พื้นที่ชุ่มน้ำ(1)


พื้นที่ชุ่มน้ำ หมายความถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึง ที่ชายฝั่งทะเลและที่ในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำ ไม่เกิน 6 เมตร

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands)
         พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย ประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง สนุ่น ทุ่งนา ทะเลสาบ และแม่น้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย  มีเนื้อที่รวมทั้งหมด ประมาณ 21.63 ล้านไร่    หรือประมาณร้อยละ 6.75 ของประเทศไทย  และในจำนวนนี้มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ 61 แห่ง  ระดับชาติ 48 แห่ง    ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  ได้มีมติให้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย  บึงบอระเพ็ด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงโหลง อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอดดอนหอยหลอด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสิรินธร (พรุโต๊ะแดง) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง-ปากน้ำตรัง อ่าวพังงา และปากแม่น้ำกระบุรี    เป็น Ramsar Site  โดยแห่งแรกที่นำเสนอพร้อมกับการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ คือ พรุควนขี้เสี้ยน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย    ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2541

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) คืออะไร

                     คำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์   (Ramsar Convention)  หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ กล่าวว่า   “พื้นที่ชุ่มน้ำ หมายความถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ  ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น  ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว  ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม  รวมไปถึง  ที่ชายฝั่งทะเลและที่ในทะเล  ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด  มีความลึกของระดับน้ำ ไม่เกิน 6 เมตร”
          พื้นที่ซึ่งมีลักษณะจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ  จึงรวมถึง ห้วยหนอง คลองบึง บ่อ  กระพัง (ตระพัง) บาราย แม่น้ำ  ลำธาร แคว ละหาน ชานคลอง ฝั่งน้ำ สบธาร สระ ทะเลสาบ แอ่ง ลุ่ม กุด ทุ่ง กว๊าน มาบ บุ่ง ทาม พรุ สนุ่น แก่ง น้ำตก หาดหิน หาดกรวด  หาดทราย  หาดโคลน  หาดเลนชายทะเล  ชายฝั่งทะเล  พืดหินปะการัง  แหล่งหญ้าทะเล  แหล่งสาหร่ายทะเล  คุ้ง  อ่าวดินดอน
สามเหลี่ยม  ช่องแคบ  ชะวากทะเล  ตะกาด  หนองน้ำกร่อย ป่าพรุ ป่าเลน ป่าชายเลน ป่าโกงกาง ป่าจาก ป่าแสม รวมทั้งนาข้าว นากุ้ง นาเกลือ บ่อปลา อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

พื้นที่ชุ่มน้ำมีคุณค่าและความสำคัญอย่างไร

    พื้นที่ชุ่มน้ำ   เป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทหน้าที่  ตลอดจนคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิต  ทั้งมนุษย์  พืช  และสัตว์ ทั้งทางนิเวศวิทยา  เศรษฐกิจ  สังคม  และการเมือง  ทั้งในระดับท้องถิ่น  ระดับชาติ และระดับนานาชาติ   คุณประโยชน์ที่พึงมีพึงได้รับจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่
     -เป็นแหล่งน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ที่คน พืช และสัตว์  เข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงหรือนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การอุปโภคบริโภค การเกษตร การเลี้ยงสัตว์อุตสา หกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นันทนาการ ฯลฯนอกจากนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำยังช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำใต้ดิน  โดยน้ำภายในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นน้ำผิวดินจะค่อยๆ ไหลถ่ายเทลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินที่ใสสะอาด  หากจัดการควบคุมอัตราการนำน้ำขึ้นมาใช้ให้เหมาะสมและดูแลรักษาคุณภาพน้ำให้ดี  จะสามารถนำกลับขึ้นมาใช้ได้อย่างยั่งยืน ในทางกลับ กัน น้ำในชั้นน้ำใต้ดินก็อาจไหลกลับขึ้นมาเป็นน้ำผิวดินอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ  เป็นแหล่งน้ำใช้ของชุม ชนที่อยู่โดยรอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง
     - เป็นแหล่งเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า  ที่ไหลบ่าลงมาจากะพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ   แทนที่จะไหลออกไปสู่ทะเล อย่างรวดเร็วทั้งหมด  ช่วยลดและป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันที่จะเกิดกับพื้นที่โดยรอบ  หากพื้นที่ชุ่มน้ำถูกถมหรือเปลี่ยนแปลงไป จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้งขึ้น
     - มีบทบาทช่วยป้องกันมิให้น้ำเค็ม รุกเข้ามาในแผ่นดิน น้ำจืดที่ไหลมาตามทางน้ำต่างๆ จะไหลผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำแล้วไหลลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ  และช่วยผลักดันน้ำทะเลมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน   การถมทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ  โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล    การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินขนาด   การผันน้ำจากทางน้ำมาใช้มากเกินไป  รวมทั้งการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ การขุดขยายทางน้ำและถากถางพืชพรรณชายคลองชายฝั่ง  ล้วนมีผลทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดินได้มากขึ้น   โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด
    - ช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลและลดการพังทลายของชายคลองชายฝั่ง    พืชพรรณในพื้นที่ชุ่มน้ำ  พืชริมตลิ่ง ชายฝั่งคลองและชายฝั่งทะเล ที่โดดเด่นเห็นได้ชัดที่สดุ คือ  ป่าชายเลนจะช่วยยึดดิน ปะทะแรงลมพายุ กระแสน้ำ และคลื่น ทั้งยังช่วยป้องกันพื้นที่ กิจกรรมและทรัพย์สินต่างๆ บริเวณพื้นที่หลังชายฝั่งทะเลด้วย
    - ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ดักจับตะกอนที่พัดพามาจากพื้นที่ตอนบน  พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล คือ  ปราการด่านสุดท้ายของพื้นที่ลุ่มน้ำ ก่อนที่น้ำภายในลุ่มน้ำจะไหลออกสู่ทะเล   พืชพรรณที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ  เช่น อ้อ แขม กก และหญ้า    ช่วยชะลอความเร็วของน้ำ กักเก็บตะกอน จึงช่วยลดการตื้นเขินของอ่าวและรักษาคุณภาพของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและน้ำในทะเล
    - ช่วยดักจับกักเก็บธาตุอาหาร ที่ถูกพัดพามากับน้ำและตะกอนไว ้ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยส่วนเกินจากพื้นที่เกษตรกรรม  น้ำทิ้งจากชุมชนและอุตสาหกรรม  รวมทั้งน้ำทิ้งจากแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชพรรณและสัตว์ ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำ  สามารถดึงธาตุอาหารเหล่านั้นไปใช้ เพื่อการเจริญเติบโตหากจัดการอย่างเหมาะสม  เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชและสัตว์  จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ มีการหมุนเวียนใช้ธาตุอาหารที่ถูกเก็บกักไว้อย่างสมดุลนอกจากจะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่ม  ขึ้นยังช่วยให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาพแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
    - ช่วยดักจับกักเก็บสารพิษหลายชนิด ที่ยึดเกาะอยู่กับอนุภาคของดิน ที่พัดพามากับน้ำและตะกอนไว้  ช่วยลดอันตราย  ที่เกิดกับระบบนิเวศโดยรอบ

    - มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่คนสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวนำมาใช้ประโยชน์ได้ มากมายหลายชนิด   ซึ่งล้วนเป็นทรัพยากร  ที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน   ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ  และมีความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจสังคมโดยส่วนรวมของชาติได้แก่
         1. ทรัพยากรป่าไม้  ทั้งในรูปของพืชพรรณ ที่อาจนำมาใช้เป็นอาหาร  สมุนไพร  นำผลผลิตไม้มาแปรรูป  เป็นวัสดุใช้สอยในครัวเรือน เช่น เนื้อไม้ ยางไม ้ ทำอุปกรณ์เครื่องการทำมาหากิน  โดยเฉพาะเครื่องมือประมง เช่น โพงพาง  ลอบ  นำมาเป็นวัสดุทำเสา รั้วบ้าน คอกสัตว์ รวมทั้งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมในครัวเรือน
         2. ทรัพยากรพืชและสัตว์ป่า มีทั้งพืชน้ำที่เป็นอาหารของคนและสัตว์ สัตว์หลายชนิดในพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญในท้องถิ่น  พืชหลายชนิดนำมาใช้เป็นฝาบ้านหลังคา เสื่อพืชบางชนิดใช้ทำเส้นใย  สีย้อม  สมุนไพร   ตลอดจนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมใครัวเรือน
         3. ทรัพยากรประมง   พื้นที่ชุ่มน้ำเกือบทุกแห่งเป็นถิ่นที่อยู่หากิน  ที่วางไข่  และเลี้ยงลูกอ่อนของปลานานาชนิด  2 ใน 3 ของปลา  ที่รับประทานต้องใช้ช่วงชีวิตไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำ

         4. ทรัพยากรพืชอาหารสัตว์ พื้นที่ชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์ด้วยหญ้าและต้นไม้  โดยเฉพาะในบริเวณที่ราบน้ำท่วม   เป็นบริเวณกว้างเมื่อหมดหน้าน้ำ  หญ้าอ่อนระบัดงาม  ต้นไม้ขึ้นปกคลุม เป็นแหล่งอาหารสำคัญของปศุสัตว์จึงมีความสำคัญ ต่อชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ ทั้งที่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภค เพื่อใช้แรงงานและเพื่อขาย
         5. ทรัพยากรการเกษตร พื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง   ถูกใช้เพื่อทำเกษตรกรรม  ทั้งที่ใช้ทำการเพาะปลูกชั่วคราว เฉพาะช่วงเวลาที่น้ำลดอาศัยธาตุอาหารที่ถูกพัดพามาพร้อมกับน้ำ  ตลอดจนการเพาะปลูกพืชน้ำ เป็นอาหารของทั้ง คน และสัตว ์ และการเพาะปลูกแบบถาวร  โดยเฉพาะการปลูกข้าวทั้งนาน้ำฝนและชลประทาน รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  บ่อปลา  นากุ้งเกษตรกรรมในพื้นที่ชุ่มน้ำนี้  หากได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมจะสามารถให้ผลผลิตที่มั่นคงและยาว นานได้

- เป็นแหล่งส่งผ่านเคลื่อนย้ายถ่ายเทธาตุอาหารและมวลชีวภาพ ไปตามเส้นทางน้ำ  หรือตามการไหลของน้ำผิวดิน   เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศโดยรอบและบริเวณใกล้เคียง
    - เป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานหลายรูปแบบ  เช่น  ไม้เพื่อการเผาถ่าน  ไม้ฟืนเพื่อการหุงต้ม  สุมไฟไล่ยุง   หรือเพื่อให้ความอบอุ่น เชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่นใช้รมควันปลา รวมทั้งเชื้อเพลิงในรูปของพีท (peat)
    - มีความสำคัญต่อการคมนาคมในท้องถิ่น เป็นเส้นทางคมนามคมที่มีประสิทธิภาพเสียค่าใช้จ่ายน้อย และเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อย
    - เป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ประจำถิ่น   อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสายพันธุ์  ที่มีลักษณะเด่น  เป็นที่ต้องการในเชิงพาณิชย์
    - มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ   สิ่งมีชีวิตหลายชนิดต้องพึ่งพาอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำ  เพื่อความสมบูรณ์ของวงจรชีวิต พืชและสัตว์ป่าหลายชนิดจะพบเห็นได้เฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำเท่านั้น

    - มีความสำคัญต่อนันทนาการและการท่องเที่ยว  กิจกรรมที่พบเห็นได้เสมอ  เช่น กีฬาทางน้ำ   การตกปลา   การดูนก  การถ่ายภาพธรรมชาติ  การศึกษาธรรมชาติ  การศึกษาชีวิตสัตว์ป่า   การว่ายน้ำ  การดำน้ำ  การเล่นเรือ  การพายเรือเล่น และอื่นๆ   อีกมากมาย
    - เป็นแหล่งสำคัญสำหรับการศึกษาวิจัยทางธรรมชาติวิทยา   การศึกษาขบวนการความสม ดุลในระบบธรรมชาติทั้งระบบ เป็นแหล่งที่สมควรทำการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่ง แวด ล้อม เป็นสถานที่ใช้สอนให้การศึกษาและให้การอบรมแก่ประชาชนได้ทุกกลุ่มทุกระดับ
   - เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์และ มีบทบาทช่วยส่งเสริมรักษาความสมดุลของขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ   เช่นเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน ช่วยรักษาสมดุลของภูมิทัศน์อาการท้องถิ่น เป็นต้น

ความสำคัญของการศึกษาและวางแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของไทย
ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำใหญ่น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก  ชาวไทยและสังคมไทยไม่ว่าจะในชนบทหรือในเมือง  มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่พึ่งพาอาศัย และผูกพันกับพื้นที่ชุ่มน้ำมานานหลายชั่วคน ผลประโยชน์มากมายหลายอย่าง ที่ได้รับจาก  พื้นที่ชุ่มน้ำแต่ละแห่งนั้นอาจแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ ก็คือผลประโยชน์เหล่านั้น โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ได้รับจากพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ เป็นผลประโยชน์ที่ได้มามากมายหลายอย่างได้มาพร้อมๆ กัน ได้มาอย่างสม่ำเสมอต่อ เนื่องยาวนาน แทบไม่ต้องเสียเงินซื้อหา และที่สำคัญที่สุดเป็นผลประโยชน์ที่เกิดแก่ชุมชนและผู้คนเป็นจำนวนมาก มิได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มใดโดยเฉพาะ
   แต่ในปัจจุบัน  เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งว่าพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทยถูกทำลายไปแล้วเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็กำลังถูกทำลายมีสภาพเสื่อมโทรมหรือถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุสำคัญได้แก่

    - จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น  อัตราการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำจึงเพิ่มสูงขึ้น หรือมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำไปเพื่อใช้ในกิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
    - การใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ  ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม  การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติไปเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม  การชักน้ำเค็มเข้ามาในแผ่นดิน   เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขุดถมพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรม การขยายเมือง การพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชน การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยา และการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ  เช่น การสร้างถนน ตลอดจนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศรวมทั้งระบบ ที่สำคัญที่สุด คือมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตประจำวันของชุมชนในท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำ

   - ปัญหาการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ  ทั้งๆ ที่พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญและมีบทบาทหน้าที่มากมายดังกล่าวแล้วข้างต้น     แต่สังคมซึ่งหมายรวมถึง  องค์กรต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท   ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงพอ ใจคุณลักษณะทางธรรมชาติของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และขาดความตระหนัก ถึงบทบาทหน้าที่
คุณค่าและคุณประโยชน์ที่ครบถ้วนแท้จริงของพื้นที่ชุ่มน้ำ    จึงเป็นผลให้ขาดความระมัดระวังและใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม   นอกจากนั้น ยังมีความไม่สอดคล้อง ขาดการประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน   ในการจัดการพื้นที่และในหลายกรณีกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ไม่มีประสิทธิผลในการบังคับใช้และไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
อย่างยั่งยืน

                 การศึกษาและการวางแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ  ในรูปแบบของโครงการนำร่อง  จึงจำเป็นต้องกระทำโดยรีบด่วนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และให้ได้มาซึ่ง แนวทางตัวอย่างในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่กำลังถูกคุกคามต่อไป

ที่มา:www.wildlifefund.or.th

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15359เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท