“สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ใช้บังคับไปได้ในทันที โดยไม่ต้องคอย “กฎหมายลูก”


 

ศาลยังบังคับใช้ สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ไม่ได้ เพราะยังไม่มี กฎหมายลูก.”  นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ ดูจะเข้าใจเช่นนี้ ไม่มีเว้น แม้แต่ผู้พิพากษาไทยในทุกศาล ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลปกครอง, และศาลยุติธรรม.  แต่สัมมนาทางวิชาการในวันเสาร์ที่ ๒๕ กพ. ๐๖ นี้ จะเสนอผลการวิจัยว่า นั่นคือความเข้าใจที่ผิดพลาด เพราะศาลนานาชาติวาง หลักนิติศาสตร์สากล ไว้ว่า “ศาลมีอำนาจปรับใช้ไปได้เลย” (ยกเว้นในบางกรณี) เรียกว่าหลัก “Self-Executing” (แปลไทยว่า “สภาพบังคับอัตโนมัติ”) คือ บังคับใช้ในทันทีไปได้เลย โดยไม่ผูกมัดต้องคอยกฎหมายลูก.

กฎหมายลูกที่จะออกมาในภายหลัง จะกำหนดได้ ก็แต่เพียงเงื่อนไข & ข้อจำกัดที่สมเหตุสมผลเท่านั้น ซึ่งจำต้องสอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐ ที่ชัดแจ้งแล้วว่า มีบทบัญญัตินั้นมา เพื่อประโยชน์มหาชน.”

ต่อจากนี้คือ Concept Paper สำหรับการสัมมนา ซึ่งเปิดกว้างแก่ผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะท่านที่มุ่งมั่นจะช่วยเผยแพร่ความรู้ & ความคิดว่า ผู้พิพากษาไทยควร:

  • มีคำพิพากษาที่มีหลักวิชาการ.
  • เขียนเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงพิพากษาเช่นนั้น.
  • ตีความกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม (Social Justice) ไม่ใช่ตีความตามตัวบทสถานเดียว.

ท่านที่สนใจเข้าร่วมสัมมนา กรุณาติดต่อขอสำรองที่นั่งได้ที่:

  • สภาทนายความ (โดยสำนักงานสิทธิมนุษยชน) โทร. 02-629-1430 ต่อ 135, 136 หรือโทร. 02-282-9906 (คุณสมชาย หอมลออ, Email: [email protected])
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (คุณเพ็ญพรรณ อินทปันตี, โทร. 02-219-2966; Email: [email protected])

 

 

Concept Paper

 

โครงการสัมมนาทางวิชาการ

เรื่อง

องค์ความรู้แก้ปัญหาทางปฏิบัติเพื่อตีความวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

พิเชษฐ เมาลานนท์, นิลุบล ชัยอิทธิพรวงศ์ & พรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา

ทีมวิจัย 3 คนแห่งคณะนิติศาสตร์, มหาวิทยาลัยนีกาตะ, ประเทศญี่ปุ่น

ทีมผู้รับผิดชอบในการเขียน Concept Paper

 

ด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (โดยคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม) กับสภาทนายความ (โดยสำนักงานสิทธิมนุษยชน) ได้ร่วมมือกันในโครงการศึกษาใหม่ในเรื่อง “ตุลาการไทยในฐานะผู้ตัดสินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นหัวข้อที่เกี่ยวพันกับ 2 ประเด็น คือ

  1. บทบาทของตุลาการไทย ในฐานะ “ที่พึ่งแห่งสุดท้ายเพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน” ในกระบวนการยุติธรรม.
  2. การพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสิทธิ-เสรีภาพในประเทศไทย.

แต่ในการศึกษานี้ เราตระหนักดีว่า แม้รัฐธรรมนูญไทยในขณะนี้ จะมีบทบัญญัติให้สิทธิ-เสรีภาพแก่ชนชาวไทยไว้ในหลายมาตรา แต่ตุลาการไทยย่อมไม่สามารถตัดสินคดีที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้โดยสะดวก เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรามีวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ."

ด้วยผลของวลีนี้ แม้ตุลาการไทยประสงค์จะตัดสินคดีที่พิทักษ์รักษาสิทธิ-เสรีภาพตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ย่อมติดขัดในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาล อาจ ยังไม่มีอำนาจ ปรับใช้บทบัญญัติเหล่านั้นในทันทีไปได้เลย เพราะ อาจมีข้อผูกมัด ในหลักนิติศาสตร์ว่า “ต้องคอยกฎหมายลูกก่อน” ทำให้ตุลาการไทยหลายท่าน จำต้องตัดสินคดี โดยตีความไปว่า “ต้องคอยกฎหมายลูกก่อน."

ความไม่แน่ใจในเหตุผลทางวิชาการ ที่ต้องตีความเช่นนี้ มีความเด่นชัดในทุกภาคส่วนของสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่ท่านผู้พิพากษาเอง ที่จำต้องตอบคำถามต่อสาธารณชน ด้วยความไม่มั่นใจในหลักวิชาการเสมอมา เพราะหาหลักใดๆในเชิงวิชาการมาอ้าง ไม่ได้ ว่าการตีความเช่นนั้น มีความถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุผลเช่นไร อธิบายได้แต่ว่า “เพราะกฎหมายเขียนอย่างนั้น.”

ภายใต้ความไม่ชัดเจนเช่นนี้ เป็นที่น่าเสียใจว่า ตุลาการไทยหลายท่าน ได้ตกลงใจเลือกวิธีตีความตามตัวอักษร (Literal Interpretation) เพียงง่ายๆ และตรงไปตรงมา ว่า “ต้องคอยกฎหมายลูกก่อนแต่ไม่สามารถให้อรรถาธิบาย ในเชิงวิชาการนิติศาสตร์ได้.

แต่คำตัดสินตามตัวอักษรที่ตรงไปตรงมาเช่นนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย เป็นอันมาก เพราะทำให้สิทธิ-เสรีภาพของชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เป็นหมันเรื่อยมา แม้ว่าจะบังคับใช้รัฐธรรมนูญมากว่า 8 ปีแล้วก็ตาม.

ทุกภาคส่วนในสังคมไทย ต่างตระหนักชัดร่วมกันว่า 3 เสาหลักแห่ง เจตนารมณ์ของประชาชน ในรัฐธรรมนูญไทยในขณะนี้ ได้แก่

  1. ปฏิรูปการเมือง
  2. ให้ประกันสิทธิ-เสรีภาพแก่ประชาชน
  3. เสริมสร้างสังคมประชาธิปไตย

การที่รัฐธรรมนูญผ่านมา 8 ปี แต่รัฐสภาไทยและรัฐบาลไทย แทบไม่แก้ปัญหาอะไรให้ “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติส่วนศาลไทยท่านก็ตัดสินง่ายๆ ว่า “ยังไม่มีกฎหมายลูก” ย่อมกลายเป็นว่า รัฐสภามีอำนาจบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน หรือทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นโมฆะได้ โดยไม่ยอมออกกฎหมายลูก ตามที่บังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ.

ปัญหาที่รัฐสภาชักช้าไม่ออกกฎหมายลูก ให้แก่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” นี้ ศาลแห่งสหรัฐอเมริกา ได้วางหลักไว้ชัดว่า ถ้าไม่ตัดสินให้ บังคับใช้ในทันทีไปได้เลย โดยไม่ผูกมัดต้องคอยกฎหมายลูก (ยกเว้นในบางกรณี) เช่นนี้แล้ว ก็จะเท่ากับว่า

  • รัฐสภาย่อมมีอำนาจทำให้เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ เป็นหมัน & เป็นโมฆะได้ (…, the legislature would have the power to ignore and practically nullify the directions of the fundamental law.)  (American Jurisprudence, 2004: no. 100, p. 6).
  • รัฐสภาย่อมมีอำนาจบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน หรือทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นโมฆะได้ โดยไม่ยอมออกกฎหมายลูก ตามที่บังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ (…, the legislature would have the power to frustrate or nullify the will of the people by refusing to act in accordance with the rule set forth in the constitutional provision.) (https://www.fcsl.edu/academics/journal/volumetwo/faraone.htm).

ส่วนสถาบันตุลาการไทย เป็นที่น่าเสียใจว่า ท่านยังไม่สามารถให้อรรถาธิบายได้ด้วยความมั่นใจ ว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ผูกมัดต้อง “คอยกฎหมายลูก” เสมอไปหรือไม่ เพราะเหตุใด ในเชิงวิชานิติศาสตร์.

สภาพเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิด ความไม่เชื่อมั่น ต่อวงการตุลาการไทย ในเชิงวิชาการ เพราะการวิจัยค้นคว้าหาความรู้ Comparative Law Research ให้ถึงแก่น เพื่อแก้ปัญหาในคดี ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของตุลาการ ในการตัดสินคดี ดังเป็นที่ชัดแจ้งอยู่แล้ว.

แต่กระนั้น เราก็ตระหนักดีว่า การศึกษาวิจัยในลักษณะ Comparative Law Research ควรมาจากนักวิชาการนิติศาสตร์ไทยด้วย ทั้งนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ ให้ท่านผู้พิพากษาไทย ได้ตัดสินคดีที่พิทักษ์สิทธิ-เสรีภาพ โดยไม่ติดขัดว่าจะ “ต้องคอยกฎหมายลูกก่อน

ขณะนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า มีนักวิชาการนิติศาสตร์ไทยหลายท่าน ได้วิจัยเชิงวิชาการเพื่อหาคำตอบในทางปฏิบัติได้ว่า:

 

ทำอย่างไรศาลไทยจึงจะบังคับใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่มีวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในทันทีไปได้เลย

โดยไม่ผูกมัดต้องคอยกฎหมายลูก

 

ทั้งนี้ ดังเช่น

  • อจ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้เขียน สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พศ. 2540) หมวดสิทธิเสรีภาพ เรื่อง 6 สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2544
  • อจ. บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้เขียนตำรา หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2543 และ  2547
  • อจ. ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล ผู้เขียนตำรา หลักและวิธีปฏิบัติในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีบทบัญญัติว่า “ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2548
  • อจ. พิเชษฐ เมาลานนท์ (ร่วมกับทีมวิจัยอีก 2 ท่าน) ผู้เสนอคำตอบเรื่องนี้ไว้แล้ว 4 ครั้งในข้อเขียน
  1. สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ของชนชาติต่าง ๆ (The Rights of Commons Globally), ใน บ้านเขา – บ้านเรา (ฉบับพิเศษ: ครบรอบ ๗ ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ๐๕), 7 เมย. 2548
  2. ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”: ศาลนานาชาติ ใช้ “หลักนิติศาสตร์สากล” เช่นไร ในการตีความรัฐธรรมนูญ?, รายงานต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ณ ศาลรัฐธรรมนูญ, 18 เมย. 2548
  3. ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”: ศาลนานาชาติ ใช้ “หลักนิติศาสตร์สากล” เช่นไร ในการตีความรัฐธรรมนูญ?, รายงานต่อคณะทนายความไทย เป็นข้อมูลประกอบการเขียนอุทธรณ์สู้คดีในศาล, 19 เมย. 2548
  4. ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ตัดสภาพบังคับอัตโนมัติ (Self-Executing) จึงไม่ผูกมัดต้องคอยกฎหมายลูก,” ใน วารสารข่าวกฎหมายใหม่, กพ. 2549

เหตุนี้ เราจึงกำหนดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง องค์ความรู้แก้ปัญหาทางปฏิบัติเพื่อตีความวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ขึ้น โดยมี 7 องค์กรร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ได้แก่

  1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (คณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม)
  2. สภาทนายความ (โดยสำนักงานสิทธิมนุษยชน)
  3. มูลนิธิคอนราด อเดนาว (Konrad Adenau Stiftung)
  4. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี)
  5. สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม & ความเป็นธรรมในสังคม (สปรย.) ภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDF)
  6. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. ฝ่าย 4)
  7. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในการนี้ เราได้กำหนดเป้าหมายการสัมมนาไว้ 6 ประการ ดังนี้

  1. เป็นการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยในลักษณะ Comparative Law Research ต่อสาธารณชนคนไทย และ เพื่อสนับสนุนข้อมูลและแนวความคิดในเชิงวิชาการ ให้ท่านผู้พิพากษาไทย ได้ตัดสินคดีที่พิทักษ์สิทธิ-เสรีภาพ โดยไม่ติดขัดว่าจะ “ต้องคอยกฎหมายลูกก่อน."
  2. แม้จะเป็นการสัมมนาทางวิชาการ แต่มีความชัดเจนว่า มุ่งแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ.
  3. ไม่มุ่งหวังให้การสัมมนานี้ มีบรรยากาศเป็นการกดดันต่อสถาบันตุลาการไทย เพราะมีความเชื่อมั่นว่า อิสรภาพแห่งตุลาการ (Judicial Independence) ย่อมมีความสำคัญต่อสิทธิ-เสรีภาพของประชาชนเอง เพราะเป็นหลักประกันว่า จะไม่มีผู้ใดกดดันสถาบันนี้ได้ ดังนั้น ทุกฝ่าย (รวมทั้งประชาชน) ต้องให้ความเคารพต่อสถาบันตุลาการ ว่าไม่ใช่สถาบันที่จะกดดันกันได้ แม้เราเห็นว่า ท่านตุลาการควรเปิดใจรับฟัง และไม่ยึดมั่นในความคิดของท่านสถานเดียว เพราะแม้หลัก “Judicial Independence” จะสำคัญเพียงใด แต่หลัก “Social Accountability of the Judiciary” ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเช่นกัน คือ ตุลาการมีหน้าที่ต้องให้เหตุผลที่ชัดแจ้ง ว่าเหตุใดท่านจึงตีความกฎหมาย หรือมีคำพิพากษาเช่นนั้น  กล่าวอีกนัยหนึ่ง การอ้างหลัก “Judicial Independence” ในประเทศเสรีประชาธิปไตย จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนบางประการด้วย.
  4. เป็นการริเริ่มและเสนอให้มีการจัดสัมมนาในปัญหานี้ เฉพาะในวงการตุลาการไทย ในทุกศาลต่อไป แต่ในครั้งนี้ จะไม่เน้นเชิญท่านตุลาการมาร่วมสัมมนา เพราะไม่ประสงค์ให้เกิดบรรยากาศ ที่ผู้เข้าสัมมนาส่วนใหญ่ ต่างรุกซักไซ้ตุลาการไม่กี่ท่าน และอาจนำไปสู่บรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ได้ เพราะการสัมมนานี้มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เพื่อตำหนิติเตียนกัน.
  5. การสัมมนาครั้งนี้ มีขอบเขตจำกัดเฉพาะวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพียง 2 มาตรา คือ “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ตามมาตรา 46 กับ “สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ตามมาตรา 56 เปรียบเทียบกัน ซึ่งการจำกัดขอบเขตเช่นนี้ มีความจำเป็น เพราะไม่ต้องการให้แตกไปในหลายประเด็น อันจะทำให้การสัมมนาไม่มีจุดมุ่งที่ชัดเจน และไม่สามารถนำไปสู่การ แก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ได้จริงจัง.
  6. นี่เป็นเพียงการสัมมนาขั้นต้น เพื่อนำไปสู่เวทีสาธารณะที่กว้างขวางและหลากหลายยิ่งขึ้น สำหรับวลี “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในบทบัญญัติอื่นๆในรัฐธรรมนูญ ต่อไปในอนาคต.

การสัมมนานี้ มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 13.00 – 18.00 น. ณ ห้องประชุม 101 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชิงสะพานหัวช้าง ถนนพญาไท (ตึก ป.ป.ง.) ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้.

คณะเจ้าภาพผู้จัดการสัมมนานี้ ตระหนักดีว่า ผู้พิพากษาไทยย่อมมีความคิดและจิตใจหลากหลาย บางท่านก็หมั่นศึกษาหาความรู้ บางท่านก็ไม่, บางท่านก็เปิดใจรับฟังผู้อื่น บางท่านก็ไม่, บางท่านก็ Liberal ส่วนบางท่านก็ Conservative อย่างเห็นได้ชัด.

เราจึงตกลงร่วมกันเชิญ ท่านผู้พิพากษา จรัญ ภักดีธนากุล มาเป็นวิทยากร เพราะท่านเป็นตุลาการที่เปิดใจรับฟัง, มุ่งมั่นพัฒนาวงการตุลาการไทย, ให้ความรู้ต่อสาธารณชนเสมอมา, และมีจิตใจเป็นธรรม.

คณะเจ้าภาพผู้จัดการสัมมนานี้ มีความหวังว่า ท่านจะให้ความสนใจ ในการเข้าร่วมสัมมนาโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในการพิทักษ์รักษาสิทธิ-เสรีภาพของประชาชนไทย ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ.

 


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15351เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท