จีนฮ่อ ผมได้ยินมาตั้งแต่ยังเด็ก มโนภาพของจีนฮ่อในโนสำนึกผมนั้น คิดไปถึงกลุ่มคนที่มีนิสัยดุและอันธพาล นั่นยอมรับว่าเป็นภาพของจีนฮ่อของผมยามที่ได้ยินชื่อ
ด้วยแถบแม่ฮ่องสอน เป็นชายแดนติดกับประเทศพม่า มีหมู่บ้านชาวจีนอาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดน มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์อย่างชัดเจน เราไม่ใคร่ได้เห็นชาวจีนเหล่านี้มีบทบาทในสังคมเมืองแม่ฮ่องสอนมากนักในอดีต ด้วยเพราะว่าการเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน พูดภาษาจีนที่ลำบากในการสื่อสารกับคนท้องถิ่น แต่จีนฮ่อก็ยังอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและมีความสุข
ผมมีโอกาสดีที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ดีๆเหล่านี้กับท่าน ดร.นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร จาก สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล ที่เข้ามาเก็บข้อมูลและได้จัดทำหนังสือ มอบให้ผมเก็บไว้สองเล่ม ขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้
ชาวจีนจากมณฑลยูนนานได้เดินทางเข้ามาค้าขายในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยมาช้านานแล้ว พ่อค้าชาวจีนยูนนานเห่านี้มีชื่อเรียกในภาษาล้านนาว่า “ฮ่อ” คำว่า ฮ่อ หมายถึงชาวจีนที่อยู่ทางมณฑลทางใต้ของจีน(เช่นมณฑลยูนนาน และอาจรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่มาจากมณฑลนี้ หรือจากมณฑลใกล้เคียงด้วย (เช่น มณฑลกวางสี และมณฑลเฉฉวน)
ที่มาของคำว่า ฮ่อ สันนิษฐานว่าอาจมาจากชื่อเรียกอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ตาหลี่ ริมทะเลสาบหนองแส (หรือ “ซีเอ้อห่อ”) ชาวจีนเรียกชาวป่าที่อยู่ทะเลสาบหนองแสนี้ว่า “ฮ่อ/ห้อ” ชื่อเต็มคือ “ซีเอ้อห่อหมาน” หรือ “ชาวป่าที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำหนองแส” ต่อมาชาว ฮ่อ/ห้อ ได้ย้ายที่อยู่จากทะเลสาบหนองแสไปอยู่คุนหมิง ก็ยังถูกเรียกว่า ฮ่อ/ห้อ ตามที่อยู่เดิมที่ริมทะเลสาบหนองแส
ต่อมาคำว่า “ฮ่อ” ได้เข้ามาสู่อาณาจักรล้านนาและล้านช้าง ชาวไทยล้านนาและลาวเรียกชาวจีนที่มาจากมณฑลยูนนานและใกล้เคียงว่า “ฮ่อ”
ประวัติศาสตร์ล้านนากล่าวว่าขุนเจือง วีรกษัตริย์แห่งเมืองพะเยา สิ้นพระชนม์ขณะทำสงครามกับ “พญาฮ่อแมนตาตอกขอกฟ้าตายืน” ที่เมืองยูนนาน นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ล้านนายังกล่าวว่า ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๔๗ – ๑๙๔๘ (ตรงกับสมัยหมิงของจีน) ได้เกิดสงครามระหว่างอาณาจักรล้านนากับฮ่อ พญาสามฝั่งแกนอาณาจักรล้านนา ได้เกณฑ์ทหารจากเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ฝางและเชียงแสน ทำสงครามชนะฮ่อ ขับไล่ฮ่อไปจนสุดแดนสิบสองพันนา นอกจากนี้ในพงศาวดารเมืองหลวงพระบางกล่าวว่า พ.ศ.๒๑๙๗ ฮ่อหัวขาวยกกองทัพมาตีเมืองแฉวนหวี สิบสองพันนาลื้อ บุตรของเจ้าเมืองแฉวนหวีฟ้าหนีศึกฮ่อหัวขาวพาเอาไพร่พลลงมาพึ่งพระเจ้าล้านช้างเวียงจันทร์
แม้จะมีการใช้คำว่า “ฮ่อ” ในภาษาไทยแต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจแจ่มชัดว่า “ฮ่อ” คือใคร หลังจากทำสงครามปราบฮ่อ ระหว่างปี ๒๔๑๘ -๒๔๓๐ แล้วคำว่า “ฮ่อ” ก็เลือนหายไปจากชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่
ที่แม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่เป็น ชาวจีนฮ่อ “กองพล ๙๓” ของก๊กมินตั๋งฝ่ายสาธารณรัฐ ถูกกองทัพปลดแอกของฝ่ายคอมมิวนิตส์ตีแตกหนีเข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณจังหวัดเชียงราย คนไทยไทยเรียกทหารกองพล ๙๓ ของก๊กมินตั๋งนี้ว่า “จีนฮ่อ” เหตุที่เรียกจีนฮ่อ ก็เพราะได้ใช้คำเก่าย้อนไปในสมัยทำสงครามปราบฮ่อในครั้งนั้น
เป็นที่มาคร่าวๆของคำว่า “ฮ่อ” และ “จีนฮ่อ” ที่เราเรียกกัน
ประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นเรื่องราวสำคัญในการผูกเรื่องราวให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่ปาย และเดินทางไปยังบ้านสันติชลเพื่อมาเรียนรู้วิถีของชาวฮ่อ หรือที่เราเรียกว่า “ชาวจีนยูนนาน” ในตอนนี้
ผมคิดว่านักท่องเที่ยวน้อยคนที่จะได้รีบทราบประวัติศาสตร์ดังกล่าวที่เป็นเรื่องราวที่มาที่ไป ก่อนที่จะเชื่อมกับปัจจุบัน และเด็กเยาวชนจีนเองก็ยังมีความรู้เรื่องราวเหล่านี้น้อย
ประวัติศาสตร์หน้านี้ ผมหวังว่า จะให้เป็นสะพานเชื่อมเพื่อความเข้าใจในกลุ่มชาติพันธุ์ เพิ่มจากการเดินทางเที่ยวชมวิถีชีวิตคนจีนที่สันติชล เรื่องราวดังกล่าวยังมีให้เรียนรู้อีกหลายบทหลายตอน...ขอปฐมบทเรื่องราวจีนฮ่อ ในบันทึกนี้ก่อนครับ
-------------------------------------------------------------------
<ul>
</ul></span>