สารพันหน้ารู้


ปลาหมึกสายลายฟ้า (Blue-ring) ปลาหมึกสายลายฟ้า (Blue-ring) ปลาหมึกสายลายฟ้า

                                ปลาหมึกสายลายฟ้า (Blue-ring)
                 

ปลาหมึกสายลายฟ้า ในสกุล Hapalochlaena มีพบอยู่ในน่านน้ำไทย ทั้งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน เจิดจินดา และพวก ( 2535) รายงานชนิดที่พบในน่านน้ำไทยได้จำแนกให้ชื่อว่า Hapalochlaena maculosa (Hoyle, 1883) ซึ่งเป็นปลาหมึกสายที่มีขนาดเล็ก ขนาดที่พบ มีขนาดความยาวลำตัว (ไม่รวมความยาวแขน) 13 –60 มม ลำตัวเป็นถุงกลม ด้านท้ายแหลม ไม่มีติ่งเนื้อ หรือหูดตรงตา แขนสั้น ยาวเกือบเท่ากัน ลำตัวมีสีน้ำตาลมีจุดสีน้ำเงินสดเป็นวงแหวน หรือเป็นแถบลาย บนแขน ด้านหลังลำตัว และหัว สำหรับเพศผู้ มีแขนคู่ที่สาม ข้างขวา เป็นแขนสำหรับผสมพันธุ์
เท่าที่กรมประมงได้สำรวจทรัพยากรสัตว์น้าในอ่าวไทย โดยเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ขนาดตาอวนก้นถุง 2.5 ซม ได้พบปลาหมึกสายชนิดนี้อยู่เสมอ แหล่งที่พบส่วนใหญ่ได้แก่บริเวณ หน้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น้ำลึก 20 – 40 เมตร แต่ไม่ได้พบในปริมาณมาก เท่าที่เจ้าหน้าที่นักวิจัยได้ทำการสำรวจและจับมาศึกษา ลองเลี้ยงไว้ในถังในเรือ ไม่เคยปรากฏพฤติกรรมดุร้าย กัด และไม่เคยปรากฏรายงานกรณีดังกล่าวในประเทศไทยด้วยด้วย
Nesis (1987) ได้เขียนถึงปลาหมึกสายชนิดที่จัดว่าเป็นอันตรายที่สุดคือ Hapalochlaena maculosa (Hoyle, 1883) ซึ่งลักษณะพิเศษของตัวเมียจะใช้แขนในการอุ้มฟักไข่ โดยมีสารที่ขับทางต่อมน้ำลายมีสารพิษ 2 ชนิด คือ Maculotoxin (คล้ายคลึงกับสาร Tetrodotoxin ที่พบในปลาปักเป้า มีพิษต่อระบบประสาท) และ Hepalotoxin ซึ่งถ้าคนถูกกัดโดยปลาหมึกตัวเมียที่มีขนาดโตเต็มวัย สมบูรณ์เพศ อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ โดยมีผลทำให้เกิดการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อระบบการหายใจ ดังนั้นในการปฐมพยาบาลช่วยเหลือเบื้องต้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนมากมีรายงานกรณีดังกล่าวจากประเทศออสเตรเลีย การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ พบในเขตอินโด-แปซิฟิกตะวันตก จากทางใต้ของเกาะฮอนชู ไปจนถึง เกาะทาสมาเนีย และไปทางตะวันตกจนถึงอ่าวเอเดน
อนึ่งหากผู้ที่จับปลาหมึกสายชนิดนี้จากน่านน้ำไทยมาเลี้ยงจึงไม่น่าเป็นอันตรายต่อคน แต่ในแง่ทรัพยากร ปลาหมึกชนิดนี้ไม่ได้มีเป็นจำนวนมากนักไม่สมควรถูกล่านำมาขาย
กรมประมง ร่วมกับ คณะกรรมการที่ปรึกษาปลาหมึกนานาชาติ (Cephalopod International Advisory Council) จะจัดการประชุมและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติเกี่ยวกับทรัพยากรปลาหมึก (CIAC2003) ในวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2546 ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนักวิจัยด้านทรัพยากรปลาหมึก และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกประมาณ 200 คน มาประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันปลาหมึกเป็นผลผลิตประมงจากการจับจากทะเลที่มีมูลค่าและปริมาณสูง และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการมีหัวข้อหนึ่งในเรื่องปลาหมึกสาย ซึ่งจะเน้นในเรื่องการจำแนกชนิด การแพร่กระจายและความรู้ด้านอื่นๆ ซึ่งความรู้ด้านต่างๆเกี่ยวกับปลาหมึกสายนี้ยังมีน้อย จึงคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการประชุมฯนี้อีกมาก

ที่มา : http://www.fisheries.go.th/dof_thai/

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15334เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท