ปลาฉลาม


ปลาฉลามตัวที่ 16 ของโลก
ปลาฉลาม megamouth ตัวที่ 16 ของโลกจากมหาสมุทรอินเดีย
The megamouth Shark # 16 of the World from the Indian Ocean
( ที่มา : โสภณา บุญญาภิวัฒน์ กองประมงนอกน่านน้ำไทย. วารสารการประมง ปีที่ 55 ฉบับที่ 5 กย.- ตค. 2545 )

 


     ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่กรมประมงและศูนย์ฯ มีการปฏิบัติงานบนเรือ M.V.SEAFDEC ร่วมกันโดยเริ่มจากเดือนตุลาตม 2544 จนถึงเดือนมกราคม 2545 มีการวางแพล่อปลาและตรวจเช็คฝูงปลาที่แพ สำรวจหาวัตถุลอยน้ำ เช่น ขอนไม้ แพเก่าๆเพื่อหาฝูงปลา ถ้าพบว่ามีปลาขนาดใหญ่รวมเป็นฝูงอยู่มากก็จะได้ทำการล้อมอวน
     ในวันที่ 18 มกราคม 2545 เป็นวันที่มีการล้อมอวนเป็นครั้งสุดท้ายของเที่ยวเรือมีฝนตกและทะเลมีคลื่นเล็กน้อย ได้ล้อมอวนที่แพของศูนย์ฯ ณ ตำบลที่ ละติจูด 02 องศา 17.9 ลิบดาใต้ ลองจิจูด 088 องศา 12.7 ลิบดาตะวันออก ปรากฏว่ามีปลาฉลามขนาดใหญ่อยู่ในวงอวน เมื่อนำขึ้นมาบนเรือพบว่าปลาฉลามตัวนี้มีลักษณะที่แปลกมากไม่เคยพบมาก่อน จึงได้ถ่ายรูปไว้ ลำตัวด้านบนมีสีเทาเข้ม และมีสีจางลงมาทางด้านล่าง ที่สะดุดตาคือมีหัวที่ใหญ่มากและปากกว้างกว่าฉลามทั่วๆไป มีฟันซี่เล็กคล้ายเข็มเป็นร้อยๆซี่ ขนาดจากปลายสุดของส่วนหัวจนถึงปลายสุดของส่วนหาง 235 เซนติเมตร ส่วนน้ำหนักประเมินว่ามากกว่า 120 กิโลกรัม เนื้อเหลวและตัวอ่อนปวกเปียก ดูเป็นปลาฉลามที่อ่อนแอ น่าสงสาร ไม่มีพิษสงเลย
     ซึ่งได้ทราบจาก ดร.ชวลิต วิทยานนท์ แห่งสถาบันพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ว่าเป็นปลาฉลามที่หายากของโลก คือปลาฉลาม megamouth ซึ่งอาจแปลว่าปลาฉลามปากกว้าง จนปัจจุบันมีผู้พบจากทั่วโลกเพียง 15 ตัว ดังนั้นตัวนี้จึงเป็นตัวที่ 16 และยังไม่มีรายงานว่าพบในมหาสมุทรอินเดีย แต่เคยพบในปี 2531 ที่ชายหาดใกล้เมืองเพิร์ธอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งจากการได้แจ้งไปยังผู้เชี่ยวชาญฉลาม megamouth คือ Dr. John F. Morrissey แห่งมหาวิทยาลัย Hofstra ที่ New York และ Dr. Goege F. Burgess แห่งมหาวิทยาลัย Florida พร้อมทั้งได้ส่งเรื่องราวและรูปภาพทางอินเทอร์เนตในเวบไซต์ของ Florida Museum of Natural History ว่าเป็นฉลาม megamouth ตัวล่าสุดคือตัวที่ 16 เท่าที่เคยพบมาทั่วโลก จากข้อมูลที่ค้นคว้ามาพบว่าตัวนี้ยังไม่โตเต็มวัย จึงมีขนาดเล็ก และมีอวัยวะเพศผู้ ( clasper ) ที่เล็กยังเป็นเด็กชายอยู่เลย แต่พบที่อื่นมาแล้วมีขนาดความยาวตัวมากกว่า 4 เมตร
การจัดลำดับ
     จากรายงานของ FAO Compagno ( 1984 ) กล่าวถึงปลาฉลาม megamouth ว่าเป็นชนิดเดียวในวงศ์ Megachasmidae อันดับ Lamniformes มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Megachasma pelagios Taylor , Compagno & Struhsaker ชื่อภาษาอังกฤษคือ Megamouth shark ชื่อภาษาฝรั่งเศสคือ Requins grande gueule และชื่อภาษาสเปนคือ Tiburones bocudos
ลักษณะทั่วไป
     ลำตัวอ้วนและเรียวเล็กไปทางด้านหาง ส่วนหัวใหญ่ มีปลายจมูก ( smout ) สั้น ปากกว้างมาก มุมปากยาวถึงหลังตา ช่องเหงือก ( gill slits ) ยาว สองช่องสุดท้ายอยู่เหนือฐานของครีบหู ( pectoral fin ) ฟันซี่เล็กมาก คล้ายเข็มลักษณะเป็นตะขอมากกว่า 50 แถว มีจำนวนหลายร้อยซี่ ตาไม่มีแผ่นหนังคลุมลูกตา ( nictitating eyelid ) ครีบหลัง ( dorsal fin ) มี 2 ครีบ ครีบแรกค่อนข้างใหญ่ ครีบที่2 เล็กกว่าครึ่งหนึ่งของครีบแรก ครีบหูใหญ่และเรียวยาว ครีบท้อง ( pelvic fin ) เล็กกว่าครีบหลังครีบแรกและครีบหู ครีบก้น ( anal fin ) เล็ก ฐานของมันอยู่หลังฐานครีบหลังเล็กน้อย ครีบหาง ( caudal fin ) สองส่วนไม่เท่ากันและไม่โค้ง โคนหางไม่มีสัน ( keel ) ( Compagno , 1984 )
สี
     ลำตัวและครีบมีสีเทาเข้มจนถึงดำอมน้ำเงิน บางตัวสีน้ำตาลอมดำ ด้านข้างลำตัวมีสีจางลง ด้านล่างและส่วนปลายของครีบมีสีขาว ขากรรไกรล่างมีสีเข้มมีสีเงินเคลือบ บริเวณใต้คางสีขาวขุ่นและมีจุดสีเข้มประปราย
     เพดานปากทั้งด้านบนและด้านล่างมีสีเงิน ริมฝีปากมีสีเงิน ลิ้นสีน้ำตาลอมม่วงและมีสีเงินเคลือบบางๆ ทั้งด้านบนและด้านล่าง มีแผ่นสีขาวอยู่ด้านหน้าของปลายจมูก เห็นได้ชัดตัดกับสีเข้มของปลายจมูก และขากรรไกรบน เมื่อขากรรไกรบนยื่นออกมาจะเห็นเด่นชัดมากขึ้น
ขนาด
     ความยาวสูงสุดที่พบคือ 549 เซนติเมตร ซึ่งพบที่ประเทศญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
การแพร่กระจาย
     มีการแพร่กระจายทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นซึ่งทราบได้บริเวณที่พบแล้ว 15 ตัว คือ ฮาวาย แคลิฟอร์เนียตอนใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ( Sulawesi ) บลาซิลตอนใต้ และเซเนกัล
นิสัยและการกินอาหาร
     ได้มีการศึกษาปลาฉลาม megamouth จากตัวอย่างที่ถูกจับได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่โดยติดเครื่อง transmitter ที่ครีบหลังและติดตามพฤติกรรมอยู่ 2 วัน จึงทราบว่ามันมีการอพยพในแนวดิ่ง ( vertical migration ) คือในเวลากลางคืนอยู่ใกล้ผิวน้ำที่ระดับ 10-15 เมตร และดำดิ่งลงไปในระดับลึก 200 เมตรจากผิวน้ำในเวลากลางวัน กระดูกมีแคลเซี่ยมน้อยและมีกล้ามเนื้ออ่อนแอ เนื้อมีน้ำมากทำให้มีการพยุงตัวในน้ำได้ดี เป็นปลาฉลามที่เชื่องช้ากว่าปลาฉลามอีก 2 ชนิดที่กินแพลงก์ตอนเช่นเดียวกัน คือ basking shark และปลาฉลามวาฬ ( whale shark ) ปลาฉลาม megamouth นี้มีการเคลื่อนที่ในแนวระดับเพียง 0.95 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมงจึงอาจเป็นเหยื่อของปลาฉลามชนิดอื่น และจากบาดแผลที่พบตามผิวหนังพบว่ามันยังถูกโจมตีโดย cookiecutter shark ( Isistius brasiliensis ) และพบว่าในกระเพาะอาหารของซากปลาฉลาม megamouth มีแพลงก์ตอนสัตว์พวก euphausid ( Thysanopoda pectinata ) เป็นส่วนมาก นอกจากนี้มี copepod และหวีวุ้น ( comb jelly ) ด้วยในบางตัวการที่พวก euphausid มีการอพยพในแนวดิ่งเช่นเดียวกันจึงมีความสัมพันธ์กับการกินอาหารของปลาฉลามชนิดนี้ มันกินอาหารโดยกรองอาหารที่มากับน้ำ เช่น euphausid copepod แมงกะพรุน หวีวุ้น ( comb jelly ) และลูกปลาเป็นต้น จึงเป็นพวก filter feeder ขนาดยักษ์ เมื่อมันอ้าปากที่กว้างใหญ่ ขากรรไกรก็ยืดออก ภายในปากและริมฝีปากที่มีสีเงินเคลือบซึ่งเรืองแสงรวมทั้งแผ่นสีขาวที่ปลายจมูกดึงดูดให้แพลงก์ตอนสัตว์มารวมตัวกันเข้าไปในปาก มันจึงมีอาหารกินได้ไม่ยากนัก
ปลาฉลาม megamouth ในอดีต
     Hennemann (2001) บรรยายความเป็นมาของปลาฉลาม megamouth ว่าในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2519 ที่บริเวณนอกฝั่งฮาวาย เรือของกองทัพสหรัฐอเมริกา พบสัตว์น้ำตายติดอยู่กับสมอทะเลของเรือ เป็นสัตว์ทะเลที่มีคามยาว 5 เมตร สีน้ำตาลและปากกว้างใหญ่มาก มีฟันซี่เล็กมากจำนวนกว่าพันซี่ ในไม่ช้าก็ค้นพบว่าเป็นปลาฉลามชนิดใหม่ หลังจากนั้นจึงตั้งชื่อว่า Megachasma pelavios เนื่องจากมีลักษณะที่แตกต่างจากชนิดอื่นมาก จึงถูกแยกให้อยู่ในครอบครัวใหม่คือ Megachasmidae หลังจากพบตัวแรกถึง 8 ปี จึงพบปลาฉลามชนิดนี้ตายอยู่ในอวนลอยนอกฝั่งแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ต่อมา Dr. Barry Hutchinson แห่ง Weastern Australian Museum ที่เมืองเพิร์ธ ได้รับโทรศัพท์ในตอนเช้าของวันที่ 18 สิงหาคม 2531 ว่ามีสัตว์ประหลาดตายอยู่บนหาด มันมีลักษณะที่อยู่ระหว่างปลาฉลามกับปลาวาฬ เมื่อเขาไปถึงที่นั่นพบผู้คนมุงดูอยู่จำนวนมาก เฮลิคอปเตอร์ของสื่อต่างๆมาอยู่ที่หาด และผู้สื่อข่าวเต็มไปหมด ปลาฉลามตัวนี้มีความยาว 515 เซนติเมตร หัวมีลักษณะคล้ายปลาวาฬผู้ที่พบเปิดเผยว่าเมื่อพบมันที่ผิวน้ำใกล้หาดนั้นในตอนแรกคิดว่เป็นปลาวาฬ เพราะปลาวาฬมักจะฆ่าตัวตายโดยว่ายน้ำมาเกยหาด พวกเขาจึงพยายามผลักดันโดยลากออกสู่ทะเล แต่ไม่สำเร็จ เช้าวันต่อมาพบว่ามันตายอยู่บนหาด การที่มีน้ำหนักตัวถึง 700 กิโลกรัม จึงเคลื่อนย้ายไปพิพิธภัณฑ์ยากลำบากมาก ปลาฉลาม megamouth ตัวนี้จึงเป็นตัวที่ 3 ของโลก และถูกเก็บรักษาโดยดองน้ำยาฟอร์มาลีนอยู่ในพิพิธภัณฑ์
     หลังจากนั้นมีผู้พบเห็นปลาฉลามชนิดนี้ตามที่ต่างๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่เมือง Hamatsu ในปี 2532 แต่ได้ทิ้งไปในปีเดียวกันพบที่อ่าว Suruga แล้วปล่อยไปเพราะยังมีชีวิตอยู่ ปี 2537 พบที่อ่าว Hakata ขณะนี้เก็บรักษาอยู่ที่ Marine World เมือง Fukuoka ที่เมือง Toba ก็พบตัวที่ขนาดใหญ่กว่า 500 เซนติเมตรในปี 2540 ขณะนี้เก็บรักษาอยู่ที่ toba Aquarium ครั้งล่าสุดพบที่ญี่ปุ่นคือในปี 2541 พบที่ Mie มีความยาว 549 เซนติเมตร เป็นตัวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา
     ส่วนที่แคลิฟอร์เนียตอนใต้ก็ได้พบปลาฉลามชนิดนี้ติดอยู่ในอวนลอยที่ใช้จับปลากระโทงแทงดาบ( swordfish ) ถึง 4 ครั้ง คือ เกาะ Catalina ในปี 2527 ที่ Dana point , Los Angeles ในปี 2533 และที่ San Diego ในปี 2542 เนื่องจากมันยังมีชีวิตอยู่และมีสภาพดีจึงปล่อยไป ยกเว้นในปี 2527 ที่พบว่าตายอยู่ในอวนจึงเก็บรักษาไว้เพื่อทำการศึกษา
     ในปี 2541 ที่ชาวประมง 3 คนจับปลาฉลามชนิดนี้ได้ที่อ่าว Macajalar , Cagayan de oro ประเทศฟิลิปปินส์ โดยไม่ทราบว่าเป็นปลาอะไร รุ่งเช้าวิทยุท้องถิ่นรายงานข่าวนี้กล่าวกันว่าเป็นปลาฉลามวาฬ มีนักวิทยาศาสตร์ไปดูและถ่ายรูปไว้ เมื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม จึงทราบว่าเป็นปลาฉลาม megamouth แต่ปลาขนาดใหญ่ซึ่งมีความยาวประมาณ 549 เซนติเมตร ถูกตัดเป็นชิ้นๆนำเป็นอาหารของผู้คนไปแล้ว
     ในปี 2538 ที่นอกฝั่ง Dakar ประเทศเซเนกัล กัปตันเรืออวนล้อมปลาทูน่าต้องประหลาดใจเมื่อพบปลาฉลามรูปร่างประหลาดนี้ในอวนร่วมกับปลาทูน่าท้องแถบ เป็นปลาฉลาม megamouth ที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยพบมาคือยาว 180 เซนติเมตร ส่วนที่ประเทศบลาซิลก็พบขนาดเล็ดเช่นเดียวกัน คือยาว 190 เซนติเมตร
     ที่ประเทศอินโดนีเซียพบปลาฉลามชนิดนี้ในปี 2541 ที่นอกฝั่ง Manada , North Sulawesi ซึ่งไม่ใช่ด้านมหาสมุทรอินเดีย โดยขณะที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอินโดนีเซียและชาวอิตาลีกำลังเฝ้าดูปลาวาฬอยู่ตามโครงการ Whale Whtching พบปลาวาฬชนิด sperm whale (Physeter macrocephalus ) 3 ตัวกำลังรุมโจมตีปลาฉลาม megamouth ซึ่งมีความยาวประมาณ 5 เมตร เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆปลาวาฬก็ว่ายหนีไป ส่วนปลาฉลาม megamouth บาดเจ็บเป็นแผลที่ครีบหลังและเหงือก
     ปลาฉลาม megamouth ที่พบเป็นตัวที่ 6 ได้ถูกทำการศึกษาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่และแข็งแรงดี คือ ในเดือนตุลาคม 2533 ชาวประมงที่ Los Angeles พบปลาฉลามในอวนลอยและยังมีชีวิตอยู่จึงผูกไว้กับเรือ แล้วโทรศัพท์แจ้งไปยัง Dr. Robert Lavenberg ซึ่งเมื่อเห็นปลาตัวนี้ได้กล่าวว่า มันเหมือนกับเป็นฟอสซิลที่มีชีวิตที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงใน 10 ล้านปีที่ผ่านมา เขาโทรศัพท์ไปทั่วโลก เพื่อที่จะหาพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่เหมาะสม แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีที่ไหนกว้างใหญ่พอที่จะรับปลาฉลามที่มีชีวิตขนาด 494 เซนติเมตรนี้ได้ จึงศึกษาพฤติกรรมของมันโดยติด transmitter ที่ครีบหลัง และติดตามอยู่ 2 วันจึงได้ปล่อยไป จากการศึกษาทราบว่ามันมีการอพยพในแนวดิ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว Tom Haight นักดำน้ำและนักถ่ายรูปใต้น้ำ ที่ได้ร่วมปฏิบัติการนี้กล่าวว่า เขามีความสุขและตื่นเต้นที่สุดในชีวิตการเป็นนักดำน้ำมา 28 ปี
สรุปและข้อเสนอแนะ
     เรื่องราวของปลาฉลาม megamouth ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำให้ทราบว่าการที่ปลาฉลามชนิดนี้เป็นชนิดที่หายากมากนั้น เนื่องจากประการหนึ่งเป็นปลาฉลามที่อ่อนแอและเชื่องช้าจึงถูกทำร้ายได้ง่าย อีกประการหนึ่งมันหนีการรบกวนลงไปที่ระดับลึกในเวลากลางวันทำให้พบได้ยาก ปลาฉลามชนิดนี้เป็นพวกที่กินแพลงก์ตอนจึงทำให้โอกาสที่ถูกจับด้วยเบ็ดมีน้อยมาก ส่วนมากถูกจับด้วยอวนลอยและอวนล้อม อาจจะมีผู้จับได้มาบ้างแล้วในมหาสมุทรอินเดีย แต่ไม่ทราบว่าเป็นปลาฉลาม megamouth ที่หายากจึงไม่มีการรายงาน ดังนั้นเมื่อท่านผู้ใดจับปลาฉลามปากกว้างที่น่ารักและน่าสงสารนี้ได้โดยยังมีชีวิตอยู่และแข็งแรงดีโปรดอย่าทำร้ายมัน ควรที่จะปล่อยไปเพื่อเป็นการอนุรักษ์ปลาชนิดนี้ต่อไป

 


 ที่มาhttp://www.nicaonline.com/articles8/site/view_article.asp?idarticle=112

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15331เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท