เล่าเรื่อง "วิชากรมส่งสริมการเกษตร"
ได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารของหน่วยงานท่านหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการสำนัก (ระดับ 9) ของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรที่เป็นทั้งนักปฏิบัติ นักวิชาการ และนักบริหาร เป็นบุคลากรของหน่วยงานที่เติบโตและมีชื่อเสียงจากผลงาน "PM" (Performance M.)
โดยเริ่มแรกได้เปิดประเด็นการสนทนากึ่งสัมภาษณ์ว่า "จากการทำงานและประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เริ่มตั้งแต่ท่านบรรจุเป็นข้าราชการจนถึงปัจจุบันนั้น ในความคิดเห็นของท่าน...ท่านคิดว่า...ตกลงแล้ว...วิชากรมส่งเสริมการเกษตร ควรจะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรจะต้องเรียนรู้เพื่อใช้ในการทำงานกับองค์กรแห่งนี้ให้บรรลุผล"
ซึ่งผลสรุปของข้อมูลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ "การทำงานส่งเสริมการเกษตรกับชุมชน" ในปัจจุบันนั้นการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่และบุคลากรจะประกอบด้วยเนื้อหาสาระ 8 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 หลักการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นเนื้อหาเรื่องแรกที่เจ้าหน้าที่ทุกคนในหน่วยงานแห่งนี้จำเป็นจะต้องเรียนรู้และเข้าใจเพราะเป็น "อาชีพหลัก" โดยเฉพาะ "ต้องเรียนรู้การทำงานกับชาวบ้าน การประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ และวิธีการที่จะทำให้หน่วยงานอื่น ๆ รับรู้การทำงานของเรา" โดยพัฒนาตนเองทางด้านวิธีคิด (การวิเคราะห์ชุมชน) การทำงานที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธา และการเป็นนักส่งเสริมฯที่ดี ในปัจจุบันท่านลองเปรียบเทียบดูซิว่า "ท่านทำหน้าที่ของนักส่งเสริมฯ น้อยไปหรือเปล่า...จึงทำให้ชาวบ้านเขาขาดความรู้สึกที่ดี ๆ กับท่าน"
เรื่องที่ 2 เรียนรู้เกี่ยวกับการทำแผน เป็นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการทำแผนระดับต่าง ๆ เช่น การทำแผนชุมชน การทำแผนปฏิบัติงาน และการทำแผนงานโครงการ เป็นต้น หรือกล่าวได้ว่าเป็น "องค์รวมของความรู้ทางด้านแผน" ทั้งหมด ที่ท่านจะต้องรู้ เข้าใจ และทำเป็น โดยเฉพาะ "การจัดทำเวที" ซึ่งเราอ่อนในเรื่องนี้กันมาก จึงต้องฝึกฝนตนเองให้มีประสบการณ์กันอย่างจริง ๆ จัง ๆ เพราะเมื่อลองประเมินผลดูแล้วในตอนนี้พบว่า คนที่ทำแผนชุมชนเป็นมีน้อยที่สุด (ประมาณ 2-3 คน/จังหวัด) คนที่สักแต่ทำแผนได้มีในระดับมากที่สุด และคนที่ทำแผนไม่เป็นมีค่อนข้างมาก หรือ ถ้าจะแบ่งคนในการทำงานในเรื่องดังกล่าวก็จะแบ่งเป็นคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คนที่สนใจทำและโน้มน้าวเป็น มีประมาณ 10 % กลุ่มที่ 2 คนที่สนใจทำแต่โน้มน้าว ไม่เป็น มีประมาณ 50 % และ กลุ่มที่ 3 โดดร่มหรือทำไม่เป็น มีประมาณ 40 % ตัวอย่างเช่น การทำงานกับชาวบ้านโดยใช้วิธีการ "โรงเรียนเกษตรกร" จะต้องใช้กระบวนการดังกล่าวกัน อย่างจริง ๆ ทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว เป็นนักปฏิบัติในชีวิตจริงที่มีการพัฒนาและ ปรับปรุง ดังนั้น วิธีการพัฒนาหรือฝึกอบรมจะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก และที่ผ่านมาเราอยู่กับชาวบ้านได้เพราะอาศัย "ความใกล้ชิด...มีโครงการไปให้...คุ้นเคยกัน" ซึ่งจะขัดกับหลักการและวิธีคิดที่ต้องการให้ "เกษตรกรพึ่งตนเองได้"
เรื่องที่ 3 กระบวนการเรียนรู้ การฝึกตนเองให้เป็น "นักจัดกระบวนการเรียนรู้" ควรจะทำเป็นปกติวิสัย ทำอย่างต่อเนื่อง และทำเป็นประจำ ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ที่เห็นการทำงานส่งเสริมในปัจจุบันมักจะเป็นลักษณะของการทำงานเป็นโครงการและยังคิดงานกันเป็นโครงการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ถือว่า "ยังไม่เข้าใจงาน....กระบวนการเรียนรู้" ที่ชัดเจนนั่นเอง
เรื่องที่ 4 การเป็นนักวิจัย ปัจจุบันโลกทัศน์ได้เกิดการปรับเปลี่ยน สภาพแวดล้อมระหว่างอดีตกับปัจจุบันในการเป็นนักส่งเสริมกับชาวบ้านก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะ การทำบทบาทนักพัฒนากับเกษตรกรที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ "การวิจัยชุมชน" เพราะองค์กรจะอยู่รอดได้ถ้าเรา (เจ้าหน้าที่) ทำงานส่งเสริมโดยใช้วิธีวิจัย
โดยเริ่มแรกต้องฝึกตนเองให้ลองทำวิจัยแบบง่าย ๆ ฝึกเขียนทีละบท ๆ ทำงานเป็นตัวอย่างหรือให้อยู่ในเนื้องานของตนเองจึงจะทำให้งานส่งเสริมการเกษตรมีคุณค่าและมีประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาจากการทำผลงานวิชาการเพื่อปรับซี จะเห็นได้ว่า "เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังเขียนกัน ไม่เป็น" นอกจากนี้องค์กรก็ยังใช้ผลงานวิจัยไม่ค่อยเป็น "ทำอย่างไรให้นำผลงานวิจัยด้าน ส่งเสริมการเกษตรมาตีแผ่ให้สาธารณชนรับรู้และรับทราบได้" เช่น วิจัยทางสังคม และ การจัดหมวดหมู่มีอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้กรมส่งเสริมการเกษตรมีผลงานวิจัยมากมายที่เป็นของ ตัวเอง ถ้าได้มีการจัดการในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้หรือเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นของกรม "เป็นองค์ความรู้ ที่เป็นทางลัด" เพื่อการพัฒนาบุคลากรและการทำงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ในบางครั้งบุคลากรที่เกษียณอายุต่างมีองค์ความรู้ที่สั่งสมมาเกือบทุกคน จึงเป็นไปได้มั้ย..ที่จะดึงรุ่นพี่เหล่านั้นมา "เล่าประสบการณ์ในการทำงานให้รุ่นน้องฟัง" เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นการถ่ายทอดความรู้จากพี่สู่น้องหรือให้รุ่นหลังได้ศึกษา เรียกว่า "การสอนงาน" จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง เช่น การแก้ไขปัญหาในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสพมาในตอนนั้น วิธีการบริหารสำนักงาน และ วิธีการเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน เป็นต้น เป็นเรื่องที่ตนเองได้ปฏิบัติหรือได้ไปสังเกตการณ์แล้วนำมาเล่าให้ฟังก็ได้ ซึ่งจะทำให้ย่นระยะเวลาในการพัฒนาคนได้มาก และเป็นการสร้างความตื่นตัวได้ด้วย
ถ้าจะมองไปที่จุดอ่อนของหน่วยงานจะเห็นได้ว่า ในตอนนี้ "คน" ต่างมีความต้องการไม่ สิ้นสุดและไม่ทำงาน เช่น เมื่อได้ซี 6 แล้วก็ยังไม่ค่อยทำงานโดยอ้างว่า "ไม่มีกำลังใจทำงานจะเอาซี 7" แล้วค่อยทำงานกัน เป็นต้น
เรื่องที่ 5 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการเกษตร โดยพัฒนาตนเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญการในงานที่เป็นภารกิจหน้าที่ขององค์กรให้ได้ ติดอาวุธให้ทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น นำ Computer เข้ามาใช้จัดการงาน เป็นต้น จึงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนที่นำ "คนเก่ามาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนใหม่" ดังนั้น คนจะต้องมีคุณภาพเพิ่มขึ้น และทำงานเป็นนักประสาน
เรื่องที่ 6 การเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร ถ้านักส่งเสริมฯ มีความสามารถในการคิดและทำงานได้หลายชั้นหรือหลายขั้นงานก็จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้ ทั้งนี้ถ้าเราทำไม่เป็นก็จะต้องรู้จักไขว่คว้าและขวนขวายเพื่อพัฒนาตนเองทำให้เป็นให้ได้
เรื่องที่ 7 การสรุปรายงานและผลงาน โดยเจ้าหน้าที่จะต้องฝึกทำในเรื่องนี้ให้มาก เพราะเป็นจุดอ่อน เช่น ให้เอกสารไปอ่านแล้วลองสรุปมาให้ได้....ที่สรุปอย่างได้เรื่องได้ราว โดยเฉพาะ 1) รู้จักการจัดลำดับเรื่อง เพราะส่วนใหญ่มองแบบภาพกว้าง ๆ จัดลำดับเรื่องราว ไม่เป็น 2) ให้รู้จักจับประเด็นของเนื้อหาให้เป็น โดยเฉพาะ highly ของเนื้อเรื่องทั้งหมดคืออะไร? หรือ ที่ประชุมต้องการอะไร? หรือ ตกลงแล้วให้ทำอะไรบ้าง?
เรื่องที่ 8 การตลาด เป็นเรื่องที่ยากแต่นักส่งเสริมก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะภาวะปัจจุบันกำลังบีบเร้าให้เราต้องรู้และเราต้องทำ โดยให้ศึกษาและดูจากคนที่ทำสำเร็จ หรือถ้าทำเรื่องตลาดอยู่แล้วก็ให้คนมาเล่าหรือมาพูดให้ฟังให้รู้จัก "การประสาน" กับงานที่เราต้องรับผิดชอบ ซึ่งสิ่งนี้มาจากการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการทำงานส่งเสริมกับชาวบ้านว่า "ส่งเสริมแล้วจะเอาไปขายที่ไหน...." ดังนั้น เราจึงต้องทำงานให้ครบวงจร
จากการสนทนาที่เกิดขึ้นทำไห้เกิดข้อสรุปได้ว่า "วิชากรมส่งเสริมการเกษตร" ที่ควรนำ มาใช้ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ที่เป็น "กระบวนการฝึกคน จนถึง กระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตร" ให้ลื่นไหลนั้น เจ้าหน้าที่ควรจะมีความรอบรู้ในเนื้อหาสาระ จำนวน 8 เรื่อง คือ 1) หลักการส่งเสริมการเกษตร 2) เรียนรู้เกี่ยวกับการทำแผน 3) กระบวนการเรียนรู้ 4) การเป็นนักวิจัย 5) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการเกษตร 6) การเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร 7) การสรุปรายงานและผลงาน และ 8) การตลาด
ส่วนข้อเสนอแนะที่พบจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตร คือ
1. สนใจงานในหน้าที่อย่างจริงจัง เป็นสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ควรเอาใจใส่และทำงานส่งเสริม กับชาวบ้านที่เรียกว่า "จับให้ติด" มิใช่ทำงานแบบผ่าน ๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเกิดความศรัทธาได้ ดังนั้น เราจะต้องเกาะติดชุมชน
2. ให้รู้จักใช้งานวิจัยมาทำงานในการส่งเสริมอาชีพกับชาวบ้าน จึงจะทำให้งานลื่นไหลและอยู่รอดได้
3. ให้รู้จักการประนีประนอมและประสานงาน โดยอย่าคิดและมองแต่แง่เสียของคนอื่น ให้เอาจุดดีหรือจุดเด่นของเขามาใช้ในการทำงานด้วยกัน
4. การบริหารงบประมาณทุกระดับควรจริงจังและใช้หรือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ โดยทำอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะปัจจุบันชาวบ้านเขารู้ และสืบเสาะข้อมูลเหล่านี้ได้ ดังนั้น การบริหารงบประมาณควรทำอย่างจริงจัง และเกาะจับชาวบ้านให้ติด แล้วเราจะเป็นที่ต้องการและพึ่งพาของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง.
ศิริวรรณ หวังดี ..... สัมภาษณ์ / เรียบเรียง
ปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ ..... ข้อมูล
14 กุมภาพันธ์ 2549