้วล่ะก็ ความสามารถต่าง ๆ นี้จะทำให้คุณมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าคนอื่น และนั่นก็หมายความว่าคุณจะมีผลการปฏิบัติงานที่ดี และมีศักยภาพในการทำงานในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นต่อไป
การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นผลในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่เป็นเรื่องการตอบแทนระยะยาวที่เกิดจากการสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง หากคุณต้องการมีอนาคตที่สดใส มีหน้าที่การงานที่ดี... ขอให้คุณเริ่มสำรวจตัวเองว่าคุณมีความรู้และประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีไปมากน้อยแค่ไหน และจงระลึกไว้เสมอว่า .... ความรู้ย่อมไม่มีคำว่าสายเกินไป เพียงแต่ขอให้คุณมีหัวใจที่จะพัฒนาและเพิ่มมูลค่า (Value) ของตัวคุณเองเพื่อผลสำเร็จและเป้าหมายในอนาคต คุณย่อมที่จะเริ่มต้นในการบริหารและจัดการความรู้ของตนเองได้...... ดิฉันขอนำเสนอหลักหรือเทคนิคง่าย ๆ เพื่อการจัดการความรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้
"การแสวงหา" ความรู้
หากคุณไม่แสวงหาที่จะรู้ ความรู้ย่อมไม่เกิดขึ้น พบว่าหลายต่อหลายคนมักจะยุ่งกับการทำงานประจำวัน จนละเลยที่จะหาความรู้เพิ่มเติม เหตุเพราะไม่มีเวลา แค่ทำงานประจำวันให้เสร็จตามกำหนดเวลาก็จะแย่อยู่แล้ว และจะเอาเวลาที่ไหนไปแสวงหาความรู้ ..... หากคุณกำลังมีความคิดเหล่านี้ ขอให้ปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ การแสวงหาความรู้ย่อมจะเกิดขึ้นได้ หากคุณมีหัวใจที่ใฝ่รู้ ความอยากหรือความต้องการนี้จะเป็นพลังผลักดันให้คุณเริ่มที่จะบริหารเวลาส่วนหนึ่งเพื่อการแสวงหาความรู้ และความรู้มิใช่เกิดขึ้นจากการอ่านเพียงอย่างเดียว .... ความรู้อาจเกิดขึ้นได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น
การฟัง...ให้มาก ฟังเทปชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานคุณเอง ฟังข่าวสารต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการทำงานของคุณ หรือแม้กระทั่งการรับฟังความคิดเห็นหรือประเด็นปัญหาต่าง ๆ จากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้าของคุณเอง
การถาม...ให้รู้ การซักถามผู้รู้เมื่อสงสัยหรือไม่เข้าใจนั้นเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การตั้งข้อคำถามต้องมิใช่เพื่อเป็นการลองภูมิ หรือการดูหมิ่นในความรู้ของผู้อื่น คุณควรให้เกียรติบุคคลที่เราต้องการสอบถามข้อมูลด้วยเสมอ
การอ่าน...ให้สนุก คุณควรปลูกฝังนิสัยให้เป็นคนรักการอ่าน โดยพยายามจัดสรรเวลาในแต่ละวันเพื่อการอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพของตัวคุณเอง ซึ่งคุณต้องถามตัวคุณทุกครั้งว่า "อะไรที่คุณได้รับบ้างจากการอ่านหนังสือ"
"การประยุกต์ใช้" ความรู้
ความรู้ที่คุณได้รับย่อมไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมาหากคุณรู้แล้วไม่นำมาใช้ปฏิบัติ ผู้ที่มีความรู้มากย่อมจะมีข้อมูลเพื่อการวางแผนงาน กำหนดกลยุทธ์ และสามารถตัดสินใจในการเลือกแนวทางเลือกสำหรับการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ความรู้จะทำให้คุณมีความพร้อมและกล้าพอที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ความรู้จะทำให้คุณมีไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ความรู้ทำให้คุณมีหลักการหรือเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ในการตอบข้อซักถามหรือประเด็นข้อสงสัยจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งลูกค้าของคุณเอง
พบว่าผู้ที่ไม่มีการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง คิดแต่จะทำงานประจำวันของตนเองให้เสร็จ ไม่จัดสรรเวลาเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเพราะไม่เห็นความสำคัญ บุคคลเหล่านั้นมักจะใช้ชีวิตการทำงานเพื่อปัจจุบันเท่านั้น ลืมคิดไปถึงอนาคตในหน้าที่การงานที่ส่งผลในระยะยาว อาจเป็นพวกที่อยากได้ค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือนและโบนัสที่สูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการใดก็ตาม ซึ่งก็รวมไปถึงวิธีการหาความรู้จากการจัดสรรเวลาเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีสร้างสรรค์ผลงาน ปรับปรุงระบบงานหรือวิธีการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เพียงเพราะคิดไปเองว่าตนเองอุทิศตนให้บริษัทแล้ว หรือทำงานมานานแล้ว หรือายุงานมากขึ้นซึ่งไม่เคยคิดที่จะลาออกหรือไปทำงานให้กับบริษัทอื่นเลย .... ยุคสมัยนี้ผลตอบแทนมักจะขึ้นกับมูลค่า (Value) ซึ่งเป็นความรู้ความสามารถที่คุณมีและบริษัทต้องการ
"การพัฒนา ...ประเมิน....ติดตามผล" ความรู้
ความรู้ไม่ควรหยุดนิ่ง ความรู้ย่อมต้องมีพัฒนาการและความต่อเนื่อง เนื่องจากโลกปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากคุณหยุดที่จะเรียนรู้จะทำให้คุณไม่รับรู้กระแสของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นคุณควรสำรวจเพื่อประเมินตัวเองว่าองค์ความรู้ของคุณมีได้พัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน และเรื่องไหนบ้างที่คุณยังไม่รู้ แต่ควรที่จะรู้ รวมทั้งมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้คุณได้ความรู้เพิ่มขึ้น โดยการจัดทำตารางการประเมินเพื่อพัฒนาความรู้ของคุณ ดังนี้
นอกจากนี้คุณควรติดตามผลการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ว่าคุณสามารถนำไปใช้กับการทำงานของคุณบ้างหรือไม่ และผลที่ได้รับเป็นอย่างไรบ้าง เพราะการติดตามผลนี้เองจะช่วยให้คุณเริ่มประเมินตนเองว่าต้องการเสริมความรู้อะไรเพิ่มขึ้น เพื่อว่าคุณจะได้หาวิธีการในการพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น
สรุปว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้คุณมีมูลค่าหรือค่าตัวในการทำงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่สามารถเห็นผลได้ทันทีทันใด แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง...เพียงแต่ขอให้คุณมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง คุณย่อมจะเป็นผู้หนึ่งที่ได้เปรียบในการทำงานจากความรู้ที่คุณเองสั่งสมมาอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีความเห็น