ชาวHACC
นางสาว แสงทอง ปุระสุวรรณ์

ประทับใจอะไรกับการอ่านBlog...KM


KMใคร ๆก็ KM หายใจเข้าออกเป็น KM ประหนึ่งว่าเป็นเครื่องมือวิเศษ

ประทับใจอะไรกับการอ่าน Blog…KM          

            KM   ใคร ๆ ก็ KM หายใจเข้าออกเป็น KM   ประหนึ่งว่าเป็นเครื่องมือวิเศษ   จนเครื่องมืออื่น ๆ ดูด้อยคุณค่า  หรือมีความหมายน้อยลงไปหรือเปล่า...ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ต่อต้าน  KM  เพราะผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยร่วมเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวของ KM  และยังคงจัดโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับ  KM  มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547  เป็นต้นมา   แต่ก็ไม่อยากให้หลงใหลได้ปลื้มหรือตกเป็นเครื่องมือของ  KM  ไป  เพราะอะไรที่เกินขนาดไม่น่าจะดี.... ดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด  กล่าวว่า  คนมักจะนึกว่า  KM  เป็น ยาเทวดาบอก อาจารย์มองว่า KM   คล้ายกับยาบำรุง   ประเภทยาจีนหรือสมุนไพรอะไรทำนองนั้น   รับประทานไปเรื่อยๆ จะช่วยได้ในระยะยาว  (รายละเอียดเพิ่มเติม http://gotoknow.org/beyondkm/148158?page=1)   ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นนี้เป็นอย่างยิ่งว่า KM   ไม่ใช่ยาเทวดาบอก   แต่คิดว่าเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพภายในองค์การ  หากใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นก็น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เช่น  HA, TQM,  Mind  Map  เป็นต้น   เวลาเราใช้ยาชนิดใดไม่ว่าจะกินหรือฉีด  เรามักจะได้รับผลข้างเคียงจากยานั้น ๆ เสมอ  มากบ้างน้อยบ้าง  ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่ายาบำรุง  ประเภทยาจีนหรือสมุนไพร  (KM)  ที่อาจารย์กล่าวถึงจะมีผลข้างเคียงหรือผลเสียอะไรบ้างไหมนะ... เช่น  เป็นนักแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ   ต้องการเรียนรู้อยู่ตลอด  หรือเป็นนักประชาธิปไตยมากเกินไป!  อะไรทำนองนี้...            

              เทคโนโลยีสำคัญที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ KM ก็คือ  Blog  ซึ่งเปรียบเสมือนตัวหนังสือที่มีชีวิต  สามารถพูดคุย  บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง  มากมายหลากหลาย  ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่าน  Blog ของ http://gotoknow.org  เฉพาะในหมวดหมู่การบริหารจัดการ  การจัดการความรู้  ประมาณสัก  10  กว่าเรื่อง  โดยเลือกเฉพาะประเด็นที่สนใจคือ  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารหรือการพัฒนาองค์การ  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   ปรากฏว่ารู้สึกประทับใจ  รวมทั้งเห็นประโยชน์ของ  Blog  เป็นอย่างยิ่งว่าสามารถทำให้เราเกิดการเรียนรู้  และเกิดความคิดต่อยอดในการนำไปใช้ได้   ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถติดต่อสื่อสารเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่อ่านได้ทันที  ตามที่ผู้อ่านต้องการ  (จะเป็นการดีมากหากผู้เขียน Blog  นั้นๆ จะมีเวลาและสามารถตอบกลับได้ในทันที ซึ่งเป็นไปได้ในแง่ของเทคโนโลยี  แต่เป็นไปได้ช้าหน่อยสำหรับผู้ปฏิบัติ) 

            จากเรื่องที่สนใจเลือกอ่าน  มีประเด็นที่รู้สึกประทับใจในการอ่าน  Blog…KM  มากมาย  หลากหลาย   อาทิเช่น  รู้สึกว่าได้สัมผัส  ใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญเรื่อง KM  ของประเทศไทย  จากการอ่าน KM (แนวปฏิบัติ)  วันละคำ: (447) KM คืออะไร  ของอาจารย์  วิจารณ์  พานิช    เช่น  การอ่านความหมายของคำว่า  KM  คือเครื่องมือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม  การเรียนรู้   โดยการสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง  รายละเอียดเพิ่มเติม  http://gotoknow.org/blog/thaikm/147816  รวมทั้งยังรู้สึกได้ว่า  KM เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก  สามารถจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ได้ในอนาคต   ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เลือกอ่านเนื่องจากต้องการสัมผัสกับเจ้าพ่อ KM ตัวจริงทาง Blog

            Blog  ของบุคคลที่ 2  ที่เลือกอยากอ่าน ก็คือ ของอาจารย์ ดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นบรมครูคู่กันมากับอาจารย์วิจารณ์   ซึ่งปรากฏว่าผู้เขียนสนใจเรื่องราวที่อาจารย์เขียนหลายเรื่องมาก   ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการทำงานและเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่  เช่น  เรื่องการสร้างวิสัยทัศน์ (Vision): กระบวนการสำคัญกว่า    ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิสัยทัศน์  เป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการนำไปสู่เป้าหมาย  แต่กระบวนการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายสำคัญกว่าวิสัยทัศน์ที่เป็นเพียงตัวอักษร (รายละเอียดเพิ่มเติม  http://gotoknow.org/blog/beyondkm/144925),   เรื่องเหมือนหรือต่างระหว่าง Intelligence กับ Wisdom?   ซึ่งสรุปว่า Intelligence ติดตัวมา แต่ Wisdom ต้องแสวงหา (พัฒนา)   เนื้อหามีการสรุปข้อมูลที่สั้น  กะทัดรัด  แต่ได้ใจความ  นอกจากนี้  ยังมีการเสนอแนะความคิดเห็นจากผู้อื่นที่สามารถช่วยเพิ่มองค์ความรู้ได้เป็นอย่างดี  (รายละเอียดเพิ่มเติม  http://gotoknow.org/blog/beyondkm/147348),    เรื่ององค์กรที่ชาญฉลาดต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลและความรู้    เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้สัมผัสกับหัวใจของ KM  ครบทั้งกระบวนการทั้งในส่วนของ   KV    KS   และ  KA   ตามโมเดลปลาทูของอาจารย์   ดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด    เพราะจุดเริ่มต้นสู่เป้าหมายความสำเร็จขององค์การอยู่ที่เรื่อง  ข้อมูล  (รายละเอียดเพิ่มเติม http://gotoknow.org/blog/beyondkm/144503)   และเรื่องที่เป็นการแสดงมุมมองต่อเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ซึ่งบางครั้งก็เกิดมุมดีคือ  ได้แลกเปลี่ยน  แต่บางทีก็อาจเกิดการตกเป็นเหยื่อจากสื่อ  ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักศึกษาสมัยนี้  ในการดูดความรู้จากผู้รู้  โดยไม่ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  แค่เล่าเรื่องก็ทำให้เราได้แง่คิดบางมุมที่เกิดประโยชน์ได้   จากเรื่องคนไทยใช้ "เครือข่าย" เพื่อ "ดูดความรู้". . . เป็น KM หรือไม่?   (รายละเอียด    เพิ่มเติม  http://gotoknow.org/blog/beyondkm/146785)   เป็นต้น

               นอกจากนี้  ยังมีเรื่องที่เขียนเกี่ยวกับการบริหารหรือการพัฒนาองค์การ  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   จากบุคคลต่าง ๆ  ที่น่าจะสามารถเป็นองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ  การอ้างอิงทางวิชาการทั้งในด้านการศึกษาและการทำงาน   รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้   เช่น  เรื่องแก้ปัญหาทุกครั้งระวังอัตตา:    ควรพึ่งพาภาวนา   ชนะจิต   ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเลื่อมใสในความคิดที่ยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา  แสดงถึงความพยายามที่จะลดอัตตา     อันเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก    รวมทั้งแสดงถึงความตั้งใจที่บุคคลจะกระทำให้สำเร็จได้ (small man รายละเอียดเพิ่มเติม http://gotoknow.org/blog/wijcha/148143)   เรื่องว่าด้วยความสุขและความพึงพอใจในงาน    เป็นแนวคิดที่ดีในการสร้างความสุขให้กับบุคลากร  และเป็นความพยายามอย่างยิ่งที่ผู้รับผิดชอบงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลสมควรจะทำให้กับบุคลากร        ซึ่งเป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญในความเป็นบุคคล  (Wandee รายละเอียดเพิ่มเติม http://gotoknow.org/blog/wandeet/148135?page=1)  เรื่องวิสัยทัศน์ของผู้นำการเปลี่ยนแปลง(Vision  Of  Transformational  Leader)  เป็นเรื่องที่เสนอแนะองค์ความรู้ในด้านวิชาการ  มีการอ้างอิงทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ   สามารถใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการได้ต่อไป  รวมทั้งน่าจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เป็นอย่างดี (ดร. โสภณ   ภูเก้าล้วน   รายละเอียดเพิ่มเติม http://gotoknow.org/blog/sopone1/147744#)   เรื่องการสัมมนา Strategic Human Resource Development (HRD)  ซึ่งคุณชนม์ธวัช   ณ สงขลา  ได้สรุปสาระดี ๆ มาแบ่งปันกัน   ทำให้สามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์การได้   (รายละเอียดเพิ่มเติม  http://gotoknow.org/blog/public-training/149117?page=1)           

              จากเรื่องที่สนใจเลือกอ่านดังกล่าวข้างต้น    ผู้เขียนพบว่าการอ่าน  Blog…KM  ทำให้เราได้รับความรู้ที่ทำให้เกิดความคิด   อันจะสามารถต่อยอดสู่การนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้   ในเรื่องที่มีการอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการสามารถนำไปใช้ประกอบการศึกษา    หรือเป็นฐานข้อมูลในการอ้างอิงต่อไปได้   อย่างไรก็ตามในการอ่านหรือจะนำข้อมูลจาก Blog ไปใช้จำเป็นต้องอาศัยวิจารณญาณในการสกัดข้อมูลพอสมควร     เพราะบางเรื่องก็อาจเป็นผลเสียที่เกิดจากเทคโนโลยี    บางเรื่องก็อาจเป็นข้อมูลขยะที่มีความผิดพลาดปนเปื้อนอยู่  (ผู้เขียนได้อ่านข้อความจาก Blog เรื่องหนึ่งซึ่งมีข้อความที่ผิดพลาดอยู่ด้วย  จึงได้สอบถามและแสดงความคิดเห็นไป    ซึ่งผู้เขียนท่านนั้นก็ได้ตอบกลับและขออภัยในความผิดพลาดของข้อมูลดังกล่าวกลับมา   รายละเอียดเพิ่มเติม   http://gotoknow.org/blog/puangpet/148880?page=1) เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านต้องเลือกให้ดีว่าจะศึกษาอะไรจาก  Blog  ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนนำไปอ้างอิงหรือใช้ประกอบการทำงาน   เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือไปใช้  รวมทั้งได้รับประโยชน์สูงสุดจากการอ่านและอ้างอิงข้อความจาก  Blog



ความเห็น (6)
  • ถ้าคนที่เปิดใจรับหลายๆคนค่อนข้างเห็นด้วย แต่หลายๆคนเช่นกันที่ยังรู้สึกว่ามีสื่อความรู้อื่นที่ให้สาระมากกว่า
  • แล้วแต่มุมมอง แตบล็อกก็คือสิ่งที่ง่ายสะดวกแล้วก็อยู่ที่เราเลือกอ่านได้ด้วยค่ะ
  • เพราะยังไงแล้วทุกสื่อเราก็ต้องวิเคราะห์เอาเองทั้งนั้น
  • พี่ก้อคนหนึ่งค่ะ...ที่รู้จัก และประทับใจ G2K
  • ในย่อหน้าสุดท้ายอย่างนี้ถูกไหมคะ น้องกบ...ข้อมูล  ความรู้ → ความเข้าใจ→ ความเชื่อมั่น(ด้วยสมาธิ ภาวนา)การตกผลึกแห่งปัญญา
  • ในบันทึกส่วนบน พี่ขอเวลาสักหน่อยนะคะสำหรับการต่อภาพจิ๊กซอว์นี้...

พี่กบของน้องๆ   ชอบมากๆเลยบันทึกนี้มีประโยชน์มากๆ

โรงเรียนอุตรดิตถ์แวะมาอ่านด้วยครับ

ปีนี้เด็กม.6 โรงเรียนอุตรดิตถ์มาเป็นศิษย์ ม .นเรศวรเกือบร้อยคน ที่เลือกแพทย์ได้มาเรียน 3 - 4 คน ฝากดูแลด้วยนะครับ

ครูอ้อยมาบอกว่า..ชอบคำว่า...ภาวนา  ชนะจิต

หนูรู้จักไหมคะ  ท่านนี้น่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท